สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 10-16 กุมภาพันธ์ 2567

22 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

 

ไทย: แอมเนสตี้ ประเทศไทยแถลงข่าวผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566

16 กุมภาพันธ์ 2567

 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2566 ห้องประชุม บ้าน (Barn) ชั้น 1 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพ

โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ และภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “แสงเทียน” ที่ฉายแสงส่องให้คนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเชิญชวนให้เราต่างบ่มเพาะความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น  จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ‘สื่อมวลชน’ คือฟันเฟืองสำคัญในการทำให้ความจริงปรากฎขึ้นอย่างรอบด้าน ไร้อคติ โดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อทำให้ทุกคนได้รับอิสรภาพในการสื่อสาร ไม่ถูกข่มขู่ ไม่ถูกคุกคาม และได้รับการคุ้มครองอย่างดีที่สุด เพื่อช่วยกันทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด โดยผลการตัดสินตามลิงก์ด้านล่าง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/42GhQ05

 

----- 

 

 

รัสเซีย: นักโทษทางความคิด อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว

16 กุมภาพันธ์ 2567

 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หลังจากถูกวางยาพิษ จำคุกอย่างไม่ยุติธรรม และถูกทรมานในเรือนจำ อเล็กเซ นาวาลนี เสียชีวิตหลังจากทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำนาน 37 เดือน และถูกส่งตัวไปยังเรือนจำที่ห่างไกลและโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย อเล็กเซเป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจำคุกเพียงเพราะพูดต่อต้านรัฐบาลที่กดขี่

“เขาเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองสำหรับตัวเขาเองและผู้สนับสนุนของเขา เขาเปิดเผยการทุจริตและท้าทายปูติน การเสียชีวิตของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเลวร้ายและน่ากลัวของชีวิตภายใต้การปกครองที่กดขี่และเข้มงวดของรัฐบาลรัสเซีย เขาได้เสียสละอย่างสูงสุดในการเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกเขตแดนของรัสเซีย”

“อเล็กเซ นาวาลนีถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ถูกขังเดี่ยวเป็นเวลายาวนาน และถูกบังคับให้หายสาบสูญเมื่อเขาถูกส่งไปยังทัณฑนิคมที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่ง ใกล้กับอาร์กติกเซอร์เคิล ทางการรัสเซียปฏิเสธที่จะสอบสวนอย่างยุติธรรมและให้ความโปร่งใสสำหรับข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาก่อนหน้านี้”

“ในขณะที่การค้นหาความยุติธรรมเริ่มต้นขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่าเรามีทางให้เลือกไม่มากนัก นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำตัวผู้รับผิดชอบทั้งหมดมารับผิด เราต้องเรียกร้องอย่างเร่งด่วนต่อสหประชาชาติให้ใช้กระบวนการและกลไกพิเศษเพื่อจัดการกับการเสียชีวิตของอเล็กเซ นาวาลนี”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3uODYsn

 

-----

 

 

อินเดีย: สิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบถูกคุกคาม มีการจำกัดและปราบปรามการเดินขบวนของเกษตรกรมากขึ้น

14 กุมภาพันธ์ 2567

 


สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของข้อจำกัดและการปราบปรามของทางการอินเดียต่อการเดินขบวนโดยสงบของเกษตรกร 'ดิลลีชาโล' 

อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย เผยว่า แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการชุมนุม รัฐบาลอินเดียกลับพยายามอย่างเต็มที่ในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบของเกษตรกรในประเทศ การเดินขบวน ‘ดิลลีชาโล’ ต้องเผชิญกับการปราบปรามของทางการ ซึ่งขัดต่อพันธกรณีของรัฐบาลที่จะไม่จำกัดการชุมนุมโดยสงบโดยไม่จำเป็นหรืออย่างไม่ได้สัดส่วน

ทางการอินเดียต้องลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงอย่างเร่งด่วน และรับประกันสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมและการเคลื่อนไหวโดยสงบ ต้องประณามและสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อข้อกล่าวหาว่ากองกำลังความมั่นคงใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุกับการชุมนุมของเกษตรกรในประเทศ โดยการใช้แก๊สน้ำตาต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายในการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดอย่างกว้างขวาง หลังจากที่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ หลังจากมีการตักเตือนด้วยวาจา และหลังจากให้โอกาสผู้เข้าร่วมแยกย้ายกันไปแล้วเท่านั้น

