นักกิจกรรมที่เปล่งเสียงเพื่อความเท่าเทียม : เพราะ LGBTQIA+    ก็คือมนุษย์ที่ต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกัน

3 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนอ่านบทสัมภาษณ์นักกิจกรรมที่รณรงค์เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจึงรวบรวมบทสัมภาษณ์นักกิจกรรมที่ร่วมสนับสนุนและเปล่งเสียงให้ผู้คนรับรู้ว่า การมีตัวตนของกลุ่ม LGBTQIA+ ในสังคมไทย ไม่ใช่ความแตกต่างเพราะเขาก็คือมนุษย์ ที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

 

Diagram

Description automatically generated

ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ

ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีเอกลักษณ์ในการรณรงค์ผ่าน “สีรุ้ง” เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้กับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) จะพาเราย้อนไปรู้จักกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

หากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน เราจะพบกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในสังคมไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตีตราจากสังคม เช่น การที่ไม่ให้สื่อโทรทัศน์นำเสนออัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลผ่านทางโทรทัศน์ ด้วยเหตุผลที่ว่า จะเป็นการสร้างภาพจำให้บุคคลอื่นเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศ หรือแม้แต่การตีตราว่ากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศคือกลุ่มคนที่มีความวิปริต เราจึงอยากชวนอ่านบทสัมภาษณ์ที่จะลำดับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย 

 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนจนมาถึงปัจจุบันการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง?

“มันมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อย่างน้อยมีกฎหมายที่มาช่วยเรา มาปกป้องเรามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสิบปีก่อน ซึ่งมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่านี้ เช่น เคยมีเรื่องวิทยาลัยครูประกาศห้ามรับครูที่เป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าเรียนและกรมประชาสัมพันธ์เคยห้ามกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกสื่อ 

ถ้าสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคงเป็นเรื่องเกณฑ์ทหาร ที่เปลี่ยนจากการใช้คำว่า “วิปริต” เป็น “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และการมี พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ ทางด้านการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนให้ดูดีมากขึ้นคือ เมื่อสองปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับเปลี่ยนวิชาสุขศึกษา ให้ยกเลิกหลักสูตรที่กล่าวถึง “ความวิปริตทางเพศ” ออกไป แต่หลักสูตรแกนกลางยังไม่ได้แก้ไข แต่ไปปรับเปลี่ยนแก้ที่ตัวหนังสือที่เป็นเล่มๆ แทน แต่ก็ยังดีที่คำว่า “วิปริตทางเพศ” มีการถูกลบออกไปจากหนังสือ 

 

ภายหลังการมี พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แล้ว มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นไหม ?

“เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงเรื่องการกีดกันทางอาชีพ การจำกัดหรือการแบ่งแยกใด ๆ ที่เกิดขึ้น เราอาจไม่รู้ว่าต้องไปฟ้องร้องที่ไหน แต่พอเรามี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มันก็เข้ามาช่วยป้องกันการขจัดการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศได้มากพอสมควร ทำให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แต่คนส่วนใหญ่แค่ยังไม่ได้ใช้กลไกนี้เท่าไหร่ ก็เลยใช้ผ่านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human right Defender) ที่รู้เรื่องนี้มากกว่าและทำการฟ้องร้องให้ 

ข้อเสียของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 คือมันเป็น พ.ร.บ. ที่ประกาศใช้แค่ในแต่ละพื้นที่ หมายความว่าเขาส่งจดหมายไปบอกในแต่ละพื้นที่ว่ามี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ประกาศใช้แล้ว แต่การประกาศใช้ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นๆ ด้วยว่าจะนำมาประกาศใช้เป็นกฎหมายในพื้นที่ที่ตนมีอำนาจหรือไม่? ทำให้เราเห็นข่าวผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออธิบดีตามมหาวิทยาลัยค่อยๆ ออกมาประกาศใช้ ซึ่งจริงๆมันไม่ควรทยอยนำออกมาใช้ มันควรจะออกมาจากการประกาศโดยนายกรัฐมนตรี ที่ควรประกาศใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราวและจับต้องได้ ซึ่งมันไม่ควรให้สิทธิในการใช้เพียงแค่ดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจแต่ละจังหวัดหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะการให้ใช้ดุลพินิจนั้นอาจจะนำไปสู่สาเหตุที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศได้อย่างไม่มีความเท่าเทียม ส่วนถ้าจะให้พูดถึงข้อดีของ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พี่ก็เคยใช้ฟ้องสื่อเหมือนกันนะ ซึ่งการฟ้องสื่อครั้งนั้นก็ทำให้สื่อออกนโยบายเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับการเขียนข่าวของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การฟ้องสื่อในแต่ละครั้ง พี่กลับต้องมาตั้งคำถามกับสื่อว่า 

'ทำไมเราต้องมาฟ้องเป็นเรื่องๆ ทั้งๆ ที่ก็มีจรรยาบรรณสื่ออยู่แล้วแต่ทำไมคุณไม่ใช้จรรยาบรรณของคุณให้ถูกวิธี' 

 

ความก้าวหน้าที่เป็นข้อดีในปัจจุบันของกลุ่ม LGBTQ+จะไปได้ไกลมากแค่ไหน?

