10 ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษา ประจำปี 2023 ที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย อยากเล่าให้ทุกคนฟัง

12 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

ปี 2023 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้มีการทำงานเพื่อเผยแพร่สิทธิมนุษยชนศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เราได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษา กลุ่มนักกิจกรรม และองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมด 71 ครั้ง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 4,524 คน ใน 21 จังหวัด ให้กับ 30 องค์กรและสถาบันการศึกษา

ผ่านกิจกรรม หลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบห้องเรียน ค่าย เวิร์คชอป หรือวงคุยหนังสือ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 2023 ยังเป็นปีที่เครือข่ายอาสาสมัครสิทธิมนุษยชนศึกษา และนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ ริเริ่มจัดกิจรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนของตัวเองตามต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค

และนี่คือ 10 ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนจากปี 2023 ที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟัง

 

1. ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติ

23 ตุลาคม 2566 (แพร่)

 

 

แอมเนสตี้ประเทศไทยร่วมกับ KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่  และที่สำคัญครูเจษจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านเปาดงยาง ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านเปาปมดงยาง ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์อาข่าและไทใหญ่ มีเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่จำนวน 32 คน เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชน โดยมี กิจกรรมสำหรับเยาวชน เน้นการเรียนรู้เรื่องความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการเล่นเกมส์ พูดคุยแลกเปลี่ยน  และขณะเดียวกันก็มีวงคลีนิคให้คำปรึกษา โดยทีม ตี่ตาง-Titang สื่อกลางเพื่อการเข้าเข้าถึงกระบวนการยื่นขอรับรองสัญชาติไทยซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วม และพบว่ายังคงมีประชากรตกสำรวจที่ไม่ได้รับสถานะบุคคล ทั้งที่หลายคนยื่นขอสถานะมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม  

ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่นกลุ่มชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติ มีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมากกว่าคนทั่วไป อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางด้านภาษา การไม่มีสถานะพลเมือง และการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้พวกเขาไม่เข้าถึงบริการจากรัฐที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ การที่คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้พวกได้รู้ถึงสิทธิที่พวกเขาพึงมีในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าจะมาจากชาติพันธุ์ใด หรือมีสถานะพลเมืองหรือไม่ เพื่อให้พวกเขาลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ และเรียกร้องสิทธิเหล่านั้นจากหน่วยงานรัฐ

 

 

 

2. เวิร์คชอปทักษะการรณรงค์เพื่อผู้มีประสบการณ์ทางด้านจิตเวช

24 กันยายน 2566 (นนทบุรี)

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รับเชิญจากสมาคมผู้ดูแลไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ที่ทำงานกับครอบครัว และผู้ดูแลของผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวช ให้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหัวข้อความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน และทักษะงานรณรงค์ โดยกิจกรรมนี้มีทั้งการทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ทับซ้อน และทำความเข้าใจการกดทับและการตีตราทางสังคมผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวชต้องประสบ อีกทั้งยังมีการทดลองออกแบบงานรณรงค์เพื่อให้สังคม และภาครัฐปฏิบัติต่อผู้มีประสบการณ์ทางด้านจิตเวชอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีไอเดียการรณรงค์ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการรณรงค์ผ่านโซเชี่ยลมีเดียเพื่อลบอคติและความเข้าใจผิดๆ ของสังคมที่มีต่อผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวช หรือการเสนอให้รัฐมีโครงการทุนการศึกษาให้นักศึกษาแพทย์สาขาจิตเวช ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมากในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นเหตุให้จิตแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบผู้ป่วยหลายคน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และคุณภาพในการรับการรักษาของผู้ป่วย

 

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แอมเนสตี้ ยังจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องทักษะ และเครื่องมือการวิเคราะห์ที่จำเป็นสำหรับงานรณรงค์อีกด้วย เพราะเป้าหมายของสิทธิมนุยชนศึกษาคือการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง และผู้อื่น ซึ่งการรณรงค์คือหนึ่งวิธีการที่ประชาชนคนธรรมดาจะทำให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติ หรือทำให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนได้ โดยเฉพาะสิทธิของผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวช ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมมักตีตราและมองข้าม การเรียนรู้เรื่องทักษะการรณรงค์ไม่ใช่แค่การคิดประโยคฮิตติดหู แต่ต้องมีการวิเคราะห์ตัวแสดงทางสังคมที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่เราต้องการรณรงค์ การวิเคราะห์รากของปัญหาที่งานรณรงค์ของเราต้องการจะแก้ ไปจนถึงการวิเคราะห์โอกาสและความท้าท้ายที่มีผลต่องานรณรงค์ของเรา สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการคิด และออกแบบงานรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นส่วนสำคัญของงานสิทธิมนุษยชนศึกษา