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการอินเดียหยุดปราบปรามผู้เห็นต่างโดยสงบ และยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นทั้งหมดซึ่งขัดขวางการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศ รวมถึงการสั่งห้ามแบบครอบคลุม การปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อขัดขวางการเผยแพร่ข้อมูลอย่างทันท่วงที ตลอดจนการใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และการจับกุมและคุมขังผู้ชุมนุมโดยสงบโดยพลการ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UKsIrP

 

-----

 

กรีซ: การรับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกันและบุคคลข้ามเพศ

16 กุมภาพันธ์  2567

 

สืบเนื่องจากการผ่านร่างกฎหมายที่ยอมรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน และผลที่ตามมาคือการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ในกรีซเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เดสปินา ปาราสเกวา-เวลูโดเกียนนิส ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรีซ เผยว่า กฎหมายนี้เป็นก้าวที่สำคัญในการต่อสู้กับความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกันและบุคคลข้ามเพศ และชัยชนะที่ได้มาอย่างยากลำบากสำหรับผู้ที่นำการต่อสู้ ช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันและลูกๆ ของพวกเขาได้มีตัวตนและและสิทธิที่ถูกปฏิเสธมานาน

“วันนี้กรีซกลายเป็นประเทศที่ 21 ในยุโรปที่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียว แม้ว่ากฎหมายจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ก็ยังไม่ให้ความเท่าเทียมกันอย่างเต็มที่กับผู้ปกครองที่ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิด และไม่ยอมรับตัวตนที่อยู่นอกเหนือกรอบแนวคิดสองเพศ โดยล้มเหลวในการอำนวยความสะดวกสำหรับการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ชายโสด บุคคลข้ามเพศ และบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม นอกจากนี้ยังล้มเหลวในการแก้ไขบทบัญญัติที่ป้องกันการเปลี่ยนชื่อและเพศของบุคคลข้ามเพศในสูติบัตรของบุตร

“ทางการกรีซไม่เพียงต้องดำเนินการเพื่อประกันว่าการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ยังควรมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรับประกันความเท่าเทียมกันอย่างเต็มที่สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวของพวกเขา”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UVDivU

 

----- 

 

โลก: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รับรองสนธิสัญญาใหม่ว่าด้วยความร่วมมือในฟ้องร้องคดีอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

13 กุมภาพันธ์  2567

 

ก่อนพิธีลงนามในกรุงเฮกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สำหรับสนธิสัญญาที่สำคัญว่าด้วยความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม

ฟิสเซฮา เทเคิล ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ความขัดแย้งในฉนวนกาซา ยูเครน ซูดาน และที่อื่นๆ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างกรอบกฎหมายระหว่างประเทศผ่านการพัฒนาต่างๆ เช่น สนธิสัญญานี้ ซึ่งมอบเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยสร้างความยุติธรรมและประกันว่าสิทธิมนุษยชนจะได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ในขั้นตอนการนำอนุสัญญานี้ไปใช้บังคับ กลุ่มประเทศผู้ริเริ่มจะลงนามในสนธิสัญญาในวันพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์) ซึ่งจะให้เส้นทางไปสู่ความยุติธรรมที่มากขึ้นสำหรับเหยื่อของอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกรณีของการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และรับรองสิทธิต่างๆ รวมถึงการคุ้มครอง และการติดตามและรับการเยียวยา

“การอำนวยความสะดวกในความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศของอนุสัญญานี้จะเสริมสร้างระบบตุลาการภายในประเทศ และทำให้ประเทศต่างๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในการติดตามบุคคลทั้งหมดที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงมารับผิดได้ดีขึ้น สนธิสัญญาดังกล่าวช่วยประกันว่าจะมี 'พื้นที่หลบภัย' น้อยลงสำหรับผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญา และเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการต่อต้านการลอยนวลพ้นผิด

“สนธิสัญญานี้เป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอีกขั้นในการดำเนินคดีอาชญากรรมเหล่านี้ และความสามารถในการมอบความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาให้กับเหยื่อ เราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินกระบวนการรับสนธิสัญญานี้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อสงวน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างรวดเร็วและครบถ้วน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3I4tw3f