สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 23-29 กันยายน 2566

2 October 2023

Amnesty International Thailand

 

ประเทศไทย: พิพากษาคดีฆาตกรรม 'บิลลี่ พอละจี' แอมเนสตี้ เรียกร้อง การตัดสินคดีต้องไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล บททดสอบครั้งใหญ่กระบวนการยุติธรรม

26 กันยายน 2566

 

ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 ในคดีที่จำเลย 4 คนถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการฆาตกรรม นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง”

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างกล้าหาญของบิลลี่ เป็นเหตุให้เขาต้องเสียชีวิต และทำให้ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งฝันร้าย เพราะต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจ เกิดความสงสัย และต้องการทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการหายตัวไปของบิลลี่ ระหว่างที่พวกเขาพยายามค้นหาความจริง พวกเขาควรได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ และต้องค้นหาความจริงเพื่อตามหาผู้รับผิดชอบต่อการฆาตกรรมที่น่าสะเทือนขวัญครั้งนี้ โดยจะต้องนำผู้กระทำความผิด มารับการตัดสินเพื่อนำไปสู่การรับผิดตามกระบวนการยุติธรรม

“การพิพากษาที่กำลังจะมีขึ้นนี้ล่าช้ามาเป็นระยะเวลายาวนาน และจะเป็นเสมือนบททดสอบสำคัญต่อระบบยุติธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมกับเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายมานานเกินกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ฝ่ายตุลาการมีโอกาสที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการแก้ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรับประกันให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นโอกาสที่ทางการไทยจะแสดงความเป็นผู้นำ ด้วยการทำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั่วประเทศทราบว่า วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจะต้องยุติลง คนที่กระทำความผิดต้องได้รับโทษ และทางการจะไม่ยอมอนุญาตให้มีการบังคับให้บุคคลใดต้องสูญหายอีกต่อไป”

ชนาธิป กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ของไทยยังจะต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) รวมทั้งพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดยทันที เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่โหดร้าย แบบที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ได้อีก และผู้กระทำจะต้องรับผิดรับชอบโดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว


อ่านต่อ: https://bit.ly/3rzKfqi

 

----- 

 

 

เวียดนาม: การสั่งจำคุก3 ปีนักกิจกรรมชื่อดังที่ทำงานด้านสภาพภูมิอากาศ ถือเป็น "การทำร้ายตัวเอง" ของทางการเวียดนาม

28 กันยายน 2566

 

สืบเนื่องจากการตัดสินโทษจำคุก ฮว่าง  ถิ มิง ห่ง นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศชาวเวียดนาม 3 ปี ในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการเวียดนามต้องยุติการปราบปรามนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมทันที คำตัดสินนี้เป็นการทำร้ายความสามารถของเวียดนามในการรับมือกับหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดในยุคของเรา นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ทางการใช้กฎหมายภาษีในทางที่ผิดโดยเจตนาเพื่อปราบปรามนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

“ฮว่าง ถิ มิง ห่ง เป็นผู้ทำงานด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เธอเป็นชาวเวียดนามคนแรกที่ไปเยือนแอนตาร์กติกา และอุทิศชีวิตสนับสนุนและรณรงค์เพื่อพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์สัตว์ป่า หากเวียดนามจริงจังกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องปล่อยตัวนักกิจกรรม นักรณรงค์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดออกจากคุกทันที

“ประชาคมระหว่างประเทศต้องประณามคำตัดสินนี้ และเรียกร้องให้เวียดนามยกเลิกข้อหาอาญาทั้งหมดของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานต่างๆ ในเวียดนามต้องยอมรับความจริงที่ว่าพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายและความรับผิดชอบด้านสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการทำงานร่วมกันกับผู้ที่อุทิศตนให้กับเรื่องนี้มากที่สุดในประเทศของตนเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการต่อต้าน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3LLPEBL

 

-----

 

 

สหภาพยุโรป: กฎหมาย AI ต้องห้ามใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วย AI ที่เป็นอันตรายในกฎหมายอันเป็นประวัติศาสตร์นี้

28 กันยายน 2566

 

สหภาพยุโรป (EU) ต้องห้ามใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วย AI ที่เป็นอันตรายในกฎหมาย AI แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ในขณะที่กลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะจัดทำกฎเกณฑ์ด้าน AI ที่ครอบคลุมเป็นครั้งแรกของโลกให้เสร็จสิ้นในฤดูใบไม้ร่วงนี้

