ส่องโลก 'ผู้ลี้ภัย' ที่เต็มไปด้วย 'ชีวิตผู้คน' กับประธานกรรมการแอมเนสตี้ ประเทศไทย

1 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

ทำไมชีวิตลำบาก ทำไมต้องย้ายประเทศ ?

ส่องโลก ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่เต็มไปด้วย ‘ชีวิตผู้คน’ กับ…พุทธณี กางกั้นประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ชีวิตผู้ลี้ภัยเกือบ 1 แสนคน ที่อยู่เมืองไทย ในค่ายพักพิง 9 แห่ง ตามแนวชายแดน แม้จะมีสถานะเป็นบ้านหลังใหม่ของคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น จากสงครามความขัดแย้ง ปัญหาการเมือง และการประหัตประหาร แต่จำนวนผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาไม่ง่ายดาย หลายคนมองว่าชะตากรรมของตัวเองมีสถานะไม่ต่างจาก ‘นักโทษที่ถูกจองจำ’ ในเขตแดนที่ไร้อิสรภาพอีกครั้ง เพราะทำมาหากินได้ไม่คล่องตัว เผชิญปัญหาปากท้อง ส่งผลให้มีรายได้ไม่พอประทังชีวิต 

 

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวปัญหาชีวิตของผู้ลี้ภัยในเมืองไทย ที่ถูกเล่าผ่านประสบการณ์ของ พุทธณี กางกั้น หรือ เอ๋’ ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ผู้ที่สนใจความหลากหลายของ ‘ชีวิตผู้คน’

 

เรื่องราว ‘ผู้ลี้ภัย’ เป็นประเด็นที่ ‘เอ๋ พุทธณี’สนใจเป็นพิเศษ เพราะชีวิตของเธอ เจอเหตุการณ์ความไม่สงบในเมืองไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาอยู่หลายครั้ง และนี่คือเรื่องราวที่เป็นเส้นทางชีวิตของเธอต่อจากนี้.

 

ทำไมเราเป็นเพื่อนบ้านเขา แต่เรารู้จักคนของเขา หรือประเทศเขาน้อยมาก?

คือประโยคคำถามที่เป็นสารตั้งต้น ที่ทำให้เอ๋ พุทธณี กางกั้นตัดสินใจก้าวเข้าสู่แวดวงทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เธอสนใจประเด็นสิทธิเสรีภาพของชาวเมียนมาเป็นพิเศษตั้งแต่สมัยเรียน หลังเธอพบเหตุการณ์นักศึกษาชาวเมียนมาจำนวนมาก หนีจากวังวนความรุนแรง จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศตัวเอง ขอลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุรุ่นเดียวกันกับเธอ

 

ชีวิตผู้คน’เป็นอีกสารตั้งต้นที่ทำให้ ‘เอ๋ พุทธณี’ ตัดสินใจเรียนสาขาวิชาสังคมวิทยาในประเทศไทย หลังเธอเรียนจบ ที่เมียนมาประเทศเพื่อนบ้าน เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ พบ ‘ทหาร’ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เพื่อนชาวเมียนมาจำนวนมาก หนีตาย เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องที่พักพิงจากเมืองไทย เหตุการณ์ในตอนนั้น จุดประกายให้เธอตัทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมานานกว่า 20ขวบปี

 

เรารู้ว่าเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ยังไม่มีแรงงานข้ามชาติตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ด้วยซ้ำ จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่เรารู้จักคนและประเทศของเขาน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้ง นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจประเด็นผู้ลี้ภัยในชีวิต”

 

ทำไมชีวิตบางคนถึงลำบาก ทำไมคนเราต้องย้ายประเทศ?

