น้ำมันว่าน สู่ 'น้ำมันไพรด์' เส้นทางความรักคนทุกเพศ: แผ้ว เขียวดำ ผู้นำกลุ่มสมุนนไพรว่านนาคราช

7 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

“ถ้าเป็นการโฆษณาขายน้ำมันว่าน อาจจะต้องพูดถึงคุณภาพที่มีอยู่ในตัวว่าน ทุกคนต้องคุยเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่เพราะว่ามันจะดีอย่างไร ของทุกที่มันเป็นของที่ดีหมด แต่ถ้าไม่ได้สัมผัสเอง มันจะไม่รู้เลย”

ปวดคอ บ่า ไหล่ ปัญหายอดฮิต ‘มนุษย์ออฟฟิศซินโดรม’ และใครหลายคนคงเป็นผู้ถูกเลือกให้ปวดหลังเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่ บนเก้าอี้ประจำโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน แต่ถึงอย่างไรเราต้องไม่ให้เรื่องพวกนี้ เป็นกับดักชีวิตที่ทำให้เราเป็นทุกข์เพราะสุขภาพย่ำแย่ จนไม่เป็นอันกินไม่เป็นอันนอน

จากสิ่งที่บอกไป ไม่ต้องสืบให้มากความว่า ทุกวันนี้คนไทยกลายเป็นมนุษย์ปวดหลัง มนุษย์นอยส์ มนุษย์ออฟฟิศซินโดรมกันมากแค่ไหน หลังต้องทำงานแข่งกับเวลาและสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อแลกกับความสุข ความสำเร็จ และหลายสิ่งที่เราหวังว่าจะทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

แต่สิ่งที่เห็นชัด…หลายคนยังต้องการความสุขเล็กๆ ในชีวิต เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจในวัยว้าวุ่นที่กำลังเติบโต การแบ่งพื้นที่เล็กๆ ในกระเป๋าไว้พกพา ‘ยาดม ยาลม ยามหม่อง’ ให้เดินทางไปกับเราในทุกๆ ที่ เหมือนเพื่อนคู่กายเมื่อต้องออกจากบ้าน กลายเป็นสิ่งของอีกไอเทม ที่หลายคนต้องเตือนตัวเองว่าขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด 

มาถึงตรงนี้ชวนให้ทุกคนเปิดใจรู้จัก ‘น้ำมันไพรด์’ น้ำมันที่มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่อสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินทำกิน ชื่อนี้ไม่ได้มาง่ายๆ แต่มีนัยยะบางอย่างซ่อนอยู่ จะเกี่ยวกับสายมูเตลู ความเชื่อ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์หรือไม่นั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อยากให้ทุกคนติดตามเรื่องราวนี้ไปกับ ‘แผ้ว เขียวดำ’ ผู้นำกลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช ที่มาร่วมพลิกโฉมน้ำมันพื้นบ้านธรรมดา ให้เป็นน้ำมันไพรด์ น้ำมันแห่งความรักและศรัทธา จากการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน

“สมุนไพรตัวนี้ไม่ได้อยากให้ลองอย่างเดียว แต่จะบอกว่าสมุนไพรตัวนี้เข้าถึงและรักษาสุขภาพได้ดีจริงๆ อยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพในชุมชน สินค้าที่มีความเป็นวิถีของคนอยู่ในส่วนผสมของน้ำมันว่านชนิดนี้ด้วย”

 

 

ปัญหาที่ต่อสู้ สู่…การผลักดันให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน

‘แผ้ว เขียวดำ’ ชาวตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุงเป็นนักต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินรุ่นบุกเบิก ที่ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้หนังสือรับรองจากทางราชการ เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิทำกินในพื้นที่เขตป่าอุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันเขาผันตัวมาต่อสู้ในประเด็นด้านเอกสารสิทธิมากกว่าประเด็นร้อนในสังคม เพราะการที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร จะช่วยเป็นเครื่องมือที่การันตีว่า ชาวบ้านจะไม่ถูกพิพากษาหรือถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘แผ้ว เขียวดำ’ มาเป็นนักต่อสู้เรื่อสิทธิที่ดินร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน เพราะมีชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบ ถูกคุกคาม ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลายคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนนั้นเขาเคลื่อนไหวในฐานะชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยชุมชนด้วยความเป็นธรรม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เช่น การทำให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางหรือพื้นหมุนเวียนในชุมชน เพื่อให้มีรายได้พอเพียงเลี้ยงปากท้องครอบครัว แต่เส้นทางการต่อสู้กับต้องเจอกับอุปสรรคระหว่างทาง เพราะการส่งเสียงไปถึงรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง 

