องค์กรภาคประชาสังคมย้ำผู้ลี้ภัยทั่วโลกต้องได้รับการเคารพและสนับสนุนตามหลักมนุษยธรรม

21 มิถุนายน 2566

Amnesty International

6 องค์กรภาคประชาสังคมผนึกกำลังจัดงาน ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ เผย ไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคน อยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่ง ที่อยู่ในสภาพที่แออัด ขาดแคลน ยากลำบาก พร้อมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้ผลักดันนโยบาย กฎหมาย ส่งเสริมอาชีพ - รายได้ - การศึกษา เพื่อที่ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชายแดนไทย – เมียนมา จะไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงอันตราย 

องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ทุกวันที่ 20 มิถุนายน เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” (World Refugees Day) มีเป้าหมายจุดประกายให้ทุกคนระลึกถึงความเข้มแข็ง ความกล้าหาญของคนที่อาจถูกบังคับหรือยอมจำนน ให้ต้องหนีหรือย้ายไปจากประเทศของตัวเอง จากปัญหาความขัดแย้ง การประหัตประหารในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เพื่อให้ได้มีชีวิต อิสรภาพ ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จากประเทศที่พร้อมจะเป็นที่พักพิง โอบอุ้มคนเหล่านี้ในสภาวะเดือดร้อน ยากลำบากในชีวิต

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครองค์กรภาคประชาสังคม 6 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) ชุมทางอุษาคเนย์ (SEA Junction) ALTSEAN-Burma (Alternative ASEAN Network on Burma) โปรเกรสซีฟ วอยซ์ (Progressive Voice) มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Borders Foundation) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand)ได้ร่วมกันจัดงานฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาในหัวข้อ “ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง (Time for A Change) วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2566” โดยเน้นย้ำเรื่องความท้าทายที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ วิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเมียนมา เป็นเครื่องเตือนใจและย้ำเตือนว่าผู้ลี้ภัยทั่วโลกต้องได้รับการเคารพและสนับสนุนตามหลักมนุษยธรรมและตามหลักการไม่ทำอันตราย ซึ่งรัฐจะต้องรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยในความปลอดภัยและมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษา

 

 

แนะรัฐบาลชุดใหม่ “เปิดระเบียงมนุษยธรรม” คุ้มครองสิทธิผู้ลี้ภัย ไม่ไล่ออกนอกประเทศ

 

 

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรมในฐานะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เผยว่า มีความหวังให้ “วันผู้ลี้ภัยโลก” ทุกวันที่ 20 มิถุนายนทุกปี คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกจะต้องไม่พลัดถิ่นหรือเผชิญความทุกข์ยากเพราะมีสถานะผู้ลี้ภัยอีกแล้ว ส่วนตัวอยากให้วันนี้ เปลี่ยนแนวคิดว่าเป็นการเฉลิมฉลองความกล้าหาญของผู้ลี้ภัย มาเป็นการผนึกกำลังคุ้มครองสิทธิผู้ลี้ภัยภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การประกอบอาชีพ เข้าถึงการศึกษา ตามหลักสิทธิมนุษยชน

“ถ้าผมได้เป็นใครสักคนที่มีตำแหน่งผลักดันในรัฐบาลชุดใหม่ จะผลักดันประเด็นผู้ลี้ภัยให้มีสถานการณ์ดีขึ้นภายใน ค.ศ. 2025 จะเร่งเครื่องจุดประกายความหวังและทำให้เห็นปัญหาผู้ลี้ภัยให้มีแสงไฟในปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะการทำให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา กลับประเทศได้โดยสมัครใจ แต่ยอมรับว่ามีผู้ลี้ภัยมีเพียงร้อยละ 1 ที่กลับได้ สำหรับผมถ้าทำได้จะผลักดันให้ชาวโรฮิงญาออกจากห้องขัง ผู้ลี้ภัยทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนแรงงานข้ามชาติ ไม่แบ่งแยก เช่น เปิดโรงเรียนสอนภาษาเติร์กให้ชาวอุยกูร์เป็นผู้สอน หรือดึงทักษะที่ผู้ลี้ภัยมีมาในตลาดแรงงาน”

กัณวีร์ต่อเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคน เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่ารัฐไทยบูรณางานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เช่น การเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมานานได้รับโอกาสจ้างงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่ต้องเสียภาษีเหมือนคนทั่วไป หากทำเช่นนี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยลดจำนวนคนในค่ายผู้ลี้ภัยเกินครึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 50 จากจำนวนผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นโอกาสดีที่จะทำให้สังคมเติบโตและเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมารัฐไทยไม่เคยยอมรับว่ามีผู้ลี้ภัยในประเทศ มักจะบอกว่ามีศูนย์คนหรือไม่มีเลย ทั้งที่ความเป็นจริงชายแดนไทย – เมียนมา และทั่วประเทศ มีผู้ที่ต้องการลี้ภัยกว่า 2 - 3 แสนคน รอการช่วยเหลือจากรัฐไทยการเปิดระเบียงมนุษยธรรม หากทำเพียงลำพังไม่ได้ก็ไปร่วมกับประเทศสมาชิกแถบอาเซียนขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ในฐานะตัวแทนของพรรคพลังธรรมเชื่อว่า ไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นของตัวเอง เพิ่มค่ายผู้ลี้ภัยได้ และกำหนดสถานะผู้ลี้ภัยให้มีชีวิตดีขึ้นได้”กัณวีร์ กล่าว

 

โควิด-19 ตอกย้ำให้เห็นความไม่เท่าเทียมของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ

 

 

ด้านธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 ปทุมวัน - บางรัก - สาทร กรุงเทพมหานคร และเลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา ด้านการศึกษาและการพัฒนาผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาเผยว่า สังคมตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาก ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยยอมรับว่า โรงเรียนของเด็กผู้ลี้ภัยมีปัญหาความแออัด หลายแห่งต้องขยายห้องเรียนไปเรียนที่ลานจอดรถ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับภูมิภาค รวมถึงรัฐบาลไทย ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก พบการขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างเห็นได้ชัด จะเป็นสัญญาณที่ดีถ้าวันผู้ลี้ภัยโลกปีนี้ รัฐให้ความสำคัญเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากขึ้นในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีมนุษยธรรม ไม่บังคับผู้ลี้ภัยกลับประเทศไปเจออันตรายโดยเฉพาะประเทศที่ยังมีสงครามกลางเมืองอย่างเมียนมา รัฐไทยไม่ควรส่งกลับอย่างเด็ดขาด

ธิษะณาเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กว่า 9 หมื่นคน และมีมากกว่า 4 พันคนเป็นผู้ลี้ภัยในเมือง ขณะที่ช่วงเหตุการณ์รัฐประหารที่ผ่านมา มีคนไทยขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศกว่า 100 คน โดยเฉพาะกฎหมาย 112 ผู้ต้องหาทางการเมือง นักโทษการเมืองที่หลบหนี เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ส่วนตัวมองว่าสังคมและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องคำนึงถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้ด้วยว่าเป็นเหยื่อการละเมิดจากรัฐบาลหรือไม่ เหมือนกับชาวเมียนมาที่ขอลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย

“ขอประนามการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาไปสู่อันตราย เพราะทำให้เขาต้องเจอความเสี่ยงจากการประหัตประหาร ผู้ลี้ภัยควรต้องมีสิทธิการเข้าถึงสุขภาพไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป อย่างช่วงการระบาดของโควิด-19 จะพบความไม่เท่าเทียมกับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ เช่น ต้องรอวัคซีนหรือรอการรักษานานกว่าปกติ ในฐานะคนที่ทำงานเรื่องนี้ทุกคนต้องได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ข้าราชการต้องเข้าใจความเปราะบาง นายจ้างต้องให้ความสำคัญกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ รัฐไทยต้องไม่ทอดทิ้งผู้ลี้ภัย นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลผลักดันร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ท้ายที่สุดประเทศไทยควรมีวิธีการที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐคำนึงถึงความเปราะบางของผู้ลี้ภัย คำนึงถึงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ รู้จักวิธีระวังความอ่อนไหวด้วยมาตรการที่คำนึงถึงสิทธิ ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ด้วยการทำให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยถูกปฏิบัติด้วยความเมตตา”

ธิษะณาทิ้งท้ายว่า สิทธิการทำงานของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติที่ต้องขอทำบัตรสีชมพู สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือป้องกันการขูดรีด เรียกเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้บัตรชมพู เพราะถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธเนื่องจากไม่มีนายหน้า ทำให้เกิดขบวนการติดสินบนขึ้น จึงเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรถูกละเลยและต้องจัดการอย่างเข้มข้น พรรคก้าวไกลมีนโยบายทำระบบเพื่อให้แรงงานข้ามชาติทำบัตรชมพูได้ด้วยตัวเองหากมีเอกสารเพียงพอ โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบ และสะดวกกับคนทำงาน

 

เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง ชี้ท่าทีไม่โอบอุ้มผู้ลี้ภัยเป็นฝันร้าย ทำลายมนุษยธรรม 

 

 

นอ เกอะญอ พอ เลขาธิการองค์กรสตรีชาวกะเหรี่ยง (KWO) เล่าในเวทีเสวนาว่า ดูหนังสั้นทำให้นึกถึงชีวิตของตัวเองและครอบครัวต้องหลบหนีการโจมตีในเมียนมาและถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่เมื่อปี ค.ศ. 1970 มาอยู่ที่ชายแดนไทย-เมียนมา จำได้ว่าครอบครัวดิ้นรนไปกลับระหว่างไทย - เมียนมา เพื่อหลบหนีอันตรายจากการประหัตประหารในเมียนมานานพอสมควร ระหว่างยังไม่สิทธิผู้ลี้ภัย จนในที่สุดเมื่อตัวเองอายุ 11 ปี จึงได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ปัจจุบันมีค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทย 9 แห่ง มีผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคนตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา ขอบคุณรัฐไทยที่สร้างที่พักพิงให้เรา จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กปฐมวัย มีเซฟเฮาส์สำหรับผู้หญิงที่ถูกละเมิด เสริมศักยภาพผู้หญิงกะเหรี่ยงด้านอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตผู้ลี้ภัยให้ดีขึ้น

“แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายปีค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนเป็นที่พักพิงของการกักขังนักโทษ เพราะออกไปข้างนอกไม่ได้ ทำงานไม่ได้ การมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวจึงเป็นเรื่องลำบาก หากคิดเป็นเงินพบว่าผู้ลี้ภัย 1 คน มีรายได้เพียง 300 บาท/เดือน ทำให้หลายคนอยู่ในสภาวะหิวโหย และต้องพยายามหาเงินเลี้ยงครอบครัวเพื่อเอาชีวิตรอด ท่ามกลางความยากลำบากในค่ายผู้ลี้ภัย”

นอ เกอะญอ พอ เผยว่า อีกปัญหาคือการศึกษาของผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายในปัจจุบัน โดยเฉพาะการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ สามารถทำให้เด็กมีความรู้และนำไปใช้ต่อยอดศักยภาพด้านต่างๆ เมื่อเติบโตขึ้นได้ ที่ผ่านมาพบว่าการสนับสนุนเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอ หลายคนต้องทำงานโดยไม่ได้ค่าตอบแทน ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนต้องจ่ายเงินด้วยตัวเอง ขาดแคลนสื่อการสอน อุปกรณ์การเรียน ไม่เพียงพอ และไม่มีเงินเพียงพอสร้างอาคารรองรับเด็กนักเรียนที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยได้

นัยยะสำคัญอีกประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย นอ เกอะญอ พอ พูดถึงการที่รัฐประหารของเมียนมาตั้งแต่ปี 2564 ที่ชาวเมียนมาถูกโจมตี แต่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นไม่อนุญาตให้ที่พักพิงกับคนกลุ่มนี้ในไทย ทั้งที่รู้สถานการณ์ว่าในเมียนมาไม่ปลอดภัย วันผู้ลี้ภัยโลกปีนี้ จึงอย่างให้รัฐไทย โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดูแลเด็กแรกเกิด คนพิการ ผู้สูงอายุ ไม่ให้ถูกผลักดันไปเจออันตรายในเมียนมา

“ท่าที่ไม่โอบรับผู้ลี้ภัย ถือเป็นฝันร้ายกับผู้ลี้ภัย และผู้ที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ลี้ภัย อย่างฉันเข้าใจดีว่าสิ่งที่เขาต้องเผชิญเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ควรมีใครต้องเผชิญความอันตรายกับเรื่องนี้ เสนอให้รัฐไทยทบทวนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัย ทุกคนควรได้ทำงาน เด็กต้องได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อสิทธิประโยนช์ของเขา ไม่ควรมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระ มนุษย์ทุกคนควรใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพเท่าเทียมกัน”

 

 

อดีตผู้ลี้ภัยเมียนมา ชู รัฐไทยหนุนผู้ลี้ภัยมีบัตร Person of Concern (POC) ป้องกันอันตราย หยุดทรมาน

 

 

ที นาย อดีตผู้ลี้ภัยในเมืองยุค 90s เล่าว่าเป็นอดีตผู้ลี้ภัย หนีออกจากประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ปัจจุบันมีสถานะเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา ตอนเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ได้รับมิตรภาพ มีเพื่อนชาวไทย และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก เพราะเป็นที่ไว้วางใจของทุกคน ทำให้รู้ปัญหาของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เช่น การไม่ได้รับการคุ้มครอง ถูกตำรวจจับ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐไทยบางกรณีพบว่ามีบางคนถูกทรมาน เพราะไม่มีบัตร Person of Concern (POC) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ลี้ภัยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับ เพื่อป้องกันภัยอันตรายในชีวิต พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาไม่ได้บัตรนี้ เหมือนผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นที่มาอยู่ในเมืองไทย

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เราไม่ได้เผชิญความทุกข์มากพอเหมือนผู้ลี้ภัยประเทศอื่นๆ หรืออย่างไร ทั้งที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายคนเครียด กังวล เจอความทุกข์ สะท้อนเรื่องนี้ไม่ได้หมายว่าคนไทยใจร้าย แต่อยากพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย เช่น มีเพื่อนผมเสียชีวิต ไม่มีใครมารับศพ โรงพยาบาลก็ไม่เผา และมาคุยกับผมให้ช่วยไปรับศพในฐานะญาติ เพื่อให้ทำพิธีฝังได้ เนื่องจากเป็นกฎระเบียบ จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ หรือรัฐไทยทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย”

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก UNHCR ประเทศไทย ณ วันที่ 31 พ.ค.2566 มีผู้ลี้ภัยประมาณ 96,000 คน หนีจากความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

รายงานประจำปี และรายงานแนวโน้มผู้พลัดถิ่นทั่วโลกของ UNHCR ปี 2565 พบว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นจากสงคราม การประหัตประหาร ความรุนแรง และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สงครามในยูเครนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น นับเป็นการลี้ภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2