แอมเนสตี้-ICJ เสนอไทยปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน

24 พฤศจิกายน 2560

 

แอมเนสตี้ร่วมกับ ICJ ส่งข้อเสนอแนะให้ทางการไทยปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ให้รัดกุมและได้มาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนจากอาชญากรรมที่กระทำเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ส่งข้อเสนอแนะถึงทางการไทยในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ... (ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) เพื่อให้มีเนื้อหารัดกุมและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ทางการไทยให้ได้ไว้บนเวทีนานาชาติ

 

แอมเนสตี้และ ICJ พบว่าร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายยังคงมีข้อบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ในหลายจุด เช่น นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการอุ้มหาย บทลงโทษต่อการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณหรือย่ำยีศุกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่รับหลักฐานที่ได้มาจากการทรมานประกอบการพิจารณาคดีในศาล ไปจนถึงหลักประกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและอุ้มหายในอนาคต

 

แอมเนสตี้และ ICJ ย้ำว่าร่างกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

 

หากร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย มีเนื้อหาได้มาตรฐานสากลและผ่านเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริง การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ และการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณต่างๆ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงทหาร ตำรวจ และข้าราชการ จะถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่มีบทลงโทษเฉพาะ มีกระบวนการสืบสวนที่อิสระและเป็นกลางมากขึ้น ตลอดจนมีมาตรการรักษาเยียวยาครอบครัวเหยื่ออย่างชัดเจนด้วย

 

แอมเนสตี้และ ICT ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนความพยายามของทางการไทยในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายที่ได้มาตรฐานและมีการคุ้มครองอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อปกป้องชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคงและปลปอดภัยมากขึ้นในอนาคต