 

 

 

3. Training of Trainers: อบรมทักษะกระบวนกรสิทธิมนุษยชนศึกษา

22-26 มีนาคม 2566 (นครปฐม)

 

 

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดอบรมทักษะกระบวนกร หรือ Training of Trainers เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครกระบวนกรที่จะมาร่วมกันเผยแพร่สิทธิมนุษยชนศึกษาทั่วประเทศ โดยในปีนี้เราได้คัดเลือกผู้สมัคร จากทั่วประเทศจำนวน 22 คนมาเข้าร่วมการอบรม 5 วัน 4 คืน ที่บ้านภู่หว่าน จังหวัดนครปฐม ในปีนี้เราได้เพิ่มการอบรมขึ้น 1 วันและเปลี่ยนเกณฑ์อายุผู้เข้าร่วมจาก 18 – 35 ปี เป็น 15 ปีขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายช่วงวัย และสาขาอาชีพ ได้มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ ไอเดียกิจกรรม และมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จึงมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นนักกิจกรรม ครู อาจารย์ และบุคลากรจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นที่หลากหลาย เช่น สิทธิคนไร้สัญชาติ สิทธิ LGBTQ+ สิทธิแรงงานข้ามชาติ สิทธิ Sex Worker และสิทธิผู้ลี้ภัย

 

 

เนื้อหาการอบรมตลอดทั้ง 5 วัน ครอบคลุมทักษะกระบวนกร เช่น ทักษะการฟัง จับประเด็น การตั้งคำถาม และการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วย Learning Curve อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เสริมองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อน ความเหลื่อมล้ำ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และมีช่วงให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองออกแบบ นำกระบวนกรเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียกได้ว่ามีครบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

 

 

นอกจากนี้หลังจากการอบรม แอมเนสตี้ยังมีการสนับสนุนทั้งเงินทุน และกิจกรรมอัพเดทองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับผู้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายอาสาสมัครของเรามีความพร้อมในการจัดห้องเรียนสิทธิด้วยตัวเองได้จริงอีกด้วย โดยตลอดทั้งปี 2023 มีเครือข่ายที่ผ่านการอบรมของเราไปจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนของตัวเองอย่างน้อย 10 ห้องเรียน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 500 คน

 

 

4. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  

1 ตุลาคม 2566 (ลำปาง)

 

 

หนึ่งในกิจกรรมที่อาสาสมัครกระบวนกรของเราได้ไปจัดคือ ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยเป็นกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาคณะครุศาสตร์จำนวน 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก เป็นกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำ และอำนาจทางสังคมในหลากหลายมิติ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 27 คน และครั้งที่สองเป็นการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาผ่าน “เกมไพ่เข้าใจสิทธิ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 97 คน 

 

 

แม้ประเทศไทยจะมีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วในแบบการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานระดับมัธยม แต่ก็ยังเน้นรูปแบบการท่องจำและการบรรยาย ทำให้บางทีผู้เรียนอาจจะมองว่าการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องยาก น่าเบื่อ หรือไกลตัว การที่เครือข่ายของเราได้ไปจัดกิจกรรมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้พวกเขาได้เห็นรูปแบบการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เรียน รวมไปถึงการประยุกต์ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และชีวิตประจำวัน เพื่อที่เมื่อพวกเขาเรียนจบและกลายเป็นครูในระบบการศึกษาไทย พวกเขาจะได้ช่วยเผยแพร่แนวทางสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ต่อไปในอนาคต

 

 

 

5. ค่ายนิติอาสาพัฒนาสังคม X HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR ตอน…เหมืองแร่ เมืองเลย

20 - 23 กรกฎาคม 2566 (เลย)