“ถามว่าเขาได้ยินเสียงไหม เขาได้ยิน แต่ปัญหาว่าเขาได้ยินแล้ว เขายังไม่ปฏิบัติตาม การต่อสู้ตอนนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว ถือว่าใช้เวลานานมากพอสมควร แต่พบว่ารัฐบาลยังไม่สามารถช่วยเหลือชุมชนหรือแก้ปัญหาได้แม้แต่นิดเดียว มีแค่ข้อตกลงลอยๆ ที่ไม่มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาอะไรเลย”

 

‘กลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช’ ส่งเสียงผ่านสมุนไพร สู่ข้อเรียกร้องสิทธิที่ดิน

สมาชิกที่แข็งแกร่ง คือฐานที่มั่นสำคัญ ที่จะทำให้เสียงของชาวบ้านส่งไปถึงรัฐบาล ให้พิจารณาข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ‘แผ้ว เขียวดำ’ และชาวบ้านในพื้นที่ รวมใจตั้งกลุ่มสมุนไพรว่านนาคราชขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ให้คนในชุมชนได้รับรู้ว่า ทุกคนมีสิทธิครอบครองที่ดินลักษณะไหนได้บ้างตามกฎหมายหรือระเบียบของรัฐ นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เป็นตัวตั้งตัวตี ให้เกิดการเก็บข้อมูลสมาชิกว่า แต่ละคนมีที่ดินทำกินครัวเรือนละกี่ไร่ เพื่อไม่ให้การครอบครองของชาวบ้านมีข้อขัดแย้งหรือส่งผลกระทบกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศออกมา 

การตั้งกลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช ต้องการทำให้ทุกคนตระหนักว่า ‘สิทธิที่ดิน’ มีความสำคัญกับความมั่นคงในชีวิต ครอบครัว อีกประเด็นคือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ถ้าชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน จะทำให้การตั้งหลักชีวิตของชาวบ้าน เพื่อสร้างครอบครัวกลายเป็นศูนย์ทันที เพราะพื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นเหมือนทั้งชีวิตของใครหลายคน มีทั้งอาหาร พืช สมุนไพร ที่จะมาเป็นส่วนประกอบของครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปได้

“พื้นดินเหมือนชีวิตเลย เพราะทุกๆ อย่างต้องอาศัยพื้นดิน ไม่ว่าที่อยู่อาศัย ไม่ว่าพืชอาหาร พืชทุกชนิดที่เราใช้ชีวิตประจำวันต้องอาศัยพื้นดินทั้งหมด”

‘กลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช’ ก่อตั้งมานาน 10 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 10 คน กลุ่มนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มที่ใช้เรียกร้องเรื่องสิทธิที่ดินเพื่อเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตชาวตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง ผ่านสมุนไพรที่อยู่ในในชุมชนและธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช้รักษาโรคกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม ที่สำคัญคือการทำให้รัฐบาลเห็นว่า “คนบุกรุกป่าไม่ใช่เรื่องจริง” การตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อฉายภาพให้รัฐบาลเห็นว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกโยงกับพืชสมุนไพร เพื่อสะท้อนว่าการที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องไม่ใช่แค่เรื่องเอกสารสิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อปกป้องป่า ปกป้องสมุนไพร ปกป้องชุมชน ปกป้องวิถีชีวิตของชาวบ้าน นี่คือสารตั้งต้นแรก ที่ทำให้แผ้ว เขียวดำ และสมาชิกในชุมชนตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา 

กลุ่มยาสมุนไพรทำขึ้นมาเพราะขบวนการต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน เพื่อทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสมุนไพรและชุมชนที่มีอยู่ เพื่อหนุนเสริมในการต่อสู้เรื่องที่ดินระดับชาติ ประเด็นสำคัญคือต้องหารายได้เข้ากลุ่ม ต้องหารายได้เข้ามาในองค์กร เพื่อจะเป็นต้นทุนในการขับเคลื่อนงานต่อไป”

 

น้ำมันบ้านๆ ธรรมดา แปลงร่างใหม่ เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

น้ำมันว่านนาคราช ใช้ส่วนผสมที่หาได้จากสมุนไพรในชุมชน คนรุ่นเก่าใช้สมุนไพรตัวนี้แก้อาการเป็นหวัด คัดจมูก แก้ปวดเมื่อยเมื่อเจอแมลงสัตว์ กัดต่อย ลักษณะของสมุนไพรคล้ายๆ กับว่านสด ที่นำมาบดละเอียดผสมกับน้ำมะนาวแล้วนำมาทาแผล สมุนไพรชนิดนี้เป็นที่เลื่องชื่อตั้งแต่โบราณ ในระบบนิเวศวิทยาจัดอยู่ในพืชกลุ่มเฟิร์น เติบโตในเขาแก้ว เขตเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันชาวบ้านได้นำมาขยายพันธุ์ในชุมชน เพราะการเดินทางเข้าไปหาสมุนไพรในป่าเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง และต้องการขยายพันธุ์ไว้ให้สมุนไพรนี้ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ป้องกันการสูญพันธุ์ในอนาคต   

‘แผ้ว เขียวดำ’ เล่าว่า สมาชิกกลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช ได้เปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ให้ทันยุคสมัย เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดให้กว้างขึ้น มีแนวคิดที่ไม่ได้จำกัดแค่ขายในชุมชนเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน จึงพัฒนาสูตรน้ำมันว่านใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น นอกจากว่านนาคราชที่เป็นส่วนผสมสำคัญ น้ำมันตัวนี้ ยังมีว่านอีก 11 ชนิด ที่เป็นส่วนผสมชั้นเลิศ ได้แก่ เถาโคคลาน ว่านนาคราช กระดูกไก่ดำ ค้างคาวดำ เทพทาโร ม้ากระทืบโรง เถาสะค้าน กระแตไต่ไม้ กระวาน และหัวไพร

เราขายในชุมชนและนอกชุมชน ขายในร้านที่เรามีความสามารถเข้าถึงได้ ที่ผ่านมาขยายไปเรื่อยๆ ส่วนกำไรที่ได้จากทำว่านนี้ยอมรับว่าได้ เพราะการทำการตลาดทุกคนต้องหวังกำไร ส่วนเงินที่ได้กำไรก็นำมาใช้ในการขับเคลื่อนงาน ดำเนินงานต่อสู้เรื่องที่ดิน”

 

บุกน้ำ ลุยไฟ ลองผิด ลองถูก กว่าจะได้น้ำมันสมุนไพรเลื่องชื่อ

กว่าจะได้สูตรที่ลงตัว จนมาเป็น ‘น้ำมันสมุนไพรว่านนคราช’ ที่ร่วมโปรเจ็กต์น้ำมัน PRIDE กับทาง Amnesty Shop Thailand แผ้ว เขียวดำ เปรียบเทียบให้ฟังว่า เขาและชาวสมาชิกต้องล้มลุกคลุกคลานมานานพอสมควร เพราะระหว่างการพัฒนาสูตรมีอุปสรรค ต้องลองผิด ลองถูกอยู่หลายครั้ง เพราะต้องช่วยกันคิดค้นและทำให้น้ำมันว่านตัวนี้มีมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญต้องทำให้ถูกใจคนที่ชื่นชอบน้ำมันหรือยาดม และทำให้มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว 

ทุกๆ เดือน กลุ่มสมาชิกน้ำมันสมุนไพรว่านนาคราช จะเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาขายที่  ‘ตลาดบ้านป่า’ ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่ชาวกลุ่มสมัชชาคนจนจะนำมาของจาท้องถิ่นและธรรมชาติมาขายร่วมกัน เหตุผลที่ทำให้เขาและชาวบ้านเดินทางไกลเพื่อมาขายน้ำมันสมุนไพร เพราะตลาดบ้านป่ามีความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยกันกับธรรมชาติและสมาชิกสมัชชาคนจน แผ้ว เขียวดำ เล่าว่า เขาต้องการทำให้รัฐบาลเห็นว่าสมุนไพรของชาวบ้าน คือวิถีชีวิตที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงและใช้ได้ ไม่ใช่การบุกรุกป่าตามที่ถูกกล่าวหา

“เราต้องการบอกว่า เราใช้สมุนไพรเพื่อให้ทุกคน ชุมชนต่างจังหวัด ชุมชนเมือง คนที่มีศักยภาพ คนที่มีสิทธิใช้ทรัพยากรสามารถใช้สิ่งของเหล่านี้ได้ด้วยทุกคน เป็นที่มาที่เรานำของเหล่านี้ไปสู่ตลาดบ้านป่า”

 

น้ำมันพื้นบ้าน สู่…โปรเจ็กต์ ‘น้ำมัน Pride’ แอมเนสตี้

“ ครั้งแรกที่จุดประกายให้มาร่วมงานกับแอมเนสตี้ กลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช พบกับแอมเนสตี้ครั้งแรกที่ตลาดบ้านป่า ในตอนนั้นทางองค์กรเห็นว่าน่าสนใจ อยากนำผลิตภัณฑ์มาพัฒนาต่อ อยากหนุนเสริมชุมชน เราก็เลยบอกว่าได้ เรามาทำ เรามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เขาก็ขยายผลให้เราเป็นตลาดกว้าง เป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น”

แผ้ว เขียวดำ พูดถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาสมุนไพรกับแอมเนสตี้ว่า กลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช เป็นกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผูกพันกับเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายภาคส่วน แอมเนสตี้เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีจุดยืนและทิศทางการทำงานที่ตรงกัน จึงทำให้มาร่วมทางในถนนสายเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ด้วยการยกระดับน้ำมันพื้นบ้านธรรมดา เป็นน้ำมันที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้คอนเซ็ป ‘ความรักสำหรับทุกคน’ เพราะนักต่อสู้ต้องเดินทางเป็นประจำ เมื่อเจอแอมเนสตี้ หน่วยงานที่ช่วยและหาทางออกในชุมชน จึงจุดประกายความคิดร่วมกันว่า จะร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ไปถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

การจุดประกายให้น้ำมันพื้นบ้านธรรมดา กลายเป็นน้ำมันไพรด์ ภายใต้โปรเจ็กต์ Pride – Thai Herbal Multipurpose Oil แผ้วมองว่า เป็นการพัฒนาและขยายตลาดสินค้าชุมชนให้ไกลออกไปมากขึ้น ส่วนตัวเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้จะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับชาวบ้านทุกคน แต่พบว่าช่วยทำให้คนในพื้นที่กระชับความสัมพันธ์และเข้าใจกันมากขึ้น ว่าการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินหรือสิทธิต่างๆ จะต้องมีหลักการ เหตุผลในการต่อสู้ เช่น ทำให้เห็นว่าทำเพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีสมุนไพร ทำให้เห็นบริบทของงานชุมชน ที่ต่อสู้กันตามวิถีชีวิต

“การที่แอมเนสตี้จุดประกายน้ำมัน PRIDE ขึ้นมา ทำให้ชุมชนเห็นว่า สินค้าที่เราทำ มันไปไกลกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่เพราะว่าทำขึ้นมาแล้วไม่มีคนขาย ไม่มีคนซื้อ ขายไม่ได้ ไม่มีผู้บริโภค ตรงนี้มันจะทำให้กำลังใจของชุมชนไม่มี พอจุดประกายขึ้นมา มีการหนุนเสริมของหลายกลุ่มขึ้นมา ทำให้การดำเนินงานชุมชนมีกำลังใจมากขึ้น มีพลังในการที่จะเดินต่อร่วมกับแอมเนสตี้”

แผ้ว เขียวดำ เปิดใจว่า รู้สึกดีใจที่แอมเนสตี้มีส่วนร่วมผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีความหลากหลายและส่งถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะปกติเวลาชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่  แต่เมื่อร่วมกันพัฒนาให้น้ำมันว่านมีสีสัน กลับทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยโดนใจคนรุ่นใหม่ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เพราะการที่แอมเนสตี้พัฒนาให้น้ำมันมีสีสันและกลิ่นที่ไม่เหมือนกัน ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่สนใจและหันมาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านไปพร้อมๆ กับเรียนรู้เรื่องของแอมเนสตี้ได้จริง สะท้อนให้เห็นว่านี่ไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ทำให้ทุกคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์เห็นคุณค่าของวิถีชีวิต เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ รวมถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ส่วนตัวมองว่าทุกเรื่องที่มีในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลิตผลที่ชุมชนทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงได้ หากทุกคนเข้าใจเรื่องนี้เชื่อว่าจะเป็นต้นทุนที่ดีในการขับเคลื่อนงานเรื่องสิทธิ ที่ทำให้ทุกสังคมได้รับรู้และรับทราบ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่ว่าแต่ละคนจะเรียนรู้สิทธิตัวเองได้เท่าไหร่ มันเป็นเรื่องของบุคคล”

สำหรับน้ำมัน PRIDE เป็นความร่วมมือระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กลุ่มสมุนไพรว่านนาคราช จังหวัดพัทลุง น้ำมันตัวนี้นอกจากได้รับความร่วมมือจากกลุ่มชาวบ้าน ยังมีศิลปินมาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย มีความคิดริเริ่มจากการมาร่วมตั้งคำถามว่า ทำไมน้ำมันสมุนไพรต้องมีแพ็คเก็จธรรมดา จึงเป็นที่มาของ “น้ำมันไพรด์” ที่เกี่ยวข้องกับความรัก โดยนำมาตีความให้กลายเป็นความรักสำหรับทุกคน ทุกเพศ โดยไม่มีการแบ่งแยก เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนในสังคมทำได้

น้ำมัน PRIDE ทั้ง 4 สี มาจากแนวคิดสมรสเท่าเทียม แต่ละสี แต่ละกลิ่น จะมีความหมายแตกต่างกัน ทั้ง 4 ลายใช้ดอกไม้หลากสี หลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก : Amnesty Shop Thailand หรือกดสั่งซื้อได้ที่ https://shop.amnesty.or.th/