สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 16- 22 กรกฎาคม 2565

23 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญระดับโลก "Protect the Protest" เพื่อปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมที่กำลังถูกคุกคามทั่วโลก

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญระดับโลกครั้งใหม่เพื่อเผชิญหน้ากับความพยายามของรัฐที่ขยายตัวและเข้มข้นมากขึ้นในการบั่นทอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน อันได้แก่สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยังขยายตัวไปในทั่วทุกภูมิภาคของโลก

จากรัสเซียถึงศรีลังกา ฝรั่งเศสถึงเซเนกัล และอิหร่านถึงนิการากัว ทางการในประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อปราบปรามการรวมตัวแสดงความเห็นต่าง ผู้ชุมนุมทั่วโลกกำลังเผชิญกับมาตรการกดดันครั้งสำคัญในหลายรูปแบบ ทั้งการประกาศใช้กฎหมายและมาตรการที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม การใช้กำลังโดยมิชอบ การเพิ่มการสอดแนมข้อมูลอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายในวงกว้างและเป็นรายบุคคล การสั่งปิดอินเตอร์เน็ต การเซ็นเซอร์ออนไลน์ การถูกข่มเหง และการถูกตีตรา ในเวลาเดียวกันกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบและถูกเลือกปฏิบัติต้องเผชิญกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้น

แคมเปญ “Protect the Protest” (ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการท้าทายต่อการโจมตีการชุมนุมโดยสงบ เป็นการยืนหยัดเพื่อคนที่ตกเป็นเป้าหมาย และสนับสนุนเจตจำนงในการต่อสู้ของขบวนการเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน

ดร.แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ ขบวนการแบล็คไลฟ์แม็ทเทอร์ (Black Lives Matter) มีทู (Me Too) และขบวนการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนและทางออนไลน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติและสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมและการหาเลี้ยงชีพ การยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ ในที่อื่นๆ ประชาชนได้รวมตัวหลายพันคนต่อต้านความรุนแรงและการสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การปราบปรามและการกดขี่ของรัฐ

“โดยแทบไม่มีข้อยกเว้น คลื่นมหาชนของผู้ชุมนุมเหล่านี้ ต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่มุ่งขัดขวาง ปราบปราม และมักใช้ความรุนแรงของทางการ แทนที่จะสนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุม รัฐบาลได้พยายามมากขึ้นที่จะปราบปรามพวกเขา ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่สุดของโลก ได้เลือกใช้ขบวนการนี้เพื่อเปิดตัวการรณรงค์ครั้งนี้ ถึงเวลาที่จะต้องลุกฮือขึ้น และประกาศด้วยเสียงดังต่อผู้มีอำนาจ เพื่อให้ทราบว่าเรามีสิทธิในการชุมนุมประท้วงที่ไม่อาจพรากไปได้ เพื่อแสดงออกถึงความทุกข์ยาก และเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเสรี จากการรวมตัวและอย่างเปิดเผย”

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3oz4zDn



 

ประเทศไทย: พบสปายแวร์เพกาซัสในโทรศัพท์ของผู้เห็นต่างจากรัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประเทศไทยต้องสอบสวนอย่างรอบด้านต่อการใช้สปายแวร์เพกาซัสที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เนื่องจากพบว่ามีสปายแวร์รูปแบบนี้ถูกติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์ของนักกิจกรรมหลายสิบคน หลังจากมีการรายงานชิ้นใหม่พบว่าบุคคล 30 คนตกเป็นเป้าหมาย หรือได้รับผลกระทบจากซอฟต์แวร์อันตรายนี้ และจากการวิเคราะห์ในเชิงเทคนิคถือว่าเป็นการยืนยันครั้งแรกว่ามีการใช้สปายแวร์นี้ในประเทศ 

รายงานที่จัดทำร่วมกันระหว่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) Digital Reach และ Citizen Lab ได้พบการใช้สปายแวร์นี้ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 และส่งผลกระทบต่อแกนนำคนสำคัญของการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งได้วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผย  

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทแอปเปิลได้ส่งข้อความเตือนนักกิจกรรมชาวไทยจำนวนมากว่า พวกเขาตกเป็นเป้าหมายของสปายแวร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยแผนก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สามารถยืนยันอย่างเป็นอิสระในรายงานนี้ได้ว่า จากการวิเคราะห์ทางนิติเวช มีการพบสปายแวร์นี้ในห้ากรณี 

เอเทียน เมเนียร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ปัจจุบันเราได้เพิ่มประเทศไทยเข้าไปในรายชื่อประเทศที่มีการสอดแนมประชาชน ซึ่งจำนวนรายชื่อของประเทศต่างๆ ยังคงมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยสงบ  แสดงความเห็น และวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล อาจส่งผลให้เกิดการสอดแนมที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพด้านการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของบุคคล

“เราควรระลึกด้วยว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อค้นพบเบื้องต้น แต่ขอบเขตความพยายามสอดแนมข้อมูลอาจกว้างขวางและส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่านี้”

ตามข้อมูลในรายงาน มีการตรวจพบสปายแวร์เพกาซัสในโทรศัพท์ของแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงในไทย รวมไปถึงอานนท์ นำภา  เบนจา อะปัญ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีอาญาที่ไม่เหมาะสมในหลายข้อหา อันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ  

“แทนที่จะรับฟังและร่วมมือกับผู้ชุมนุมประท้วง นักวิชาการ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ พวกเขากลับใช้การสอดแนมที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเพื่อคุกคาม ข่มขู่ โจมตี และเพื่อทำลายขวัญกำลังใจ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวในสังคม ข้อค้นพบใหม่ครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่น่าตกใจว่า ทางการสามารถใช้วิธีการอันมิชอบมากเพียงใดเพื่อควบคุมการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ”  

บริษัท NSO Group จากประเทศอิสราเอล บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเพกาซัสอ้างว่า พวกเขาขายสินค้าให้กับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลเท่านั้น  

รัฐต่างๆ มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เพียงต้องเคารพสิทธิมนุษยชน หากยังต้องคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการปฏิบัติมิชอบของบุคคลที่สาม รวมทั้งบริษัทเอกชน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงเรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกเพื่อยุติการขาย ส่งมอบ และใช้สปายแวร์ จนกว่าจะมีการกำหนดมาตรการควบคุมและคุ้มครองสิทธิ เพื่อกำกับดูแลการใช้งานของสปายแวร์อย่างเหมาะสม 

“ทางการไทยต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ อย่างทันที รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ ต่อการใช้สปายแวร์เพกาซัส และใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง มาตรการเช่นนี้ต้องครอบคลุมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่สนับสนุนการสอดแนมของรัฐ รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3B3jnl7



 

สิงคโปร์ : การประหารชีวิตครั้งที่ 5 ภายในเวลา 4 เดือน

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565

 

จากรายงานที่ระบุว่ามีการประหารชีวิตนายนาเซริ บิน ลาจิม ในสิงคโปร์วันนี้ เชียรา แซนจอร์จิโอ (Chiara Sangorgio) ผู้เชี่ยวชาญโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า มีผู้คนถูกประหารชีวิตในสิงคโปร์แล้ว 5 คนภายในปีนี้ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 4 เดือน ทั้งนี้แซนจอร์จิโอได้เรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์หยุดโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอทันที รวมถึงการลงโทษที่บังคับใช้สำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งเป็นการละเมิดต่อมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ทุกคนที่ถูกทางการสิงคโปร์ตัดสินลงโทษประหารชีวิตในปี 2565 ล้วนเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แทนที่การลงโทษด้วยการประหารชีวิตจะหยุดยับยั้งอาชญกรรม แต่กลับสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการมีชีวิต

“เราขอเรียกร้องให้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อให้การป้องกันระหว่างประเทศเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตได้รับการเคารพและนโยบายควบคุมยาเสพติดมาจากการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” แซนจอร์จิโอกล่าว

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3IZ2J7X



 

เมียนมา : การใช้ทุ่นระเบิดของกองทัพในรัฐคะยาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

วันที่ 20 มกราคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์​เนชั่นแนล เปิดเผยการสืบสวนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในรัฐคะยา (Kayah State) ว่า กองทัพเมียนมากำลังก่ออาชญากรรมสงครามโดยการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ขนาดใหญ่และรอบๆ หมู่บ้านในรัฐคะยา

ทุ่นสังหารบุคคลที่วางโดยกองทัพเมียนมาซึ่งเป็นการสังหารแบบไม่จำกัดเป้าหมายและถูกห้ามใช้ในระดับสากลทำให้พลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน อีกทั้งยังทำให้มีผลในระยะยาว โดยเฉพาะความสามารถของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นภายในประเทศที่จะกลับไปยังบ้านเกิดและทำการเกษตรในที่ดินของตนเอง

“ การใช้ทุ่นสังหารของกองทัพเมียนมาเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและโหดร้าย ขณะที่ทั่วโลกได้ห้ามการใช้อาวุธแบบไม่จำกัดเป้าหมายนี้ กองทัพได้วางทุ่นระเบิดในพื้นที่ของประชาชน รวมทั้งบ้าน ไม่เว้นแม้แต่บริเวณบันไดในอาคารหรือรอบๆ โบสถ์เช่นเดียวกัน ” แมท เวลลส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายตอบโต้สถานการณ์วิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