เป็นคำถามที่ เอ๋ พุทธณี ต้องการคลี่คลายข้อสงสัยเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เพราะการทำค่ายในชุมชนตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้เธอเจอชาวเมียนมาหลายคนใช้ชีวิตอย่างดิ้นรน ขอที่พักพิงบริเวณแนวชายแดนไทย – เมียนมา ช่วงที่ประเทศมีปัญหาความรุนแรงทางการเมือง นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เธอเดินหน้าทำงานเพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัย

 

จุดเริ่มต้นในตอนนั้น ที่ทำให้เราทำงานเรื่องนี้ คือตั้งแต่สมัยเรียนมีโอกาสไปทำค่ายกับชุมชน นั่นคืองานด้านสิทธิเรื่องแรกๆ ที่เราเริ่มทำ และเพราะสนใจชีวิตของคนเมียนมาว่า ทำไมคนบางคนถึงมีชีวิตลำบาก ทำไมเขาต้องมาอยู่เมืองไทย คนเราจะต้องย้ายประเทศด้วยหรอ ยิ่งทำให้เราอยากขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป”

 

ความทรงจำ ที่หล่อหลอมให้ ‘เอ๋ พุทธณี’ มีตัวตนถึงทุกวันนี้ ถูกเล่าผ่านน้ำเสียงหนักแน่นของเธอ ประวัติศาสตร์ ‘การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนชาวเมียนมา ที่กรุงย่างกุ้ง นครเมียนมา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) หรือเหตุการณ์ 8-8-88’ คือเหตุการณ์ที่ทำให้เธอสนใจเรื่องสิทธิและความเปราะบางของผู้ลี้ภัย เพราะมีผู้คนเดือดร้อนจำนวนมาก ต่อมา ‘พฤษภาทมิฬ’ เมื่อปี พ.ศ.2535 ที่นักศึกษาตื่นตัวออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง เธอเป็นหนึ่งในนักศึกษา ที่ออกไปร่วมกิจกรรมครั้งนั้นด้วย เพราะความสนใจเรื่องราวชีวิตผู้คนมาตั้งแต่ต้น

 

“ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรียนปีสุดท้ายพอดี ตอนนั้นนักศึกษาตื่นตัวมากเรื่องการเมือง เราก็ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองด้วย เพราะเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้ว และเราเรียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตผู้คน แต่การที่ทำงานเชิงสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็คืองานกับคณะกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาสมัยนั้น

 

‘ประชาชน’ พลังขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ให้เป็นเรื่องของทุกคน

งานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ภายใต้อำนาจและงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ยิ่งปัจจุบันการสื่อสารล้ำหน้ากว่าเมื่อก่อน ยิ่งต้อง Active ตื่นตัวกับเรื่องนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คนทุกสมัยยังมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์อยู่ภายใน”

 

นอกจากเรื่องผู้ลี้ภัย ‘เอ๋ พุทธณี’ ยังทำงานเรื่องสิทธิอื่นๆ เช่น การขับเคลื่อนกฎหมายป้องกันการทรมานอุ้มหาย ตั้งแต่สมัยทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไป เธอเล่าว่าตอนนั้นสังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสนใจประเด็นนี้ อีกประเด็นคือเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีผู้คนถูกทรมานในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง หากมองในมุมสิทธิมนุษยชน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิที่มีความหลากหลายไม่ใช่แค่เรื่องผู้ลี้ภัย 

 

“ประเด็นรณรงค์ยุติการทรมาน-อุ้มหาย เราเคยทำเรื่องนี้มานานมากตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่มีคนถูกบังคับให้สูญหาย ถ้าเปรียบเทียบถึงทุกวันนี้ถือว่าทำน้อยกว่าคนอื่น ถ้าจะให้เล่าให้ฟัง สมัยก่อนเคยตามเรื่องการถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ในพระนครศรีอยุธยา ระยอง ตอนนั้นสังคมยังไม่รู้จัก พ.ร.บ. อุ้มหายทรมานเลยด้วยซ้ำว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ในสังคม สมัยนั้นน่ากลัวกว่าตอนนี้มาก เพราะไม่มีใครกล้าพูด”

 

เส้นทางสิทธิ สู่ก้าวสำคัญในฐานะประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย 

