ประเทศไทย: ทางการไทยต้องดำเนินการทันทีเพื่อคืนความยุติธรรมให้เหยื่อของการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในอำเภอตากใบ

25 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกันโดยสงบบริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส หนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ของประเทศไทยที่มีปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิม 6 คนที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว  ในการรับมือกับการรวมตัวโดยสงบครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง  ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 78 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง

ในวาระครบรอบ 19 ปีของการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในอำเภอตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ทั้งยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ และการปฏิบัติของทางการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แถลงการณ์นี้จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคล 9 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 โดยผู้ให้สัมภาษณ์ 3 คนเป็นผู้ชาย ซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงและถูกทางการควบคุมตัวโดยทางการไทย และอีก 6 คนเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นครอบครัวของฝ่ายชายที่ถูกสังหารหรือถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์นี้  ทั้งนี้ 5 คนจากผู้หญิงกลุ่มนี้ยังเป็นประจักษ์พยานที่ได้เห็นการสลายการชุมนุมประท้วงอีกด้วย  นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้พูดคุยกับทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของคณะทำงานด้านกฎหมายซึ่งให้ความสนับสนุนช่วยเหลือในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ด้วยวิธีการยืนยันเทียบเคียงกับเอกสารของทางการ รายงานข่าว และบันทึกเหตุการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิจัยด้านวิชาการในอดีต ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แถลงการณ์นี้จะใช้นามแฝงสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคน 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

เราต้องทำความเข้าใจกับการสลายการชุมนุมประท้วงอย่างโหดร้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ในอำเภอตากใบ ด้วยการพิจารณาบริบทโดยรวมของการตรึงกำลังทหารอย่างเข้มข้นในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประมาณปี 2547 ได้เกิดการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จชต. ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หน่วยงานวิชาการในพื้นที่ รายงานว่า ที่ผ่านมา มีบุคคลอย่างน้อย 7,520 คนที่ถูกสังหารในรอบ 19 ปีระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงสิงหาคม 2566 

ในวันที่ 5 มกราคม 2547 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก เพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบ  กฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ทหารและครอบคลุมไปถึงการสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 11(1)  ภายใต้กฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ทหารสามารถควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมาย รวมทั้งการห้ามการชุมนุมสาธารณะ การนำตัวมาซักถามในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการไม่เกินเจ็ดวันโดยที่ยังไม่ต้องมีการแจ้งข้อหา  มาตรา 16 ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกยังกำหนดเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดความเสียหายใดๆ จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อความมั่นคงของชาติตามกฎหมายนี้ จะไม่สามารถร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ในปัจจุบัน ยังคงมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในภูมิภาคนี้ ควบคู่กับกฎหมายด้านความมั่นคงอีก 2 ฉบับได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 

 

เกิดอะไรขึ้นระหว่างเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ?

ในห้วงเวลาที่มีความรุนแรงปะทุสูงขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ ชรบ. ชาวมลายูมุสลิม 6 คนในจังหวัดนราธิวาส แจ้งความต่อตำรวจว่า ปืนของพวกเขาหายไป  แม้จะมีการแจ้งความ แต่ตำรวจสรุปว่าอันที่จริงแล้ว ชรบ.ทั้งหกคนเป็นผู้ขโมยอาวุธปืนไป และนำไปให้กับสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง  และได้ดำเนินคดีกับ ชรบ. ดังกล่าวในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และยักยอกทรัพย์ของทางราชการ ตามมาตรา 137 และ 147 ของประมวลกฎหมายอาญาตามลำดับ ในวันที่ 25 ตุลาคม ชาวบ้านประมาณ 2,000 คนได้รวมตัวกันที่ด้านหน้าของสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ.กลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ 

ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 9 คนบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาไม่เห็นผู้ชุมนุมประท้วงคนใดถืออาวุธ หรือใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดต่อเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุม มะซายู หญิงชาวมลายูมุสลิมซึ่งสูญเสียลูกชายวัย 19 ปีไปในโศกนาฎกรรมครั้งนี้กล่าวว่า “ถ้าพูดตรงๆ วันนั้นก็ไม่รู้ว่ามีผู้ชุมนุมคนไหนมีอาวุธในวันนั้น แต่ไม่เห็นใครใช้อาวุธเลย ถึงจะมีบางคนที่ตะโกนด้วยความโกรธใส่เจ้าหน้าที่บ้าง”  ทรงเกียรติ ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาพยานหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดี ยืนยันกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนั้นเป็นไปโดยสงบโดยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด  แม้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้าจะอ้างว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่ผลการแสวงหาข้อเท็จจริงของทางการเปิดเผยว่า แทบไม่มีพยานหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือได้มาสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว

ระหว่างการชุมนุมประท้วง กองกำลังความมั่นคงพยายามเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อหาทางยุติการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจึงได้พยายามสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง  จากข้อมูลอย่างเป็นทางการชี้ว่า ผู้ชุมนุมประท้วง 7 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุระหว่างการสังหารหมู่ การพิสูจน์ทางนิติเวชชี้ว่า 5 คนในนี้เสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่ศีรษะ  อีกหลายคนได้รับบาดเจ็บโดยเป็นผลมาจากการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้าย โดยมีเด็กชายอายุเพียง 12 ปี ถูกยิงเข้าที่เท้าระหว่างอยู่บริเวณบ้านที่อยู่ห่างจากสถานีตำรวจที่เกิดเหตุไป 300 เมตร  อิฟฟาน วัย 68 ปีกล่าวว่า “ผมเห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกยิงที่หน้าผากต่อหน้าต่อตา เขาล้มลงทันที ตอนนั้นรู้สึกกลัวมาก และไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี”

ปูเตอรี ซึ่งตอนที่เข้าร่วมในการชุมนุมมีอายุ 19 ปี ได้สูญเสียเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลายคนไปจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธออธิบายให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า “พอกลับมาลองย้อนคิดถึงเรื่องราวในอดีตก็เข้าใจขึ้นมาว่าตอนนั้นเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำเกินกว่าเหตุ พวกเราเพียงแต่พูดถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับ ชรบ. เราไม่มีอาวุธที่จะต่อสู้ ก็เลยได้แต่สงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงต้องรุนแรงกับพวกเราขนาดนั้น” 

ภายหลังการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้ชายประมาณ 1,370 คน ข้อมูลของทางการชี้ว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนเป็นชาวมลายูมุสลิม  “เขา [เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ] จับผู้หญิงและเด็กแยกออกมา และสั่งให้ผู้ชายทุกคนถอดเสื้อ จากนั้นจึงใช้เสื้อผูกมัดมือไว้ด้านหลัง ระหว่างที่เกิดเหตุนั้น เจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งใช้ไม้แผ่นใหญ่ตีเข้าที่ด้านหลังของผม โดยไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลย” อาหมัดกล่าว  ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้จับตัวผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้ชายไปควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหารในจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่จับกุมประมาณ 150 กิโลเมตร 

ในการขนย้ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่บังคับให้พวกเขานอนคว่ำทับซ้อนกันที่ด้านหลังของรถบรรทุกของกองทัพ อิฟฟานบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขารอดชีวิตมาได้เพราะนอนอยู่ชั้น 4 ซึ่งเป็นด้านบนสุดของผู้ชุมนุมคนอื่นๆ  เขากล่าวว่า “มีอยู่สามคนที่อยู่ด้านล่างของผม พวกเขาร้องไห้ขอความช่วยเหลือเพราะหายใจไม่ออก แถมมีทหารคนหนึ่งเดินอยู่บนหลังพวกเรา ทุกครั้งที่มีคนส่งเสียง หรือขยับตัวมากเกินไป เขาก็จะใช้ปืนตี” การขนส่งที่โหดร้ายส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 คน จากการกดทับหรือการขาดอากาศหายใจระหว่างเดินทางไปค่ายทหาร  หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งอาการตับวาย จนทำให้พิการถาวร 

นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์แล้ว ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในภาคใต้ตอนบนของไทย เพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน  ในวันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 59 คนในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ  ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดโดยอ้างเหตุว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

 

คำสัญญาที่จะให้ความยุติธรรมอันว่างเปล่า

ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น รัฐบาลในขณะนั้นได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง” เพื่อทำการสอบสวนเหตุการณ์นี้ คณะกรรมการฯ ได้เผยแพร่ผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 โดยมีข้อสรุปว่า การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมประท้วง รวมทั้งการใช้กระสุนจริงเป็นเรื่อง “เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล”  นอกจากนั้น คณะกรรมการยังชี้ว่า วิธีการเคลื่อนย้ายตัวผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างถูกควบคุมตัว สะท้อนว่า “ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก” 

คณะกรรมการเสนอแนะให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ประกันความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกสังหาร หรือได้รับบาดเจ็บระหว่างการสังหารหมู่  และระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนรับผิดชอบสามคน ได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 รองแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ในขณะนั้น  ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ในประเทศไทย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่กองทัพแต่งตั้ง ได้ประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการต่อการสังหารที่อำเภอตากใบ ทั้งยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการสอบสวนทันที อย่างเป็นอิสระ และอย่างรอบด้านต่อเหตุการณ์นี้ รวมทั้งการนำตัวเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย  แม้จะมีคำสัญญาเช่นนี้ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ศาลไทยก็ยังคงล้มเหลวที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัวได้

มีการฟ้องศาลเพียงคดีเดียวที่เกี่ยวข้องกับการสังหารและการได้รับบาดเจ็บครั้งนี้ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาในการไต่สวนการตาย กรณีผู้เสียชีวิต 78 คน ระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงในการควบคุมตัวของทหาร ศาลเพียงมีความเห็นโดยสรุปว่า ผู้ชุมนุมประท้วงเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ โดยไม่ระบุถึงพฤติการณ์แวดล้อมเพิ่มเติม รวมทั้งไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงต้องขาดอากาศหายใจ  ญาติของผู้เสียหายได้อุทธรณ์คำสั่งกับศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาที่กรุงเทพฯ  ในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกาพิพากษายืนยันตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาว่า กองกำลังความมั่นคงไม่ต้องรับผิด เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น  รัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ในทางตรงข้าม รัฐบาลกลับช่วยให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้องสามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้

ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จะหมดอายุความหลัง 20 ปี ในคดีนี้ อายุความ 20 ปีสำหรับความผิดต่อผู้ชุมนุมประท้วงจะหมดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เว้นแต่มีบุคคลใดรวมทั้งพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องต่อศาล แม้ว่าครอบครัวของผู้เสียหายบางส่วนอาจยื่นฟ้องคดีอาญาเองได้ แต่ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขารู้สึกสิ้นหวังที่จะทำเช่นนั้น หลังจากต้องตรอมใจมาหลายทศวรรษกับระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ นัสรา หญิงวัย 60 ปี ซึ่งสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ระบุว่า “คิดว่าพวกเราทุกคนรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีแรงใจอะไรเหลืออีกแล้วหลังจากที่ต่อสู้มาหลายปี เราก็อยากได้ความยุติธรรม แต่จะทำอะไรได้ เรามันก็เป็นแค่คนธรรมดา ไม่มีอำนาจที่จะไปต่อกรกับคนที่มีอำนาจเอง”

 