“พี่มองว่าข้อดีของ LGBTQIA+ ในสังคมปัจจุบันคือมีพื้นที่มากขึ้น คนสนใจประเด็นเหล่านี้ ยกตัวอย่างง่ายๆพี่เล่าจากประสบการณ์มีคนโทรมาขอสัมภาษณ์เรื่องเกี่ยวกับสิทธิ LGBTQIA+ เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยหรือสำนักข่าวต่างๆ แต่ประเด็นที่พี่ตั้งข้อสังเกตคือเมื่อสัมภาษณ์พี่เพื่อทำงานวิจัยแล้ว พี่ก็อยากรู้ว่างานวิจัยชิ้นนี้มันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไหม สุดท้ายทุกคนที่เข้ามาสัมภาษณ์พี่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการทำเพื่อให้มันจบๆ ไป แทบไม่มีการส่งมาให้พวกพี่ได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อทำงานต่อ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ดีที่พี่มองว่าเขายังพูดถึงเรื่องสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และรวมถึงการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมที่มันกำลังค้างอยู่ในสภา คือเรื่องของ พระราชบัญญัติคู่ชีวิตพ.ศ... กับพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้ก็มีการขับเคลื่อนให้มี (ร่าง) พระราชบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล พ.ศ... โดยส่วนตัวพี่แล้วพี่จะใช้คำว่า พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ หรือ พ.ร.บ. รับรองเพศสภาพ 

 

การเลือกปฏิบัติที่พบกับกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร 

“เราเจอเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศมากมาย ตัวอย่างที่ผ่านมาของการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่เยอะที่สุดคือการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศในมหาวิทยาลัย จริงๆ ถ้าให้ตั้งคำถามตอนนี้ว่า พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีประโยชน์อะไรไหม คำตอบคือแล้วแต่ดุลพินิจของผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้น เพราะ พ.ร.บ.นี้มีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 แต่สุดท้ายเราเห็นว่าต้องมีการทำเรื่องร้องขอเพื่อแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศที่มหาวิทยาลัยอยู่ดี บางที่บอกว่าอาจต้องทำแค่ตอนเรียน แต่เวลารับปริญญาต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดของตน ทำให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนพลาดโอกาสในการรับปริญญา เพราะการตั้งเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยทำให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่อาจปฎิบัติตามได้ บางมหาวิทยาลัยยอมให้นักศึกษาแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศได้ แต่บางมหาวิทยาลัยยังเป็นกฎที่ว่าต้องแปลงเพศก่อน ซึ่งบางคนเขาผ่าตัดใหญ่ไม่ได้ สุดท้ายชวนมองว่าสิทธิในด้านการรับปริญญาของเราก็หายไป การรู้ตัวเองหรือการรู้จักร่างกายมันอยู่ที่ตัวเรา แล้วมาห้ามเปลี่ยนมันดูตลก คือผู้บริหารไม่เข้าใจความหลากหลาย ว่ามันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ 

“รวมถึงปีที่แล้วก็ได้เจอกับกรณี ที่รถขนส่งสาธารณะที่เชียงใหม่ น้อง LGBTQ+ ถูกแซวว่า “เป็นกะเทยสวย 25 บาทถ้าไม่สวยมากก็ 50 บาทแล้วกัน” คือการเอาอัตลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนเชิงเหยียดหยามมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะคนได้ยินทั้งรถมันเป็นการสร้างความอับอายต่อผู้ถูกเหยียดหยาม” 

อีกกรณีเรื่องตู้นอนที่คนข้ามเพศไม่สบายใจที่ตนต้องแยกไปนอนตู้ที่มีแต่ผู้ชายซึ่งไม่ได้แยกให้คนข้ามเพศไปนอนรวมกับเพศหญิงสิ่งนี้ก่อให้เกิดความกังวลที่คนข้ามเพศนั้นอาจจะถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ 

เหตุการณ์เหล่านี้มันสรุปได้ง่ายๆ คือไทยไม่มีกฎหมายการรับรองเพศสภาพของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้การเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศยังเกิดขึ้นอย่างไม่เกรงกลัวใดใดทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องโรงเรียนที่พี่โพสต์ทำแคมเปญในเฟซบุ๊กล่าสุดคือบางโรงเรียนละเมิดสิทธินักเรียนที่เป็น LGBTQIA+ ด้วยการให้ทำแบบประเมินเกี่ยวกับเรื่องเพศ และก่อนหน้านี้บางที่ออกข้อสอบที่ตลกและกดทับกลุ่ม LGBTQIA+ เช่น การตั้งคำถามในข้อสอบว่า “คุณรู้สึกอย่างไรกับครูข้ามเพศที่เป็นทอม ก. สงสารเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพศได้” ซึ่งสิ่งนี้มีมานานแล้ว และตัวอย่างที่ชัดเจนคือแบบประเมินของโรงเรียนที่เป็นสมุดพก บอกว่าพฤติกรรมไหนบ้างจะถูกตัดคะแนน เช่น ชู้สาว ดื่มแอลกอฮอล์ในโรงเรียน การเบี่ยงเบนทางเพศ เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมการเป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องถูกตัดคะแนน มันเกี่ยวกับพฤติกรรมมั้ย เขาใช้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศ ตัดคะแนน ลงโทษ ไล่ออก แล้วแต่แสดงออกมากหรือน้อยซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเหมาะสมไหม ?"  ต้น ตั้งคำถาม

 

จุดเปลี่ยนที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นบนสังคม เกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+ คืออะไร 

