Writers That Matter สร้างแรงบันดาลใจให้ เจ้าของนามปากกา 'สีพรำ' อยากเขียนเปลี่ยนโลกต่อไป

26 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

“การหายไปของใครสักคนมันเกิดขึ้นง่ายๆ กว่าการทำประชาพิจารณ์หรือกระบวนการอะไรที่ควรจะเป็นขั้นเป็นตอน พอสื่อ พอสังคมสนใจเรื่องก็แดงขึ้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกระวีกระวาดออกมาให้สัมภาษณ์โน่นนี่ แต่ก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจน จนเรื่องเงียบไปเอง เงียบเหมือนที่ผ่านมาไม่เกิดอะไรขึ้น คนที่หายไปก็คือหายไปเฉยๆ แต่สังคมไม่ได้คำตอบอะไรเลย พวกเราดูหนังเรื่องนั้นซ้ำๆ จนบางคนคิดว่ามันเป็นหนังตลก เพียงแต่มันไม่ตลกเลยถ้าเกิดขึ้นกับใคร”

 

ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คือ นักเขียนที่เข้าร่วมประกวดโครงการ Writers That Matter เมื่อปี 2565 สิ่งที่จุดประกายให้เขาเขียนเรื่องสั้นในตอนนั้น เพราะสนใจประเด็น ‘การทรมาน-อุ้มหาย’ เป็นพิเศษ หลังคำว่า “เดี๋ยวก็ได้ไปคุยกับรากมะม่วงหรอก” กลายเป็นประโยคบันเทิงที่ถูกใช้พูดถึงหรือเขียนหยอกล้อกันในสังคมจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ประโยคดังกล่าวหมายถึงการเดิมพันด้วยชีวิตคนๆ หนึ่ง ที่ต้องถูกทำให้ตายหรือหายสาบสูญไปจากครอบครัวอันเป็นที่รักและโลกใบนี้ตลอดกาล  

 

“มีประโยคพูดติดตลกว่า "เดี๋ยวก็ได้ไปคุยกับรากมะม่วงหรอก" ถูกใช้พูดเล่นแซวกันในหมู่เพื่อน หรือได้ยินในหนัง ละคร หรือเห็นผ่านตาเมื่อมีคนเอามาเล่นซ้ำๆ ใน Tiktok บ้างช่วงนั้น เรามองว่าเป็นเรื่องน่าสลดใจที่ทุกคนต่างรู้ความหมายของมันดี ว่ามันแสดงถึงการทำให้ใครบางคนตัวหายไปอย่างไม่เป็นปกติ แต่ดันกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมจนกลายเป็นมุกตลก กลายเป็น pop culture ไปซะอย่างนั้น ทุกคนพูดคำนี้กันเพราะรู้ดีอยู่แก่ใจว่า ข้างนอกนั่นอาจมีใครสักคนที่ต้องลงไปนอนคุยกับรากมะม่วงแบบจริงๆ แต่ก็ไม่มีใครคิดจะทำอะไรนอกจากหัวเราะแห้งๆ”

 

ประโยค “เดี๋ยวก็ได้ไปคุยกับรากมะม่วงหรอก” กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ประเสริฐศักดิ์ ผันตัวเองเป็นนักเขียนแบบเต็มตัว หลังหลงใหลและรักที่จะใช้ตัวอักษรเรียงร้อยเรื่องราวแนวบันเทิงคดี แนวนิยาย ( Fiction) เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้สึกร่วมและคิดตามผ่านตัวละครสมมุติ ผ่านการเล่าเรื่องที่แฝงไปด้วยความจริงอีกด้านในสังคม และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาใช้นามปากกาว่า ‘สีพรำ’ เป็นครั้งแรกในชีวิตจากการเข้าร่วมโครงการ Writers That Matter 

 

“จุดเริ่มต้นเป็นนักเขียน คือ ปีที่แล้วร่วมประกวดในโครงการ Writers That Matter หัวข้อเกี่ยวกับ “ยุติการทรมาน-อุ้มหาย” เรื่อง ‘ไปคุยกับรากมะม่วง’ ที่เขียนได้รับการคัดเลือกและเผยแพร่จากแอมเนสตี้ ตอนนั้นดีใจมากๆ เพราะว่าหลายมุมมองทางสิทธิมนุษยชนก็ของเรามีทิศทางเดียวกับที่นี่หลายเรื่องก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมนี้ ให้มันถูกรับรู้แล้วก็ถูกสนใจ”

 

“ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุข” มุมมองของ ‘สีพรำ’ ก่อนร่วมโครงการ Writers That Matter 

“มุมมองต่อสิทธิมนุษยชน ถ้าจะมองง่ายๆ อาจจะหมายถึง การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งชีวิตและความสุขนี้เอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกพรากไปจากใคร ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม”

 

ก่อนใช้นามปากกาว่า ‘สีพรำ’ ประเสริฐศักดิ์ สนใจประเด็นสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาชอบเล่าเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาผู้คน ด้วยความหวังว่าทุกตัวอักษรที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนในแบบฉบับของเขา จะทำให้ผู้อ่านฉุกคิดและเห็นความสำคัญของปัญหาสังคมในประเทศไทย ที่บางเรื่องผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อมีกระบอกเสียงหรือพลังที่ดังไม่มากพอ จนทำให้การต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้ความยุติธรรมในชีวิต ต้องถูกทำให้เลือนหายไปหรือถูกฝังกลบไว้ให้เป็นความลับจากผู้มีอำนาจ

 

“งานเขียนก่อนที่จะร่วมงานกับแอมเนสตี้ เช่น เรื่องสั้นก็จะมีปัญหาสังคมอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง พูดถึงอยู่ในนั้น บางเรื่องก็พูดถึงปัญหาสังคมสี่ห้าเรื่องเลยก็มี เรารู้สึกว่า อาจเป็นแนวที่เราถนัด พอมาพบกับโครงการ Writers That Matter ยิ่งทำให้เราอยากใช้งานเขียนสะท้อนหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม แอมเนสตี้ ทำให้เห็นพลังของงานเขียน มันเป็นจุดร่วมที่ตรงกับจุดยืนของเรา” 

 

“ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุข” ประโยคสั้นๆ จากประเสริฐศักดิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า เรื่องราวของเขาที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนทุกเรื่อง จะทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่า ปัญหาบางอย่างที่ซับซ้อนหลายๆ เรื่องในชีวิต อาจไม่ได้เกิดจากตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่มันมีบริบทต่างๆ ในสังคมเกี่ยวโยงหรือเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข ฉะนั้น งานเขียนทุกตัวอักษร ทุกประโยคของเขา มักจะสะท้อนมิติทางสังคมว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนได้ 

 

“การสะท้อนในงานเขียนก็เหมือนกัน หลายๆ มันสะท้อนออกมาว่า การเป็นมนุษย์คนหนึ่งเนี่ย มันควรจะมีความสุข นั่นก็คือพื้นฐานมนุษย์ ที่ทุกคนต้องการความสุข จึงคิดว่าถ้างานเขียนสะท้อนตรงนั้นออกมาได้ มันก็จะสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้เช่นกัน” 

 

Writers That Matter ‘ชุมชนนักเขียน’ ที่ช่วยเปลี่ยนโลกได้  

 

การพูดเรื่องจริงแบบตรงไป ตรงมาไม่ได้ ทำให้งานเขียนมีพลังและเปลี่ยนโลก ประเด็นที่เจ้าของนามปากกา ‘สีพรำ’ นักเขียนที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Writers That Matter เป็นปีที่ 2 พยายามสะท้อนเรื่องนี้ออกมา หลังถูกถามว่าการเขียนช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้นอย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง ภายใต้ชื่อตอน ‘สู่ฝันอันเสรี’ เขามองว่าที่นี่คือ ‘ชุมชนนักเขียน’ เป็นเหมือน Community ที่หลอมรวม ขัดเกลาให้นักเขียนและนักอยากเขียนทุกคน มีใจและมีไฟที่จะพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องต่อไป และทำให้เกิดความกล้าหาญสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนและปัญหาที่ซ่อนเร้นในสังคมต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างการมีเพื่อนร่วมทางหลายคนที่มีจุดยืนเดียวกัน จะดีและมีพลังมากกว่าการไปถึงจุดหมายปลายทางเพียงลำพัง 

 

“มันทําให้เรามีพลังมากขึ้น คือจากที่เรามีพลังอยู่แล้ว พอมาร่วมงานกับแอมเนสตี้ยิ่งมีพลัง มีความกล้ามากกว่าเดิม เพราะมั่นใจว่าอย่างน้อยเราก็ไม่ได้คิดเองคนเดียว ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมันเป็นปัญหา เพราะมันมีคนได้รับผลกระทบ พอมีพื้นที่ตรงนี้ที่ให้แลกเปลี่ยนคุยกัน ก็เลยรู้สึกมั่นใจขึ้น” 

 

โลกที่ถ่ายทอดเรื่องสิทธิ จากนักเขียนชื่อ ‘สีพรำ’ 

ประเสริฐศักดิ์ เล่าประเด็นที่สนใจในช่วงนี้ว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ เป็นเรื่องที่เขาอยากเขียนมากที่สุด เพราะแม้กระแสสังคมจะเปิดใจยอมรับมากขึ้น แต่สำหรับเขายังมีบางเรื่องที่ไม่ง่าย หากจะสื่อสารหรือถ่ายทอดด้วยความจริงผ่านชุดข้อมูลหรือการพูดจากันแบบตรงๆ เพราะที่ผ่านมายังพบว่า ‘ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ’ ถูกละเมิดสิทธิ ใช้ชีวิตอย่างอึดอัดจำนวนไม่น้อย ทั้งที่มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับความสุขหรือมีความสุขในเพศวิถีของตัวเอง 

