ตกหลุมรักการเขียนตั้งแต่เด็ก คิดว่าเป็นพลังเปลี่ยนโลกได้ กับ ปาริชาติ เจ้าของนามปากกา Magicfingers

25 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

“ตอนแรกก็รู้สึกกลัวกับการที่เราต้องเขียนหรือเผยแพร่อะไรไปประมาณ แต่ท้ายที่สุดบางอย่างอาจจะสุ่มเสี่ยงเกินไป เราก็อาจจะบิดเนื้อหา บิดวันเวลาให้มันอยู่ในช่วงที่เรารู้สึกว่าโอเค มันไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองหรือไปกระทบกระทั่งใคร ถึงแม้จะกลัวแต่ท้ายที่สุด เราก็ยังอยากเขียนถึงเหตุการณ์วันนั้นอยู่ดี เพราะมันเป็นข้อมูลที่สําคัญ ยังไงคนที่ได้อ่านต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอยู่ดี” 

 

ตกหลุมรักการเขียนตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 12 ปีแล้ว” เป็นคำตอบสั้น ง่าย ได้ใจความ ของ ‘ปาริชาติ ยอดหอม’ นักเขียนเจ้าของนามปากกา Magicfingers  เธอเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิตตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จุดเริ่มที่ทำให้เธอตัดสินใจเขียนนิยายในตอนนั้น มีเหตุผลไม่ซับซ้อน เธอแค่ต้องการอ่านนิยายที่มีโครงเรื่อง หรือ พล็อต (Plot) แบบที่ชอบ เพื่อให้ทั้งตัวเธอและนักอ่านมีตัวเลือกใหม่ในการอ่านที่เปิดกว้างมากขึ้นในสังคมสมัยนั้น 

 

สมัยเป็นเด็ก ปาริชาติยอมรับว่ายังไม่สนใจงานเขียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตผู้คน ถึงแม้ว่าเธอจะเกิดมาในกลุ่มคนGen Y ที่ถูกนิยามว่าเกิดและเติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี เพราะเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2543 ที่มีอายุ 9-29 ปี ก็ตาม  เพราะการสื่อสารในสมัยนั้นสังคมยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอมองว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องไกลตัว 

 

“เราเป็นพวกเจนวายก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้มีสื่อหรือรับสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นมันยังไม่ได้แพร่หลายขนาดนี้ ไม่ได้เป็นยุคโซเชียลมีเดียเหมือนตอนนี้ เลยทำให้งานเขียนยังไม่เปิดกว้างมากขนาดนั้น แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็เริ่มสนใจนักเขียนคนอื่นๆ นักเขียนต่างประเทศ เริ่มอ่านวรรณกรรมแปล”

 

เพราะ…งานเขียนในไทยยังเป็นแนวอนุรักษ์นิยม ‘สื่อสารทางเดียว’ 

“เข้ามหาวิทยาลัยทำให้เราสนใจการเมืองและค้นพบความหมายหลายอย่างในคำนี้” 

ปาริชาติ เล่าว่าจุดเปลี่ยนในชีวิตเธอใต้ร่มการเป็นนักเขียน คือตอนที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย วิชาเรียนและกิจกรรมหลายอย่างทำให้เธอสนใจเรื่องการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะเริ่มรู้ว่า 2 คำนี้ไม่ใช่แค่คำที่พูดอะไรก็ได้ แต่มีความหมายและหลายเหตุการณ์ที่แฝงอยู่ในคำนี้ตามยุคสมัยและบริบทสังคม นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปาริชาติรู้จักกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

 

“งานเขียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการสื่อสารเพียงมุมเดียว”

 

อีกสิ่งที่จุดประกายให้ ปาริชาติ เจ้าของนามปากกา MagicFingers หลงใหลและใส่ใจงานเขียนของเธอมากขึ้นจนเริ่มสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าร่วมโครงการ Writers That Matter ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่ทำให้เห็นปัญหาสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม เธอได้สะท้อนอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากนักเขียนหน้าเก่าๆ ส่วนใหญ่เป็นงาน ‘แนวอนุรักษ์นิยม’ ที่สื่อสารด้านเดียวเกี่ยวกับแนวร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง จึงทำให้เธอสนใจงานเกี่ยวที่มีเรื่องราวเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากขึ้น