“พี่คิดว่ามันเป็นกระแสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งก็คือโลกโซเชียล จริงๆ ยุคที่พี่ไม่มีโซเชียล การพูดอะไรสักอย่าง เราพูดคนเดียว ด่าคนเดียว แต่พอมีโซเชียล มันกลายเป็นแรงผลักดันในการช่วยเราพูดโดยอัตโนมัติ การกระจายข่าวสารเลยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีความโดดเด่นจริงๆ ใครไม่พูดก็จะเชยมาก

กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ยอมสยบอยู่ใต้ผู้มีอำนาจอีกต่อไป มันมาพร้อมกันเลย คนรุ่นใหม่พร้อมพูด พร้อมออกจากกรอบ กล้าต่อต้านในสิ่งที่ตัวเองโดนกระทำ ประจวบกับการมีโลกโซเชียลในหลายช่องทาง พอใครพูดเรื่องละเมิดสิทธิมันก็กระจายข่าวอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องเชิญนักข่าวมาหาเรา แต่ตอนนี้โลกโซเชียล ช่วยกันปั่นเองและทุกคนก็เป็นนักข่าวเป็นกระบอกเสียงเอง บางคนก็แอบใช้แฮชแท็กตามกระเเสมันถือเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย ถึงแม้คนสมัยนี้จะพูดเยอะแต่ไม่ทำอะไร แต่จำนวนในการพูด มันก็เป็นสิ่งสำคัญ บางคนอาจจะไม่ถนัดปฏิบัติ แค่เขาพูดถึงก็ประสบความสำเร็จแล้วแต่นั่นแสดงว่าสังคมเข้าใจว่ากระแสนี้มันเลิศ แปลว่าเขาสนใจเรื่อง LGBTQIA+มาก”

สุดท้ายแค่อยากจะบอกกับสังคมว่า “ทุกๆ คนต้องการความปลอดภัย แต่กลับมีบางคนโยนบาปที่อันตรายให้กับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและตีตราว่าพวกเขาต้องเป็นคนถูกผลักไสออกไป” ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศกล่าวทิ้งท้าย

 

Text

Description automatically generated with low confidence

นุ่น-มนูญ วงษ์มะเซาะห์

นุ่น-มนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักกิจกรรมและสมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า แม้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคนในคอมมูนิตี้ของ LGBTQIA+ จะโด่งดังในสายตาคนทั่วโลก จนเกิดเป็น LGBTQIA+ Tourism แต่เธอกลับเห็นว่าประเทศไทยมองกลุ่มผู้ที่มีหลากหลายทางเพศ เป็นเพียงสินค้าตามฤดูกาล 

 

นุ่นเล่าให้ฟังว่า...“เรามองเห็นพอฤดูไหนที่ LGBTQIA+ สามารถหารายได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ และได้รับผลประโยชน์จนใครๆ ก็พูดว่าประเทศไทยเติบโตได้เพราะเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่พอมีการระบาดของโควิดเข้ามา กลับไม่มีการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกันเลย เราเห็นว่า รัฐบาลมองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเพียงกลุ่มคนที่หารายได้ ได้จำนวนมากทางด้านการท่องเที่ยวที่มากจากชาวต่างชาติ และทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดโลก ที่พอใครนึกถึงคาบาเร่ต์โชว์ ก็จะนึกถึงประเทศไทยเป็นที่แรก รัฐบาลมองว่าคุณขายได้ ก็ขายไป แต่กลับไม่มีการเยียวยา ไม่มีการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานและไม่มีความก้าวหน้าทางด้านความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศเลย” 

 

คิดอย่างไรกับที่เคยมีคนบอกว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางเพศ“ ?

คนอาจจะมองว่า ที่นี่คือดินแดนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ถ้าคุณมองลงลึกเข้ามาในกลุ่มคนที่เป็น LGBTQIA+ พวกเขากลับไม่มีแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศเลยด้วยซ้ำ แถมยังเป็นกลุ่มคนที่สังคมตีตราเขาไปในทางที่เสียหายและที่สำคัญการถูกเลือกปฏิบัติยังเกิดขึ้นเพียงเพราะเอามาตรฐานเรื่องเพศมาเป็นตัวกำหนด เราจึงอยากเห็นสังคมไทย ออกมาปกป้องและตระหนักรู้ถึงความเท่าเทียมทางเพศ โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ที่เราเห็นว่ามันยังมีอยู่ เช่น ในสังคมการทำงานในระบบราชการ เพราะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่อาจแต่งตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศได้ รวมถึงในการสัมภาษณ์งาน ในบางครั้งก็มีคำถามว่า ‘คุณชอบเพศไหน?’ มันเป็นคำถามที่ไม่ได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่ม LGBTQIA+ และท้ายที่สุดการสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นน้อยมากบนสังคมไทย 

 

สังคมเรามอบพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มากแค่ไหน

 เราอยากให้ทุกคนมีมุมมองว่าอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่สวยงามในตัวมันถ้าทุกคนมองเห็นตรงนี้เราเชื่อว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้น แต่สิ่งที่เรายังเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันยังมองว่าการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ผิดแปลกไปจากสังคมพอมองว่าคนต่างกันก็เลยเกิดปัญหาในแบบชาตินิยมที่มองคนไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างสถาบันครอบครัวที่หลายคนคิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่รู้ไหมว่าครอบครัวที่จะยอมรับกลุ่ม LGBTQIA+ แทบหาไม่เจอในสังคมไทย โดยเฉพราะในครอบครัวที่มีศาสนาเข้ามาตีกรอบเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เราเคยอ่านเจอในวารสารมานุษยวิทยา ศาสนาเรื่องอิสลามกับเพศสภาพ : Islam And Gender “ครอบครัวมุสลิมทีมีลูกเป็น LGBTQIA+ เป็นครอบครัวที่มักจะมอบความรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา แล้วถ้าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเขา แล้วที่ไหนจะปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ? นุ่นตั้งคำถาม

 

A picture containing text, person, outdoor

Description automatically generated

แทน ธนกฤต ศรีสุวรรณ

แทน ธนกฤต ศรีสุวรรณ ประธานกลุ่มอาสาสมัคร Suratthani Next Normal : SNINN เยาวชนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขานิยามตัวเองเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคมว่า “Ordinary people do Extraordinary things” หรือ คนธรรมดาสามารถทำสิ่งที่ไม่ธรรมดาได้ 

การทำงานของเขาเริ่มต้นจากการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนจากคนใกล้ตัวและเผยแพร่ออกสู่สังคมที่กว้างขึ้นส่วนในการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเกิดจากการที่แทนมองว่า “คนทุกคนต้องเท่ากัน และทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน” เขาจึงเริ่มต้นรณรงค์ง่ายๆ ด้วยการให้ความรู้กับเพื่อนและคนใกล้ตัวของเขาผ่านเรื่องราวและประสบการณ์ที่เขาได้รับรู้บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่มีสิทธิที่จะกำหนดการใช้ชีวิตในรูปแบบของอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ได้อย่างภาคภูมิใจ 

แทนเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มเปิดตัวกับครอบครัวว่าเขาเป็น LGBTQIA+ เมื่อไม่นานมานี้ และครอบครัวก็เปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เขาเป็น แต่ในทางกลับกันสังคมในวงกว้างที่เขาต้องใช้ชีวิตร่วมด้วยเมื่อรู้ว่าเขาเป็น LGBTQIA+ กับพยายามยัดเยียดในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ แทนเล่าว่า “สมัยเป็นนักเรียนเมื่อเขาพยายามพูดถึงเรื่องรสนิยมทางเพศของตน เขามักจะถูกล้อเลียนและคาดหวังให้ทำสิ่งต่างๆ ในแบบ "เพศสภาพ" ตามที่คนในโรงเรียนบางคนรวมถึงครูและเพื่อนอยากให้ทำตามที่พวกเขาคิด”  จึงทำให้แทนลุกขึ้นมาพูดและเป็นกระบอกเสียงเรื่องเสรีภาพในการแต่งกายว่าไม่ควรถูกใครมากำหนดเพราะการแต่งกายที่เสรีคือการแต่งกายที่เขาต้องสามารถกำหนดเองได้ตามความต้องการในแบบอัตลักษณ์ทางเพศของเขาเอง แทนจึงพยายามเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่อยากให้โรงเรียนและพื้นที่สาธารณะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนโดยพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่มากำหนดความเป็นตัวตนของเขาและต้องไม่มากำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของเขาผ่านการรณรงค์แบบง่ายๆที่ "Ordinary" และสามารถทำได้อย่าง"Extraordinary" 

 

มุมมองที่มีต่อเรื่อง LGBTQIA+ ในสังคมไทย 

“เราต้องยอมรับว่าสื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร บางสื่อมีการบอกว่าประเทศเรามีสิทธิทางเพศสภาพและเพศวิถีที่ก้าวหน้า แต่ในระดับท้องถิ่นยังมีการเหยียดหรือบูลลี่ และมีการยัดเยียดว่าคนที่เป็น LGBTQIA+ เป็นตัวตลกในสายตาคนทั่วไป เคยมีเหตุการณ์ที่ครูพยายามยัดเยียดให้เราแสดงออกเป็นผู้หญิง เช่น การแต่งตัว ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่บ่งบอกว่าครูไม่ได้ให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเราในการกำหนดการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศ ของเรา” 

 

ปัญหาที่ยังมองเห็นในกลุ่ม LGBTQIA+ 

“สิ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนของปัญหาคือการสื่อสาร บนพื้นที่สื่อออนไลน์ เรารู้สึกว่าสื่อบางสื่อยังสร้างภาพจำเดิมๆ ว่ากลุ่มคนที่เป็น LGBTQIA+ คือกลุ่มคนที่มีนิสัยชอบล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment.) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันคือการตีตราจากสังคมที่มีภาพจำเดิมๆ ว่า คนที่เป็น LGBTQIA+ มักจะเป็นกลุ่มคนที่มีนิสัยชอบล่วงละเมิดทางเพศ” 

 

คิดเห็นอย่างไรกับคนที่พูดว่า เกิดเป็น LGBTQIA+ ในประเทศไทย “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” 

“คนที่มีความคิดแบบนี้คือคนที่ “น่าสงสาร” น่าสงสารในที่นี้คือผมไม่ได้สมเพชเขานะ แต่ผมสงสารที่ระบบของรัฐได้ปลูกฝังความคิดแบบนี้ให้กับคนกลุ่มนั้น เพราะมันทำให้คนเกิดแนวคิดแบบที่คุณจะไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิทธิที่คุณควรได้รับ เรามองว่าคำๆ นี้มันเป็นคำที่คุณจะมองไม่เห็นเลยว่าสิทธิที่คุณควรได้รับมันควรมีมากกว่าคำว่า “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว”เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานมันควรเกิดขึ้นกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” แทนกล่าว.....

 

เป้-เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์

 เป็นนักกิจกรรมสิทธิความมหลากหลายทางเพศ นิยามตัวเองเป็น Gender Queer , Queer Intersectionality Spiritual Feminist ผู้ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมบนพื้นฐานของคำว่าอัตลักษณ์

 

มุมมองโดยทั่วไปเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQIA+ ในประเทศไทย

หากมองโดยทั่วไป ในปัจจุบันคนที่เป็น LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่รัฐทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มอัตลักษณ์ชายขอบอยู่ เพราะว่าเรายังไม่มีกฎหมายมารองรับที่ชัดเจนมากพอ หรือแม้แต่กฎหมายบางฉบับที่มีอยู่ก็ไม่สามารถนำมาใช้รับรองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเรื่องกฎหมายรับรองคำนำหน้าที่รวมไปถึงสิทธิในการยืนยันเพศยืนยันตัวตนที่รวมไปถึงคนข้ามเพศ หรือกฎหมายรับรองสำนึกที่ไม่ใช่ชายและหญิง เควียร์ นอนไบนารี่ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนที่มีการถกเถียง การเขียนและการยื่นข้อเสนอ หรือบางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA+ ก็ยังไม่ถูกยอมรับเลยด้วยซ้ำหรือแม้แต่กระบวนการที่มาของกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ ก็ยังมีข้อกังวลอยู่ตรงที่ว่ากฎหมายเหล่านี้ มันมาจากการฟังเสียงของกลุ่ม LGBTQIA+ จริงๆ หรือเปล่า เพราะว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศไทยมีความซับซ้อนในเชิงอัตลักษณ์หลายปัญหาอยู่ ดังนั้นการจัดทำกฎหมายเพื่อความเสมอภาคเหล่านี้มันเป็นความสัมพันธ์กัน มันจึงเป็นสิ่งสำคัญและความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้กลุ่ม LGBTQIA+ ได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย แต่เราไม่ถูกยอมรับในเรื่องเพศหรือความหลากหลายทางเพศ ถึงจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นแต่เราก็ยังมองว่าโดยรวมแล้วสังคมไทยยังเห็นคนไม่เท่ากันและปล่อยผ่านไม่ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นทั้งในทางวัฒนธรรมและทางกฎหมาย

 

คิดเห็นอย่างไรกับคนที่มีมุมมองว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่เสรีของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคนที่พูดว่า เกิดเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทย “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” ?

ในประเทศไทยมีข้อดีของกลุ่ม LGBTQIA+ ในหลากหลายมิติถ้าหากเทียบกับบริบทของประเทศใกล้เคียง เรายังพอมีจุดแข็งของเราอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเวลาเราพูดว่า “ได้แค่นี้ก็ดีเเล้ว” มันมาจากเสียงของผู้มีอำนาจในสถานการณ์ของสังคมนั้นๆ หมายถึงว่าเขาละเลยปัญหาและมันทำให้เราเห็นว่าการที่คุณทำอะไรต่างๆ มันไม่ได้มีความจริงใจเลย หรือไม่ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ และปล่อยให้กลุ่ม LGBTQIA+ ที่เห็นต่างจากพวกคุณจะต้องพัฒนาศักยภาพหรือการที่ต้องทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จเพื่อทำให้คนรอบข้างยอมรับ นี่ก็คือการอยู่ในอำนาจรัฐและวัฒนธรรมดั้งเดิมด้วยเหมือนกันซึ่งรัฐไม่เคยให้สวัสดิการหรือการสนับสนุน รัฐไม่มีโครงสร้างที่เป็นธรรมให้กับคนในประเทศนี้เลย ตัวอย่างเช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ไม่มีความเท่าเทียม คุณโปรโมทการท่องเที่ยวให้ต่างชาติเข้ามาแต่งงานในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศก็ไม่ได้ให้ความจริงใจในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มากนัก หรือแม้แต่เรื่องกฎหมายรับรองคำนำหน้าที่รวมไปถึงสิทธิในการยืนยันเพศยืนยันตัวตนที่รวมไปถึงคนข้ามเพศ หรือกฎหมายรับรองสำนึกที่ไม่ใช่ชายและหญิง เควียร์ นอนไบนารี่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องของการเมืองภายใน ที่ทำให้อัตลักษณ์ของความหลากหลายของประเทศนี้ต้องพึ่งพาตัวเอง และเกิดความขัดแย้งในกลุ่มของสังคมผู้ที่มีอำนาจทางด้านนี้ จนก่อให้เกิดสิ่งที่เราต้องตีกันหรือแก่งแย่งทรัพยากรจากโครงสร้างสังคมที่มีความทุเรศทุรัง มันทำให้เกิดภาวะแบบสุญญากาศหรือภาวะการทับถม คือการจับทุกอย่างมารวมกันทำให้ประเทศนี้มีช่องว่างและมีพื้นที่ที่ไม่เท่าเทียมกันในประเทศถ้าหากจะให้เปรียบก็คงเหมือนกับการที่รัฐพูดว่า “เนี่ยเอามาอยู่ในบ้านที่ดีกว่าเดิมแล้ว” แต่ถ้ามองสภาพแวดล้อมในบ้านหลังนั้นที่มันไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ และผู้คนบางกลุ่มถูกเลือกปฏิบัติในบ้านหลังนี้ ซึ่งถ้าหากคนเราไม่สามารถใช้น้ำ ใช้ไฟเหล่านั้นได้หรือไม่สามารถใช้ทรัพยากรบางอย่างได้สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพียงเพราะความไม่เข้าใจของรัฐ รัฐปล่อยให้ทุกคนไม่ได้รับความเสมอภาคของโครงสร้างนี้ รัฐบีบบังคับให้ LGBTQIA+ ไม่ได้รับความเท่าเทียมในโครงสร้างของสังคมนี้

