แอมเนสตี้ชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมาย กดดันไทยปล่อยตัว-ยกเลิกข้อหา 13 นักกิจกรรม

5 กรกฎาคม 2559

Amnesty International

ภาพ: ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ 13 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่โดนจับกุมและตั้งข้อหาจากการรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

          นักศึกษาเจ็ดคนที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลทหารและไม่ขอประกันตัว ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, อนันต์ โลเกตุ, ยุทธนา ดาศรี, กรกช แสงเย็นพันธ์, ธีรยุทธ นาบนารำ, สมสกุล ทองสุกใส และนันทพงศ์ ปานมาศ ส่วนนักศึกษาที่เหลือสามคนและนักกิจกรรมอีกสามคน คือ กรชนก ธนะคูณ, เตือนใจ แวงคำ, ปีใหม่ รัฐวงษา, วรวุฒิ บุตรมาตร, รักษ์ชาติ์ วงษ์อธิชาติ และพรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข

          ผู้ที่สนใจสามารถเขียนในภาษาไทยหรือภาษาของท่านเองโดยมีเนื้อหา

  • แสดงความกังวลกรณีนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 13 คนถูกจับและตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
  • กระตุ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 13 คนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
  • กระตุ้นให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการเมือง

กรุณาส่งจดหมายก่อนวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ไปยัง

รัฐมนตรียุติธรรม
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา
กระทรวงยุติธรรม
อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
เลขที่ 120 หมู่ 3 อาคาร A ถนนแจ้งวัฒนะ
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรสาร: +66 2953 0503
คำขึ้นต้น: เรียน รัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก ดุสิต
กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย
โทรสาร +66 2 282-5131
คำขึ้นต้น: เรียน นายกรัฐมนตรี

และส่งสำเนาจดหมายไปที่
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
นายศุภชัย สมเจริญ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เลขที่ 120 ม.3 ชั้น 2 อาคารรวมหน่วยราชการ บี
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210
โทรสาร 66-2-6943228  

          นอกจากนี้ ท่านยังสามารถส่งสำเนาจดหมายไปยังผู้แทนการทูตไทยในประเทศของท่าน กรุณาใส่ที่อยู่ของหน่วยงานการทูตตามรูปแบบด้านล่าง

                    ชื่อ ที่อยู่ 1 ที่อยู่ 2 ที่อยู่ 3 โทรสาร อีเมล์ คำขึ้นต้น

หมายเหตุ: กรุณาตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่สำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศของท่าน หากท่านส่งจดหมายหลังวันที่ที่ระบุไว้ข้างต้น

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

          รัฐบาลทหารของไทยซึ่งยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิรูปการเมืองที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 รวมทั้งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

          ในช่วงที่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของโรดแมปทางการเมือง ทางการยังคงใช้อำนาจอย่างกว้างขวางและเกินขอบเขตเพื่อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งขัดต่อพันธกรณีของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งการเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง สำหรับการกระทำและการแสดงถ้อยคำใด ๆ ที่ “ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” รวมทั้งการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะ “ก้าวร้าว” หรือ “หยาบคาย” เพื่อกดดันผู้มีสิทธิ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กำหนดให้มีโทษจำคุกหกเดือนและปรับ 10,000 บาท กรณีที่ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

          เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ต่างยืนยันผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง พวกเขาระบุว่าจะไม่ยอมให้มีการอภิปรายถกเถียงในที่สาธารณะ ไม่ให้มีการแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทางการยังประกาศจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้จัดทำวีดิโอที่มีการเต้นและร้องเพลง เพื่อเรียกร้องให้คนโหวตโนในการลงประชามติที่จะมีขึ้น รวมทั้งบุคคลใดที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐธรรมนูญโดยผ่านเฟซบุ๊คหรือการสวมเสื้อที่มีคำขวัญว่า “ไม่รับ” การกระทำทั้งหมดเหล่านี้เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีของไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 19 ของกติกา ICCPR ที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

          ในวันที่ 16 มิถุนายน ทางการประกาศว่าจะแจ้งข้อหาต่อประธานและแกนนำอีก 18 คนของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เนื่องจากได้ละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุม “ทางการเมือง” ของบุคคลห้าคนหรือมากกว่านั้น โดยทางกลุ่มได้พยายามจัดพิธีเปิดศูนย์ปราบโกงเพื่อตรวจสอบการลงประชามติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งตำรวจได้บุกเข้าไปยังที่ตั้งของกลุ่ม บังคับให้ยุติการทำพิธีเปิด ทั้งยังสั่งปิดศูนย์ปราบโกงทั่วประเทศอีกด้วย