สัญญาณเตือน 'รัฐบาลไทย'ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 'คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ' สู่ข้อเสนอ 'นิรโทษกรรมประชาชน' ปลดพันธนาการ สร้างความปรองดอง

2 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

ใกล้พลบค่ำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ถูกพลิกโฉมให้เป็นพื้นที่บอกแนวข้อสอบส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาลในยุคที่ 'นายเศรษฐา ทวีสิน' เป็น 'นายกรัฐมนตรี' ที่มาจากพลเรือนหรือคนทั่วไป หลังเกิดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน งานนี้มีชื่อว่า "หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทย จะทำได้หรือเปล่า?" เกิดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สานพลังกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) มีเป้าหมายส่งเสียงปัญหาสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่เกิดขึ้นในเมืองไทยถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

งานเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็น ภายในห้องสี่เหลี่ยมโล่งกว้างใต้แสงไฟสีวอร์มไวท์ ผู้ร่วมงานมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ได้มาเข้าร่วมในงานครั้งนี้ เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อนสิทธิมนุษยชน, สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (OHCHR)องค์การสหประชาชาติ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมือง และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เส้นทางวงเสวนานี้เริ่มจากการที่กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศว่าจะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Human Rights Council) ในช่วงวาระปี 2568 – 2570 และเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปีที่ผ่านมา 'ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ' แถลงต่อประชาคมระหว่างประเทศไทยว่าจะสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นตัวแทนเดียวของสมาคมอาเซียน ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมพลังใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ บอกเล่าสถานการณ์สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อส่งสัญญาณและตั้งคำถามถึงรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่กับการเข้าสู่สนามเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพราะปัจจุบันประเทศไทยพบปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ

ก่อนเริ่มวงเสวนาอย่างเข้มข้น วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ปาฐกถางานเสวนาในหัวข้อ "Thailand – In search of the rights way" ใจความสำคัญได้เน้นเรื่องความพร้อมของประเทศไทยในการสมัครครั้งนี้ โดยขอให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน พิจารณาสิ่งที่เคยสัญญาไว้อนุสัญญาต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล เช่น เรื่องการใช้ความมั่นคง การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยีที่ต้องได้รับความปลอดภัยไม่ถูกละเมิดหรือถูกคุกคาม โดย วิทิต ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติโดย มองว่าการเข้าสู่สนามเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะประเทศไทยมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น

 

พบคนถูกดำเนินคดีใช้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น 300 กว่าเปอเซ็นต์ สะท้อนอะไรในกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนปัจจุบันว่า การใช้สิทธิในเสรีภาพของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะการแสดงออกผ่านการชุมนุม ยังอยู่ในขั้นวิกฤต หลังพบว่ามีประชาชนรวมถึงเด็ก - เยาวชน ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยเขาฉายสไลด์ให้เห็นสถิติที่น่าสนใจว่า ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 ได้ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออมากถึงปีละ 30 – 40 คดี ขณะที่ปี 2563 ที่เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่พบว่า มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนทำให้ศูนย์ทนายฯ ต้องช่วยเหลือมากถึงปีละ 234 คดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่พุ่งสูงจนน่าตกใจ ส่วนคดีมาตรา 112 พบว่าจากที่เคยมีคนถูกดำเนินคดีเพียง 55 คน เพิ่มขึ้นเป็น 263 ราย หรือคิดเป็น 378% ภายหลังการชุมนุมใหญ่ปี 2563

ที่น่าสนใจคือ อัครชัย เปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง เปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาชุด 'นายเศรษฐา ทวีสิน' ถึงทุกวันนี้ พบประชาชนยังถูกดำเนินคดี และถูกสั่งฟ้องในมาตรา 112 เพิ่มขึ้นทุกเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนทำได้

 

ตัวเลขการชุมนุมที่สูงขึ้น ประชาชนถูกสลายการชุมนุม ความล้มเหลวรัฐบาลไทย ?

ด้านตัวแทนจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย เฝาซี ลาเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย เผยสถานการณ์การออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทยจากข้อมูลของ Mob Data Thaialnd ว่า ปี 2563 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,582 ครั้งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีหลากหลายประเด็นที่เชื่อมโยงกับสิทธิของประชาชนทั้งหมด เช่น ความเท่าเทียม สิทธิในที่ดินทำกิน และการเมือง แม้จะทำให้เห็นว่าประชาชนรวมถึงเด็และเยาวชน กล้าที่จะออกมาแสดงออก ใช้สิทธิ ใช้เสียงของตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับ เฝาซี ในฐานะคนที่ทำงานผลักดันนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เขามองว่านี่เป็น 'รอยแผล รอยร้าวในสังคม ที่สะท้อนความล้มเลวของการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย'