และอีกประเด็นที่เขาสนใจคือเรื่อง ‘ชาติพันธุ์’ และ ‘ผู้ลี้ภัย’ เขามองว่าคนกลุ่มนี้มีความเป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏการณ์สังคมที่ผ่านมาพบว่า คนกลุ่มนี้ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกผลักให้มีชีวิตที่ไม่ปลอดภัย ไร้ความสุข จากกฎหมายที่ผู้มีอำนาจและฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่เห็นความสำคัญต่อชีวิตผู้คนในฐานะเพื่อนมนุษย์มากเท่าไหร่นัก จึงอยากเขียนเรื่องนี้เพื่อสะท้อนบริบทสังคม

 

“การจะลี้ภัยมาประเทศไทย คิดว่ายังไม่ใช่ประเทศที่ปลอดภัยสําหรับผู้ลี้ภัยนัก ถ้าจะเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะระบบกฎหมายหรือความเข้าใจระดับปัจเจกบุคคล ยังไม่ได้เฟรนด์ลี่ต่อผู้ลี้ภัยขนาดนั้น นึกภาพง่ายๆ ถ้าเกิดสงครามในเมียนมาร์มากกว่านี้ มีคนเมียนมาร์เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยมากมาย สังคมไทยส่วนหนึ่งน่าไม่ต้อนรับ อันนี้เป็นมุมมองความเห็นส่วนตัวที่คิดว่าสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมากนัก”  

 

การเขียนเรื่องสั้นให้มีชีวิตที่สัมผัสถึงตัวละครได้ กลายเป็นจุดแข็งและเรื่องถนัดของ ‘ประเสริฐศักดิ์’ หนึ่งในนักเขียนโครงการ Writers That Matter เพราะการเขียนแนวนี้ใช้เวลาไม่นานมากนัก และสามารถสื่อสารประเด็นสำคัญที่คมชัดถึงผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้ง แม้จะเป็นเรื่องสมมติผ่านบทบาทตัวละคร แต่สำหรับเขาการเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้เป็นอีกงานศิลปะ ที่ถ่ายทอดความจริงสู่สังคมที่เรื่องบางเรื่อง ความลับบางอย่าง ยังไม่สามารถเล่าแบบตรงไปตรงมาได้  และจากการเข้าร่วมโครงการครั้งแรกในฐานะผู้เข้าประกวดเรื่องสั้น ทำให้ประเสริฐศักดิ์ได้รับแรงบันดาลใจที่หล่อหลอมให้เขามีพลังส่งต่อเรื่องราวผ่านการเขียนสู่สังคม ภายใต้นามปากกาว่า ‘สีพรำ’ ต่อไป

 

ผู้ที่สนใจผลงานของนักเขียนคนนี้ สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊แฟนเพจ ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด – สีพรำ’หรือ เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ ReadAwriter ได้เช่นกัน 

 

“พลังของภาษามันมีพลังอยู่ในยุคนี้ ไม่ว่าบริบททางสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าสื่อที่ทุกคนเข้าถึงมันจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ากระดาษเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่ว่าเรายังใช้ชีวิตอยู่กับภาษา อยู่กับการเขียน อยู่กับการสื่อสารทางใด ทางหนึ่ง คิดว่าเราใช้ภาษามากขึ้นกว่ายุคเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่าทุกวันนนี้สังคมรายล้อมด้วยการอ่าน เช่น ใครก็ตามที่มีประเด็นที่อยากเขียน รู้สึกอึดอัด อยากให้รู้ปัญหาสังคมทุกคนก็จะเขียนออกมา”

 

ประเสริฐศักดิ์ พูดถึง ‘สิทธิในการแสดงออก’ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาสังคมพบปัญหาหลายอย่าง แต่อาจจะไม่มีใครสนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องของตัวเอง หรือเป็นเรื่องไกลตัว ในฐานะนักเขียนเขาอยากให้คนอ่านหรือใครก็ตาม แสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาด้วยการเขียน เพื่อทำให้คนที่คิดเหมือนกันเรา ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างพลังเปลี่ยนแปลง หรือกระตุกให้ฝ่ายที่เกี่ยวต้องตระหนักเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น 


“การเขียนทำให้เรื่องที่ถูกเก็บไว้ใต้พรม ถูกนำมาหาทางออกที่ดีที่สุด รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดๆ ที่เราคิดว่าคนอื่นถูกละเมิด ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือถูกลิดรอนสิทธิ มันอาจเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยการเขียน การโพสต์ หรือการแสดงออก อยากให้ทุกคนช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ เพราะปัญหาในโลกนี้มีเยอะมาก”