สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 3-9 กุมภาพันธ์ 2567

12 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

 

เมียนมา: การโจมตีทางอากาศของกองทัพที่สังหารพลเรือน 17 คน ‘ต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม’

8 กุมภาพันธ์  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในการตรวจสอบครั้งล่าสุดพบ การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาทำให้พลเรือน 17 คน รวมทั้งเด็ก 9 คนเสียชีวิต ขณะไปเข้าโบสถ์เมื่อเดือนที่แล้ว

การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 10.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม โดยมีเป้าหมายใกล้กับโบสถ์เซ็นต์ปีเตอร์แบบติสต์ในหมู่บ้านคานัน ภาคสะกาย ใกล้กับพรมแดนด้านตะวันตกของประเทศติดกับอินเดีย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน

พยานให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ระเบิดชุดแรกทำให้เด็กเสียชีวิตสองคน ระหว่างที่เล่นฟุตบอลในสนามใกล้กับโรงเรียน ผู้เสียชีวิตหลายคนอยู่ระหว่างวิ่งหนีไปหาความปลอดภัย เมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศครั้งที่สอง โดยการโจมตีครั้งนี้ทำให้โบสถ์และโรงเรียนเสียหาย รวมทั้งบ้านพลเรือนหกหลัง

“การโจมตีเหล่านี้ต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องส่งสถานการณ์ในเมียนมา เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3OFIFvt

 

-----

 

 

ยูเครน/รัสเซีย: ทหารยูเครน 33 นายถูกตัดสินจำคุกในทัณฑนิคมหลังการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

8 กุมภาพันธ์ 2567

 

สืบเนื่องจากข่าวว่าทางการรัสเซียได้ตัดสินจำคุกเชลยศึกชาวยูเครน 33 คน โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 27 ถึง 29 ปีหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แอนนา ไรต์ นักวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทหารยูเครนที่ถูกจับถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงภายใต้ประมวลกฎหมายอาญารัสเซีย แต่คำอธิบายอย่างเป็นทางการที่มีไม่มากนักของรัสเซียเกี่ยวกับ 'อาชญากรรมสงคราม' ที่ถูกกล่าวหาของทหารเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาถูกดำเนินคดีเพียงเข้าร่วมในสงครามโดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพยูเครน

“การพิจารณาคดีโดยสิ่งที่เรียกว่า 'ศาลสูงสุด' ของ 'สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์' ในลูฮันสก์ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองอยู่นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศด้านความเป็นธรรม

“แม้ว่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามที่กระทำโดยทั้งสองฝ่ายตลอดความขัดแย้งนี้ แต่จะไม่ต้องไม่ดำเนินคดีกับเชลยศึกเพียงเพราะมีส่วนร่วมในสงครามเท่านั้น อาชญากรรมสงครามในกรณีนี้เกิดขึ้นจากทางการรัสเซีย ซึ่งไม่ได้พิจารณาคดีของเชลยศึกอย่างเป็นธรรมตามปกติ

“รัสเซียจะต้องเคารพสิทธิของทหารยูเครนที่ถูกจับ และยุติการพิจารณาคดีที่หลอกลวงเช่นนี้”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49esa1Q

 

-----

 

 

สหภาพยุโรป: โอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสูญเปล่า

6 กุมภาพันธ์ 2567

 

สืบเนื่องจากการประกาศข้อตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยกฎระเบียบเกี่ยวกับการต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว

อีฟ เก็ดดี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสถาบันยุโรป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า
ข้อตกลงในวันนี้น่าผิดหวังอย่างยิ่งและยังห่างไกลจากก้าวประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่เรารณรงค์มาอย่างยาวนาน

“แม้ว่าจะมีองค์ประกอบเชิงบวก แต่ข้อเสนอที่ยอดเยี่ยมหลายข้อของคณะกรรมาธิการและรัฐสภาที่จะทำให้เกิดมาตรการที่เข้มแข็งและมีผลผูกพันกลับถูกรัฐสมาชิกปฏิเสธโดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการใช้คำนิยามของการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก ซึ่งถูกขัดขวางโดยประเทศต่างๆ รวมทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี และพันธกรณีในการประกันกลไกการรายงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่ไม่มีเอกสาร

“ในขณะที่การรับรองในกฎระเบียบดังกล่าวต่อการเลือกปฏิบัติในอัตลักษณ์ทับซ้อนเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่การละเว้นมาตรา 35 เป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อ ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงที่ไม่มีเอกสาร และผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการ (Sex Workers)

“เราขอย้ำเตือนรัฐบาลต่างๆ ว่ากฎระเบียบนี้กำหนดเพียงมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น และเราขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิกตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นมากกว่านี้เมื่อนำไปปฏิบัติใช้”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49bhEs4

 

----- 

 

อินเดีย: ทางการต้องหยุดการรื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิมอย่างไม่ยุติธรรมโดยทันที – รายงานใหม่

6 กุมภาพันธ์  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานที่เผยแพร่ร่วมกันสองฉบับเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ว่า การรื้อถอนบ้าน ธุรกิจ และสถานที่สักการะของชาวมุสลิมอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างกว้างขวางในอินเดียโดยใช้รถบูลโดเซอร์ JCB และเครื่องจักรอื่นๆ จะต้องหยุดทันที

รายงานทั้งสองฉบับ - ‘If you speak up, your house will be demolished’: Bulldozer Injustice in India’ และ ‘Unearthing Accountability: JCB’s Role and Responsibility in Bulldozer Injustice in India’ - บันทึกการลงโทษรื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิมอย่างน้อย 5 รัฐ โดยเลือกใช้รถบูลโดเซอร์หรือรถขุดแบรนด์ JCB อย่างกว้างขวางในการแสดงความเกลียดชังต่อชุมชนชนกลุ่มน้อย การรื้อถอนเหล่านี้เกิดขึ้นโดยได้รับการยกเว้นโทษอย่างกว้างขวางดังที่เห็นได้จาก การรื้อถอนที่ถนนมิรา หลังจากการชุมนุมที่วัดรามกลายเป็นความรุนแรงเมื่อต้นเดือนที่แล้วในเมืองมุมไบของอินเดีย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลของรัฐต่างๆ หยุดนโยบายรื้อถอนบ้านของประชาชนเป็นการลงโทษนอกกระบวนการยุติธรรมโดยพฤตินัยโดยทันที และประกันว่าจะไม่มีใครกลายเป็นคนไร้บ้านจากการถูกบังคับขับไล่ พวกเขายังต้องเสนอค่าชดเชยที่เพียงพอแก่ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อถอน และประกันว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดเหล่านี้จะถูกนำตัวมารับผิด

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การรื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิมอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยทางการอินเดีย ซึ่งผู้นำทางการเมืองและสื่อบอกว่าเป็น 'ความยุติธรรมด้วยรถบูลโดเซอร์' ถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายและน่าตกใจ การพลัดถิ่นและการพรากสิทธิดังกล่าวถือเป็นความไม่ยุติธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเลือกปฏิบัติอย่างยิ่ง พวกเขากำลังทำลายครอบครัว และต้องหยุดทันที

“ทางการได้บ่อนทำลายหลักนิติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการทำลายบ้าน ธุรกิจ หรือสถานที่สักการะ ด้วยความเกลียดชัง การคุกคาม ความรุนแรง และการใช้รถบูลโดเซอร์ JCB เป็นอาวุธแบบมุ่งเป้าหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3HZ5dDL

 

----- 

 

โลก: การแก้ไขนโยบายคำพูดที่สร้างความเกลียดชังต่อไซออนิสต์จะต้องไม่จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อนโยบายที่กดขี่ของอิสราเอล

9 กุมภาพันธ์  2567

 

สืบเนื่องจากการเสนอแก้ไขนโยบายเนื้อหาของ Meta เกี่ยวกับการใช้คำว่าไซออนิสต์ (“Zionism” หรือ “Zionist”) 

อาเลีย อัล กุสเซน นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์และสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ เทค (Amnesty Tech) เผยว่า Meta ต้องประกันว่านโยบายเนื้อหานั้นไม่มี การเลือกปฏิบัติหรือมีอคติต่อเสียงที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ การห้ามวิพากษ์วิจารณ์ 'ไซออนิสต์' แบบครอบคลุมจะเป็นการจำกัดการแสดงออกอย่างเสรีที่ไม่ได้สัดส่วนและโดยพลการ และอาจนำไปสู่การจำกัดเสียงของชาวปาเลสไตน์ ชาวยิว และเสียงอื่นๆ ที่พยายามเรียกร้องความสนใจสำหรับอาชญากรรมโหดร้ายที่กระทำโดยกองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28,000 คนในเวลาเพียง 4 เดือน หรือระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติต่อต้านชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล

“มีอันตรายอย่างแท้จริงจากการแก้ไขนโยบายดังกล่าวที่จะขัดขวางการแสดงออกอย่างอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อต้านการละเมิดสิทธิชาวปาเลสไตน์อย่างเป็นระบบของรัฐบาลอิสราเอล และการโจมตีอย่างต่อเนื่องในฉนวนกาซา ซึ่งมีความเสี่ยงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ใกล้จะเกิดขึ้นจริง การแก้ไขที่เสนอนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในฉนวนกาซาในปัจจุบัน

“Meta ไม่ควรจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ผิดของรัฐ และจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกภายใต้หน้ากากของความชอบธรรมในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติ Meta และบริษัทอื่นๆ มีความรับผิดชอบภายใต้หลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในการเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งหมดตลอดการดำเนินงาน รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างเสรีและการไม่เลือกปฏิบัติ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้แสดงจุดยืนในเรื่องอุดมการณ์และระบบการเมือง เช่น ลัทธิไซออนิสต์ แถลงการณ์ของเราไม่ได้ประเมินหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลัทธิไซออนิสต์ในฐานะแนวคิดทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียปฏิรูปแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และเรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยกระดับการตอบสนองต่อวิกฤตความเกลียดชังทางออนไลน์ต่อชุมชนชาวปาเลสไตน์และชาวยิว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการละเมิดร้ายแรงของกองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา รวมถึงการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และการมุ่งเป้าไปที่พลเรือนโดยตรง และการลงโทษเป็นกลุ่ม

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4byQqNy