มากกว่า 70 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปัจจุบัน คือข้อมูลตัวเลข 'การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ' จาก Mob Data Thaialnd ที่ เฝาซี นำมาเปิดเผย โดยพบว่า 'การใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม' เกิดขึ้นมาถึง 125 ครั้ง ต่อมาคือการที่เจ้าหน้าที่ขัดขวางการชุมนุม 148 ครั้ง ขณะที่ปี 2564 ที่ผ่านมา พบเด็กและเยาวชนถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และใช้เครื่องพันธนาการ ถูกใส่กุญแจมือ และถูกควบคุมตัวอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้แอมเนสตี้ตั้งคำถามว่า เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ เพราะพบเด็กได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 200 คน

ช่วงท้ายของการพูดคุยเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เฝาซี ตั้งคำถามถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลในชุดที่ผ่านมา รวมถึงส่งเสียงถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากรายงานของ Mob Data Thailand เหมาะสมหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน โดยเขาสรุปให้เห็นภาพชัดอีกครั้งว่าการจับกุมส่วนใหญ่ กระบวนการยุติธรรมไม่เคยตัดสินให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิด มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทางกฎหมาย และพบว่าไม่เคยสอบสวนอย่างจริงจังรวมถึงไม่มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

 

ผลกระทบจากการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ใบปอ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง เล่าประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 โดยเธออ้างว่า เคยถูกคุกคามและขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง ขณะที่ในโลกโซเชียลมีเดีย เธอเป็นหนึ่งในคนที่ถูกลิดรอน ถูกคุกคามอย่าหนัก เธอเชื่อว่าสิ่งที่เผชิญอยู่มาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

สำหรับการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เธอย้ำจุดยืนว่าจะต้องรวมมาตรา 112 ไปด้วยในการผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีประชาชนถูกดำเนินคดีมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกรูปแบบอื่นๆ เธอเผยว่า ปัจจุบันมีนักโทษทางการเมืองอยู่ 39 คน หลายคนคดีสิ้นสุดแล้ว ใบปอ เชื่อว่า ถ้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผ่านในสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นสัญญาที่ดีกับเพื่อนที่อยู่ในเนรือนจำ และดีต่อการที่ไทยสมัครเข้าสู่การเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

 

การจับกุมเด็ก-เยาวชน ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงปัญหาการแจ้งสิทธิจับกุมประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกว่าหลายคนได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาทุกคนควรได้รับ ปัญหาที่เธอพบกับลูกความที่ถูกดำเนินคดีคือ เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งพื้นที่ควบคุมตัวกับผู้ต้องหา ทำให้การช่วยเหลือของทนายความยากลำบากขึ้นกว่าเดิม เพราะเข้าช่วยเหลือผู้ต้องหาได้ไม่ทันเวลาที่เหมาะสม เธอมองว่าการกระทำของตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการจับเด็กและเยาวชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่ชุมนุม เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้ความรุนแรง จับเด็กไปรวมกับผู้ใหญ่ในห้องขังเดียวกัน สำหรับเธอมองว่าไม่ควรเกิดเรื่องนี้ขึ้นในประเทศไทย

คุ้มเกล้า ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจริง หลังรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนที่มีเสรีภาพในการแสดงออกจะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองเพื่อประชาธิปไตยหรือความชอบธรรม ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดคดีทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ เธอเสนอให้รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งฝังรากลึก อีกประเด็นที่ต้องจับตาและแก้ไข คือการที่พบว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ด้วยการนำเรื่องนี้ไปแจ้งความดำเนินคดี สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ขับเคลื่อนอยู่เธอมองว่าต้องรวม มาตรา 112 เพื่อสร้างความปรองดองเข้าไปด้วย

 

ปิดประตูทางกฎหมายได้ แต่จะไมมีใครสามารถปิดประตูการพูดในพื้นที่สาธารณะได้

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยการเมืองไทย เผยประสบการณ์ว่าเคยถูกเรียกไปปรับทัศนคติแต่ไม่ได้ไปตามตามคำสั่ง หลังทำแคมเปญกิจกรรมเกี่ยวกับโทษที่สูงเกินไปของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ 'อากง' ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความ 4 ข้อความที่มีเนื้อหาที่มีความผิดในกฎหมายนี้ได้ ไปยังที่โทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่ง จึงทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่ตัวเองเผชิญสถานการณ์แตกต่างจากประชาชนคนอื่น เพราะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศแล้ว ปัจจุบันยังสนใจศึกษาเรื่องนี้ ส่วนการที่ประเทศไทยจะลงสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เขามองว่าประเทศจะต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้ได้ก่อน ถึงจะเหมาะสมในการลงแข่งสนามครั้งนี้ และครั้งต่อไป

สำหรับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มองว่าบทลงโทษในมาตรา 112 หลายคดีที่เกิดขึ้นประเทศไทย ยังขาดความสมดุลในการตัดสินความผิด เพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกบางเรื่องของประชาชน ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสมที่จะต้องได้รับโทษสูงเกินความจำเป็น เขาแสดงความคิดเห็นอีกว่า การที่มีผู้คนพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องเปิดใจและเปิดโอกาสให้เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะยังเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้เท่าที่ควร แต่ท้ายที่สุดแม้จะปิดประตูทางกฎหมายได้ แต่จะไมมีใครสามารถปิดประตูการพูดในพื้นที่สาธารณะได้

ส่วนที่มีการขับเคลื่อนให้เกิดพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และย้ำจุดยืนตรงกันกับผู้ร่วมวงเสวนาคนอื่น ๆ ว่า ต้องรวมข้อหามาตรา 112 อยู่ด้วย เพราะเรื่องนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับคนที่เห็นต่าง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน

ธนภัทร ชาตินักรบ นักวิชาการประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศและศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากประเทศไทยคาดหวังจะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนควรพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงของรัฐ ต้องนำมาตีความกันว่า ความมั่นคงคืออะไร หรือเรื่องความมั่นคงทางสาธารณะสุข ที่ถูกเอามาใช้ดำเนินคดีกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะก็ต้องตีความกันว่ามีข้อยกเว้นอะไรได้บ้าง ที่ผ่านมาพบว่าประเทศที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการหลายประเทศ ต้องผ่านด่านการพิจารณาหลากหลายประเด็น สำหรับเขามองว่าประเทศไทยยังมีสิทธิที่จะได้และไม่ได้ เพราะมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายประเด็น แม้จะพยายามทำให้ดีขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามว่าตัดสินอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่

 

รวมพลัง 3 องค์กรสิทธิ แนะแนวข้อสอบรัฐบาลไทย ก่อนเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

ก่อนจบงาน 3 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ก่อนลงสนามเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ โดย อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายอาวุโส แอมเนสตี้ ประเทศไทย และ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก iLaw

ภัทรานิษฐ์ ระบุว่า การที่รัฐบาลไทยประกาศคำมั่นที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน ที่แสดงจุดยืนว่าจะนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ แต่ก็ยังมีข้อท้าทายหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องจัดการสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนและถูกซุกใต้พรมในตอนนี้ เธอในฐานะตัวแทนของแอมเนสตี้ อยากให้รัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบต่อประเทศนี้ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ผ่านข้อเสนอแนะดังนี้

  1. รัฐบาลต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ตั้งเรื่องยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงกำไร และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ควรจะยุติการส่งร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสภา
  2. รัฐบาลต้องตอบรับคำขอเยี่ยมประเทศอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านนักปกป้องสิทธิ ด้านแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และด้านชุมนุม
  3. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ออกมาชุมนุมและตั้งคณะกรรมการสอบสวนการใช้กำลังสลายการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 และออกคำสั่งเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย
  4. ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีทางการเมือง และกระทรวงยุติธรรมเองก็ต้องยอมรับว่ามีนักโทษทางการเมืองและคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรและไม่ปฏิบัติกับเขาเช่นอาชญากร
  5. รัฐบาลต้องเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนให้เร็วที่สุด โดยร่างนั้นต้องไม่ยกเว้นกับคดีมาตราใดมาตราหนึ่ง

อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มี 2 ข้อเสนอแนะต่อการเข้าสู่สนามเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ดังนี้ 1.ต้องยุติการดำเนินคดีและแก้ไขมาตรา 112 และ 2. ต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดยจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกคณะมนตรีสิทธิฯ ในเดือนตุลาคมนี้

โดย อัครชัย กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติเคยมีคำแนะนำและแสดงความกังวลต่อมาตรานี้ถึงรัฐบาลไทย โดยนับตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมามีข้อร้องเรียนถึง 21 ข้อร้องเรียนจากกรณีต่างๆ และทางองค์การสหประชาชาติได้มีฉันทามติชัดเจนว่า การใช้มาตรา 112 เอาผิดประชาชนขัดกับข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อีกทั้งยังมีประเด็นที่การใช้มาตรา 112 ในการคุมขังถือเป็นควบคุมตัวโดยไม่ชอบธรรม

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า มีอะไรแตกต่างกับรัฐบาลสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเมื่อปี 2564 ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ไทยได้รับความเห็นจากนานาประเทศหลายข้อ ในฐานะตัวแทนจาก iLaw มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทย 3 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องมีกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้เต็มรูปแบบ ไม่ซ่อนเงื่อนไขใดๆ
  2. จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม
  3. จะทำให้การร่างรัฐญธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ แต่วันนี้ทั้งสามข้อนี้จะเป็นจริงอย่างไร

"เราก็หวังว่าก่อนจะถึงเดือนตุลาคมปีนี้ เราอยากเห็นพัฒนาการของเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องของสิทธิทางการเมืองและเรื่องสิทธิพลเมืองของประชาชน"