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นค่าย 4 วัน 3 คืน ที่แอมเนสตี้ ร่วมจัดกับ แอมเนสตี้คลับ ชุมนุมนิติอาสาพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ถึงเรื่องกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน โดยค่ายนี้เราได้พานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาชิกแอมเนสตี้คลับจากทั่วประเทศ ไปเยือนบ้านนาหนองบง อ. วังสะพุง จ.เลย เพื่อไปเรียนรู้การต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ในการปกป้องชุมชนของตัวเองจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่

 

 

ตลอดเวลาทั้งสี่วัน ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียป่าและภูเขาที่พวกเขาเคยใช้พึ่งพิงในการหาของป่า อาหาร วัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งวัสดุย้อมผ้า กล่าวคือป่าที่เคยเป็นแหล่งที่มาของรายได้ และปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีพของพวกเขาต้องหายไปเมื่อเกิดการทำเหมือง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารหนูหรือไซยาไนน์ในดินและแหล่งน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะใช้น้ำ หรือบริโภคปลา ผักน้ำ และข้าวที่ปลูกในชุมชนของตัวเองได้

 

 

นอกจากการศึกษาผลกระทบแล้ว เรายังมีกิจรรมการเรียนรู้ทักษะการรณรงค์ โดยให้ผู้เข้าร่วทดลองออกแบบงานรณรงค์เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน และสานต่อกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านต่อได้หลังจากจบค่าย  เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีการทำเหมืองในพื้นที่แล้ว แต่การฟื้นฟูและเยียวยาชุมชนให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมก่อนการทำเหมืองก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป

นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมปลูกป่า เพื่อทดแทนต้นไม้ที่ถูกทำลายจากการทำเหมืองอีกด้วย

 

 

6. อ่าน a right?: สิทธิมนุษยชนศึกษาผ่านวงคุยหนังสือ

6 สิงหาคม 2566 (กทม.)

 

 

การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียนหรือค่ายเท่านั้น ร้านหนังสือก็ทำได้เช่นกัน โดยกิจกรรมนี้เป็นการจัดวงคุยหนังสือ (Book Club) ที่ร้าน House of Common Book Cafe & Space มีผู้เข้าร่วมจำนวน 15คน ได้นำหนังสือที่ตัวเองชอบ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” โดยปกติแล้ว วงคุยหนังสือ มักจะให้ผู้เข้าร่วมอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่วงคุยหนังสือของเรา เปิดโอกาสให้ทุกคนนำหนังสือรูปแบบใดก็ได้มาร่วมแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ รวมบทความ เรื่องสั้น ทำให้วงหนังสือของเรามีทั้งนิยายที่เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน หนังสืองานศพของอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังในคดี 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำ หรือหนังสือรวมภาพการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนของประเทศไทยในช่วงปี 2563 ถึง 2564 ไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิค อย่างการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ของเปาโล เฟรรี และปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์

 

 

อีกหนึ่งความสำคัญของห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ คือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาฝึกงานฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนการประสานงาน ออกแบบกิจกรรม และเป็นผู้นำวงคุย เรียกได้ว่าการได้มาฝึกงานกับแอมเนสตี้ นอกจากจะได้มาเรียนรู้การทำงานของภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังได้มีโอกาสทำโครงการเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาของตัวเองอีกด้วย

 

 

7. ห้องเรียนสิทธิสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

23 พฤศจิกายน 2566 (กทม.)

 

 

แอมเนสตี้ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนให้กับสมาชิกสภาเด็กฯ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ในรูปแบบเวิร์คชอป 1 วันเต็ม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 23 คน

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้มีทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ เช่นโทษประหารชีวิต ระเบียบชุดนักเรียน และการทำแท้ง มีกระบวนการเรียนรู้เรื่องหลักการสิทธิเด็ก 4 ด้าน โดยเฉพาะสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อเรียนรู้ว่า การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เพียงแค่การเอาพวกเขามาเป็นเพียงไม้ประดับภายในโครงการ แต่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือริเริ่มโครงการด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยเป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังเรียนรู้เรื่องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง ผ่านม๊อบจำลอง ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้ลองประยุกต์ใช้หลักการสากลว่าด้วยเรื่องการชุมนุมในการสนทนากับผู้เห็นต่าง และเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย

 

 

กิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ได้มีโอากาสจัดห้องเรียนสิทธิให้กับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนและมีเครือข่ายทั่วประเทศ เพราะเราอยากให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อให้พวกเขาส่งต่อคุณค่า และองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนไปยังเครือข่ายของพวกเขา และเติบโตไปเพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่สิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง โดยกิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่มี ฟาน หรือ อัรฟาน ดอเลาะ ตัวแทนเยาวชนของแอมเนสตี้ประเทศไทย และสมาชิกสภาเด็กฯ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างทั้งสององค์กร และร่วมออกแบบกิจกรรม จนทำให้เกิดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้

 

 

8. หลักสูตร ปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตุลาคม - ธันวาคม 2566 (กทม.)