เป้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ซึ่งจริงๆแล้ว เขาก็อาจจะมีความจริงใจในการผลักดันกฎหมายต่างๆ แต่เราอาจจะต้องตั้งคำถามให้ได้ว่า ในขณะที่ประเทศไทยผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีการผลักดันมาอย่างยาวนานแล้วแต่ก็ไม่มีการผ่านและไม่มีความจริงใจในการอยากใช้กฎหมายนี้เพื่อสิทธิของ LGBTQIA+ กันสักที โดยใช้ข้ออ้าง ในเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา เพื่อทำให้เราไม่สามารถได้มีสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มบุคคลอื่นได้” และอีกเรื่องคือรัฐธรรมนูญที่จะมารับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนและไม่มีความจริงใจว่ามันควรจะมีรัฐธรรมนูญรับรองความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของรัฐบ่งบอกได้ชัดเจนมากว่ารัฐมองคนไม่เท่ากัน และรัฐเองไม่ได้มีความพยายามดึงเราให้หลุดพ้นจากกลุ่มคนชายขอบสักที....

สุดท้ายนี้การที่รัฐโปรโมตเรื่องการแต่งงานกับต่างชาติ ให้มาแต่งงานในไทยได้ แล้วบอกว่าเราอัธยาศัยดีกับกลุ่ม LGBTQIA+ แต่แท้จริงแล้วในประเทศไทย คุณยังไม่ให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ดีพอ และพยายามที่จะผลักให้พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับนี้ ที่มันขาดๆ เกิน ๆ มาให้พวกเราใช้ ทั้งที่มีเสียงจากประชาชนเรียกร้อง กฏหมายฉบับ #สมรสเท่าเทียม

 

A picture containing text, tree

Description automatically generated

เพียว ปพิชญา นวนแดง

เพียว ปพิชญา นวนแดง สมาชิกกลุ่ม Law Long Beach-นักกฎหมายอาสา ผู้ทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นบนสังคมไทยและยุติการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

 

มุมมองโดยทั่วไปที่เห็นในสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ?

ในประเทศไทยมีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะขึ้น และสังคมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างบางส่วน ซึ่งมันเหมือนจะดี... แต่ความเป็นจริงก็ยังไม่ได้ดีพอในบริบททางสังคมไทยที่ยังยึดติดกับภาพจำเดิม ถ้าพูดให้เห็นได้ชัดก็คือ ประเทศไทยมีการผลิตซีรีส์วายออกมาเยอะมาก มีคู่จิ้นจำนวนมากแต่ว่าไม่มีการออกมาเรียกร้องสิทธิการเท่าเทียมทางเพศ เหมือนแค่ออกมาทำให้ดูเป็นกระเเสเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มคนที่ติดตาม แต่ในชีวิตความเป็นจริงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่มีกฎหมายมารองรับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า ในความคิดของหนูคือ นักแสดงหลายๆ คนที่มาแสดงซีรีส์วายเขาไม่ได้มาช่วยกันขับเคลื่อนหรือสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งก็อาจจะมีบ้างที่นักแสดงออกมาเป็นตัวแทนเพื่อเรียกร้องแต่ว่ามันมีน้อย เพราะการทำซีรีย์วายออกมาในลักษณะที่ขายแค่กระแสความนิยมโดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ มันทำให้หนูรู้สึกว่า “อุตสาหกรรมซีรีส์วายกำลังทำนาบนอัตลักษณ์ทางเพศของคน” เหมือนกับกอบโกยผลประโยชน์บนอัตลักษณ์ทางเพศของคน ซึ่งมันมีการขายที่เกินจริง เช่น ขายคู่จิ้น ขายหุ่นหรือซิกแพ็ค ในอีกมุมองผ่านการมีตัวตนในโรงเรียนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หนูมองว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าครูหรือเพื่อนไม่เคยมอบความปลอดภัยให้กับคนกลุ่มนี้ในพื้นที่เลย ซึ่งมันดูแปลกมากทั้งๆ ที่พื้นที่นี้ทุกคนมักจะเปรียบเปรยว่าเป็นบ้านหลังที่สองที่เราต้องอยู่เพื่อหาความรู้ แต่บ้านหลังที่สองแห่งนี้ไม่ได้เป็นครอบครัวที่น่าอยู่อีกต่อไปของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเลยสักนิด 

 

ปัญหาของกลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ?

การถูกรับจากคนในสังคม จากที่หนูสังเกตมาเหมือนสังคมจะยอมรับแต่ก็ยังไม่ยอมรับและยังมีการตีตรากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสังคมในที่นี้หนูรวมถึงทั้งสังคมภายในและสังคมภายนอก สังคมภายในก็คือครอบครัวที่ยังไม่ให้พื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แสดงตัวตนออกมาตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนและสังคมโดยรวมไม่ได้ให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

 

คิดเห็นอย่างไรกับคนที่พูดว่า “เกิดเป็น LGBTQ+ ในไทย ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” ?

