"ผู้ลี้ภัย" ชีวิตที่ไม่ธรรมดา แต่...สร้างมนุษยธรรม

20 มิถุนายน 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย : © Dan Kitwood/Getty Images

ชะตากรรมของ “ผู้ลี้ภัย” แน่นอนว่าชีวิตของพวกเขา “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” คนที่ต้องเผชิญสถานะนี้ อาจมีเหตุผลและเงื่อนไขในชีวิต ที่ต้องยอมรับหรือยอมจำนนแตกต่างกัน หนึ่งในนั้นเชื่อมโยงเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในมิติต่าง ๆ ตามบริบทสังคมของแต่ละสถานการณ์ เช่น คัดค้านกฎหมาย เคลื่อนไหวทางการเมือง แม้แต่การสู้รบ สงคราม ความเห็นต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบ

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยที่เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษ์ ขับเคลื่อนสังคม หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาทั่วไป ต้องกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ถูกบังคับ ต้องหนี้ หรือต้องย้ายไปอยู่ในประเทศ ที่สามารถเป็นพื้นปลอดภัย ต่อลมหลายใจสำหรับพวกเขา ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้ได้

องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ทุกวันที่ 20 มิถุนายน เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” World Refugees Day มีเป้าหมายจุดประกายให้ทุกคนระลึกถึงความเข้มแข็ง ความกล้าหาญของคนที่อาจถูกบังคับหรือยอมจำนน ให้ต้องหนีหรือย้ายไปจากประเทศของตัวเอง จากปัญหาความขัดแย้ง การประหัตประหารในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เพื่อให้ได้มีชีวิต อิสรภาพ ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จากประเทศที่พร้อมจะเป็นที่พักพิง โอบอุ้มคนเหล่านี้ในสภาวะเดือดร้อน ยากลำบากในชีวิต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชวนรู้จักความหมายของ “ผู้ลี้ภัย” แบบฉบับเข้าใจง่าย

  1. ผู้ลี้ภัย = คนทั่วไป คนธรรมดา
  2. ผู้ลี้ภัย = อดทน มุ่งมั่น เริ่มชีวิตใหม่ได้
  3. ผู้ลี้ภัย = ถูกบังคับให้หนีหรือออกนอกประเทศ
  4. ผู้ลี้ภัย = ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ
  5. ผู้ลี้ภัย = สร้างสังคมแบ่งปัน ไม่แบ่งแยก ไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์

 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก UNHCR ประเทศไทย ณ วันที่ 31 พ.ค.2566 มีผู้ลี้ภัยประมาณ 96,000 คน หนีจากความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

รายงานประจำปี และรายงานแนวโน้มผู้พลัดถิ่นทั่วโลกของ UNHCR ปี 2565 พบว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นจากสงคราม การประหัตประหาร ความรุนแรง และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สงครามในยูเครนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น นับเป็นการลี้ภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2