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการใช้ระบบ AI โดยไม่มีการควบคุมเพื่อประเมินการเรียกร้องสวัสดิการ ตรวจสอบพื้นที่สาธารณะ หรือระบุแนวโน้มของบุคคลที่จะก่ออาชญากรรม เทคโนโลยีเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็น 'การแก้ไขทางเทคนิค' สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความยากจน การกีดกันทางเพศ และการเลือกปฏิบัติ พวกเขาใช้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและบ่อยครั้งมีจำนวนมหาศาล ซึ่งจะถูกป้อนเข้าสู่ระบบอัตโนมัติเพื่อตัดสินว่าบุคคลควรได้รับที่อยู่อาศัย สวัสดิการ การดูแลสุขภาพ และการศึกษาหรือไม่ หรือแม้แต่การตั้งข้อหาอาชญากรรม

แต่แทนที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ระบบ AI จำนวนมากกลับเพิ่มการเหยียดเชื้อชาติและความไม่เท่าเทียมอย่างชัดเจน และทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติดำเนินต่อไป

 เมอร์ ฮาโคบียัน ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมกฎระเบียบ AI ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ระบบเหล่านี้ไม่ได้ใช้เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงสวัสดิการของประชาชน แต่ใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเมื่อคุณมีการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ยิ่งเป็นอันตรายต่อชุมชนชายขอบในวงกว้างและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“แทนที่จะมุ่งเน้น 'ภัยต่อความมั่นคง' จาก AI จนมากเกินไป ผู้ออกกฎหมายของสหภาพยุโรปควรกำหนดกฎหมายที่แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เช่น ความจริงที่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกใช้ในการตัดสินใจที่เลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง ซึ่งบ่อนทำลายการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3LLPrOZ

 

-----

 

โลก: ผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการยกเลิกโทษทางอาญา ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมสิทธิของพนักงานบริการ (Sex Workers)

29  กันยายน 2566

 

สืบเนื่องจากข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิของพนักงานบริการจากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมา

แคร์รี ไอเซิร์ต ที่ปรึกษาด้านนโยบายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ข้อเสนอแนะของคณะทำงานแห่งองค์การสหประชาชาติว่าสิทธิของพนักงานบริการจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้นในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางที่พนักงานบริการทั่วโลกต้องเผชิญ

“ข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษทางอาญา (decriminalization)ทั้งหมดสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานบริการโดยสมัครใจถือเป็นคำสัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบและความรุนแรงที่มักเกิดขึ้นกับพนักงานบริการ รวมถึงการลอยนวลพ้นผิดสำหรับการละเมิดสิทธิของพนักงานบริการ

“มีการระบุว่าพนักงานบริการควรมีส่วนร่วมในการสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา เนื่องจากพวกเขามักจะถูกละเลยจากกระบวนการนี้ ความคิดเห็นถูกเพิกเฉย หรือถูกผลักให้อยู่ชายขอบ

“มาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพนักงานบริการในปัจจุบันยังถูกจำกัด และการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวมักเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความแตกแยก ข้อเสนอแนะเหล่านี้เป็นเส้นทางที่จะช่วยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนมารวมตัวกันและสร้างจุดยืนร่วมกัน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45a5tZP

 

----- 

 

ทวีปอเมริกา: บราซิลอาจเป็นประเทศต่อไปที่จะรับรองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์

28 กันยายน 2566

 

เนื่องในโอกาสวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากลเมื่อวันที่ 28 กันยายน อานา ปิคเก้ ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า

“แม้ว่าการเคลื่อนไหว "คลื่นสีเขียว" จะได้รับชัยชนะมากมายในทวีปอเมริกาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สิทธิที่ได้รับและโอกาสขยายความคุ้มครองในการยุติการตั้งครรภ์ยังถูกโจมตีโดยผู้มีบทบาทที่ต่อต้านสิทธิ การกลับคำพิพากษาคดี Roe v. Wade ซึ่งเพิกถอนสิทธิยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วเป็นสัญญาณเตือนสำหรับการเคลื่อนไหวนี้ ย้ำเตือนเราอีกครั้งว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องและขยายสิทธิของเราจะต้องดำเนินต่อไป”

“บราซิลมีโอกาสที่จะเข้าร่วมคลื่นสีเขียวและรับรองสิทธิในการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายสำหรับผู้หญิง เด็กผู้หญิง และทุกคนที่สามารถตั้งครรภ์ได้ เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่การกำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมได้ละเมิดสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเรา และเลือกปฏิบัติอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อผู้หญิงผิวดำ ชนพื้นเมือง และคนยากจน ถึงเวลาแล้วที่ศาลรัฐบาลสูงสุดจะต้องยุติความอยุติธรรมนี้”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3rsxU7v