หนูก็แค่อยากถามเขากลับไปว่า “คำว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” มันโอเคแล้วจริงๆ ใช่ไหม? ทั้งที่การปฏิบัติบนสิทธิขั้นพื้นฐานเรายังไม่ได้รับเลยด้วยซ้ำความเท่าเทียมที่จะให้เท่ากับคนอื่นเราก็ไม่ได้ เราไม่ได้รับการปฏิบัติให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนที่เกิดมาเป็นเพศหญิงเพศชาย แล้วมันดีตรงไหน ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้วของคุณมันได้ สิทธิขั้นพื้นฐานตามสิทธิมนุษยชนที่คุณพึงได้รับหรือยัง?” เพียว ปพิชญา นวนแดง สมาชิกกลุ่ม Law Long Beach-นักกฎหมายอาสา ตั้งคำถาม

 

A picture containing text, sky, person, screenshot

Description automatically generated

เมย์ ณัฐพร เทพานนท์

เมย์ ณัฐพร เทพานนท์ นักเขียนอิสระที่มีผลงานจาก Decode.plus, Thai PBS กำลังศึกษาที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  เธอได้รณรงค์เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศผ่านปลายนิ้วที่ระดมความคิดออกมาเป็นบทความเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม LGBTQIA+ โดยการนำเสนอผ่าน “สื่อ” เพราะเธอเชื่อว่าการสื่อสารจะสร้างการปลูกฝังที่เป็นโครงสร้างสำคัญเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคม  

 

อยากทราบถึงแนวความคิดของงานเขียนที่รณรงค์เกี่ยวกับ LGBTQIA+  

ด้วยความเป็นนักเขียนเลยพยายามจะเขียนบทความที่ส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในบริบทต่าง ๆ ที่ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นใคร อายุเท่าไร หรือเพศใด ก็สามารถรับรู้และทำความเข้าใจถึงปัญหาที่มีอยู่ได้ ให้เขาตระหนักรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะในวันที่ประเทศเราพร่ำบอกกับตัวเองว่าเปิดกว้างกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่พอนึกย้อนดูแล้วเราจะพบว่าสิทธิขั้นพื้นฐานเราก็ยังไม่ได้ สังคมยังคงตั้งคำถามกับ LGBTQIA+ อย่างที่ไม่เคยถามกับคนที่เป็นรักต่างเพศ เราแค่พูดว่าเรายอมรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เปิดรับให้เขาได้มีตัวตนในสังคมได้จริงๆ  

 

ในมุมมองทั่วไปที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศไทย 

การแก้ปัญหาในเชิงกฎหมายต้องควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักในระดับปัจเจก ซึ่งส่วนตัวโฟกัสเรื่องการสร้างความตระหนักและการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสถานศึกษา เพราะถ้าหากเราบอกว่าโรงเรียนคือสังคมขนาดย่อม ดังนั้นการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายภายในโรงเรียนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี รวมถึงการสร้างผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจและให้เกียรติการมีอยู่ของเพื่อนมนุษย์ทุกคนในสังคม  ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้คือ บุคลากรทางการศึกษา หากทัศนคติของผู้สอน ครู อาจารย์ ยังคงติดกับแนวคิดแบบเดิมที่ไม่โอบรับความหลากหลายย่อมยากที่จะสร้างความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้ ดังนั้นการสร้างความตระหนักเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยด้วยการปลูกฝังความเข้าใจในเรื่องนี้กับคนที่สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อไปได้อย่างครู และสื่อต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาในภาพใหญ่อย่างการแก้กฎหมาย เพราะหากเรารณรงค์ในด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างให้คนเข้าใจว่าปัญหาเหล่านั้นคืออะไร และทำไมเราถึงควรให้ความสำคัญ มันจะต่างอะไรกับการที่ผู้มีอำนาจดึงดันที่จะผลัก พ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้วบอกว่าสิ่งนี้แหละคือความเท่าเทียม ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมันควรจะเป็นสมรสเท่าเทียมต่างหากที่เป็นคำตอบ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการขาดความตระหนักรู้ (หรือปฏิเสธที่จะทำความเข้าใจ) และหากกฎหมายที่รัฐผลักดันถูกนำมาใช้ แน่นอนว่าคนจะยังคงออกมาเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนเพราะนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง การโต้เถียงภายในสังคมก็จะไม่มีวันจบ เพราะความเข้าใจยังไม่ถูกส่งต่อไปอย่างแพร่หลาย 

 

ในมุมมองของคุณปัญหาที่ยังเกิดขึ้นต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ในด้านสังคมภายนอกต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลายทางเพศ การนำเสนอตัวตนของกลุ่มผู้ที่ความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อ เช่น สื่ อบันเทิง หรือสื่อกระเเสหลัก ยังคงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อมุมมองของคนในสังคม เรายังมีการนำเสนอและเผยแพร่มุมมองต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยภาพจำแบบเดิมๆ  เช่น ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น, LGBTQIA+ ต้องเป็นคนเฮฮา สร้างสีสัน หรือการสร้างเรื่องราวว่าตัวละครหนึ่งถูกเพศตรงข้ามหักอกเลยหันมาชอบเพศเดียวกัน แล้วตบท้ายด้วยการบอกว่าถ้าเจอคนที่ดีก็จะกลับมาชอบเพศตรงข้ามเหมือนเดิม หากมองในมุมหนึ่งมันอาจจะดูน่าดีใจที่มีการนำเสนอกลุ่ม LGBTQIA+ เสียที แต่ถ้ามองลึกเข้าไปเราจะพบว่า หลายๆ ครั้งการนำเสนอกลุ่ม LGBTQIA+  นั้นเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้ผลิตสื่อใช้โอกาสนี้ในการโฉบฉวยผลประโยชน์บนอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ของคน เป็นเพียงการตลาดที่ส่งเสริมการขายที่ตื้นเขิน ซึ่งนอกจากจะไม่สร้างประโยชน์และไม่เคารพกลุ่มคนที่ความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังมีส่วนในการนำพาสังคมให้มีแนวคิดที่ตีตราคนในกลุ่ม LGBTQIA+ อีกด้วย ในขณะเดียวกันเรายังสามารถพบเห็นแนวคิดในทางบวกแต่แฝงไปด้วยการไม่ยอมรับความหลากหลายที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น วลี “จะเป็นเพศอะไรก็ไม่เป็นไร ขอแค่เป็นคนดีก็พอ” ที่อาจฟังดูดี และแสดงถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่แล้วมันจึงเกิดคำถามต่อมาว่า ทำไมความดีต้องเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ราวกับว่า LGBTQIA+ ขาดหายความเป็นคนไปสักอย่าง ทั้งที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้ขาดหายความเป็นคนไปสักนิดเลย  

