ระดับโลก: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญรณรงค์การเขียนจดหมายระดับโลก ท่ามกลางการปราบปรามสิทธิมนุษยชน

8 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังจะเปิดตัวแคมเปญ Write for Rights -เขียน เปลี่ยน โลก”  การรณรงค์เขียนจดหมาย ประจำปีระดับโลก ก่อนวันสิทธิมนุษยชนในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนซึ่งถูกละเมิดสิทธิ

ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการรณรงค์เพื่อความยุติธรรมร่วมกับและเพื่อบุคคล 10 กรณีจากทั่วโลก พวกเขาถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐและบรรษัท การรณรงค์ในปีนี้มีทั้งชายผิวดำซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา เขาถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในข้อหาฆ่าคนตาย แม้ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับความผิดโดยตรง เรายังได้ทำการรณรงค์เพื่อผู้หญิงซึ่งถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ฐานพยายามให้ความช่วยเหลือผู้หญิงอีกคนหนึ่งในโปแลนด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และแกนนำชนเผ่าพื้นเมืองสองคนซึ่งฟ้องคดีต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อคุ้มครองชุมชนของตนเองจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้ง การแบ่งขั้วทางการเมืองที่ยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกและความกลัวในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และภัยคุกคามต่อความอยู่รอด เนื่องจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วโลกกำลังตกอยู่ใต้ภัยคุกคามร้ายแรง ตั้งแต่ยูเครนจนถึงอิสราเอลและดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เอธิโอเปียถึงอิหร่าน เมียนมาถึงโปแลนด์ และทั่วทุกมุมของโลก ประชาชนกำลังทุกข์ยากจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

รัฐต่าง ๆ กำลังปราบปรามนักกิจกรรม และคุกคามสิทธิของประชาชนทั่วโลก คนที่กล้าออกมาแสดงความเห็นถูกศาลสั่งจำคุก ในขณะที่ผู้หญิงกำลังต่อสู้เพื่อเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ส่วนรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการมากเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดการรณรงค์ระดับโลกโครงการ Write for Rightsจึงมีความสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อันเป็นช่องทางทำให้คนธรรมดาสามัญมีอำนาจ สามารถปฏิบัติการที่ยิ่งใหญ่เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ได้”

ทุกคนสามารถสละเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อเข้าร่วมกับปฏิบัติการนี้ โดยการเขียนจดหมาย อีเมล และทวีตข้อความ และลงชื่อในจดหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับบุคคลต่าง ๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ให้ความสนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ นับแต่เริ่มต้นโครงการ Write for Rights เมื่อปี 2544 ประชาชนหลายล้านคนได้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่ถูกพรากสิทธิมนุษยชนไปจากตนเอง และได้นำไปสู่ปฏิบัติการกว่า 50 ล้านครั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อสถานการณ์ของบุคคลต่าง ๆ กว่า 100 คนที่เป็นเป้าหมายการรณรงค์ของเรา

ในปีนี้ การรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีเป้าหมายเป็นบุคคลทั่วโลกโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ผลักดันให้ประเด็นของ อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการวัยเกษียณถูกตัดสินจำคุกยาวนานเป็นประวัติการณ์เพียงเพราะแชร์คลิปเสียงประเด็นการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ไปพร้อมกับการช่วยเหลืออีก 3 กรณีอย่างเข้มข้น ได้แก่  อันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจากประเทศบราซิลที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชายที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ทูลานี มาเซโกะ ที่ถูกสังหารภายในบ้านจากการพูดความจริงและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่าง ๆ ในประเทศเอสวาตินี ลุงพาไบและลุงพอลที่ต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดของตนที่กำลังจะจมหายไปจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศออสเตรเลีย โดยทั้ง 11 กรณีมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ทูลานี มาเซโกะ (Thulani Maseko) ซึ่งถูกยิงจนเสียชีวิตที่บ้านเกิด จากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่จำกัดสิทธิของชาวเอสวาตินี และการใช้ความรุนแรงจนเกินขอบเขตของรัฐ ที่ผ่านมายังไม่สามารถจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารเขาได้
  • ทาเพโล โมฮาปี (Thapelo Mohapi) แกนนำของกลุ่ม Abahlali baseMjondolo (AbM) ซึ่งเป็นขบวนการระดับรากหญ้า เขาต้องหลบซ่อนตัวเนื่องจากมีการข่มขู่เอาชีวิตเขา เพียงเพราะเขาได้ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนในแอฟริกาใต้
  • เปโดร เฮนริค (Pedro Henrique) นักกิจกรรมชาวบราซิลถูกยิงจนเสียชีวิตในวัย 31 ปี อีกสี่ปีต่อมา ตำรวจซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าสังหารเขา ยังคงรับราชการต่อไป และการพิจารณาของศาลยังไม่เริ่มขึ้น อันนา มาเรีย แม่ของเปโดรได้ออกมาต่อสู้อย่างกล้าหาญ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของเขา
  • ร็อกกี้ มายเออร์ (Rocky Myers) ชายผิวดำซึ่งบกพร่องทางสติปัญญา ถูกศาลสั่งประหารชีวิตในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาที่รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา แม้ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงตัวเขากับที่เกิดเหตุโดยตรง และมีข้อพิรุธร้ายแรงในคดีนี้ ผู้พิพากษาสั่งประหารชีวิตเขาตามข้อเสนอแนะของคณะลูกขุน ซึ่งต่อมามีการออกกฎหมายยกเลิกการปฏิบัติดังกล่าวในรัฐแอละแบมา 
  • ลุงพาไบและลุงพอล แกนนำชนพื้นเมืองได้ฟ้องคดีต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อให้มีการคุ้มครองบ้านเกิด วัฒนธรรม และชุมชนของพวกเขา ให้ปลอดพ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • บริษัทเมตาปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความต่อต้านชาวโรฮิงญาอย่างกว้างขวางในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก เร่งเร้าให้กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงกับประชาชน ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา ซอเย็ต ดอลเลาะห์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในค็อกซ์บาซาร์บังกลาเทศ ต้องการเป็นทนายความ และต้องการใช้ช่องทางศาลเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากบริษัทเมตา ให้กับคนรอบตัวเขาซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรง
  • จัสตินา วิดชินกา (Justyna Wydrzyńska) ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานพยายามช่วยเหลือผู้หญิงซึ่งเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบในครอบครัว เพื่อให้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในโปแลนด์
  • ริตา คาราซาร์โตวา (Rita Karasartova) ปัจจุบันถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ในบ้าน จากการออกมาประท้วงโดยสงบเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์อ่างเก็บน้ำจืดในคีร์กีซสถาน ในขณะที่รัฐบาลยังคงปราบปรามสิทธิมนุษยชนต่อไป
  • อาเหม็ด มันซูร์ (Ahmed Mansoor) เป็นพ่อและสามีที่น่ารัก เป็นกวี บล็อกเกอร์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเขาถูกขังเดี่ยวในเรือนจำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังออกมาวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนเอง
  • ไชมา อิซซา (Chaima Issa) นักกิจกรรมชาวตูนีเซีย เป็นลูกสาวของอดีตนักโทษการเมือง และได้วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในประเทศ เธอถูกทางการสั่งห้ามไม่ให้เดินทาง และหากเข้าสู่การพิจารณาของศาล อาจถูกสั่งจำคุกเป็นเวลาห้าปี และอาจได้รับโทษประหาร

