สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 29 เมษายน-5 พฤษภาคม 2567

8 พฤษภาคม 2567

Amnesty International 

อิสราเอล/ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง: วันสากลเพื่อรณรงค์ให้รัฐหยุดส่งอาวุธที่ทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ #StopSendingArms

2 พฤษภาคม  2567

 

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม วันสากลเพื่อรณรงค์ขององค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอได้ระดมพลังพันธมิตรระดับโลกที่ประกอบด้วยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ นักกิจกรรม นักข่าว นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้ทุกรัฐหยุดการส่งอาวุธ ชิ้นส่วน และกระสุนที่ใช้ในการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีมาตรการคว่ำบาตรการค้าอาวุธอย่างครอบคลุมในอิสราเอล ฮามาส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่เข้าร่วมในสงครามในฉนวนกาซา

เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการอาวุโสด้านงานวิจัย การผลักดันเชิงนโยบาย และการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า วันสากลเพื่อรณรงค์จะต้องทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนรัฐต่างๆ ที่ยังคงจัดหาอาวุธให้กับทุกฝ่ายในความขัดแย้งในพื้นที่ฉนวนกาซาว่า พวกเขากำลังเสี่ยงที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมสงครามและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ

กองกำลังอิสราเอลได้ทำการโจมตีอย่างมิชอบด้วยกฎหมายในฉนวนกาซา รวมถึงการโจมตีอย่างไม่แยกแยะเป้าหมาย ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิตมนุษย์อย่างน่าตกใจ และการทำลายและความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนอย่างกว้างขวาง การวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกการใช้อาวุธของสหรัฐฯ โดยอิสราเอลในการโจมตีทางอากาศอย่างมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก

“หลังจากข้อสรุปของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่ามีความเสี่ยงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นในฉนวนกาซา และเมื่อพิจารณาถึงพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศของทุกรัฐในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รัฐบาลที่ยังคงจัดหาอาวุธให้อิสราเอลอาจถือว่ากำลังละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

เมื่อวันที่ 29 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งได้ข้อมูลสรุปการวิจัยให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงความมั่นคงแห่งชาติว่าด้วยการปกป้องและความรับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการของอุปกรณ์และบริการทางทหารที่เคลื่อนย้าย (NSM-20) ซึ่งบันทึกข้อมูลการใช้อาวุธของสหรัฐฯ โดยอิสราเอลเพื่อกระทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในฉนวนกาซา กลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซาก่ออาชญากรรมสงครามระหว่างการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และยังคงยิงจรวดโดยแยกแยะเป้าหมายไปยังศูนย์กลางประชากรในอิสราเอลและจับตัวประกันในฉนวนกาซา

นักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดงานรณรงค์ใน 12 ประเทศ ได้แก่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สโลวาเกีย ออสเตรเลีย เกาหลี และไต้หวัน ด้วยการเน้นยุทธ์ศาสตร์ไปที่ประเทศที่มีการส่งออกอาวุธจำนวนมาก กิจกรรมเหล่านี้จึงมีเป้าหมายที่จะสะท้อนไปทั่วโลก กิจกรรมต่างๆ มีตั้งแต่ "การแกล้งตาย" เชิงสัญลักษณ์ไปจนถึงการฉายภาพอาคารของรัฐบาล การชุมนุมสาธารณะ และการแสดงโดยใช้ขีปนาวุธและเครื่องบินรบจำลอง

วันสากลเพื่อรณรงค์ซึ่งจัดขึ้นโดยภาคประชาสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศที่ร่วมมือกันในการสนับสนุนการหยุดยิงทันที #CeasefireNOW ระดับโลก จะปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงของการค้าอาวุธที่มีต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ซึ่งพลเรือนต้องเผชิญกับความรุนแรง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยุติการค้าอาวุธกับอิสราเอล โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและการปกป้องพลเรือน

กิจกรรมรณรงค์ในวันที่ 2 พฤษภาคมเกิดขึ้นจากการเรียกร้องขององค์กรด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนมากกว่า 250 องค์กร ซึ่งได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ทุกรัฐยุติการส่งอาวุธ ชิ้นส่วน และกระสุนให้กับกลุ่มติดอาวุธอิสราเอลและปาเลสไตน์โดยทันที

 

#StopSendingArms #CeasefireNOW

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3JM1xG6

 

