สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 14-20 ตุลาคม 2566

24 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ฝรั่งเศส: การห้ามชุมนุมสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ถือเป็นการโจมตีสิทธิในการชุมนุมอย่างไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม

16 ตุลาคม 2566

 

หลังจากการร้องขอจากเจอราลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฝรั่งเศสสั่งห้ามการชุมนุมสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด

ฌอง-คล็อด ซามูยเลอร์ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศฝรั่งเศสเผยว่า “การห้ามชุมนุมสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฝรั่งเศสถือเป็นการโจมตีสิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างร้ายแรงและไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม

เมื่อต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่กระทำโดยกลุ่มฮามาสทางตอนใต้ของอิสราเอล ตลอดจนการปิดล้อมและการทิ้งระเบิดอย่างหนักในฉนวนกาซา สิ่งสำคัญคือหน่วยงานภาคประชาสังคมจะต้องขับเคลื่อนอย่างสันติและเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งต้องเคารพสิทธิของประชาชนพลเรือน นี่คือสาเหตุว่าทำไมจึงไม่สามารถสั่งห้ามใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเพื่อสนับสนุนสิทธิของประชาชนชาวปาเลสไตน์

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงถือเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ทางการควรพยายามปกป้องและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นอันดับแรกเสมอ

“การสั่งห้ามจะชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีสาเหตุมาจากภัยคุกคามเฉพาะเจาะจง และเมื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีมาตรการอื่นๆ ที่เข้มงวดน้อยกว่าซึ่งสามารถรับประกันความสงบเรียบร้อยได้”


อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/ban-on-protests-supporting-palestinians-is-disproportionate-attack-on-the-right-to-protest-in-france/

 

----- 

 

อินเดีย: ความล้มเหลวในการออกกฎหมายการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถือเป็น ‘การถดถอย’ ทางสิทธิมนุษยชน

17 ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลฎีกาของอินเดียเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ซึ่งปฏิเสธที่จะให้การรับรองทางกฎหมายสำหรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันในประเทศ โดยปล่อยให้รัฐสภาเป็นผู้กำหนดกฎหมายที่จำเป็น

อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย เผยว่า นี่เป็นการพลาดโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำหรับศาลฎีกาของอินเดียในการเริ่มยุคใหม่ของเรื่องที่ต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างยาวนาน ทุกคนไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศใดก็ตาม ควรจะมีสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วน รวมถึงสิทธิในการแต่งงานด้วย

“ในขณะเดียวกัน คำตัดสินเกี่ยวกับการยุติการเลือกปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันและการขยายสิทธิของพวกเขาเป็นแนวโน้มเชิงบวกที่ส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังรัฐบาลอินเดียว่ากฎหมายของตนว่ากฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันกำลังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คำตัดสินในวันนี้จะต้องเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับรัฐบาลในการเริ่มต้นการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และแนวทางทั้งหมดที่เลือกปฏิบัติเนื่องจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และภาวะเพศกำกวมอย่างละเอียดถี่ถ้วน

“จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องไม่ล่าช้าในการดำเนินการนี้ผ่านคณะกรรมการที่เสนอโดยศาลฎีกาและยอมรับโดยอัยการสูงสุด และประกันว่าจะเปิดโอกาสในการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจังในประเด็นสำคัญนี้

“สิทธิในชีวิตครอบครัวคือสิทธิมนุษยชน และจะต้องได้รับการคุ้มครองสำหรับทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/india-failure-to-legalise-same-sex-marriage-a-setback-for-human-rights/

 

----- 

 

 

ซูดาน: พลเรือนยังคงถูกสังหารและพลัดถิ่นหลังจาก 6 เดือนของความขัดแย้ง

15  ตุลาคม 2566

 

ในขณะที่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) และกองทัพซูดาน (SAF) เข้าสู่เดือนที่ 6 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 5,000 ราย บาดเจ็บมากกว่า 12,000 ราย และประชาชนมากกว่า 5.7 ล้านคนถูกบังคับให้พลัดถิ่น

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทุกๆ วัน พลเรือนในซูดานถูกสังหารและพลัดถิ่น เนื่องจากความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วนถูกทำลายโดยไม่จำเป็นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

“ความยุติธรรมและความรับผิดชอบถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการคุ้มครองพลเรือน การขาดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมในอดีตอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุหนึ่งที่แท้จริงของความรุนแรงที่เริ่มขึ้นอีกครั้งนี้