 

 

© Gabriel Yjalade/Amnesty International

Brazilian activist Pedro Henrique was shot dead, aged 31. Four years later, the police officers suspected of his killing are still on duty and a trial has yet to begin. Pedro’s mother, Ana Maria, centre, is bravely fighting for justice for his death. From L-R: Pedro’s sister, cousin and mother and father. © Gabriel Yjalade/Amnesty International 

 

อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการวัยเกษียณถูกตัดสินจำคุกยาวนานเป็นประวัติการณ์ถึง 87 ปีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากการแชร์คลิปเสียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันเธออายุ 68 และอยู่ในทัณฑสถานหญิง เราจึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวอัญชัญ ปรีเลิศโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับเธอสำหรับการกักขังและควบคุมตัวแอกเนส คาลามาร์ดได้กล่าวทิ้งท้ายว่า บุคคลแต่ละคนที่เป็นเป้าหมายการรณรงค์ของโครงการ Write for Rights ต้องเผชิญกับความอยุติธรรม หลายคนยืนหยัดเพื่อปกป้องสิ่งที่ตนเองเชื่อ พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ใหญ่หลวง อาจถูกคุมขัง และในบางกรณี อาจถูกสังหาร เราจะไม่ยอมให้เรื่องราวของพวกเขาถูกเพิกเฉยอีกต่อไป เรากำลังเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลกช่วยเหลือและร่วมมือกันกับเราเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

สำหรับโครงการ Write for Rights ปี 2566 เราได้จัดกิจกรรมมากมายทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้งการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ซิมบับเว การจัดงานรำลึกด้านนอกสถานทูตโปแลนด์ในสหราชอาณาจักร และกิจกรรมสาธารณะเพื่อเขียนจดหมายในแอฟริกาใต้ มองโกเลีย สาธารณรัฐเช็ก แคนาดา ไอซ์แลนด์ ไต้หวัน เยอรมนี ไนจีเรีย โตโก และอื่น ๆ ในระหว่าง กิจกรรมเขียนจดหมาย นักกิจกรรมสามารถเขียนจดหมายได้ในสองรูปแบบ แบบแรกเป็นการเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และแบบที่สองคือการเขียนจดหมายถึงบุคคลที่เป็นเป้าหมายการรณรงค์ของแอมเนสตี้ เพื่อให้พวกเขารู้ว่ามีคนที่คอยสนับสนุนพวกเขาอยู่

โครงการ Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งทั่วโลก ในแต่ละปี การรณรงค์ของเราทำให้เกิดผลกระทบทางบวก ช่วยให้เกิดการปล่อยตัวนักกิจกรรม ทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และช่วยคุ้มครองบุคคล เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าคำพูดของเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

ช่วงต้นปีนี้ โจอานา มามอมเบ และ เซซิเลีย ชิมบิรี  ได้รับการตัดสินยกฟ้องในหนึ่งข้อหาต่อพวกเขา หลังถูกจับกุมเมื่อปี 2563 จากการเป็นแกนนำประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับบุคคลทั้งสอง โดยผ่านโครงการ Write for Rights ปี 2565 ของแอมเนสตี้ ผู้สนับสนุนของเราได้มีปฏิบัติการ ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซิมบับเว ได้ให้ความสนับสนุนพวกเขาตลอดช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคดี

ในระหว่างการอ่านจดหมายที่ส่งมาให้กำลังใจ โจอานาบอกว่า “ขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อมิตรสหายที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้เขียนจดหมายเหล่านี้ เรากำลังเริ่มต้นเส้นทางของการเยียวยาแล้ว”

 

โครงการ Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อชีวิตของประชาชน ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ คลิกที่นี่ เพื่อเข้าร่วมการรณรงค์และเพื่อปฏิบัติการกับเรา