“ประชาคมโลกต้องตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อความโหดร้ายของกองทัพเมียนมาที่ได้กระทำต่อพลเรือนทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนความพยายามทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามนี้ต้องเผชิญกับความยุติธรรม” 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดจำนวน 43 รายในเมืองโดโมโซ และเมืองลอยกอว์ ในรัฐคะยา ในระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 8 กรกฎาคม 2565 พื้นที่ทั้งสองเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยงคะยามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 หลังจากความขัดแย้งในรัฐคะยาปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังการรัฐประหารโดยกองทัพ

กองทัพเมียนมาได้วางทุ่นระเบิดหลายประเภทที่ผลิตเอง รวมทั้งทุ่นระเบิด M-14 ซึ่งเป็นทุ่นระเบิดที่ทำลายเท้าและข้อเท้าของเหยื่อ และทุ่นระเบิดอานุภาพร้ายแรง MM-2 ซึ่งทำลายขาของเหยื่อและทำให้ส่วนอื่นของร่างกายเหยื่อได้รับบาดเจ็บจนเสียเลือดจำนวนมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตไปด้วย 

ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรวมทั้งทุ่นระเบิดชนิด M-14 และ MM-2 เป็นทุ่นระเบิดแบบไม่เลือกเป้าหมายและถูกห้ามใช้โดยกฎหมายมนุษยธรรมสากลและสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล พ.ศ.2540 ซึ่งลงนามโดย 164 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้จากข้อมูลของหน่วยงานเฝ้าระวังทุ่นระเบิดพบว่า กองทัพเมียนมาเป็นเพียงกองกำลังของรัฐแห่งเดียวที่ยืนยันว่าได้ใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในระหว่างปี 2563 - 2564

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3oiq1vW



 

ซีเรีย/ยูเอ็น : สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องสร้างความมั่นใจว่าความช่วยเหลือจะยังคงเข้าไปถึงพลเรือนที่ต้องการ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

 

ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่จะหารือเกี่ยวกับการใช้อำนาจยับยั้งข้อมติของรัสเซียเกี่ยวกับการลงมติคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งจะอนุญาตให้สหประชาชาติส่งมอบความช่วยเหลือข้ามพรมแดนไปยังซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะเวลาหนึ่งปี

ดร.แอกเนส คาลามาร์ด (Agnès Callamard) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ประเทศสมาชิกจะต้องไม่อนุญาตให้การแสวงหาประโยชน์อันน่ารังเกียจจากประเด็นมนุษยธรรมที่จำเป็นกลายเป็นเบี้ยต่อรองทางการเมืองที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การประชุมในครั้งนี้จะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติโดยมีความรับผิดชอบต่อการปกป้องผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากที่สุดโดยไม่ต้องประนีประนอม 

“รัฐบาลซีเรียและอำนาจการยับยั้งของรัสเซียจะต้องไม่ไปขัดขวางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนหลายล้านคนที่ยังสิ้นหวังในซีเรียตะวันตกเฉียงเหลือ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้ละเมิดสิทธิในชีวิตของพวกเขา รวมทั้งการมีมาตรฐานชีวิตที่ดี มีน้ำและสุขาภิบาล และสุขภาพที่ดี” ดร.แอกเนสกล่าว 

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถนั่งเฉยๆ และรอให้ผู้คนนับล้านไปเสี่ยงต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และพวกเขาเองก็ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าในที่สุดรัฐบาลรัสเซียจะไม่ใช้สิทธิในการยับยั้งอีกครั้ง พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางที่พวกเขาจะรับประกันได้ว่าการช่วยเหลือชีวิตจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อช่วยชาวซีเรียที่มีความต้องการอย่างยิ่ง

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3Be4gVI



ศรีลังกา : กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องไม่นำไปสู่การปราบปรามสิทธิมนุษยชนในอนาคต

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

 

จากกรณีที่รัฐบาลศรีลังกาได้ออกประกาศกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินทางออนไลน์หลังจากประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับการโหวตให้เข้ารับตำแหน่งในวันนี้ 

เทจี รูวันปาติรานา ( Thyagi Ruwanpathirana ) นักวิจัยด้านเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินที่นำมาใช้โดยอ้างความมั่นคงสาธารณะไม่ควรกลายเป็นข้ออ้างสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลอย่างมากว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในอนาคต รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน สิทธิในการรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลและเสรีภาพจากการกักขังโดยพลการ 

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการค้นหาและจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากใบอนุญาตให้พ้นการจับกุมซึ่งดำเนินการลงโทษอย่างหนัก รวมไปถึงการจำคุกตลอดชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาในข้อหาธรรมดา อย่างเช่น ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถถูกควบคุมตัวได้นานถึง 72 ชั่วโมงโดยไม่ต้องดำเนินการต่อหน้าศาลและไม่รับประกันการเข้าถึงทนาย ช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวอันยาวนานนี้ปราศจากกระบวนการพิจารณาคดีในเวลาที่เหมาะสมหรือความสามารถในการท้าทายการกักขังของพวกเขาจะเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวต้องถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี 