 ในด้านคนภายในคอมมูนิตี้เอง ปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน ในขณะที่สื่อหรือคนภายนอกอาจพูดถึงหรือให้ความสำคัญแค่เพียงบางอัตลักษณ์อันเป็นผลมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ชาว LGBTQIA+ เองจึงต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับเพื่อนผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน ทั้งคนที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ (come out) แล้ว ทั้งคนที่เลือกที่จะไม่เปิดเผย รวมไปถึงคนที่กำลังค้นหาตัวเองด้วย เพราะทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่แตกต่างกันและเราไม่สามารถรู้ข้อจำกัดของชีวิตใครได้ ดังนั้นอย่าตัดสินใครจากทางที่เขาเลือก อย่ากดดัน หรือสร้างมาตรฐานว่าต้องทำสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ถึงจะเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ LGBTQIA+ ได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายของเส้นทางการโอบรับความหลากหลายทางเพศคือการที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่อยากใช้ เป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองกับใครต่างหาก 

 

คิดอย่างไรกับกลุ่มคนที่มีความคิดว่า “เกิดเป็น LGBTQIA+ ในประเทศไทย ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว”  

หลายคนได้พูดในมุมมองของผู้มีอำนาจไปแล้วเลยขอเสริมในระดับปัจเจกหรือระดับบุคคลสักหน่อย  ไม่ว่าประโยคนี้จะออกมาจากปากของคนภายนอกหรือคนในกลุ่ม LGBTQIA+ เอง เรารู้สึกว่าการที่คุณเอาตัวเองไปเป็นไม้บรรทัดในการวัดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่สิ่งที่ถูกและก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในเวลาเดียวกัน เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา แต่ต้องไม่ลืมที่จะเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เมื่อมีคนพูดว่าเรายังต้องเรียกร้องสิทธิที่สมควรจะได้รับ ประเทศนี้ต้องมีความเท่าเทียม  ต้องมีกฎหมายที่ครอบคลุมขึ้น นั่นคือความคิดเห็นของเขา การที่เขารณรงค์นั่นหมายความว่าเขากำลังชวนให้คุณมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองของเขา มันอาจจะเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำที่คุณสามารถเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นที่ปิดกั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ เพราะนั่นหมายความว่าคุณเองก็สามารถเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศที่เปิดรับความหลากหลายมากกว่านี้ได้เช่นกัน คุณมองเห็นปัญหา คุณรู้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ดีกว่า จะเหลือก็เพียงแค่ลองมองให้กว้างขึ้นอีกสักนิด แล้วเมื่อนั้นเราก็อยากชวนคุณคุยต่อว่าอะไรทำให้คุณคิดว่าเราควรจะหยุดเพียงแค่ตรงนี้ ทั้งๆ ที่เราสามารถมีสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ อยากฝากให้ไปลองคิดกัน 

 

แอมเนสตี้มีส่วนร่วมสนับสนุนสิทธิ LGBTQI อย่างไร ? 

แอมเนสตี้มุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการแบ่งแยกกลุ่มคน LGBTQIA+ ทั่วโลก โดยให้คำแนะนำต่อรัฐบาลและผู้นำทรงอิทธิพลเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายและปกป้องสิทธิของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา

หลังจากแคมเปญทั่วโลกของแอมเนสตี้ ศาลสูงสุดของไต้หวันตัดสินว่าการแบนการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤษภาคม 2019 ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมรับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

ในพื้นที่อื่นๆ งานของแอมเนสตี้สร้างอิทธิพลต่อกฎหมายใหม่ในกรีซ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ที่อนุญาตให้ประชาชนขอรับรองเพศสถานะที่แท้จริงทางกฎหมายจากรัฐบาล

ในขณะที่ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการเคลื่อนไหวสิทธิ LGBTQIA+ ก้าวหน้าอย่างชัดเจน แต่งานยังไม่จบเพียงเท่านี้ แอมเนสตี้ช่วยนักกิจกรรมทั่วโลกโดยการผลิตแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นมากมายที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคน LGBTQIA+ เช่น เครื่องมือในการสนับสนุนที่จะช่วยต่อสู้กับการแบ่งแยกในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราและเอกสารชุด Body Politics ที่มีเป้าหมายสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการกำหนดให้รสนิยมทางเพศและการสืบพันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย