การโจมตีอย่างเป็นแบบแผนของอิสราเอลต่ออาคารที่อยู่อาศัยในกาซา ต้องได้รับการสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม

18 พฤษภาคม 2564

Amnesty International Thailand

กองทัพอิสราเอลได้แสดงความเพิกเฉยอย่างน่าตกใจต่อชีวิตของพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ด้วยการโจมตีทางอากาศหลายครั้งต่ออาคารซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ในบางกรณีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งครอบครัว รวมทั้งเด็ก และส่งผลให้เกิดการทำลายล้างอย่างกว้างขวางต่อทรัพย์สินของพลเรือน อันเป็นการโจมตีที่อาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ 

ทางองค์กรได้บันทึกข้อมูลการโจมตีที่ร้ายแรงของอิสราเอลต่อที่พักอาศัยสี่ครั้ง โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และเรียกร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ให้สอบสวนการโจมตีเหล่านี้อย่างเร่งด่วน จำนวนผู้เสียชีวิตในกาซายังคงเพิ่มขึ้น โดยมีชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 198 คนที่เสียชีวิต รวมทั้งเด็ก 58 คน และกว่า 1,220 คนได้รับบาดเจ็บ โดยมี 10 คนในอิสราเอล รวมทั้งเด็กสองคนที่ถูกสังหาร และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 27 คนจากการโจมตีของปาเลสไตน์ 

“การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อกาซา มีลักษณะเป็นแบบแผนที่น่ากลัวมากขึ้น โดยมุ่งโจมตีอาคารที่พักอาศัยและบ้านของหลายครอบครัว ในบางกรณีส่งผลให้ทั้งครอบครัวจมอยู่ใต้ซากปรักหักพังจากแรงระเบิด เมื่อตึกที่พวกเขาอาศัยอยู่ทะลายลงมา ในกรณีที่มีการบันทึกข้อมูลด้านล่าง ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อให้พลเรือนที่อาศัยอยู่ทราบ และสามารถหลบหนีได้ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคู่สงครามทุกฝ่าย ต้องแยกแยะระหว่างเป้าหมายทางทหารกับวัตถุของพลเรือน และมุ่งโจมตีเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ในระหว่างการโจมตีนั้น คู่สงครามต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือนให้เหลือน้อยสุด” ซาเลห์ ฮีกาซี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

“แม้ว่ากองทัพอิสราเอลไม่ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ทางการทหารจากการพุ่งเป้าโจมตีเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า การทิ้งระเบิดใส่อาคารที่พักอาศัย ซึ่งเต็มไปด้วยครอบครัวของพลเรือนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ได้สัดส่วนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการใช้อาวุธที่ทำให้เกิดการระเบิดในวงกว้าง อย่างเช่น การนำระเบิดจากเครื่องบินที่มีรัศมีทำลายหลายร้อยเมตร มาทิ้งยังพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ โดยไม่คาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนอย่างมาก  

“การโจมตีที่ร้ายแรงอย่างชัดเจนต่อบ้านเรือนของครอบครัวเหล่านี้โดยไม่แจ้งเตือน แสดงให้เห็นว่าอิสราเอลเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อชีวิตของพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องประสบความยากลำบากจากการถูกลงโทษแบบกลุ่ม เนื่องจากการปิดกั้นฉนวนกาซาอย่างผิดกฎหมายของอิสราเอลตั้งแต่ปี 2550”  

กองทัพอิสราเอลอ้างว่า เป็นการโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหาร และใช้เหตุผลดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตีทางอากาศต่ออาคารที่พักอาศัย อย่างไรก็ดี ผู้อาศัยอยู่ในอาคารเหล่านั้นให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ไม่มีทหารหรือวัตถุประสงค์ทางทหารใดในบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่ ขณะที่มีการบันทึกข้อมูลของการโจมตีเลย 

“การจงใจโจมตีพลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะเป็นการโจมตีที่ไม่ได้สัดส่วน ศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการสอบสวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ และควรเร่งสอบสวนการโจมตีเหล่านี้ในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม รัฐต่าง ๆ ยังควรอ้างเขตอำนาจศาลสากลเพื่อเอาผิดกับผู้ก่ออาชญากรรมสงครามเช่นนี้ การปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิดจะยิ่งเร่งให้เกิดการโจมตีอย่างมีแบบแผนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนำไปสู่การนองเลือดของพลเรือน ซึ่งที่ผ่านมามีการบันทึกข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำอีกจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอลครั้งก่อนหน้านี้ต่อกาซา” ซาเลห์ ฮีกาซีกล่าว

อาคารที่พักอาศัยอย่างน้อย 152 แห่งในกาซาถูกทำลายนับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม ทั้งนี้ตามข้อมูลของศูนย์อัล เมซันเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ในกาซา ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณูปการและที่อยู่อาศัยแห่งปาเลสไตน์ที่กาซา การโจมตีของอิสราเอลส่งผลให้เกิดการทำลายอาคาร 94 หลัง ประกอบด้วยบ้านและที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ 461 หน่วย ส่วนที่พักอาศัยอีก 285 หน่วยได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และไม่อาจใช้เป็นที่อาศัยต่อไปได้  

ตามข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ประชาชนกว่า 2,500 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากการทำลายบ้านเรือนของพวกเขา และกว่า 38,000 คน ต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศ และไปอาศัยอยู่ตามโรงเรียนของ UNRWA (สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้) 48 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วกาซา 

การยิงจรวดอย่างไม่เลือกเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ต่อพื้นที่พลเรือนในอิสราเอล เป็นเหตุให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บและล้มตาย และสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของพลเรือนเช่นกัน จรวดที่ถูกยิงจากกาซาเข้าใส่อิสราเอลขาดความแม่นยำ และการกระทำเช่นนั้นถือว่าขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามการใช้อาวุธที่มีลักษณะไม่เลือกเป้าหมายชัดเจน การโจมตีเช่นนี้ ย่อมควรถูกสอบสวนโดยศาลอาญาระหว่างประเทศในฐานะเป็นอาชญากรรมสงครามเช่นกัน

ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า กองทัพอิสราเอลมีนโยบายที่จงใจพุ่งเป้าทำลายบ้านเรือนของครอบครัวต่าง ๆ ในระหว่างความขัดแย้งเมื่อปี 2557  

 

การโจมตีเพื่อทำลายบ้านเรือนของครอบครัว 

ในช่วงที่มีการถล่มด้วยระเบิดรุนแรงมากสุดช่วงหนึ่ง นับแต่สงครามครั้งใหม่เริ่มขึ้น คือในช่วงตี 1 และ 2 ของคืนวันที่ 16 พฤษภาคม อิสราเอลได้โจมตีทางอากาศต่ออาคารที่พักอาศัยและถนนในกาซาซิตี้ การโจมตีครั้งนั้นทำลายอาคารที่พักอาศัยสองแห่งจนพังพินาศ โดยเป็นที่อยู่ของครอบครัวอาบู อัล-อุฟ และอัล-โคลัค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 คนรวมทั้งเด็ก 11 คน  

ตึกของกระทรวงแรงงานแห่งกาซาก็ถูกทำลายในการโจมตีเหล่านี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้ถนนอัล-เวนดาเพื่อการสัญจรได้ ทั้งที่ถนนหลักที่ใช้เดินทางไปสู่โรงพยาบาลอัล-ชีฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำคัญของกาซา 

ครอบครัวซึ่งพักอาศัยในตึกอัล-อุฟสี่ชั้น ซึ่งประกอบด้วยห้องชุดและร้านค้า ต่างไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า พวกเขาต้องฝังร่างอยู่ในซากปรักหักพังภายหลังการโจมตี  

ยูเซฟ ยัสซิน หน่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลอัล-ชีฟา เป็นหนึ่งในผู้ไปถึงยังที่เกิดเหตุก่อนคนอื่น บริเวณตึกอัล-อุฟภายหลังการโจมตี และให้ความช่วยเหลือด้วยการดึงผู้รอดชีวิตออกจากซากปรักหักพังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยกาชาด เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า สภาพที่เกิดเหตุ “เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง” 

“ผมช่วยดึงร่าง [ผู้เสียชีวิต] ออกมาสี่ศพ แต่ยังมีอีกมากกว่านั้น ผมรู้สึกเศร้าใจอย่างมาก ไม่มีการแจ้งเตือน เป็นเหตุให้คนได้แต่นั่งรวมตัวกันในบ้านของตัวเอง พื้นที่แห่งนี้เคยมีชีวิตและคนพลุกพล่านอย่างมาก” เขากล่าว  

ไม่นานหลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 พฤษภาคม อิสราเอลโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายตึกสามชั้นซึ่งเป็นที่พักของครอบครัวอัล-อาทาร์ในเขตเบอิต ลาเฮีย ส่งผลให้ลัมยา ฮัสซัน โมฮัมเหม็ด อัล-อาทาร์ ในวัย 28 ปี พร้อมลูกของเธอสามคน ได้แก่ อิสลาม อายุเจ็ดขวบ อามีรา อายุหกขวบ และโมฮัมเหม็ด อายุเพียงแปดเดือน เสียขีวิต 

ฮัสซัน อัล-อาทาร์ พ่อของลัมยา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขาไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับรถพยาบาล และทีมกู้ภัย หลังจากญาติโทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบถึงการโจมตีครั้งนี้ “เขาบอกผมว่า บ้านคุณถูกระเบิดและ [เขา] ติดอยู่ในซากอาคาร [พร้อมกับ] ภรรยาและลูก” เขากล่าว  

“เมื่อไปถึงที่บ้านซึ่งเป็นอาคารสามชั้น และมีคนอาศัยอยู่ 20 คน ผมพยายามค้นหาดูว่ามีใครอยู่บ้าง แต่หาไม่พบ เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงเพื่อให้ความช่วยเหลือ เราค้นหาจนเจอลูกสาวของผม ซึ่งเป็นแม่ของเด็กทั้งสามคน พร้อมกับลูกของเธอ หนึ่งในนั้นยังเป็นทารก พวกเขาติดอยู่ใต้คานปูนของบ้าน และเสียชีวิตหมดแล้ว ส่วนผู้อาศัยคนอื่นดูเหมือนจะสามารถหลบหนีออกมาจากช่องว่างที่มีอยู่ หลังการยิงถล่มตึก และได้ไปโรงพยาบาลแล้ว ผมรู้สึกตกใจมาก” เขากล่าว  

นาเดอร์ มัลมูด โมฮัมเหม็ด อัล-ทอม จากย่านอัล-ซาลาติน ในเบอิต ลาเฮีย อธิบายว่าบ้านของเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของเขากับอีกแปดชีวิต ถูกโจมตีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่นานหลังเที่ยงคืนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมอย่างไร 

“ไม่มีการยิงจรวดมาส่งสัญญาณเตือนเลย ไม่มีการโทรศัพท์มาเตือน จากนั้นบ้านก็ถูกทิ้งระเบิด ทั้งที่เรายังอยู่ในนั้น ขอบคุณพระเจ้าที่บังเอิญเหลือเกินที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัยอยู่ใกล้ ๆ และสามารถช่วยเราออกมาจากซากปรักหักพังได้ ขอบคุณพระเจ้าที่ไม่มีคนเสียชีวิต มีแต่คนบาดเจ็บแต่ไม่สาหัสมากนัก เมื่อเราออกมาได้ เราเห็นไฟลุกที่ประตูบ้าน จากนั้นรถพยาบาลก็พาเราไปโรงพยาบาล ผมคิดว่าช่วงนั้นเองที่หมดสติไป ขอบคุณพระเจ้า ที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่เราต้องเสียบ้านของเราไป ตอนนี้เราต้องหลับนอนในถนน ไม่รู้จะไปที่ไหน ไม่รู้จะทำอะไร”  

ครอบครัวของเขาพยายามไปขออาศัยอยู่ในโรงเรียนของ UNRWA แต่พอไปถึงโรงเรียนปิด พวกเขาเลยต้องนอนอยู่ด้านนอกของอาคารเรียนตรงสนามด้านหน้า บ้านของเขาทั้งหลังถูกทำลายรวมทั้งเสื้อผ้า เงินทอง เอกสาร และทรัพย์สินทั้งหมด  

นอกจากการโจมตีใส่บ้านเรือนที่พักอาศัยแล้ว อิสราเอลยังโจมตีเพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและไฟฟ้า รวมทั้งสถานพยาบาล และทำให้โรงงานแปรรูปน้ำทะเลที่อยู่ตอนเหนือของกาซาต้องหยุดทำงาน เป็นโรงงานที่จ่ายน้ำให้กับประชาชนกว่า 250,000 คน 

****************************************      

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือการนัดสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ: sara.hashash@amnesty.org หรือโทรศัพท์ +44 20 7413 5566