กรณีศึกษาจากหนังสือ “KNOW YOUR RIGHTS AND CLAIM THEM”

2 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

ดูฮวาน ฮูซาน ( Dujuan Hoosan) อายุ 14 ปี จากประเทศออสเตรเลีย


 

ดูฮวานเป็นเด็กชาวอาร์เรนเต้และการ์วา (Arrernte and Garrwa) ในประเทศออสเตรเลีย เขาพูดได้สามภาษา เป็นหมอพื้นบ้านของเผ่า และมีสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งต่อวัฒนธรรมของเขา แต่ความรู้ความสามารถของเขาไม่เป็นที่ยอมรับในระบบการศึกษาของออสเตรเลีย และทำให้เขาถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา เช่น ไม่สามารถไปโรงเรียนได้และถูกข่มขู่ว่าจะจับเข้าคุก โดยในปี 2563 ในอาณาเขตทางเหนือที่เขาอาศัยอยู่ เยาวชนที่ถูกจำคุก 100% เป็นกลุ่มเด็กชาติพันธุ์

 

ประสบการณ์ชีวิตของดูฮวานถูกถ่ายทอดในสารคดีเรื่อง “In My Blood It Runs” เมื่อปี 2562 เขาได้เดินทางไปกรุงเจนีวา และเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยขึ้นพูดต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เขาเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลียแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่กระทำความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 14 ปีและเล่าถึงประสบการณ์ของตนที่เกือบจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ดูฮวานยังพูดถึงความจำเป็นในการร่างระบบการศึกษาสำหรับชาวอะบอริจินขึ้นใหม่ เขาช่วยให้ทางการออสเตรเลียให้ความสำคัญกับเด็กและชุมชนชาวพื้นเมือง และให้เข้าใจว่าเยาวชนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา

“ผู้ใหญ่ไม่เคยฟังเด็ก โดยเฉพาะเด็กแบบผม แต่พวกเรามีเรื่องสำคัญที่ต้องพูด”

 

ไอชา ซาเลห์ (Aisha Saleh) อายุ 16 ปี จากประเทศไนจีเรีย



 

ไอชาอาศัยอยู่กับพี่ชายและยายของเธอในชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองลากอส เมืองที่ใหญ่ที่สุดในไนจีเรีย เธอเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่อายุ 11 ปี ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาและต่อต้านการแต่งงานในเด็ก ในปี 2562เธอมีโอกาสได้เป็นตัวแทนเยาวชนไนจีเรียในการเข้าร่วมงานสัมมนาเยาวชนแห่งสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่สำนักงานหนังสือเดินทางไม่อนุญาตให้เธอไป เพราะไม่เชื่อว่าเธอจะสามารถออกค่าเดินทางได้ เมื่อเธออายุ 15 ไอชาเริ่มรณรงค์เรื่องผ้าอนามัยสำหรับผู้ยากไร้ และต่อต้านวัฒนธรรมที่ไม่อนุญาตให้พูดถึงเรื่องประจำเดือน เธอร้องขอให้รัฐบาลไนจีเรียจัดหาผ้าอนามัยให้แก่ผู้ด้อยโอกาสเช่นเธอที่ต้องขาดเรียนเวลาประจำเดือนมา เพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ จนมีผู้คนมากร่วมกันบริจาคเงินและผ้าอนามัยให้แก่เด็กผู้หญิงทั่วประเทศ รวมถึงในค่ายลี้ภัยด้วย

“ถ้าคุณไม่รู้สิทธิของตัวเอง คุณจะถูกเอาเปรียบได้ง่าย แต่ถ้าคุณรู้สิทธิของตัวเอง คุณจะไม่ถูกโกงได้ง่ายๆ”

 

โมเสส อาคาทูคบา (Moses Akatugba) อายุ 32 ปี จากประเทศไนจีเรีย



 

