สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 4 มีนาคม - 10 มีนาคม 2566

13 มีนาคม 2566

Amnesty International

 
รัสเซีย : บล็อกเกอร์นักศึกษาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลายาวนานจากการปราบปรามผู้ต่อต้านสงครามอย่างโหดเหี้ยม
7 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการพิจารณาคดีของดมิทรี อีวานอฟ นักศึกษาและบล็อกเกอร์ ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8.5 ปี ฐานคัดค้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
นาตาเลีย ซเวียจิน่า ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัสเซีย กล่าวว่า “กรณีของดมิทรี อีวานอฟ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปราบปรามผู้ต่อต้านสงครามอย่างโหดเหี้ยมของทางการรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่กล่าวหาว่ากองกำลังรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามจะต้องชดใช้ด้วยการติดคุกหลายปี”
“ศาลยุติธรรมไม่ได้พยายามที่จะรักษาความเป็นกลางแม้แต่น้อย ทั้งอัยการและผู้พิพากษาต่างปฏิบัติต่อถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัสเซียประหนึ่งว่าเป็นข้อเท็จจริงและเป็นความจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยอิสระ สิ่งใดก็ตามที่ขัดแย้งกับพวกเขาจะถูกปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลเท็จ”
“ดมิทรี อีวานอฟ เป็นนักโทษทางความคิด เขาและคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินว่ามีความผิดโทษฐานคัดค้านการรุกรานยูเครนของรัสเซียควรได้รับการปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อพวกเขาจะต้องถูกเพิกถอน มาตราที่กำหนดให้การวิจารณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นสิ่งผิดกฎหมายควรที่จะถูกยกเลิกเนื่องจากละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZpXe9P
 
-----
 
 
บังกลาเทศ : มาตรการเร่งด่วนฉุกเฉินจะต้องเยียวยาผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ทุกคน
ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา
6 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในค่ายพักผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่เมืองคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยราว 12,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
ยัสมิน กวีเรตเน่ เจ้าหน้าที่รณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “รัฐบาลจะควรทำงานร่วมกับประชาคมโลกในการวางมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงที่พักพิงฉุกเฉินได้ ขณะที่สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์การทำอาหาร ยารักษาโรค และสุขภัณฑ์ จะต้องได้รับการเปลี่ยนใหม่อย่างเร่งด่วนในส่วนที่สูญหายจากเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงอาหาร สุขภาพ สุขอนามัยและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ ผู้ประสบภัยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการดูแลด้านอื่นๆ ที่พวกเขาอาจต้องการ ซึ่งรวมถึงการดูแลด้านสุขภาพจิต”
“ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย คลินิกสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย และโรงเรียน อาทิเช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ผู้พิการ เด็ก และผู้ที่ประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3YEfvyN
 
-----
 
 
ปากีสถาน : คำสั่งห้ามปราศรัยเชิงวิพากษ์นับว่าเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออก
6 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการระงับการถ่ายทอดสุนทรพจน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน และการตัดสัญญาณเครือข่ายข่าวเอกชน ARY TV ในปากีสถานโดยหน่วยงานกำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ของปากีสถาน (PEMRA) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
รีฮับ มาฮามอร์ ผู้ช่วยวิจัยประจำเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การห้ามผู้นำฝ่ายค้านกล่าวคำปราศรัยอย่างเด็ดขาดและระงับสัญญาณเครือข่ายข่าว ARY สะท้อนให้เห็นว่า ทางการปากีสถานโจมตีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร และใช้หน่วยงานกำกับการดูแลด้านสื่อของประเทศเป็นเครื่องมือในการคุกคามเสรีภาพสื่อ”
“การระงับการเผยแพร่ข่าวและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างกว้างขวางนับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันรัฐไม่นับว่าเป็นคำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชังดังที่หน่วยงานกำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของปากีสถานได้ระบุไว้ ข้อจำกัดใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป และจะต้องเห็นว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วนภายใต้หลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3T35Q3F
 
-----
 
เลบานอน : แถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต
7 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการรายงานแถลงการณ์ร่วมของออสเตรเลียต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเรียกร้องให้ทางการเลบานอนรับประกันว่าการสอบสวนเหตุระเบิดที่ท่าเรือในกรุงเบรุตจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เป็นอิสระ และน่าเชื่อถือ
อายา มาซุบ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าวว่า
“แถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติในวันนี้เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของโลกในการประกันความยุติธรรมจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต และแสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของเหยื่อและผู้รอดชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังทางการเลบานอนว่าความพยายามอันน่าละอายของพวกเขาในการขัดขวางและล้มล้างการสอบสวนในประเทศนั้นไม่ได้ถูกมองข้าม”
“ครอบครัวของเหยื่อ ผู้รอดชีวิต และชาวเลบานอน ควรได้รับความยุติธรรม ความจริงและการเยียวยา ทางการเลบานอนจะต้องอนุญาตอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การไต่สวนภายในประเทศดำเนินไปโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าการสอบสวนเป็นกลางตลอดเวลา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZAcFfO
 
-----
 
ผู้หญิง การชุมนุมประท้วง และอำนาจ - การเผชิญหน้ากับกลุ่มตาลีบัน
7 มีนาคม 2566
 
Wahida Amiri - สมาชิกกลุ่ม Afghanistan's Women Spontaneous Movement ได้เขียนบทความว่า 'ในฐานะผู้หญิง เราได้ใช้สิทธิและได้รับสิทธิมนุษยชนของเราในอัฟกานิสถานในระดับหนึ่งในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีนักเรียนหญิงประมาณ 2 ล้านคนกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม ขณะที่อีกหลายพันคนกำลังศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาต่างๆ ผู้หญิงทำงานเป็นแพทย์ ครู นักบิน นักกีฬา นักแสดงหญิง นักการเมือง นักการทูต รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ ผู้อำนวยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทนายฝ่ายจำเลย ผู้พิพากษา นักธุรกิจ ซีอีโอ และพนักงานองค์กรพัฒนาเอกชน
รัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดฉบับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ และอัฟกานิสถานก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานตามสนธิสัญญาของสหประชาชาติ หน่วยงานของรัฐบาล เช่น กระทรวงกิจการสตรี สภาสูงและสภาล่างของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระ รวมถึงสำนักงานอัยการยุติความรุนแรงต่อสตรี และศาลพิเศษเพื่อการยุติความรุนแรงต่อสตรี ต่างประสบความสำเร็จในการจัดการกับความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญในอัฟกานิสถานในระดับหนึ่ง ทว่าการกลับมาของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ได้พรากความสำเร็จที่จำกัดแต่มีความสำคัญเหล่านี้ไปจากผู้หญิง'
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZzEODy