พลเรือนทั้งสองฝั่งต่างได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ตึงเครียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนระหว่างอิสราเอลและกาซา ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

9 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : ©REUTERS/Mohammed Salem

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งอันเป็นผลมาจากการยิงจรวดของกลุ่มฮามาสเพื่อโจมตีอิสราเอล และปฏิบัติการโจมตีด้วยกองกำลังอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภาคใต้ของอิสราเอล

ในขณะที่จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้กองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อคุ้มครองชีวิตของพลเรือน ท่ามกลางการขยายตัวของการสู้รบในปัจจุบันในประเทศอิสราเอลและดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราตกใจอย่างยิ่งกับยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นในกาซา อิสราเอล และเขตเวสก์แบงก์ที่ถูกยึดครอง และเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้คู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนี้ ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อของพลเรือนมากขึ้นอีก ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คู่กรณีทุกฝ่ายในความขัดแย้งต่างมีพันธกรณีอย่างชัดเจน ที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของพลเรือนที่ติดอยู่ในความขัดแย้ง

“การโจมตีพลเรือนอย่างจงใจ การโจมตีอย่างไม่ได้สัดส่วน และการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย อันเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ย่อมถือเป็นอาชญากรรมสงคราม อิสราเอลเคยมีประวัติที่โหดร้ายของการก่ออาชญากรรมสงครามโดยไม่ต้องรับผิดในสงครามหลายครั้งที่ผ่านมาในกาซา กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์จากกาซาก็ต้องงดเว้นจากการพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน และการใช้อาวุธโดยไม่เลือกเป้าหมายแบบที่พวกเขาเคยทำในอดีต และรุนแรงมากสุดในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม”

การโจมตีเพื่อตอบโต้ของอิสราเอลต่อกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 232 คน และได้รับบาดเจ็บเกือบ 1,700 คน ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์  

สื่อของอิสราเอลรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คน และกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,500 คนจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์

กองทัพอิสราเอลยืนยันกับสื่อมวลชนว่า พลเรือนอิสราเอล (ตามรายงานข่าว รวมถึงเด็กด้วย) รวมทั้งทหาร ได้ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ และถูกจับไว้เป็นตัวประกัน การลักพาตัวพลเรือนและจับไว้เป็นตัวประกัน ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม พลเรือนทุกคนที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องไม่ได้รับอันตราย ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องได้รับการรักษาพยาบาล

ต้องมีการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขสาเหตุที่รากเหง้าของวงจรความรุนแรงที่ซ้ำซากนี้ ซึ่งหมายถึงการยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการยุติการปิดกั้นฉนวนกาซาอย่างผิดกฎหมายโดยอิสราเอลในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา และการยุติการแบ่งแยกเชื้อชาติที่อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ทุกคน รัฐบาลอิสราเอลต้องงดเว้นจากการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความตึงเครียดในเขตเวสก์แบงก์ที่ถูกยึดครอง รวมทั้งในเยรูซาเลมตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่ของศาสนสถาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประชาคมโลกแทรกแซงอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองพลเรือน และป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ยากมากกว่านี้

ในปี 2564 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มการสอบสวนสถานการณ์ในรัฐปาเลสไตน์ ตามอำนาจหน้าที่ของตนที่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นผลมาจากคู่กรณีทุกฝ่ายในการสู้รบในปัจจุบัน รวมทั้งการสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปของการแบ่งแยกเชื้อชาติต่อชาวปาเลสไตน์

 

ข้อมูลพื้นฐาน

นับแต่ปี 2550 อิสราเอลได้ปิดกั้นการเข้าออกฉนวนกาซา ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ถือเป็นการลงโทษแบบเหมารวม (collective punishment) ต่อประชากรทั้งหมด

ในเดือนมิถุนายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานการสอบสวนปฏิบัติการโจมตีต่อฉนวนกาซาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และพบว่าอิสราเอลได้ทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลายครั้งเกิดขึ้นแม้ไม่มีความจำเป็นทางทหาร ในลักษณะที่อาจถือว่าเป็นการลงโทษแบบเหมารวมต่อประชากรที่เป็นพลเรือนทั้งหมด

ในรายงานเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บรรยายถึงปฏิบัติการของกองกำลังของอิสราเอลในกาซา (รวมทั้งในเขตเวสต์แบงก์ และอิสราเอล) โดยเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามธรรมนูญกรุงโรม และอนุสัญญาว่าด้วยการแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโจมตีอย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อประชากรพลเรือน โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาระบบการกดขี่และครอบงำเหนือชาวปาเลสไตน์ ซึ่งย่อมถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปของการแบ่งแยกเชื้อชาติ