เมื่อปี 2548 โมเสสวัย 16 ปีกำลังรอผลการเรียนในชั้นมัธยมต้นของเขาตอนที่ทหารไนจีเรียมาจับกุมเขาไปพร้อมทั้งทุบตีและยิงมือของเขา เพราะเขาถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นติดอาวุธในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เขาถูกทรมานและบังคับให้รับสารภาพในคดีที่เขาไม่ได้ทำ หลักจากถูกจำคุกนาน 8 ปี เขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ซึ่งเป็นคำตัดสินที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเขาถือเป็นเยาวชนเมื่อตอนที่คดีความเกิดขึ้น และคำสารภาพของเขาได้มาจากการทรมาน ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาลได้ 

ในระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ โมเสสเป็นโค้ชให้กับทีมฟุตบอลของผู้ต้องขังเพื่อให้ทุกคนยังมีความหวัง นักกิจกรรมทั่วโลกไปรวมตัวกันหน้าสถานฑูตไนจีเรียในประเทศของตนเพื่อเป็นตัวแทนให้เขาในการเรียกร้องให้รัฐบาลไนจีเรียถอนคำตัดสินประหารชีวิต และทำการสอบสวนการทรมานดังกล่าว การรณรงค์ครั้งนั้นได้ผล และที่สุดในปี 2558 โมเสสก็ได้รับการปล่อยตัว

“ผมรู้สึกตื้นตันมาก ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ และนักกิจกรรมทุกคนที่ช่วยให้ผมเอาชนะเหตุการณ์ครั้งนี้มาได้ ทุกคนเป็นฮีโร่ของผม และผมอยากจะยืนยันว่าความพยายามของทุกคนจะไม่สูญเปล่า ผมสัญญาว่าจะเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อจะได้ต่อสู้และปกป้องคนอื่นๆ ต่อไป” 

 

จานนา จีฮัด (Janna Jihad) อายุ 15 ปี จากปาเลสไตน์

 

 

จานนาโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า นาบี ซาเลห์ ในเขตปาเลสไตน์ ในปี 2552 ตอนที่เธออายุ 3 ปี ชุมชนของเธอออกมาชุมนุมโดยสงบทุกสัปดาห์ แต่ก็ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ตอนเธออายุ 5 ปี เพื่อนและลุงของเธอถูกกองทัพอิสราเอลสังหาร เมื่อเธออายุ 7 ปี เธอตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเธอใช้โทรศัพท์ของแม่บันทึกวิดีโอภาพความลำบากที่ต้องพบเจอทุกวัน และกลายเป็นนักข่าวด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อเธอโตเป็นวัยรุ่น วิดีโอของเธอมีผู้ชมหลายแสนคน ในปี 2561 เธอกลายเป็นผู้ถือบัตรสื่อมวลชนที่อายุน้ายที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 12 ปี

“ฉันเริ่มเป็นสื่อมวลชนตั้งแต่อายุ 7 ปี เพราะฉันอยากให้คนทั้งโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ และเราต้องอยู่ในความหวาดกลัวและไร้ความมั่นคงอย่างไร ฉันผ่านอะไรมามาก ทั้งเห็นญาติถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา เห็นแม่ถูกทำร้าย เพื่อนต้องโดนจับกุม ฉันแค่อยากมีชีวิตปกติเหมือนคนทั่วๆ ไป”


ซูไลคา พาเตล (Zulaikha Patel) อายุ 19 ปี ประเทศแอฟริกาใต้

 

 

ในปี 2559 ซูไลคาในวัย 13 ปีและนักเรียนผิวสีคนอื่นๆ ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้โรงเรียนมัธยมพรีโตเรียเปลี่ยนระเบียบทรงผมที่เป็นการเหยียดเพศและเชื้อชาติ เพราะทางโรงเรียนมีกฎให้นักเรียนเหยียดผมให้ตรง และมีระเบียบอื่นๆ ที่บังคับใช้ด้วยภาษาที่เหยียดเชื้อชาติ เหล่านักเรียนหญิงใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ด้วย #StopRacismAtPretoriaGirlsHigh ซึ่งถูกใช้กว่า 150,000 ครั้ง และช่วยให้นักเรียนผิวสีมารวมตัวกันแสดงความเห็นต่อกฎของโรงเรียนที่ถูกเขียนโดยคนขาวและเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน โรงเรียนมัธยมพรีโตเรียถูกก่อตั้งเมื่อปี 2445 ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนเฉพาะคนขาวเท่านั้น จนในปี 2533 ทางโรงเรียนจึงเปิดรับนักเรียนทุกเชื้อชาติ การชุมนุมประท้วงดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการรวมตัวลักษณะเดียวกันในโรงเรียนอื่นๆ จนเป็นผลสำเร็จเมื่อสำนักงานการศึกษาระดับภาคระงับการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าว ปัจจุบัน ซูไลคาเป็นผู้แต่งหนังสือขายดีชื่อ “My Coily Crowny Hair”

“ขอให้ฉันเปลี่ยน (ทรง) ผมของฉัน ก็ไม่ต่างอะไรกับขอให้ฉันเปลี่ยนสีผิวของฉัน”

 

มูฮัมหมัด นาเจ็ม (Muhammad Najem) อายุ 19 ปี จากประเทศซีเรีย

 

 

มูฮัมหมัดมีอายุ 15 ปีตอนที่เขาเริ่มบันทึกภาพความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธในซีเรียเมื่อปี 2560 พ่อของเขาเสียชีวิตในมัสยิดที่ถูกทิ้งระเบิดระหว่างการสวดมนต์ มูฮัมหมัดต้องเผชิญกับความรุนแรงและความทุกข์ทรมานในระหว่างที่หมู่บ้านของเขาในทางตะวันออกของเกาตาถูกโจมตีโดยทางการซีเรีย เขามีความตั้งใจที่จะให้โลกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เขาตั้งใจแน่วแน่ที่จะบอกกับชาวโลกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสัมภาษณ์และบันทึกความเป็นจริงในชีวิตประจำวันและความตายในเขตสงครามเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ชมในตะวันตกได้รับรู้ เมื่อไหร่ก็ตามที่การระเบิดหยุดลง มูฮัมหมัดและพี่ชายของเขาจะต้องรีบขึ้นไปดาดฟ้าเพื่อใช้เสาไวไฟ (WiFi) ความสูงสิบเมตรในการอัพโหลดวิดีโอของเขา ไม่นานหลังจากนั้นเขาและครอบครัวต้องหลบหนี และได้ขอลี้ภัยในประเทศตุรกี เขายังคงรายงานอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซีเรียต่อไป โดยอาศัยข้อมูลจากสายข่าวในพื้นที่

“คนรุ่นใหม่สามารถร่วมชุมนุมโดยสงบทั้งบนถนนและบนโลกออนไลน์ได้ เราสามารถสนับสนุนนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้ด้วยการแชร์ข้อมูลของเขา และเราสามารถเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงของเราได้ แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ เพื่อที่จะแชร์ให้ทั่วโลกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้”

 

ไครียะห์ ระหมันยะ อายุ 19 ปี จากประเทศไทย

 

 

หรือที่รู้จักกันดีในนามของ ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ไครียะห์เกิดในหมูบ้านประมงจะนะในภาคใต้ของประเทศไทย ทะเลรอบหมู่บ้านของเธอเป็นแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเลและโลมาสีชมพู ในปี 2563 ตอนที่เธออายุ 18 ปี ไครียะห์รณรงค์ต่อต้านแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ เธอใช้เวลาหลายชั่วโมงในการยืนประท้วง และเดินทางกว่า 1000 กิโลเมตรเพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ระงับโครงการดังกล่าว ในที่สุด ทางการได้ยุติการดำเนินงานชั่วคราว และทำเวทีรับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่ขึ้นใหม่ 

“เราอยู่กับทะเล กินอาหารจากทะเล โตมากับทะเล มันจึงเป็นสายใยที่แน่นแฟ้นที่เชื่อมโยงระหว่างเรา เราอยากเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสถานที่ที่ที่เต็มไปด้วยความมั่งคั่งทางทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายอย่างที่เรามีอยู่ในตอนนี้ เราอยากให้ลูกหลานของเราได้เติบโตมาในธรรมชาติแบบเดียวกับเรา”

 

เอมิลี่ วอล์ดรอน (Emily Waldron) อายุ 13 ปี จากสหราชอาณาจักร

 

 

 

เอมิลี่เป็นเด็กหญิงข้ามเพศชาวอังกฤษวัย 13 ปี เธอคิดมาตลอดว่าเธอไม่เหมือนคนอื่น จนเธอได้พบกับองค์กรการกุศลนางเงือก ซึ่งให้ความช่วยเหลือเยาวชนข้ามเพศและครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาเธอมีความตั้งใจที่จะไม่ให้เด็กๆ คนไหนต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนเธออีก เธอได้ร่วมงานประชุมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ที่ที่เธอได้พบกับข้าราชการจากสำนักงานความเท่าเทียมของรัฐบาลอังกฤษที่ทำงานเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การยอมรับทางเพศ ที่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศสามารถเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย (Legal Gender) บนสูติบัตรได้ สิ่งนี้ทำให้เธอเข้าใจว่าการรณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมมีหลายวิธี ตั้งแต่นั้นมาเธอก็เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่างๆ มาโดยตลอด

“การรณรงค์ทำให้ฉันรู้สึกมีพลังและสามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ ตอนที่ฉันขึ้นมัธยม ฉันได้เข้าร่วมชมรมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและพันธมิตร ฉันได้ขึ้นพูดในแต่ละชั้นเรียนเพื่อให้ความรู้ และทุกคนชอบมาก ฉันอยากให้นักเรียนทุกคนรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโรงเรียน ฉันจะรณรงค์ต่อไปจนกว่าตัวฉันเองและชมรมของฉันจะได้รับความรัก ความเคารพ และความเท่าเทียมที่เราควรได้ เพราะเราทุกคนคือคนเหมือนกันและเราควรจะเป็นชุมชนเดียวกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

 

โทกาตา ไอรอนอาย อายุ 17 ปี จากประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

โทกาตา ไอรอนอาย เป็นสมาชิกชนเผ่า ‘แสตนดิ้ง สโตน ซู’ (Standing Rock Sioux tribe) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่เธออายุ 9 ปี เธอได้ขึ้นให้การในชั้นศาลเพื่อคัดค้านการสร้างเหมืองยูเรเนียมในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แบล็คฮิล (Black Hills) ตอนเธออายุ 12 ปี เธอได้พูดในวิดีโอขอความช่วยเหลือจากสาธารณชนในการต่อต้านการสร้างท่อส่งน้ำมันดาโกต้า การรณรงค์ดังกล่าวได้นำพาผู้คนหลายพันคนทั้งในและนอกประเทศมาช่วยกันคัดค้านโครงการดังกล่าวนานเกือบปี ในปี 2563 โทกาตาวัย 16 ปีก็ได้ร่วมเป็นกรรมการในกลุ่มสนับสนุนพลังงานทางเลือกชื่อ ‘พลังงานคนพื้นเมือง’ (Indigenised Energy) เธอยังคงต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิคนพื้นเมืองในปัจจุบัน

“แค่ดำเนินชีวิตตามความเป็นจริงและตระหนักถึงความทุกข์ยากของโลก คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงแล้ว จงเชื่อมั่นในตนเองและเปล่งเสียงให้ดัง”

 

กลุ่มผู้นำเยาวชน BRAVE สหรัฐอเมริกา

กลุ่ม BRAVE เป็นกลุ่มเยาวชนเพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วยการฝึกอบรมเยาวชนให้สามารถส่งเสริมสันติภาพและต่อต้านความรุนแรงจากอาวุธปืนและความไม่ยุติธรรมในสังคมผ่านโครงการต่างๆ โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน

กาเบรียล ไคเซอร์ สมาชิกกลุ่ม BRAVE อายุ 16 ปี กล่าวว่า

“ในตอนนี้ ความรุนแรงจากอาวุธปืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว มันเป็นบรรทัดฐานใหม่ กลุ่ม BRAVE ช่วยให้ผมกล้าแสดงความเห็นมากขึ้น และกล้าพูดในเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแตะ อย่างเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ความรุนแรงในครอบครัว โรคซึมเศร้า และอีกหลายๆ เรื่อง กลุ่ม BRAVE ช่วยให้ผมพูดได้อย่างเป็นอิสระ มันไม่มีคำตอบที่ผิด และเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการได้พูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด กลุ่ม BRAVE จะเป็นฐานกำลังที่มั่นคงที่คุณสามารถพึ่งพิงได้”