-----

 

 

ตุรกี: การสั่งห้ามเฉลิมฉลองวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากลในอิสตันบูลอย่างมิชอบด้วย กฎหมายจะต้องถูกยกเลิก

30 เมษายน  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการตุรกีต้องยกเลิกการห้ามชุมนุมในวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากลที่วางแผนไว้ในจัตุรัสทักซิมในอิสตันบูลอย่างเร่งด่วน และอนุญาตให้ผู้คนรวมตัวกันตามคำตัดสินล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญของตุรกี

สหภาพแรงงาน พรรคฝ่ายค้าน และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ให้คำมั่นว่าจะรวมตัวกันที่จัตุรัสทักซิม แม้ว่าจะมีการประกาศห้ามโดยผู้ว่าการรัฐเมื่อวันที่ 23 เมษายน และโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในเมื่อวันที่ 29 เมษายนก็ตาม

ดินูชิกา ดิสสานายาเค รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การห้ามเฉลิมฉลองวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากล โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยสาธารณะที่ไม่เป็นจริงนั้น ขัดต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนั้นการสั่งห้ามดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิกโดยด่วน

“จัตุรัสทักซิมเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก และเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมประท้วงและเฉลิมฉลองมาอย่างยาวนาน เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่ทางการตุรกีจำกัดสิทธิของประชาชนในการชุมนุมประท้วงอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และเอาผิดกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่เกิดขึ้นในจัตุรัสอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้การเฉลิมฉลองวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากลจะต้องสามารถดำเนินต่อไปได้”

การสั่งห้ามการชุมนุมในวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากลที่จัตุรัสทักซิมเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 โดยหลายครั้งที่ตำรวจได้ขัดขวางอย่างรุนแรงไม่ให้สหภาพแรงงาน ผู้สนับสนุน และองค์กรอื่นๆ รวมตัวกันได้

ในเดือนตุลาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญของตุรกีตัดสินว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของ DİSK (สมาพันธ์สหภาพแรงงานปฏิวัติ) ในระหว่างการเฉลิมฉลองวันแรงงานหรือวันกรรมกรสากลในทักซิมในปี 2557 และ 2558 ถูกละเมิดโดยการสั่งห้ามและการใช้กำลังสลายการชุมนุมประท้วงโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

“คำตัดสินที่มีผลผูกพันของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการเคารพจากหน่วยงานต่างๆ ข้อจำกัดที่ไร้มูลความจริงนานนับทศวรรษเกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบในจัตุรัสทักซิมจะต้องถูกยกเลิกในที่สุด”

“ทางการตุรกี รวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ต้องประกันว่าพวกเขาปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การชุมนุมประท้วงโดยสงบเกิดขึ้นได้ และยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องการใช้สิทธิของผู้เข้าร่วม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3WuGDTE

 

-----

 

 

สโลวาเกีย: กฎหมายต่อต้านเอ็นจีโอเป็น "การโจมตีภาคประชาสังคมอย่างรุนแรง"

30 เมษายน  2567

 

สืบเนื่องจากการอนุมัติร่างกฎหมายในวาระแรกของโดยรัฐสภาสโลวักซึ่งจะตราหน้าองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากกว่า 5,000 ยูโรต่อปีว่าเป็น "องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ"

ราโด สโลโบดา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สโลวาเกีย เผยว่า

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการโจมตีภาคประชาสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งรวมทั้งการปฏิบัติงานและการดำรงอยู่ขององค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอจำนวนมากในสโลวาเกีย หากร่างนี้ผ่าน องค์กรภาคประชาสังคมจะต้องแบกภาระทางระบบราชการและทางการเงินที่ไม่สมเหตุสมผลและอาจส่งผลร้ายแรง องค์กรที่เหลือรอดอาจถูกทำให้กลายเป็นปีศาจและเสียชื่อเสียงซึ่งจะยิ่งขัดขวางกิจกรรมของพวกเขา

“แม้ว่าเป้าหมายที่ระบุไว้ของการเสนอกฎหมายนี้คือการเพิ่มความโปร่งใสในการระดมทุนขององค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับซ่อนความพยายามในการตีตราองค์กรภาคประชาสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการ และขัดขวางงานที่สำคัญขององค์กรเหล่านั้น

“ร่างกฎหมายนี้เหมือนกับการถ่ายสำเนาจากกฎหมายเอ็นจีโอที่เข้มงวดของฮังการี และจะต้องถูกปฏิเสธเนื่องจากละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจน แทนที่จะพยายามจำกัดองค์กรภาคประชาสังคม ทางการสโลวักควรยอมรับและปกป้องงานที่สำคัญของพวกเขา และประกันว่าพวกเขาได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3y1bBIK

 

-----

 

อิรัก: ทางการต้องยกเลิกกฎหมายใหม่ที่เอาผิดความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันอย่างเร่งด่วน

29 เมษายน  2567  

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยเมื่อ 29 เมษายนว่า การผ่านกฎหมายของทางการอิรักซึ่งลงโทษความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันด้วยโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี เป็นการทำร้ายชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศนี้อีกครั้ง

สืบเนื่องจากข่าวนี้ ราซอว์ ซาลิฮี นักวิจัยประจำประเทศอิรัก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในอิรักต้องเผชิญการข่มขู่และความรุนแรงอย่างไม่หยุดยั้งจากน้ำมือของผู้ที่มีอาวุธที่ปฏิบัติการอย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องรับโทษในการไล่ล่า ทำร้ายร่างกาย และสังหารผู้คนจากรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นจริงหรือรับรู้มา

“การแก้ไขกฎหมายล่าสุดถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชน และแสดงให้เห็นถึงการยกระดับที่น่าตกใจในการรณรงค์ของทางการอิรักเพื่อควบคุมเสรีภาพ

“ทางการอิรักจะต้องยกเลิกกฎหมายนี้ทันที และประกันว่าจะเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการไม่เลือกปฏิบัติต่อทุกคนในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4drMeQE

 

-----

 

โลก: การยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของ G7 ต้องเกิดเร็วขึ้นเพื่อปกป้องผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

30 เมษายน  2567

 

สืบเนื่องจากการบรรลุข้อตกลงของรัฐสมาชิก G7 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอนทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2030

แคนดี โอไฟม์ นักวิจัยด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า นี่ไม่ใช่เป้าหมายสำหรับเรื่องถ่านหินที่เราต้องการ และจะไม่ใช่การมอบความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ คำมั่นสัญญาที่เสนอโดยสมาชิก G7 ว่าจะหยุดใช้สารมลพิษนี้ภายในปี 2578 นั้นสายเกินไปและอ่อนลงด้วยเงื่อนไขที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งการเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นได้เกิดขึ้นมานานกว่าศตวรรษ

“การยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเกิดขึ้นเร็วไม่พอสำหรับผู้ที่ประสบกับผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถ่านหินเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สกปรกที่สุด และการเผาถ่านหินมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและในชุมชนชายขอบที่มักถูกเหยียดเชื้อชาติซึ่งอยู่แนวหน้าทั่วโลก

“การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดอย่างเร่งด่วน สมบูรณ์ เป็นธรรม และได้รับเงินทุนสนับสนุน การยกเลิกที่ยุติธรรมและเท่าเทียมหมายถึงการยุติการจัดหาเงินทุนสำหรับการผลิตถ่านหินและพลังงานจากถ่านหินทุกแห่ง สิทธิของคนงานในอุตสาหกรรมถ่านหินจะต้องได้รับการคุ้มครองในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้

“ดูเหมือนจะไม่มีข้อจำกัดในข้อตกลงนี้เกี่ยวกับการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตเหล็ก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของการใช้ถ่านหิน และคำมั่นสัญญาที่จะยุติการใช้ถ่านหิน 'ที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน' สร้างความเข้าใจผิด การกักเก็บคาร์บอนอาศัยการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น แอมโมเนียและไฮโดรเจนที่เผาร่วมกับถ่านหิน ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้างและอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงอื่นๆ มลพิษจากถ่านหินไม่สามารถลดลงได้อย่างเพียงพอ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพภูมิอากาศทุกครั้งที่มีการใช้

“ข้อตกลงนี้จะต้องไม่ส่งเสริมการนำก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน มาใช้เป็นทางเลือกพลังงาน การใช้ประโยชน์จากก๊าซนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

“ในฐานะประเทศที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด กลุ่ม G7 มีหน้าที่รับผิดชอบมากที่สุดในการช่วยให้รัฐที่มีรายได้ต่ำในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/44tAg4U