โครงการ Writers that Matter 2022

29 มิถุนายน 2565

Amnesty International Thailand

โครงการ Writers that Matter “นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก” กลับมาอีกครั้ง! กับการประกวดเรื่องสั้น ในหัวข้อ “Write to Remember : เราจะไม่ลืม” ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 สิงหาคม 2565

เพราะเราเชื่อในพลังของการเล่าเรื่อง และเราเชื่อว่าการเล่าเรื่องของคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อยุติการทรมาน-อุ้มหาย ได้! ในปีนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนส่งเรื่องสั้นเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้ประเด็น “ทรมาน-อุ้มหาย” ในหัวข้อ “Write to Remember : เราจะไม่ลืม” ความยาวไม่เกิน 10 หน้า  A4 ตัวอักษรขนาด 14ฟอนต์ Cordia New (รับเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อยุติการทรมาน-อุ้มหาย

ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 สิงหาคม 2565 ที่ https://forms.gle/GqFed2jpKHpGgY7UA

 

 

 

กติกาในการรับสมัครผลงาน  

- ผู้สมัคร 1 คน สามารถส่งผลงานได้ 1 ชิ้น โดยเป็นงานเขียนในรูปแบบสั้น ความยาวไม่เกิน 10  หน้า A4 (ตัวอักษร Cordia New ขนาด 14)   

-ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นงานเขียนที่เขียนด้วยตนเอง และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น   

-ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด  

-ผลงานที่ส่งเข้ามาต้องการสื่อสารกับสังคมได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน และมีมุมมองในด้านสิทธิมนุษยชน ไม่มีข้อความที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือละเมิดและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลหรือกลุ่มใดๆ   

-ผลงานที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับเงินรางวัล 2,000  บาทต่อเรื่อง และสมาชิกภาพของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำนวน 1 ปี  

-ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์กร รวมทั้งสื่อโซเชียลอื่นๆ และลงในแพลตฟอร์ม ReadAwrite ของแอมเนสตี้เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของผลงานเพิ่มเติม แต่จะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำไปใช้

-การพิจารณาผลงานขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และการตัดสินของแอมเนสตี้ถือเป็นที่สิ้นสุด 

 

ระยะเวลาดำเนินการ

เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2565 

ประกาศผลที่ได้รับรางวัล  16 กันยายน 2565  

หมายเหตุ วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

 

คณะกรรมการตัดสิน 

- อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหาย คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ และครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตร ทนายสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย

- สุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง) นักเขียนผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด

- ร เรือในมหาสมุท นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์จากเรื่อง “สิงโตนอกคอก”

- ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการแอมเนสตี้ ประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 สิงหาคม 2565 ส่งผลงานได้ที่นี่ คลิก 

 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อยุติการทรมาน-อุ้มหายไปด้วยกันนะ !

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 089-922-9585

--------------

การบังคับบุคคลให้สูญหาย (Enforced Disappearance) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “อุ้มหาย” เป็นอีกหนึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงซึ่งการกระทำดังกล่าวหมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐ หรือบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล และพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ๆ บ่อยครั้งที่ผู้สูญหายไม่ได้รับการปล่อยตัวและไม่มีผู้ทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนการทรมานคือ การกระทำโดยเจตนาเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างสาหัสทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ยุยง ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รับสารภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูล เพื่อลงโทษ เพื่อข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว หรือด้วยเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นการกระทำต่อบุคคลโดยตรง หรือกระทำต่อบุคคลที่สามก็ตาม

 

คุณสามารถติดตาม "รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน-อุ้มหาย" ได้ที่ : https://www.facebook.com/media/set/...