ประธานแอมเนสตี้ตุรกีถูกจับและกักขังหลังถูกทางการกล่าวหาอย่างไม่มีมูล

14 มิถุนายน 2560

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประธานแอมเนสตี้ ตุรกี ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือ แอมเนสตี้ทั่วโลกเรียกร้องปล่อยตัว

 

ทาเนอร์ คิลิช นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญในตุรกีและประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรกี ถูกควบคุมตัวพร้อมกับนักกฎหมายอีก 22 คนในเมืองอิซเมียร์ โดยทางการอ้างว่าพวกเขาต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเฟตูเลาะห์ กิวเล็น ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลตุรกีชุดปัจจุบัน

 

การกล่าวหาต่อทาเนอร์ไม่มีมูลความจริงและขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ โดยเจ้าหน้าที่ระบุเพียงว่าทาเนอร์ลงแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Bylock บนโทรศัพท์มือถือของเขา โดยแอปฯ ดังกล่าวถูกขบวนการเฟตูเลาะห์ กิวเล็น ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร ขณะที่ตัวทาเนอร์เองระบุว่าไม่เคยลงแอปฯ ดังกล่าวและไม่เคยได้ยินชื่อแอปฯ นี้ด้วยซ้ำจนกระทั่งถูกกล่าวหา

 

“ทาเนอร์ คิลิชไม่ได้เป็นทั้งผู้สนับสนุนหรือเป็นสมาชิกของขบวนการเฟตูเลาะห์ กิวเล็น และที่จริงแล้ว เขายังเคยวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของขบวนการนี้ในตุรกีด้วย พยานหลักฐานเดียวที่ถูกนำมาอ้างเพื่อกล่าวหาเขาคือการมีช่องทางการสื่อสารแบบลับติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์ของเขาซึ่งไม่เป็นความจริง และถึงจะมีการติดตั้งจริง ก็ยังไม่สามารถถือเป็นวัตถุพยานเพื่อกล่าวหาว่าเขากระทำความผิดอาญาได้” ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

ทาเนอร์เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนานและเป็นที่ยอมรับในตุรกี โดยเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานกรรมการแอมเนสตี้ ตุรกีหลายสมัยตั้งแต่ปี 2544 การจับกุมเขาครั้งนี้ทำให้ตุรกีถูกประณามอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศ โดยเฉพาะจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศในตุรกี

 

หลังความพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จในตุรกีเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ทางการตุรกีปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลอย่างหนัก มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อ และจับกุมอย่างไม่ชอบธรรมจำนวนมาก

 

แอมเนสตี้ทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการตุรกีปล่อยตัวทาเนอร์ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยมีนักกิจกรรมและผู้สนับสนุนมากมายร่วมกันลงชื่อในแคมเปญออนไลน์ ตลอดจนเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียผ่าน #FreeTaner เพื่อส่งเสียงและแรงกดดันไปยังรัฐบาลตุรกีให้เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

 

ร่วมลงชื่อ
ร่วมถ่ายรูปและติดแฮชแท็ก

 

599.jpg