แอมเนสตี้กระตุ้นไทยยุติจำกัดเสรีภาพ ในโอกาสครบ 2 ปีรัฐประหาร

23 พฤษภาคม 2559

 

แอมเนสตี้แถลง 2 ปีรัฐประหาร เรียกร้องทางการไทยยุติจำกัดเสรีภาพประชาชน พร้อมแสดงความเป็นห่วงเนื้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ในโอกาสครบสองปีรัฐประหารในประเทศไทย แสดงความกังวลว่าการจำกัดสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบในประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ทั้งๆ ที่คณะรัฐประหารเคยสัญญาไว้ว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังแสดงความหนักใจเกี่ยวกับข้อบัญญัติใน “ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” ที่สวนทางกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านเสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว และการเซ็นเซอร์ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยความจำเป็นและความได้สัดส่วนด้วย

 

แอมเนสตี้กระตุ้นให้ทางการไทยยุติการขยายอำนาจและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องนานาชาติให้กดดันทางการไทยอย่างจริงจังด้วย

 


 

(คำแปล)

 

สองปีผ่านไปหลังจากกองทัพยึดอำนาจในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลและตั้งข้อสังเกตในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้อำนาจจำกัดสิทธิโดยพลการและมีเพิ่มขึ้นต่อผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ เรามีความกังวลเนื่องจากไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าทางการจะยกเลิกมาตรการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งเดิมทางการเคยสัญญาว่าจะใช้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวในขณะที่ยึดอำนาจ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ยังหนักใจกับอนาคตของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย เนื่องจากทางการยังคงบัญญัติและจัดทำกฎหมายที่เป็นภัยคุกคามทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อการใช้สิทธิเหล่านี้ในประเทศ

 

นับแต่รัฐประหาร โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการยังคงขยายบทบาทของกองทัพในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งรวมถึงการนำตัวพลเรือนเข้ารับการไต่สวนในศาลทหารและการควบคุมตัวพวกเขาในเรือนจำของทหาร ทั้งๆ ที่ผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกดำเนินคดีกระทำการที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กระตุ้นให้ทางการไทยยุติการขยายอำนาจของตนที่มุ่งจำกัดต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตโดยพลการ

 

ข้อบัญญัติในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สวนทางกับพันธกรณีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของไทย ในแง่การคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัว และให้อำนาจตามกฎหมายที่จะเซ็นเซอร์และสอดแนมข้อมูลโดยอ้างความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจที่เกินกว่าข้อกำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยความจำเป็นและความได้สัดส่วน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ยังกระตุ้นให้ประชาคมระหว่างประเทศกดดันต่อการทางการไทยอย่างจริงจัง เพื่อประกันไม่ให้มีการปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบเพิ่มขึ้นในปีต่อไป และไม่ให้มีการไต่สวนคดีต่อพลเรือนในศาลทหารตลอดจนไม่ใช้มีการการใช้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ซึ่งรวมถึงการควบคุมตัวในเรือนจำของทหาร