เอ๋ พุทธณี เป็นสมาชิกแอมเนสตี้มานานกว่า 10 ปี เป้าหมายหลักของเธอคือการทำให้เกิดสังคมแห่งเสรีภาพ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แม้ปลายทางจะดูเลือนลางในบางครั้ง แต่ก็ไม่เคยทำให้เธอหวาดหวั่นกับเรื่องนี้ และจุดเริ่มต้นที่เธอเริ่มทำงานและกิจกรรมกับที่นี่ คือการเขียนจดหมายถึงผู้ลี้ภัยในต่างแดน

 

“เราเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกก่อน ช่วงนั้นมีกิจกรรมให้เขียนจดหมายช่วยผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมเพราะความคิดเห็นทางการเมือง เราก็ไปร่วมงานกับแอมเนสตี้ ช่วยรวบรวมจดหมายจากนักท่องเที่ยวที่ถนนข้าวสารส่งถึงผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ แต่ก็ไปบ้าง ไม่ไปบ้างในตอนนั้น”

ปลายทางการทำงานกับแอมเนสตี้สำหรับ เอ๋ พุทธณี คือการทำให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะกลุ่ม เพื่อตัดตอนหรือช่วยหยุดปัญหาผู้ละเมิดและผู้ถูกละเมิด สิ่งสำคัญคือการทำให้ทุกคนตื่นมาแล้วเข้าใจว่าสิทธิ และรู้ว่าการกระทำแบบไหนที่ไม่ควรปฏิบัติต่อกันในฐานเพื่อนมนุษย์  

 

สิทธิควรเป็นประเด็นที่เราทุกคน ตื่นมาแล้วรู้ว่าสิทธิของเราคืออะไร และเมื่อมีคนถูกละเมิดเราจะไปช่วยเขาได้ยังไงบ้าง มันควรจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คุยกันได้ทุกวัน เชื่อว่าถ้าคนเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะช่วยพัฒนาสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น”

 

การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนใช้หัวใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ นี่คือหมุดหมายสำคัญที่จะสร้างสังคมไทย สร้างโลก ให้เข้าว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีความรู้”

 

ในฐานนะปธะธานกรรมการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย เอ๋ พุทธณี ย้ำจุดยืนว่า จะใช้ระบบการทำงานเป็นทีม ดูยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อมองไปข้างหน้า ที่สำคัญคือการสร้างฐานสมาชิกในอนาคตให้มากขึ้น เพราะพลังของสมาชิกจะทำให้เรื่องสิทธิถูกส่งต่อและขยายออกไปถึงคนทุกกลุ่มได้

 

ตราบใดที่คุณเป็นมนุษย์คุณต้องใส่ใจว่า ความเป็นมนุษย์คืออะไรต้องการอะไร เพราะเรื่องสิทธิไม่ใช่เรื่องที่ล่องลอย มันเกิดขึ้นจากสิ่งง่ายๆ คือการมีความเป็นมนุษย์”

 

“ถ้าเราพูดถึงคำว่าสิทธิมนุษยชน ก็เหมือนเป็นคำวิชาการ แต่ถ้าเรามองลงมาที่ความเป็นมนุษย์มันไม่วิชาการเลย เหมือนกับการที่เรามองคำว่ากฎหมายว่าไกลตัวมาก ทั้งที่ความจริงเวลามีปัญหาอะไร ชีวิตของเราต้องผูกพันกับกฎหมายอยู่วันยันค่ำ”  

 

ปัจจุบัน ‘เอ๋ พุทธณี’ ยังทำงานอยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ลี้ภัย ไม่ให้ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกผลักไส หรือถูกกักขังแบบไม่เต็มใจ ผ่านการรณรงค์ ทำกิจกรรม และทำข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับหลายๆ หน่วยงานในเมืองไทย

 

ผู้ลี้ภัยถูกปฏิบัติว่าเป็นคนอื่น เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้องในไทย ก็จะไม่ได้รับสิทธิหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การดำรงชีวิตที่ปลอดภัย ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราสามารถผลักดันกฎหมายมาได้หลายตัวเหมือนกัน เป็นการทำงานร่วมกันกับหลายองค์กร ที่มีความตั้งใจทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่”