 

“เรารู้สึกว่าทําไมเราไม่ลองสร้างงานที่พูดถึงมนุษย์ให้มากขึ้นแทนการสนใจเรื่องชนชั้น ทำให้เราตัดสินใจเป็นนักเขียนอิสระแนวรักโรแมนติก เพื่อสื่อสารให้เห็นความงามและตลกร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ ที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ เพื่อสื่อสารให้คนอ่านได้รู้เรื่องราวอีกมุม ไม่ใช่รู้แค่การสื่อสารเพียงด้านเดียว” 

 

งานเขียนสะท้อนความงดงามของมนุษย์จากนักเขียนอิสระ นามปากกา Magicfingers 

พลเมืองโลกที่มีศิลปะ ถูกตีความจากปาริชาติว่า อาจเป็นเหตุผลการมีชีวิตอยู่ของใครหลายคนในโลกใบนี้ และคำนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เธอชื่นชอบชีวิตการเขียนจนอยากเขียนงานแนวโรแมนติกให้ดีและงดงามยิ่งขึ้น เพราะสังคมในอุดมคติของเธอคือ การที่ทุกคนไม่ตัดสินคนเพียงแค่ได้เห็นเรือนร่างหรือเปลือกนอก แต่ทุกคนต้องรู้จักการใช้เวลา การพูดจาที่สัมผัสไปถึงเบื้องลึกในหัวใจของคนผู้นั้น ว่าเนื้อแท้ของเพื่อนมนุษย์ที่เดินผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นอย่างไร  

 

“ทุกคนมีความคิดและมีสิทธิเท่ากันหมด เราไม่ควรยกให้มนุษย์คนใดคนหนึ่ง มีอํานาจเหนือกว่า เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่า ร่างกายมนุษย์หรือไม่ว่าจะเป็นแนวคิด กลุ่มชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติอะไร โดยรวมแล้วมันคือศิลปะ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม มีความหลากหลาย แม้กระทั่งการใช้ภาษายังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรารู้สึกว่ามนุษย์คือศิลปะไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือประเทศที่อยู่”

 

เส้นทางนักเขียนมืออาชีพ สู่โครงการ Writers That Matter

นับเป็นปีที่ 2 ที่ปาริชาติเข้าร่วมโครงการ Writers That Matter เธอรู้จักงานนี้เพราะติดตามแฟนเพจเฟซบุ๊กแอมเนสตี้ ประเทศไทย สำหรับเธอคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ตัวเธอได้รับแรงบันดาลใจอยากเขียนงานแนวสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเธอหวังว่างานเขียนในฐานะนักเขียนอิสระภายใต้นามปากกา MagicFingers ของเธอ จะส่งไปถึงคนอ่านได้หลากหลายมากขึ้น เพราะแอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในแวดวงสิทธิมนุษยชน   

 

“เรารู้สึกว่าเสียงเราดังไม่มากพอ เราเห็นว่าแอมเนสตี้เป็นแพลตฟอร์มที่ ใครๆ ก็เข้าอ่านได้ จึงคิดว่าน่าจะเสียงดังพอที่จะทำให้งานของเรา เผยแพร่ไปสู่คนอีกหลายๆ คน ก็เลยคิดว่าเราอยากร่วมงานด้วย” 

 

ผลงานแรกที่เธอเข้าร่วมโครงการกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย เธอเขียนเรื่อง‘จากหนึ่งถึงสิบที่หายไป’เธอเล่าว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนเรื่องนี้ คงไม่พ้นกรณีที่คุ้นหูคุ้นตาอย่าง คุณบิลลี่ และ คุณวันเฉลิม นับว่าเป็นเรื่องน่าตกใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เขาพบเจอคืออาชญากรรมที่ร้ายแรง จากฝีมืออาชญากรที่มีอำนาจล้นมือ แม้เราจะไม่ได้ประสบพบเจอเหตุการณ์โดยตรง แต่พอจะเดาออกว่าการสูญเสีย หรือการตกอยู่ในสภาวะเหยื่อเป็นอย่างไร 

