เมียนมา: การโจมตีทางอากาศของกองทัพที่สังหารพลเรือน 17 คน 'ต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม'

8 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © Private / Amnesty International.

การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาทำให้พลเรือน 17 คน รวมทั้งเด็กเก้าคนเสียชีวิต ขณะไปเข้าโบสถ์เมื่อเดือนที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในการสอบสวนครั้งใหม่

การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 10.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม โดยมีเป้าหมายใกล้กับโบสถ์เซ็นต์ปีเตอร์แบบติสต์ในหมู่บ้านคานัน ภาคสะกาย ใกล้กับพรมแดนด้านตะวันตกของประเทศติดกับอินเดีย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน 

พยานให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ระเบิดชุดแรกทำให้เด็กเสียชีวิตสองคน ระหว่างที่เล่นฟุตบอลในสนามใกล้กับโรงเรียน ผู้เสียชีวิตหลายคนอยู่ระหว่างวิ่งหนีไปหาความปลอดภัย เมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศครั้งที่สอง โดยการโจมตีครั้งนี้ทำให้โบสถ์และโรงเรียนเสียหาย รวมทั้งบ้านพลเรือนหกหลัง


 

“การโจมตีอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนโดยกองทัพเมียนมายังเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง” แมท เวลส์ ผู้อำนวยการแผนงานรับมือวิกฤตระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“โลกยังคงเบือนหน้าหนีไปทางอื่น ในขณะที่กองทัพเมียนมาโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อนต่อพลเรือนและเป้าหมายของพลเรือน รวมทั้งโบสถ์ โรงเรียน และโรงพยาบาล ประเทศและบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องหยุดการส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพ เพื่อคุ้มครองพลเรือนจากหายนะมากกว่านี้

“การโจมตีเหล่านี้ต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องส่งสถานการณ์ในเมียนมา เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย”

“การโจมตีอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนโดยกองทัพเมียนมายังเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง”

แมท เวลส์ ผู้อำนวยการแผนงานรับมือวิกฤตระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์พยานสี่คนเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ พยานคนหนึ่งไปที่หมู่บ้านคานัน หลังการโจมตีครั้งนี้ และได้เห็นซากศพ ส่วนพยานอีกคนหนึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ ทางหน่วยงานยังได้วิเคราะห์ภาพถ่ายและวิดีโอ 99 ชิ้นเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ และเหตุการณ์หลังจากนั้น รวมทั้งภาพของผู้ที่ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ

ความเสียหายเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน โบสถ์ และบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง มีลักษณะสอดคล้องกับความเสียหานจากการโจมตีทางอากาศ ทั้งหลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอชี้ให้เห็นจุดที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อยสามจุด รวมทั้งหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินน้ำหนักประมาณ 250 กก.ในแต่ละหลุม ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายภายหลังการโจมตีทางอากาศ ยืนยันความเสียหายที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นกับโรงเรียน อาคารและบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับการโจมตีทางอากาศ


 

กองทัพเมียนมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการโจมตีครั้งนี้ อ้างว่าไม่ได้ส่งเครื่องบินไปปฏิบัติการในพื้นที่ในเช้าวันนั้น อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์วิดีโอที่ถ่ายระหว่างการโจมตีทางอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีเงาของปีกแบบลู่หลังของเครื่องบินรบแบบ A-5 ที่บินเหนือหมู่บ้าน ในเมียนมา เฉพาะกองทัพเท่านั้นที่มีเครื่องบินรบแบบ A-5 ซึ่งนำเข้าจากจีน

