ทำไมต้องมีกฎหมายป้องกันและปรามปรามการทรมานและอุ้มหายในประเทศไทย

26 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

ทำไมจึงมีกระแสเรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายในประเทศไทย?แล้วกฎหมายที่มีอยู่ใช้ไม่ได้หรืออย่างไร ? แล้วมันเกี่ยวข้องกับตัวเราแค่ไหน ?  ผลกระทบจากการทรมานและถูกบังคับให้สูญหายสร้างความเจ็บปวดให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมายหากไม่ได้รับการสืบสวน เยียวยา และรับผิดรับชอบอย่างเป็นธรรม การพยายามลบเลือนสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง  

 

วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี จึงนับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) แต่ในประเทศไทยมักคุ้นเคยกันนาม“วันต่อต้านการทรมานสากล” ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและเชิญชวนให้คนในสังคมหันมาช่วยกันยุติการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายให้ได้รับความเป็นธรรม

 

สำหรับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555  

 

การลงนามดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาอันใกล้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจากการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแต่อย่างใด อันขัดกับหลักการภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติไว้โดยเด็ดขาดว่า

 

“การทรมานและการบังคับสูญหาย ไม่สามารถกระทำได้ไม่ว่าในภาวะสงคราม วิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ หรือภาวะฉุกเฉินอื่นใดก็ตาม เป็นพันธกรณีที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติตามเพื่อต่อต้านการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ด้วยกัน”

 

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ... (ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) โดยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ในที่สุดกระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  จนกระทั่งในปี 2560 สนช. ได้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.กลับไปให้คณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือเพิ่มเติม และรัฐบาลแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนั้นว่าจะระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไว้ก่อนโดยจะจัดให้มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างฉบับใหม่กลับไปให้รัฐสภาเมื่อวันที่18 ก.ค. 2562  

 

กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่างกฎหมายฉบับเดิมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งให้แก่รัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้จัดประชาพิจารณ์เมื่อเดือนธันวาคม  2562 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในปี 2563 ต่อไป

 

คนที่จะสะท้อนได้ดีที่สุดว่าทำไมประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายน่าจะผู้เสียหายผ่านประสบการณ์การเรียกร้องทวงถามความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่เขารักในครอบครัว

 

ครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหายย้ำ กม. นี้จะช่วยคืนความยุติธรรม

สมศักดิ์ ชื่นจิตร  เขาทำหน้าที่พ่อคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกชายที่ตกเป็นแพะในคดีชิงทองและถูกตำรวจทรมานให้รับสารภาพในปี 2552  ตลอดระยะเวลาการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไม่ย้อท้อมากว่า10 ปี ลูกชายของสมศักดิ์ประสบกับผลกระทบทางจิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ป่วยเป็นโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder หรือสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) ตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึงปัจจุบัน

 

"ลูกชายผมเป็นเหยื่อ โดนคนเดียวแต่ล้มทั้งบ้าน เหมือนไฟนรกเผาผลาญชีวิตครอบครัว การทรมานเพื่อให้รับสารภาพเอามาเป็นความดีความชอบบนคราบน้ำตาผู้ที่ทุกข์ทรมาน ต่อให้เขาทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีสิทธิทรมานหรือละเมิดเขา ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน"

 

สมศักดิ์ เคยเล่าให้ 101.world ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวเขาเป็นทุกข์และวิตกกังวลตลอดมา และหากหลุดพ้นจากขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้วสิ่งที่ตามมาคือหนี้สินที่ครอบครัวต้องรับภาระจากการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ และที่ตำรวจฟ้องกลับในประเด็นเบิกความเท็จและฟ้องเท็จ รวมทั้งค่าเดินทางไปร้องเรียนยังหน่วยงานรัฐกว่า 50 องค์กร โดยสมศักดิ์ระบุว่า ครอบครัวสูญเสียเงินไปไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาทภายใต้กระบวนการยุติธรรมนี้

 

“การละเมิดสิทธิด้วยการซ้อมทรมานเป็นนรกโลกันต์ที่ใครได้สัมผัสแล้วจะเข้าใจ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครถูกกระทำจะรู้ได้ว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจในการละเมิดประชาชนแบบนี้อยู่ เรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว ‘อ๋อ ตำรวจซ้อมประชาชนเหรอ มันก็ทำกันทั้งนั้น’ อย่ายอมรับว่านี่เป็นวิถีชีวิตหรือเป็นอัตลักษณ์ของประเทศเรา”

 

สิ่งที่สมศักดิ์ต้องการคือกฎหมายที่มีบทลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยให้เกิดการซ้อมทรมานประชาชนในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะหากปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการโดยไม่ดูแลหรือแก้ไข ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นไม่จบสิ้น

 

“ถ้ามีบทลงโทษให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย เขาก็จะคอยดูแล เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูกก็จะไม่ปล่อยให้ลูกออกไปดื้อเกเรหรือทำร้ายใคร เพราะถ้าลูกไปเกเรแล้วพ่อแม่ต้องรับผิดชอบด้วย จึงต้องคอยหมั่นสั่งสอนลูกน้อง สังคมเราปล่อยกันมาไกลแล้ว ใครอยากทำอะไรก็ทำ ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องมารับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ” 

 

อังคณา นีละไพจิตร จากผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ทำหน้าที่แม่และภรรยาจนต้องลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรม อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้เป็นภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียม เธอเล่าว่าทุกๆ ครั้งที่ตัวเธอเองและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นพยายามให้ภาครัฐช่วยเหลือในการตามตัวผู้สูญหาย ไม่มีสักครั้งที่มีความคืบหน้า และไม่มีสักครั้งที่พวกตนรู้สึกว่ามีความหวังเพิ่มขึ้น

เธอกล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครอบครัวของผู้สูญหายจะรับมือกับความรู้สึก “เหมือนอยู่ในม่านหมอกของความคลุมเครือตลอดเวลา” เช่นนี้ นอกจากนี้ ความพยายามลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมครอบครัวให้สิ้นหวังมากขึ้น

นอกจากกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ทางการไทยควรมีการเยียวยาไม่ใช่แค่ในเรื่องเงินทอง แต่รวมถึงด้านความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ เธอเสนอว่า ครอบครัวของผู้สูญหายควรมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์กับข่าวสดไว้ว่า 

 

อยากฝากให้สังคมไทยร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลยอมรับกฎหมายฉบับนี้ ตอนนี้เป็นร่างพ.ร.บ.การป้องกันและยุติการทรมานบังคับสูญหาย จะเกิดกลไกในการคุ้มครองจริงๆ ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ การที่เราไม่มีกลไกการคุ้มครองจะทำให้ ผู้กระทำผิดหรือเจ้าหน้าที่บางคนใช้อำนาจตามอำเภอใจใน การทำอะไรก็ได้กับคนที่คิดว่าเป็นภัยแก่ตัวเอง รัฐบาลควรแสดงความจริงใจที่จะยุติการทรมานและการบังคับสูญหายโดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายให้ผ่าน ร่างฉบับนี้โดยเร็ว”

 

ยังมีความหวังอยู่อีกหรือในการเมืองแบบนี้?

 

พรรคการเมืองสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายชงเข้าพิจารณาในสภา

ด้านพรรคการเมือง ปัจจุบันมีพรรคการเมือง 4 พรรค (พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล) ที่สนับสนุนและเห็นควรมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย จึงได้พยายามผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีความพยายามในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมเข้าสู่สภา

นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กรรมธิการคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ThaiPBS ในวันที่ 18 มิ.ย. ว่า

 

ผมเชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันทางราชการและทางรัฐบาลมีความต้องการให้มีกฎหมายฉบับนี้เพื่อจะไปตอบนานาอารยประเทศว่า ประเทศไทยเรามีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือมีการซ้อมทรมาน”

 

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และรักษาการประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า

 

“ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ตกไป ผมจึงเตรียมเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบแล้ว...การทรมาน การทำให้บุคคลสูญหาย การจับกุม ทำร้าย ข่มขู่พยาน การกำหนดที่จะก่อให้เกิดความโหดร้ายต่อประชาชน ถูกตีกรอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของกฎหมายฉบับนี้”

 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวในเวทีเสวนา ‘ตามหาวันเฉลิม ‘ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 บางตอนกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้นๆว่า กฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย โดยมติชนสุดสัปดาห์เผยแพร่ไว้ดังนี้

 

ผมเห็นด้วยว่าต้องผลักดันให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ในหลักการทั่วไปของกฎหมายที่มีโทษทางอาญา คือ กฎหมายต้องทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรม กฎหมายต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคน กฎหมายต้องคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลด้วยวิธีการนอกกฎหมายจะทำไม่ได้เด็ดขาด”

 

และท้ายสุดพรรคก้าวไกล เป็นอีกพรรคที่พยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. เรื่องนี้ โดยในเบื้องต้นร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านที่ประชุมมติพรรคแล้ว ในลำดับถัดไปจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพูดคุยใน กมธ. อีกรอบ โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และ โฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวกับสื่อมวลชนถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ระบุว่า

 

“คณะกรรมาธิการยืนยันที่จะให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับที่ภาคประชาชนนำเสนอ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการพิจารณาร่วมกับภาคประชาชนโดยเร็ว และให้นำเสนอเพื่อขอมติคณะกรรมาธิการส่งเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป”

 

มีกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นไปตามมาตราฐานสากล

แอมเนสตี้-ICJ ย้ำร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้ส่งข้อเสนอแนะถึงทางการไทยในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ... เพื่อให้มีเนื้อหารัดกุมและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ทางการไทยให้ได้ไว้บนเวทีนานาชาติ

โดยย้ำว่าร่างกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

พร้อมระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย มีเนื้อหาได้มาตรฐานสากลและผ่านเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริง การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ และการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณต่างๆ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงทหาร ตำรวจ และข้าราชการ จะถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่มีบทลงโทษเฉพาะ มีกระบวนการสืบสวนที่อิสระและเป็นกลางมากขึ้น ตลอดจนมีมาตรการรักษาเยียวยาครอบครัวเหยื่ออย่างชัดเจนด้วย

แอมเนสตี้และ ICJ ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนความพยายามของทางการไทยในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายที่ได้มาตรฐานและมีการคุ้มครองอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อปกป้องชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน คือ 1.เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว และ 3.เพื่อขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชน

โดยระบุเพิ่มเติมว่า เหตุจำเป็นที่ต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันนี้ยังมีการกระทำทรมาน และทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ ยังมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติเรื่องการงกเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกัน และเยียวยาในกรณีการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย เพราะฉะนั้น การตราร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมากไปกว่านั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นมาตรการสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

 

เมื่อทุกฝ่ายต่างขานรับและเห็นด้วยกับการที่ต้องมี ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมาบังคับใช้จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้หรือไม่

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884889

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_2908983

https://www.the101.world/suppression-of-torture-and-enforced-disappearances-act/

https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_314890

https://www.brighttv.co.th/news/politics/rangsiman-rome-wanchalerm-update

https://www.amnesty.or.th/latest/news/97/

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2239582