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำปาริชาตินั่งคิดดูว่า การที่ต้องถูกคนกลุ่มหนึ่งนำตัวยัดใส่ถัง และโยนลงน้ำ หรือฆาตกรรมเราด้วยการผ่าเอาเครื่องในของเราออกทั้งหมดและยัดหินใส่ลงไปในร่างกายของเราและโยนเราลงแม่น้ำอันเวิ้งว้างถ้าเป็นเราที่ถูกกระทำจะรู้สึกอย่างไร สิ่งที่คิดได้คือคงเป็นเรื่องที่สิ้นหวังมากๆ  

 

“แม้ว่าโลกมันจะหมุนไป แต่การที่คนหายลับไปหนึ่งคน มันก็ไม่สามารถที่จะหมุนวันเวลาให้สามารถทดแทนสิ่งที่เสียไปได้อีกแล้ว งานเขียนที่เราอยากสะท้อนในตอนนั้นเป็นแบบนี้”  

 

สำหรับเรื่องที่ 2 ในโครงการ Writers That Matter ปาริชาติได้เขียนเรื่อง ‘ใต้น้ำบนดิน’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ในบริบทต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย เธอตั้งใจถ่ายทอดเรื่องนี้ออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองที่ไม่เคยได้เห็นและเป็นข้อมูลที่สะท้อนความจริงได้มากที่สุด แต่สำหรับงานเขียนที่เธออยากทำให้ดีขึ้นคือ การเขียนเกี่ยวกับประเด็นการเมือง และสังคมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งถือเป็นโปรเจคใหญ่ที่เธอใฝ่ฝันจะทำให้ได้และกำลังทำอยู่อย่างตั้งใจ 

 

“ทุกวันนี้หลายคนอาจจะเห็นว่างานเขียนอยู่ในหนังสือพิมพ์ หรือเป็นรูปแบบหนังสือ แต่เราคิดว่าโลกในยุคนี้ งานเขียน มันมีพลังและไปอยู่ในหลายแพลตฟอร์มได้ อยากให้ทุกคนสัมผัสได้ว่างานเขียนจุดประกายชีวิตให้เราได้จริงๆ หลายอย่าง  เช่นก่อนที่จะมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก่อนที่จะมาสร้างเป็นหนังสั้น ท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องมีสคริปต์มาก่อน เพราะการอ่านมันคือการสร้างจินตนาการ และอาจทำให้อยากมีส่วนร่วมในการอ่านด้วย”

 

 

ช่วงท้าย ปาริชาติย้ำว่า การเขียนสำหรับเขาคือการใบ้คำ (Hint) หรือท่อนฮุคทำให้คนอยากติดตามต่อ ซึ่งเธอคิดว่าโครงการ Writers That Matter จะทำให้หลายคนที่เป็นนักอยากเขียนตกหลุมรักการเขียนได้มากขึ้น หรือเข้าใจงานเขียนว่าสามารถสะท้อนปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ได้ ภายใต้การเล่าเรื่องที่อาจจะพลิกมุม พลิกเวลา แต่มีความจริงบางอย่างแอบแฝงอยู่ในนั้น 

 

“คนที่เขียนในโครงการ Writers That Matter ไม่ดูถูกคนอ่าน เขาไม่ได้กําลังป้อนข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่เขากําลังบอกเล่าเรื่องมนุษย์ของคนคนหนึ่งว่า เกิดเหตุการณ์อะไร ทําไมถึงเป็นแบบนั้น แล้วมันมีเหตุอะไรที่ทําไมถึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่การยัดเยียดหรือปลูกฝังว่ามันเป็นอะไรยังไง  แต่ว่าคนอ่านก็จะรับรู้ได้ด้วยตัวเอง”