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บันทึกข้อมูลการใช้ฐานทัพอากาศทาดาอู ใกล้กรุงมัณฑะเลย์บ่อยครั้ง เพื่อโจมตีด้วยเครื่องบินโดยมีเป้าหมายเป็นภาคสะกาย ภาพถ่ายดาวเทียมของฐานทัพอากาศทาดาอูไม่นานทั้งช่วงก่อนและหลังการโจมตีทางอากาศ แสดงให้เห็นว่ามีเครื่องบินรบแบบ A-5 ปฏิบัติการอยู่ในสนามบิน จากการวิเคราะห์ข้อความสามชิ้นที่ส่งในกลุ่มออนไลน์โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า ผู้ที่นิยมสังเกตการบินในพื้นที่ได้สังเกตเห็นเครื่องบินรบบินขึ้นจากฐานทัพอากาศทาดาอู เวลา 10.00 น. โดยเครื่องบินรบแบบ A-5 บินไปด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เหนือเขตคาเลวา ไปในทิศทางเดียวกับหมู่บ้านคานันเมื่อเวลา 10.26 น. และจากนั้นมา เครื่องบินรบแบบ A-5 ได้ลงจอดด้านตะวันตกเฉียงเหนือที่ฐานทัพอากาศทาดาอูเมื่อเวลา 10.56 น. ทั้งข้อมูลตำแหน่ง ทิศทาง และเวลาจากการสังเกตการณ์เหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับการโจมตีที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านคานันเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.


 

แหล่งข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า พวกเขาได้รับแจ้งว่าสมาชิกของกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ในพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่รวมตัวกันภายหลังการทำรัฐประหารเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร มีแผนจัดงานพิธีที่โรงเรียนในหมู่บ้านช่วงสายวันนั้น อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของพยานที่สอดคล้องกันยืนยันว่า กลุ่มทหารเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏตัวในช่วงที่มีการโจมตีทางอากาศ เป็นเหตุให้ผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมีแต่พลเรือนเท่านั้น

ถึงแม้กองทัพจะเชื่อว่ามีเป้าหมายที่ชอบธรรมในตำแหน่งที่โจมตีก็ตาม แต่การทิ้งระเบิดขนาดใหญ่หลายลูกใส่พื้นที่อาศัยของประชาชน ในช่วงวันอาทิตย์ในขณะที่พลเรือนมาเข้าโบสถ์ ทั้งยังมีการโจมตีซ้ำขณะที่พลเรือนวิ่งหนีด้วยความตกใจ ด้วยเหตุดังกล่าว การโจมตีเหล่านี้จึงมีลักษณะที่ไม่เลือกเป้าหมาย และควรถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งให้มีการระงับการขายหรือการส่งมอบเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับเมียนมา หลังการสอบสวนชี้ว่า ทางกองทัพยังคงนำเข้าเชื้อเพลิงเหล่านี้ แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคลและบริษัทที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทาน

 

‘เราไม่สามารถนอนหลับได้เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ตอนนั้น’

กองทัพเมียนมา ได้โจมตีอย่างต่อเนื่อง ต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน โดยมักเป็นการทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับโรงเรียน ศาสนสถาน และโครงสร้างที่สำคัญอย่างอื่น ในช่วงสามปีหลังการทำรัฐประหาร

หมู่บ้านคานัน ซึ่งมีประชากรประมาณ 7,000 คน ตั้งอยู่ตอนเหนือไม่ไกลจากเมืองคำพัต ในเขตทามู ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นชาวชิน และนับถือคริสต์ศาสนา

ชาวบ้านที่หมู่บ้านคานันบอกว่า ก่อนจะเกิดการโจมตีเหล่านี้ พวกเขาไม่เคยเผชิญกับการขัดกันด้วยอาวุธมาก่อนเลย นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อย่างไรก็ดี ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กองกำลังร่วมฝ่ายต่อต้าน ได้ยึดเมืองคำพัต จากกองทัพหลังปะทะกันนานสี่วัน กองทัพ พยายาม ยึดเมืองนี้คืนมา โดยปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และต้อง ถอนกำลังออกไป หลังผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ตามรายงานของสื่อในท้องถิ่น


 

พยานให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยผู้ทำงานชุมชนวัย 56 ปีบอกว่า เขาเห็นเครื่องบินบินอยู่เหนือหัว ขณะที่กำลังออกจากบ้านเพื่อไปโบสถ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่นานหลังจากนั้น ได้เกิดการทิ้งระเบิดชุดแรก โดยมีเป้าหมายอยู่ห่างจากจุดที่เขายืนไปประมาณ 200 เมตร

เขาไปหลบซ่อนตัวในฉางข้าวที่บ้านตัวเอง พร้อมกับภรรยาและลูกสองคน ก่อนที่จะเกิดการโจมตีอีกครั้งหนึ่ง ประมาณ 15 นาทีต่อมา เขาได้ออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และช่วยเก็บศพผู้เสียชีวิต ซึ่งเขาบอกว่ามีสภาพ “น่าเวทนาอย่างมาก” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิเคราะห์ภาพถ่ายภายหลังการโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นภาพของศพคน ๆ หนึ่งที่ถูกแยกส่วนเป็นหลายชิ้น และมีศพคนอื่นที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างร้ายแรง ซึ่งตรงกับสิ่งที่พยานบอกเล่า

ชายวัย 68 ปี ซึ่งอยู่ในโบสถ์ตอนที่มีการทิ้งระเบิดชุดแรกบอกว่า “เรารู้เรื่องนี้ก็ตอนที่ระเบิดลงมาแล้ว เราไม่ได้ยินเสียงเครื่องบินเลย เราพากันร้องสรรเสริญอยู่ในโบสถ์ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ หลังคาโบสถ์พังถล่มลงมา หน้าต่างแตกกระจาย คนในโบสถ์จึงพากันหลบหนีไปด้านนอก” 

ทุกคนกลัวมาก และพากันวิ่งหนี พยายามกลับไปที่บ้าน จังหวะนั้นเองจึงเกิดการทิ้งระเบิดชุดที่สองขึ้นมา

พ่อค้าในตลาดวัย 43 ปีได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศ

พ่อค้าในตลาดวัย 43 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากเศษซากที่พังลงมา ระหว่างพยายามหลบหนีออกจากโบสถ์บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ระเบิดชุดที่สองเป็นการโจมตีคนที่กำลังหลบหนีเอาตัวรอด เขาบอกว่า “ทุกคนกลัวมาก และพากันวิ่งหนี พยายามกลับไปที่บ้าน จังหวะนั้นเองจึงเกิดการทิ้งระเบิดชุดที่สองขึ้นมา ที่ด้านหลังของโบสถ์มีถนน และระเบิดก็ถูกทิ้งใส่คนที่กำลังวิ่งหนีกลับบ้าน”


 

ชายวัย 40 ปีบอกว่า ชุมชนที่ประสบความทุกข์ใจสาหัสยังต้องหวาดระแวงอย่างต่อเนื่องว่าจะถูกโจมตีอีก เขาบอกว่า “แค่ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ เราก็รู้สึกกลัว คิดว่าเป็นเสียงเครื่องบิน เราไม่สามารถนอนหลับได้เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ตอนนั้น … [การโจมตีครั้งนี้] ทำให้เกิดบากแผลทางจิตใจ เราไม่สามารถไปเข้าโบสถ์ได้อีกเลย”

ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งความกลัวว่าจะถูกโจมตีอีก เป็นเหตุให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องหลบหนีไปหาความปลอดภัยที่หมู่บ้านอื่น หรือหลบไปอยู่ในไร่นา และป่าเขา หรือข้ามพรมแดนไปอินเดีย ผู้พลัดถิ่นหลายคนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากญาติ จากกลุ่มศาสนา และกลุ่มการกุศลในพื้นที่ และจากชุมชนที่รองรับเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้


 

ข้อมูลพื้นฐาน

นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมียนมาต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ชื่อ ‘กระสุนตกจากฟ้าอย่างกับสายฝน”: อาชญากรรมสงครามและการพลัดถิ่นในภาคตะวันออกของเมียนมา ให้ข้อมูลว่ากองทัพเมียนมาได้ลงโทษแบบกลุ่มต่อพลเรือน โดยผ่านการโจมตีทั้งทางบกและทางอากาศอย่างกว้างขวาง การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย และการปล้นสะดมและเผาหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ

รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี”: การทรมานระหว่างการควบคุมตัวนับแต่การทำรัฐประหารในเมียนมา บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ระหว่างที่กองทัพเมียนมาสอบปากคำและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วง

รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565, คลังอันตราย: เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน เชื้อเพลิงโหมอาชญากรรมสงครามในเมียนมา เรียกร้องให้ระงับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยาน เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางอากาศต่อไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังบันทึกข้อมูล การโจมตีทางอากาศ ที่มีเป้าหมายเป็นค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศที่รัฐคะฉิ่น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อย 28 คน รวมทั้งเด็กเสียชีวิต