เรื่องเล่าของตัวแทนเยาวชนไทยจากที่ประชุมสมัชชาโลกแอมเนสตี้

สวัสดีครับ สมาชิกและผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทุกคน ผม ณธกร นิธิศจรูญเดช หรือเรียกว่าเชี้ยว ก็ได้ครับ ผมเป็นตัวแทนเยาวชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Global Assembly หรือ GA) ที่ประเทศโปแลนด์เมื่อวันที่ 6-9 กรกฏาคม ที่ผ่านมาครับ ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีกับคุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสามัญประจำปีให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ประเทศไทยเป็นคนแรก โดยผมเชื่อว่าคุณเนติวิทย์จะสามารถมีส่วนกำหนดทิศทางและพัฒนาให้แอมเนสตี้ของเราสามารถบูรณาการเยาวชนทั่วประเทศเข้ามาในขบวนการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนของเราได้ดียิ่งขึ้นครับ

 

สำหรับการประชุม GA ที่ผ่านมา ในส่วนของด้านนโยบายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการทำงานของแอมเนสตี้รวมไปถึงเยาวชน มีสามประเด็นหลักๆที่ผมขอกล่าวถึง ประการแรก คือ การขยายระยะเวลายุทธศาสตร์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากเดิมตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2016 – 2019 ไปเป็น 2016 – 2020 ขยายเพิ่มมาอีกหนึ่งปีครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบัน แอมเนสตี้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการเติบโต (growth) ในมิติของการเพิ่มจำนวนสมาชิกและผู้บริจาคทั่วโลกครับ ดังนั้น อาจจะเป็นสัญญานที่สำคัญสำหรับแอมเนสตี้ในประเทศไทย ที่ต้องให้ความสำคัญกับฝ่ายระดมทุนรวมไปถึงฝ่ายรณรงค์ที่ต้องคิดกันต่อว่าเราจะสามารถดึงดูดบุคคลหน้าใหม่ๆ รวมไปถึงเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของเราได้อย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไร

 

ประการที่สอง ที่ประชุม GA ได้ผ่านร่างแนวทางกรอบนโยบายด้านสิทธิในการทำแท้ง (Right to Abortion) ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและเป็นที่ถกเถียงกันมากทั้งในแอมเนสตี้เองและภายนอกองค์กร กล่าวคือ จุดยืนหลักๆของแอมเนสตี้คือการยืนยันว่าผู้หญิง เด็กผู้หญิง รวมไปถึงเพศที่สามารถตั้งครรถ์ได้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย โดยปราศจาคการตีตราบาปให้แก่เขาเหล่านั้นด้วย สำหรับผมเองประเด็นนี้ค่อนข้างก้าวหน้ามากและก้าวข้ามข้อจำกัดทางศาสนารวมไปถึงศีลธรรมพื้นฐานบางประการ ซึ่งแอมเนสตี้จะไม่กำหนดว่าอายุครรถ์เท่าไรถึงมีสิทธิและไม่มีสิทธิในการทำแท้ง แต่จะเน้นที่ตัว สิทธิในการทำแท้ง ในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่สามารถถูกพรากไปได้ด้วยกรณีใดก็ตามครับ

36892503_10156673217270086_3834900883267649536_o.jpg

 

ประการสุดท้าย คือเรื่องของ การผ่านร่างกรอบนโยบายการควบคุมยาเสพติด (Drug Control) การปราบปรามยาเสพติดโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกินเลยไปถึงขั้นละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ที่มักจะได้รับผลกระทบทางอ้อมในการบังคับใช้นโยบายจากภาครัฐคือ กลุ่มคนจนและคนชายขอบในสังคมต่างๆ เพราะเขามักจะถูกตัดสินจากอคติของสังคมอยู่ก่อนแล้วว่าคนกลุ่มดังกล่าวมักจะมีประวัติพัวพันกับการเสพ การครอบครอง การขาย ยาเสพติด ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้เสพ ผู้ครอบครอง ผู้ขายยาเสพติดได้ทั้งนั้น สำหรับแอมเนสตี้เอง จุดยืนหลักๆ คือการยืนยันว่ารัฐมีพันธะที่ต้องเคารพ ปกป้อง และเติมเต็มสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ยา ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยนโยบายการปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ กรอบนโยบายนี้ค่อนข้างท้าทายกับสังคมไทยมาก ในมิติที่เชื่อมโยงไปถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง (สิทธิในการมีชีวิตที่ไม่สามารถพรากจากเราได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม)

 

สุดท้ายนี้ นอกจากการประชุมที่เข้มข้นและการถกเถียงในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ดุเดือดแต่เป็นไปด้วยการเคารพซึ่งกันและกันแล้ว ผมยังมีโอกาสได้พบปะเพื่อนๆเยาวชนจากทั่วโลกที่เป็นตัวแทนเดินทางมาประชุม GA ด้วยครับ โดยทุกๆวันหลังจากประชุม GA เสร็จ เราจะมี session ของเยาวชนให้มาพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศตนเอง รวมไปถึงการให้กำลังใจซึ่งกันและกันและการแบ่งปันเคล็ดลับ การรณรงค์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่เพื่อนๆซึ่งสามารถนำกลับไปปรับใช้ในประเทศตนเองได้ครับ

 

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ประเทศไทย ที่ให้โอกาสผมได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติที่ถือเป็นเวทีสิทธิมนุษยชนที่ทรงเกียรติมากเวทีหนึ่งของโลก และหวังว่าสิ่งที่ผมได้กลับมาจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะสามารถช่วยพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเราได้ต่อไปครับ