"การรวมกลุ่ม" จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย NGOs

7 พฤษภาคม 2564

Amnesty International

ภาพรวม

  • ปัจจุบันเกิดการรวมกลุ่มของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ออนไลน์ และการรวมกลุ่มกันก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคมเสมอมา โดยที่เราทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะจัดตั้ง เข้าร่วม และมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคม

  • แต่ทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนไป หาก “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารําได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” ถูกนำมาบังคับใช้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อพวกเราอย่างไร และทำไมเราจึงต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อยืนยันเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง

  • ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ภายใต้การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วระหว่างวันที่ 12 ถึง 31 มีนาคม 2564 หลังจากนี้ ร่างกฎหมายนี้จะถูกส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป 

 

ใครบ้าง? ที่จะได้รับผลกระทบ

  1. สมาคม มูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

  2. คณะบุคคลที่มิได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ แต่ดําเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกําไรมาแบ่งปันกัน 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ “คณะบุคคล” ถูกจัดอยู่ใน “องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” ตาม พ.ร.บ.นี้เช่นกัน ซึ่ง เป็นการกำหนดที่คลุมเครือและกว้างขวาง ดังนั้นจึงอาจหมายรวมถึง กลุ่มสถาบันวิชาการ กลุ่มชุมชน งานแสดงศิลปะ องค์กรนักศึกษา เครือข่ายชุมชน กลุ่มเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น โครงการที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ สมาคม องค์กรไม่แสวงผลกำไร และการรวมกลุ่มในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการพิจารณาว่าจะยกเว้นองค์กรใดภายใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้ 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาสังคม

  1. ทุกกลุ่มต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย

ร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับให้องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรต้องจดทะเบียน และทำให้กลุ่มที่ไม่จดทะเบียนกลายเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย 

ข้อสังเกต : ไม่ว่าคุณจะรวมกลุ่มในรูปแบบไหน ก็อาจถูกตีความอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ที่กำหนดคำนิยามไว้อย่างกว้างขวางได้ทั้งนั้น

 

  1. เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการดำเนินกิจกรรมได้ 

กลุ่มใดก็ตามที่รับทุนจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มที่ที่จะพิจารณาว่าจะกิจกรรมใดบ้างที่จะสามารถกระทำได้โดยใช้เงินทุนนั้น

ข้อสังเกต : มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ทางการไทยในการตรวจสอบองค์กรต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จึงอาจเกิดการเลือกปฏิบัติและยังเป็นการเปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบได้อย่างมากมาย

 

  1. กระทบความเป็นส่วนตัวและการปิดกั้นการแสดงออก

กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไทยสามารถเข้าไปในสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคมและทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่ต้องมีหมายศาล 

ข้อสังเกต : นี่เป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวและต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของสมาชิกองค์กรต่าง ๆ   

 

  1. อาจเกิดการลงโทษที่รุนแรง

ร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับให้องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรต้องจดทะเบียน และหากผู้ใดไม่ได้จดทะเบียน อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ข้อสังเกต : ถือเป็นการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินความจำเป็นต่อประชาชนเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคมอย่างสันติ 

 

ข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้

ถอดถอนร่างกฎหมายทันทีและยืนยันพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนในการปกป้อง ส่งเสริม และปฏิบัติตามสิทธิในการสมาคมและสิทธิอื่น

ทำไม? พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงควรถอดถอนไปทั้งฉบับ

  • ไม่ได้ให้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมาคม

  • กำหนดความผิดทางอาญาที่กว้างและคลุมเครือ

  • ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้มาตรฐานสากล

  • ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ทุกกลุ่มมีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสมาคมอย่างเท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง

https://www.amnesty.or.th/latest/news/901/

https://www.amnesty.org/download/Documents/ASA3939282021ENGLISH.pdf