ความล้มเหลวที่จะดำเนินงานนอกเหนือจากการจ่ายค่าชดเชย

ผู้เสียหายและครอบครัวบางส่วนได้รับเงินค่าชดเชย ภายหลังเหตุการณ์ ครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารระหว่างและภายหลังการสลายการชุมนุม ได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งต่อกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งสองหน่วยงานได้เจรจาไกล่เกลี่ย และยินยอมชดใช้เงินจำนวน 42 ล้านบาทให้กับโจทก์ 79 คนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550  ในสัญญาประนีประนอม โจทก์ต้องประกาศว่า “พอใจกับค่าชดเชย […] และไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งในทางเพ่งและอาญาใดๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไป” ทรงเกียรติ ทนายความสิทธิมนุษยชน แจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ครอบครัวผู้เสียหายส่วนใหญ่ถูกกดดันให้ต้องรับเงื่อนไข และแสดงความรู้สึกว่าข้อตกลงนี้อาจส่งผลเสียในการแสวงความยุติธรรมในอนาคต  อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถระงับสิทธิของผู้เสียหายในการดำเนินคดีอาญาได้

ในปี 2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติค่าชดเชยเพิ่มเติม  โดยคิดเป็นเงิน 7.5 ล้านบาทสำหรับครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว  ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนพิการถาวรได้รับเงิน 4.5 ล้านบาท ผู้เสียหายคนอื่นๆ ได้รับเงินชดเชยระหว่าง 225,000 ถึง 1.125 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของอาการบาดเจ็บ นอกจากนั้น ผู้ที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา ได้รับเงิน 30,000 บาท

อย่างไรก็ดี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับการชดเชยที่ไม่เป็นองค์รวมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญเฉพาะการชดเชยในรูปแบบของเงิน โดยไม่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายและครอบครัวซึ่งได้รับค่าชดเชยแล้ว แม้ว่าการชดเชยในรูปของเงินจะเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเยียวยาผู้เสียหาย แต่พวกเขาหลายคนแจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขายังคงอยากได้ความยุติธรรม “ไม่ว่าจะเงินมากแค่ไหนก็ไม่มีค่าเท่ากับชีวิตของเขา (ลูกชาย)” อีซะห์กล่าว “ทุกวันนี้ก็ยังคิดว่ามันไม่ยุติธรรม แล้วได้แต่สงสัยว่าทำไมพวกเขาจึงทำกับลูกชายเราแบบนี้ แล้วเมื่อไรเราจะสามารถนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้มาลงโทษได้” 

 

ผลกระทบในระยะยาว

การใช้กำลังส่งผลกระทบในระยะยาวด้านจิตใจต่อผู้เสียหาย อิฟฟาน หนึ่งในผู้ชาย 59 คนที่ถูกสั่งฟ้องเมื่อปี 2548 บอกว่า “ผมต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวและโดดเดี่ยวเกือบ 2 ปี คนในหมู่บ้านกลัวผมกันหมด เขาคิดว่าผมเป็นพวกเดียวกับกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะผมถูกดำเนินคดี ช่วงนั้น ผมแทบนอนไม่หลับเพราะเครียด บางครั้ง เจ้าหน้าที่จะมาเยี่ยมที่บ้าน และทำให้ผมรู้สึกกังวลมาก” อาหมัดต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูจากความเจ็บปวดในใจเหล่านี้ได้เช่นกัน “ผมต้องขอให้ภรรยาไปทำงานที่สวนยางแทน เพราะตอนนั้นผมมีอาการหวาดระแวงและกลัวที่จะออกไปทำงานข้างนอก ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะรู้สึกดีขึ้น”

ผู้หญิงหลายคนต้องประสบปัญหาจากผลกระทบด้านสังคม-เศรษฐกิจจากเหตุการณ์นี้ ฮายาตี หนึ่งในผู้หญิงซึ่งสูญเสียสามีจากการปราบปรามครั้งนี้บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ตอนนั้นรู้สึกอย่างกับถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังในโลกนี้เลย ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำงานเลย แต่พอสามีตายไป เราต้องทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกชาย ซึ่งไม่ใช่งานง่าย ๆ สำหรับผู้หญิง”  อีซะห์บอกเล่าเช่นกันว่า เธอสูญเสียลูกชายวัย 19 ปี ซึ่งกำลังจะเรียนจบไป ทั้งที่เขาจะสามารถหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวได้  เรื่องราวของผู้หญิงทั้งสองคนสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้หญิงอีกหลายคน ซึ่งต้องกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเลี้ยงดูครอบครัว หลังจากสมาชิกผู้ชายในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 

ในปี 2549 คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (คณะกรรมการ CEDAW) ตั้งข้อสังเกตในข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระครั้งที่ 4 และ 5 ของประเทศไทยว่า ผู้หญิงในในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังคง “ขาดการเข้าถึงการศึกษา หลักประกันด้านสังคม การดูแลสุขภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจ […]”  ในทำนองเดียวกัน ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระรอบที่หกและเจ็ด คณะกรรมการ CEDAW ได้สะท้อนความกังวลที่คล้ายคลึงกัน และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลใช้ “มาตรการพิเศษโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้เพื่อประกันให้เกิดความเสมอภาคในเชิงเนื้อหากับผู้ชายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้หญิงหม้ายและผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัว รวมทั้งการให้ความสนับสนุนด้านการเงินและสังคมอย่างเพียงพอ”  ในบริบทดังกล่าว ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามที่อำเภอตากใบ ต้องประสบกับปัญหาท้าทายหลายประการที่ทับซ้อนกัน เนื่องจากเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์-ศาสนา รวมทั้งสถานภาพด้านสังคม-เศรษฐกิจของตน

           

พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) มาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2539  กติกา ICCPR ประกันสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ (ข้อ 2) สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (ข้อ 6) สิทธิที่จะปลอดพ้นจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย (ข้อ 7) สิทธิที่จะปลอดพ้นจากการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ (ข้อ 9) และสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ (ข้อ 21) สิทธิเหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในบริบทของการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ (คณะกรรมการ HRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามกติกา ICCPR และการตีความการดำเนินงานตามสนธิสัญญา การใช้กำลังของรัฐโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนระหว่างการชุมนุมประท้วง อาจเป็นการละเมิดข้อ 21, 6, 7 และ 9  แม้ว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างยาวนาน รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีตามสนธิสัญญาในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและสิทธิที่จะปลอดจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายได้

ตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แม้ในสถานการณ์ที่มีการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ  ตามความเห็นของคณะกรรมการ HRC นั้น การจำกัดใดๆ ต่อสิทธิดังกล่าว ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วน  นอกจากนั้น การจำกัดดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ หรือ “มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการเข้าร่วมการชุมนุม หรือทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าหวาดกลัว”   นอกจากนั้น ตามหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 2533 นั้น เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย  “จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือกรณีที่ไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ จะต้องจำกัดการใช้กำลังนั้นให้เหลือต่ำที่สุดสุดเท่าที่จำเป็น” แม้ในการจัดการกับการชุมนุมประท้วงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีความรุนแรงร่วมด้วยก็ตาม

นอกจากนั้น กฎหมายระหว่างประเทศห้ามการใช้ทหารเพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วง โดยอาจมีข้อยกเว้นได้เฉพาะใน “สภาพการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น และเป็นการชั่วคราว”  ในกรณีเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการอบรมที่เหมาะสม และต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ

หลักการว่าด้วยความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมสาธารณะ ยังปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งปวง มีความรับผิดชอบตามกฎหมายที่จะต้องงดเว้นจากการใช้กำลังที่เกินขอบเขต  รัฐภาคีของกติกา ICCPR มีพันธกรณีจะต้องสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และให้นำตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าสู่การไต่สวน ทั้งที่เป็นการกระทำโดยเจตนาและโดยประมาท อันเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการชุมนุมประท้วง  คณะกรรมการ HRC ยังย้ำว่า ผู้เสียหายจะต้องสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงานได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ของกองกำลังความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมประท้วงในอำเภอตากใบ ในการพิจารณาวาระปี 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติมีข้อสังเกตถึง “กรณีที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางของการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังความมั่นคง” โดยยกตัวอย่างกรณีของเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะต่อไปว่า รัฐบาลไทย “ต้องจัดให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่และไม่ลำเอียงต่อกรณีนี้ และเหตุการณ์อื่นๆ และควรกำหนดขั้นตอนปฏิบัติต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น โดยให้พิจารณาถึงข้อค้นพบจากการสอบสวน”  คณะกรรมการ HRC ยังได้สะท้อนความกังวลที่คล้ายคลึงกันในการทบทวนเมื่อปี 2560  และคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติก็ได้แสดงความห่วงกังวลในลักษณะใกล้เคียงอีกครั้งในปี 2565  แม้ว่าคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลแต่งตั้ง จะสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้บางคน แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ และยังไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยผ่านมาแล้วกว่า 19 ปี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายในการสลายการชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่แนวทางการบังคับใช้กฎหมายของไทยเพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะอันเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนต่อผู้ชุมนุมประท้วง  ในเดือนเมษายน 2553 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลกรณีที่ทหารไทยใช้กระสุนจริงระหว่าง “ปฏิบัติการราชประสงค์” ที่กรุงเทพฯ และได้สังหารผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ ซึ่งเป็นสมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสังหารอาสาพยาบาล  แม้ผ่านไป 11 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานที่ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจไทยใช้กำลังที่เกินขอบเขตเพื่อสลายการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ระหว่างช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 รวมทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ชุมนุมประท้วงหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งที่เป็นเด็ก  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากเหล่านี้ชี้ให้เห็นความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลไทย ในการประกันไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงซ้ำอีกต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ดังที่กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้กำหนดไว้

 

ข้อเสนอแนะ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567 เราขอกระตุ้นให้ทางการไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

 

สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

- ให้รื้อฟื้นการสอบสวนต่อการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุการณ์นี้โดยทันที และให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนกรณีนี้อาจใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล และจากการให้ปากคำขององค์กรภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการอิสระ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการรับฟังความเห็นจากผู้เสียหายและครอบครัว

- ให้การประกันว่า แนวทางและการปฏิบัติที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมสาธารณะ  จะสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากต้องมีการใช้กำลังใดๆ ให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และให้ใช้อย่างจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

 

สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุด

- สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อการควบคุมการชุมนุมประท้วง ในอำเภอตากใบ การสั่งฟ้องคดีนี้ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาที่เป็นธรรม

 

สำหรับกระทรวงยุติธรรม

- ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งทรัพยากรการเงินและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับช่องทางที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

- จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนใต้ (ตราบที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่) เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญารว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่าในการบังคับใช้กฎหมาย

 

สำหรับรัฐบาลไทย

- ในบริบทของพื้นที่ จชต. ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้ และแก้ปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

- ให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ จชต.

- ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติและการปฏิบัติของทางการทั้งปวง เพื่อประกันว่า เจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะ สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

- ชี้ชัดถึงความผิดพลาดในอดีต ยอมรับข้อผิดพลาด และใช้บทเรียนดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลจากกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลัง) เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

- ทำการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นองค์รวม ในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ เพื่อจำแนกมาตรการเพิ่มเติมที่อาจนำมาใช้ให้เกิดการเยียวยาที่เป็นผล การประเมินดังกล่าวต้องครอบคลุมมุมมองด้านเพศสภาพ เพื่อจำแนกความต้องการเป็นการเฉพาะของผู้หญิงชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

- ดูแลให้แนวทางการควบคุมการชุมนุม นำไปสู่การคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการชุมนุมประท้วงมีความสงบ มุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และรับประกันว่า จะไม่มีการใช้กำลังอย่างมิชอบต่อผู้ชุมนุมประท้วงอีกต่อไป

 

เอกสารสำหรับดาวน์โหลด

Thailand: Thai Authorities Must Act Now to Deliver Justice for Victims of the Brutal Protest Dispersal in Tak Bai