ในขณะที่ประธานาธิบดีคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง เขาจะต้องทำให้แน่ใจว่าประชาชนชาวศรีลังกาสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างสันติ รวมไปถึงการแสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องการเคารพสิทธิของพวกเขา กฎระเบียบสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมีผลต่อสังคม ถึงเวลาแล้วที่ทางการศรีลังการจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนและไม่ทำความผิดพลาดในอดีตซ้ำอีกครั้ง 

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3Oigq33

 

โปแลนด์ : ทางการต้องหยุดการใช้ถ้อยคำชักจูงให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและต้องปกป้องพวกเขาจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า รายงานฉบับใหม่ “ They treated us like criminals : From shrinking space to harrassment of LGBTI defenders ชี้ให้เห็นว่า ทางการโปแลนด์ได้พุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยการตีตราและใช้ถ้อยคำรุนแรง รวมทั้งปฏิเสธหรือก่อความรำคาญให้กับความพยายามของพวกเขาในการประท้วง

รายงานฉบับนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและพันธมิตรของพวกเขาที่ได้ประท้วงบนท้องถนนเพื่อต่อต้านการทำร้ายสิทธิของพวกเขามักไม่ได้รับการปกป้องจากการโจมตีทั้งทางกายและการใช้ถ้อยคำต่าง ๆ โดยกลุ่มที่ต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือถูกตำรวจใช้กลอุบายต่างๆ รวมทั้งการดำเนินคดีทางอาญา

“ทางการโปแลนด์ไม่เพียงแต่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังที่ฝังแน่นต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการปกป้องชุมนุมเหล่านี้จากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากการใช้ถ้อยคำและนโยบายของพวกเขาอีกด้วย” แอนนา บลาสซ์ซาค บานาเซียค ( Anna Błaszczak-Banasiak ) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โปแลนด์ กล่าว 

รายงานยังพบอีกว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทางการได้ใช้ข้อกำหนดต่างๆ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนเป็นอาวุธโดยเจตนาเพื่อสั่งห้าม จำกัดหรือสลายการประท้วงของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยพลการและเลือกปฏิบัติ

สถานการณ์ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแย่ลงนับตั้งแต่ปี 2562 หลังจากการตีตราบาปด้วยการใช้ถ้อยคำอันรุนแรงและเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วย นอกจากนี้ยังมีมติต่างๆ ของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีการนำแนวคิดจัดตั้งเขตปลอดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาใช้อีกด้วย แม้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นอันตรายและเป็นเชื้อไฟให้เกิดบรรยากาศที่มีความเป็นศัตรูต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3v9y962

 

รัสเซีย : นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก 4 ปีในข้อหาเป็นแกนนำองค์กรที่ผิดกฎหมาย

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565

 

จากรายงานข่าวที่ระบุว่าศาลรัสเซียได้ตัดสินลงโทษจำคุกแอนเดร ปิโววารอฟ (Andrei Pivovarov) นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและนักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเวลา 4 ปีในทัณฑนิคมในข้อหาภายใต้การปราบปรามองค์กรที่ไม่พึงประสงค์ของประเทศ

มารี สตรูเธอร์ส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางกล่าวว่า การดำเนินคดีที่ไม่ยุติธรรมและโทษจำคุกอันโหดร้ายต่อแอนเดร ปิโววารอฟนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของทางการรัสเซียที่ใช้กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือต่อต้านทุกคนที่กล้าลุกขึ้นใช้สิทธิของตัวเองในการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นคำตัดสินที่เกิดขึ้นในวันนี้และกฎหมายอาญาที่ได้บังคับใช้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าละอาย

“แอนเดร ปิโววารอฟ ควรได้รับการปล่อยตัวและไม่มีเงื่อนไขทันที ทางการรัสเซียควรเพิกถอนกฎหมายที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์และรับประกันว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้โดยปราศจากความกลัวต่อการตอบโต้ด้วยกำลัง กฎหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุทางอาญาอย่างชัดเจน แต่ใช้ปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงหรือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมีด้วยซ้ำ” มารีกล่าว

และแม้ว่าตอนนี้ผู้ที่ยืนหยัดเพื่ออนาคตจะถูกเหยียบย่ำและจองจำ แต่ผมรู้ว่าความก้าวหน้านั้นไม่สามารถหยุดยั้งได้ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งเหล่านั้นอยู่ไม่ไกลแล้ว พบกันในรัสเซียใหม่ของเราซึ่งจะเป็นที่ปรารถนาและเปิดกว้าง เราจะผ่านไปให้ได้! แอนเดร ปิโววารอฟ ได้กล่าวในถ้อยแถลงในศาลครั้งสุดท้ายของเขาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3PEgAmt