ประเทศไทย/ลาว: สอบสวนการสังหารผู้ลี้ภัยชาวลาว และยุติการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

26 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

สืบเนื่องจากรายงานข่าววันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับการยิงสังหารบุญส่วน กิตติยาโน ซึ่งเป็นทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาววัย 56 ปี และผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พวกเราทั้งสิบหน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และให้มีการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพต่อครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รักของเหยื่อ เรายังเรียกร้องทั้งรัฐบาลลาวและไทย รวมทั้งประชาคมนักการทูตในลาวและไทย และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติแก้ปัญหาการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว ซึ่งอยู่ระหว่างการขอที่ลี้ภัยในประเทศไทย

 

การสังหารบุญส่วน กิตติยาโน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ทางการไทยพบศพของบุญส่วนที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและ มีพรมแดนติดกับประเทศลาว บุญส่วนเป็นสมาชิกของ “กลุ่มลาวเสรี (Free Laos)” ซึ่งมีตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยเป็นเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว ที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพมหานครและการอบรมด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม การปราบปรามทุจริต และประชาธิปไตย ตามรายงานของสื่อ เขาถูกยิงสามนัดขณะกำลังขี่รถจักรยานยนตร์[1] แม้หน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์จะไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้ลงมือสังหารครั้งนี้ แต่เราสามารถจำแนกข้อมูลได้ว่า บุญส่วนเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้หลบหนีจากการประหัตประหารในลาว และมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว จากข้อมูลตามการรายงานของสื่อ กิตติยาโนอยู่ระหว่างการทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย[2]

บุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลาวเสรีต่างเคยถูกควบคุมตัวโดยพลการ และตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายทั้งในลาวและไทย

 

การปราบปรามภายในประเทศและต่างแดน

หน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์ มีข้อสังเกตถึงการใช้ความรุนแรงโดยพุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลาวเสรีหลายครั้ง การยิงสังหารบุญส่วนเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากมีการจับกุมและควบคุมตัว สว่าง พะเลิด สมาชิกกลุ่มลาวเสรีอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการรายงานตามข่าว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 สว่างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่บ้านดอนสาด อำเภอสองคาน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เป็นเหตุให้ถูกตำรวจไม่ทราบหน่วยจับกุม[3] ปัจจุบัน เขายังคงถูกคุมขังโดยไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ไม่มีการแจ้งให้ญาติทราบข้อหา และไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมแต่อย่างใด

ในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 อ๊อด ไชยะวง นักกิจกรรมกลุ่มลาวเสรี “หายตัวไป” จากบ้านพักในกรุงเทพฯ หลังจากตัวเขาและเพื่อนนักกิจกรรมจากกลุ่มลาวเสรี รวมถึงเพชรภูธร พิละจัน ได้ประชุมกับผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น[4] อ๊อดมีบทบาทเป็นแกนนำการรณรงค์ รวมทั้งการจัดการชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกกลุ่มลาวเสรีคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในลาว และให้ปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและที่ดินในประเทศของตน[5] ทางการไทยไม่ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพในคดีนี้เพื่อให้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของเขา แม้จะมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากองค์การสหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมก็ตาม[6]

สามเดือนต่อมา เพชรภูธร สมาชิกกลุ่มลาวเสรีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมบ้านกับอ็อด ได้หายตัวไปเช่นกัน หลังจากที่เขาเดินทางออกจากกรุงเทพเพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เวียงจันทน์[7] จวบจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาเลย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559สุกาน ชัยทัด สมพอน พิมมะสอน และหลอดคำ ทำมะวง สามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มเดียวกัน ถูกทางการลาวจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก สืบเนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์วิจารณ์รัฐบาลลาว และการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันที่ 22 มีนาคม 2560 ศาลประชาชนลาวตัดสินว่าเขามีความผิดตามมาตรา 56 (ขบถต่อประเทศ) มาตรา 65 (โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ) และมาตรา 72 (การชุมนุมโดยมีเป้าหมายเพื่อก่อความวุ่นวายในสังคม) ตามประมวลกฎหมายอาญาของลาว และตัดสินให้พวกเขาได้รับโทษจำคุก 20, 16 และ 12 ปีตามลำดับ

ข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่ามีการจับกุม คุมขัง พิพากษาว่ามีความผิด และการบังคับให้สูญหายในบางกรณีต่อสมาชิกของกลุ่มลาวเสรี ชี้ให้เห็นการโจมตีที่มีเป้าหมาย ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นในดินแดนของลาวเท่านั้น หากแต่ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการปราบปรามข้ามชาติ ที่พุ่งเป้าไปยังนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารจากประเทศลาวสู่ประเทศไทย การปราบปรามในลักษณะนี้มุ่งปิดปากผู้ใช้สิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม และการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ

เนื่องด้วยบริบทเช่นนี้ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ผู้เชี่ยวชาญอิสระแปดคนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลลาวและไทย เพื่อแสดงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ “แบบแผนการหายตัวไป” โดย “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ประสานงาน ช่วยเหลือ หรือรู้เห็นเป็นใจให้เกิดการลักพาตัวข้ามพรมแดนจนนำไปสู่การหายตัวไปของนักกิจกรรมทางการเมือง[8]จดหมายยังระบุว่า กระทรวงต่างประเทศของลาวและไทยได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมกันเมื่อปี 2561 เกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือโดยการ “ยึดมั่นต่อนโยบายที่จะไม่อนุญาตให้บุคคลหรือกลุ่มของบุคคล วางแผนก่อความวุ่นวาย หรือดำเนินการต่อต้านรัฐบาลในประเทศอื่นอันเป็นดินแดนของตน”

จากปากคำที่รวบรวมโดยองค์กรที่ลงนามในแถลงการณ์นี้ เราพบว่าการลอยนวลพ้นผิดอย่างกว้างขวางในกรณีข้างต้น ส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวอย่างกว้างขวางในบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว ภายใต้บรรยากาศที่กดขี่เช่นนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หลบหนีมาจากประเทศของตน ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวว่าจะตกเป็นเป้าหมายจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตน

 

พันธกรณีของรัฐตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ประเทศไทยและประเทศลาวต่างเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) กติกาฉบับนี้ระบุให้ต้องเคารพและรับประกันสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีอิสรภาพ และมีความมั่นคงปลอดภัยของบุคคลทุกคน นอกจากนี้ ยังระบุว่าบุคคลทุกคนต้องปลอดภัยจากการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สุดท้าย กติกาฉบับนี้ยังรับรองสิทธิหลากหลายประการ รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ การบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติหลายข้อของกติกา ICCPR ดังนั้น ประเทศทั้งสองจึงมีหน้าที่จะต้องสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และโปร่งใส และดำเนินคดีในกรณีที่มีการพรากชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย  โดยให้สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย[9] รัฐต่าง ๆ ยังต้องจัดให้มีการเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตน

การคุ้มครองสิทธิข้างต้น ยังครอบคลุมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง เพราะการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอันชอบของตน

ในการเสนอรายงานสำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR)  รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 รัฐบาลไทย “สนับสนุน” ข้อเสนอแนะอย่างน้อย 6 ข้อเกี่ยวกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง “ประกันให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยผ่านการสอบสวนโดยทันทีและอย่างรอบด้านเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นมา” “ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อประกันให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยุติการคุกคาม ความรุนแรง และการข่มขู่ในทุกรูปแบบต่อพวกเขา และประกันให้มีการสอบสวนโดยทันที อย่างโปร่งใส และอย่างเป็นอิสระเมื่อมีรายงานว่าเกิดเหตุขึ้นมาทุกครั้ง” และ“ดำเนินการให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก และป้องกันการโจมตีทำร้ายและข่มขู่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน[10]

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลลาวยังได้รับข้อเสนอแนะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ระหว่างกระบวนการ UPR ในปี 2563 รวมทั้ง “ส่งเสริมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ยกเลิกข้อจำกัดต่อสื่ออิสระ และดำเนินการให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการดำเนินงานของผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” “ประกันให้มีการเข้าถึงอย่างเต็มที่ซึ่งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ และดำเนินการตามลำดับเพื่อให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่ตามข้อกล่าวหาว่ามีการจับกุมโดยพลการ การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาเนื่องจากการแสดงการต่อต้านทางการเมืองหรือการวิจารณ์นโยบายของรัฐ” และ “จัดให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระในประเทศ เมื่อเกิดการสูญหายและการเสียชีวิตของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” เป็นที่น่าเสียใจว่ารัฐบาลลาวปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่[11]

กรณีการปราบปรามข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์การสังหารบุญส่วนที่เพิ่งเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านการประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนได้อย่างปลอดภัยในทั้งสองประเทศ

 

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย รัฐบาลลาว และประชาคมโลก

จากสถานการณ์ข้างต้น องค์กรที่ลงนามในแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วนดังต่อไปนี้:

 

สำหรับรัฐบาลลาวและไทย

- ดำเนินการสอบสวนโดยเร่งด่วน รอบด้าน มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ทั้งต่อการสังหารบุญส่วน และเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจเป็นการปฏิบัติมิชอบและการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนตามที่ระบุถึงในแถลงการณ์นี้ โดยให้การสอบสวนดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมายประกันว่าจะมีการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพและรอบด้าน นอกจากนี้ ต้องดำเนินการให้มีความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้ โดยการตรวจสอบชี้ตัว ดำเนินคดี และลงโทษต่อบุคคลใดๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบ

- ประกันการเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมเหล่านี้

- ประกาศพันธกิจดำเนินการป้องกันไม่ให้มีการประหัตประหาร การข่มขู่ และการคุกคามอีกต่อไป ดำเนินการให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้ความเคารพ และเกื้อหนุนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน และดำเนินการยุติการเอาผิดทางอาญาต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม

- ให้ยุติข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งสอง ซึ่งได้กล่าวถึงในแถลงการณ์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ อันเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดการปราบปรามข้ามชาติต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยชอบธรรม

 

สำหรับประชาคมนักการทูตในลาวและไทย และแหล่งทุน

- เรียกร้องผลักดันให้มีความรับผิดชอบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และให้มีการยุติการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกปกปิดอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในทั้งสองประเทศ

- สำหรับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลกับทางการลาวและไทย ให้หยิบยกประเด็นการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทั้งสองประเทศขึ้นมาหารือ และรับรองให้มีการเปิดเผยผลลัพธ์จากการพูดคุยเจรจาต่อสาธารณะ

 

สำหรับหน่วยงายภายใต้องค์การสหประชาชาติ

- ประกันให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและขอลี้ภัย ซึ่งต้องดำรงชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการปราบปรามข้ามชาติ และอำนวยความสะดวกให้มีการดำเนินการพิจารณาคำขอลี้ภัยไปประเทศที่สามโดยทันที

 

รายชื่อองค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์

  1. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
  2. ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)
  3. คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)
  4. สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights)
  5. มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation)
  6. โฟกัส ออน เดอะ โกลเบิล เซ้าท์ (Focus on the Global South)
  7. พันธมิตรเพื่อการมีส่วนร่วมของพลเมืองระดับโลก (CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation)
  8. องค์กรฟรอนไลน์ดีเฟนเดอร์ (Front Line Defenders)
  9. คณะกรรมการระหว่างประเทศสำหรับการจัดเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรป (Asia- Europe Peoples Forum หรือ AEPF)
  10. องค์กรเฟรชอายส์ (Fresh Eyes)

 

ช้อมูลสำหรับติดต่อ

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่ออีเมล eseapro@amnesty.org



[1] ไทยรัฐ,สลดหนุ่มใหญ่ นักเคลื่อนไหวชาวลาว ถูกยิงตายที่อุบลฯ คาดตามฆ่าล้างแค้น, 19 พฤษภาคม 2566, https://www.thairath.co.th/news/crime/2695135

[2] ข่าวสด ภาษาอังกฤษ, Thai Police: A Lao activist’s relatives may murder him, 21 พฤษภาคม 2566, khaosodenglish.com/news/2023/05/21/thai-police-a-lao-activists-relatives-may-murder-him/ 

[3] วิทยุเอเชียเสรี, “Thailand-based rights activist arrested in Laos after returning to home village” 9 พฤษภาคม 2566, rfa.org/english/news/laos/activist-returns-arrest-05092023164548.html

[4] สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ , “Thailand/Lao PDR: UN experts concerned by disappearance of Lao human rights defender” 1 ตุลาคม 2562, ohchr.org/en/press-releases/2019/10/thailandlao-pdr-un-experts-concerned-disappearance-lao-human-rights-defender 

[5] สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (Office of the High Commissioner for Human Rights  หรือ OHCHR),จดหมายถึงรัฐบาลลาวและรัฐบาลไทย (UA LAO 2/2019), 25 กันยายน 2562, spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=24867

[6] ตัวอย่างของข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: amnesty.or.th/en/latest/news/7581/ fidh.org/en/region/asia/thailand/investigate-disappearance-of-lao-activist-seeking-asylum and hrw.org/news/2019/09/07/thailand-lao-refugee-feared-disappeared

[7] วิทยุเอเชียเสรี, “Lao Migrant Goes Missing, Friends Suspect Government Abduction”, 9 ธันวาคม 2562, rfa.org/english/news/laos/phetphouthon-philachane-12092019161409.html

[8] สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, จดหมายถึงรัฐบาลประเทศลาวและประเทศไทย (AL LAO 4/2020), 11 ธันวาคม 2563, spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=25648

[9] สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ , พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย, 2017, ohchr.org/sites/default/files/Documents/Publications/MinnesotaProtocol.pdf

[10] คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, รายงานจากคณะทำงานสำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน: ประเทศไทย, ข้อเสนอแนะจากประเทศนอร์เวย์ เช็กเกีย อิตาลี ตามลำดับ, A/HRC/49/17/Add.1, ย่อหน้าที่ 19 and 51. ohchr.org/sites/default/files/2022-03/A_HRC_49_17_Add.1_AV_Thailand_E.docx

[11] คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, รายงานจากคณะทำงานสำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน: สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ข้อเสนอแนะจากประเทศอิตาลี เช็กเกีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ, A/HRC/44/6/Add.1, ย่อหน้า.6. undocs.org/A/HRC/44/6/Add.1