“เรายินดีกับการดำเนินการที่มุ่งมั่นในสัปดาห์ที่แล้วจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในการจัดตั้งกลไกความรับผิดชอบระหว่างประเทศเพื่อรวบรวมและรักษาหลักฐาน และหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งให้ความร่วมมือในการดำเนินการนี้”

“คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะกระตุ้นให้ผู้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพิ่มการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมสำหรับซูดานอย่างมีนัยสำคัญ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอนุญาตให้มีการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีอุปสรรค คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องขยายการคว่ำบาตรอาวุธที่มีอยู่ไปยังซูดานทั้งหมดและประกันให้มีการบังคับใช้”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/sudan-civilians-still-being-killed-and-displaced-after-six-months-of-conflict/

 

----- 

 

ทวีปอเมริกา: รัฐต้องมุ่งมั่นในการประกันสิทธิของผู้อพยพระหว่างการประชุมสุดยอดในเม็กซิโก

20 ตุลาคม 2566

 

รัฐต่างๆ ในทวีปอเมริกาจะต้องคว้าโอกาสในการจัดการกับสถานการณ์ของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายแสนคนในภูมิภาคนี้จากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนในระหว่างการประชุมสุดยอดที่จะจัดขึ้นที่เมืองเชียปัส เม็กซิโก ในวันที่ 22 ตุลาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีและรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุม

อานา ปิคเก้ ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะต้องเป็นก้าวแรกสู่อนาคตที่ทุกรัฐในทวีปอเมริกาให้การประกันสิทธิของประชาชนทุกคนที่ถูกบังคับให้หลบหนีออกจากประเทศของตน การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงหาคำตอบที่ครอบคลุมในช่วงเวลาที่มีผู้คนมองหาสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อสร้างชีวิตใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในข้อเสนอแนะต่างๆ องค์กรเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ในภูมิภาคให้การประกันสิทธิในการขอลี้ภัยและหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและความรับผิดชอบร่วมกันในการคุ้มครองประชาชนที่ต้องการการคุ้มครอง ยุติการใช้กำลังรักษาความมั่นคงสาธารณะและเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจคนเข้าเมือง และประกันการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยุติจากการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/americas-states-must-guarantee-migrants-rights-summit-mexico/

 

-----

 

รัสเซีย: การควบคุมตัวบรรณาธิการของ RFE/RL โดยพลการเป็นสัญญาณของการเซ็นเซอร์ในช่วงสงคราม

19 ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวที่ว่า อัลซู คูร์มาชีวา บรรณาธิการของ Radio Free Europe/Radio Liberty’s (RFE/RL) Tatar-Bashkir Service ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลเพื่อรอดำเนินคดีในข้อหาอาญาฐานไม่ลงทะเบียนเป็น 'ตัวแทนต่างชาติ'

มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การประหัตประหารอัลซู คูร์มาชีวาเป็นตัวอย่างของการปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้งต่อการทำข่าวและสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในรัสเซีย นอกจากนี้ยังถือเป็นเพิ่มการคุกคามผู้ประกอบวิชาชีพสื่ออย่างน่าตกใจ เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ความผิดนี้เพื่อมุ่งเป้าโดยตรงไปที่นักข่าวสำหรับกิจกรรมทางวิชาชีพของพวกเขา ซึ่งทำให้เธอเสี่ยงต่อการถูกจำคุก 5 ปี

“นอกเหนือจากข้อหา 'ทำให้กองทัพเสื่อมเสีย' และข้อหาที่เหลวไหลอื่น ๆ ซึ่งใช้ในการคุมขังใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าซ่อนเร้นและแสดงการต่อต้านสงคราม ในตอนนี้ทางการรัสเซียได้ตัดสินว่าเพียงแค่เป็นลูกจ้างของสำนักข่าวต่างประเทศก็เพียงพอแล้วที่จะออกหมายจับและดำเนินคดี กรณีของอัลซู คูร์มาชีวาเป็นคำเตือนถึงนักข่าวชาวรัสเซียทุกคนที่ทำงานให้กับสื่อต่างประเทศและรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามในยูเครน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัลซู คูร์มาชีวาอัลซู คูร์มาชีวาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวแทนต่างชาติ' ตลอดจนบทบัญญัติที่นำมาใช้พร้อมกับการเริ่มต้นการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงกฎหมาย 'ข่าวปลอม' เกี่ยวกับกองทัพ และ 'การทำให้กองทัพเสื่อมเสีย'”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/russia-arbitrary-detention-of-rfe-rl-editor-signals-new-level-of-war-time-censorship/