 

 

โดยปกติแล้ว แอมเนสตี้ มักจะได้รับเชิญจา์โรงเรียน และมหาวิทยาลัยให้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และการทำงานของภาคประชาสังคม ในฐานะวิทยากรรับเชิญ (Guest Speaker) เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ ทีมงานสิทธิมนุษยชนศึกษาของเราได้มีโอกาสเป็นผู้รับผิดชอบรายวิชาตลอดทั้งครึ่งภาคการศึกษา ของรายวิชาสิทธิมนุษยชน ภาควิชาปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ จำนวน 7 คลาส หลังการสอบมิดเทอม มีนักศึกษาทั้งหมด 12 คน

เนื้อหาของหลักสูตรครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ หลักการ คุณค่าพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน สิทธิในการร่วมกลุ่มสมาคม การทำงานของภาคประชาสังคม ทักษะและเครื่องมือการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และเรายังให้นักศึกษาทดลองออกแบบโครงการ และงานรณรงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามความสนใจของตัวเอง โดยประยุกต์องค์ความรู้ และเครื่องมือการรณรงค์ที่เรียนรู้จากรายวิชานี้ เสนอออกมาเป็นโครงการ และแผนการทำงาน เหมือนได้ทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชนจริงๆ โดยโครงการที่นักศึกษานำเสนอก็มีความน่าสนใจและหลากหลายทั้งในเชิงประเด็นและวิธีการ เช่นการรวบรวมรายชื่อเรียกร้องให้รัฐไทยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัยในราคาย่อมเยาว์ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องโรคซึมเศร้าภายในมหาวิทยาลัย และการสื่อสารเชิงรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศไทย

 

9. ค่ายสิงห์น้ำเงิน New Gen ครั้งที่ 2

17 พ.ย. 2566 (ปัตตานี)

 

 

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดค่ายสิงห์น้ำเงิน New Gen ครั้งที่ 2 ให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลายที่มีความสนใจด้านรัฐศาสตร์จำนวน 100 คน โดยคณะรัฐศาสตร์ได้เชิญอาสาสมัครกระบวนกรของแอมเนสตี้ไปจัดกิจกรรมสิทธิมนุษยชนศึกษาในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยและช่วยกันคิดถึงสิ่งที่จำเป็นต้องมีในชีวิต 10 อย่าง และมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน โดยอาสาสมัครกระบวนกรของเรา ได้เชื่อมโยงความเห็นของผู้เข้าร่วมไปถึงหลักการและคุณค่าของสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่จำเป็นต่อการมีชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อากาศ อาหาร ที่อยู่อาศัย ศาสนา การศึกษา และการรักษาพยาบาล ล้วนแล้วแต่เป็น สิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงได้ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน ศาสนาใด และเพศสภาพใด

 

 

นอกจากจะเป็นห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่จัดโดยอาสาสมัครกระบวนกรแล้ว ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้คือ เป็นค่ายที่เกิดจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MoU) ระหว่างแอมเนสตี้ ประเทศไทย กับคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี จนเกิดเป็นความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างสององค์กร โดยนอกจากการจัดค่ายแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวยังระบุถึงสนับสนุนให้เกิดการตั้งกลุ่มนักศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

 

10. โรงเรียนเบญจมราชาลัย

8 กุมภาพันธ์ 2566 (กทม.)

 

 

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ร่วมกับอาสาสมัครกระบวนกรได้มีโอกาสไปจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในหัวข้อ “อัตลักษณ์ทับซ้อน และความหลากหลายทางเพศ”  ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม. 4 โรงเรียนเบญจมราชาลัย จำนวน 281 คน ถือเป็นหนึ่งในห้องเรียนที่มีจำนวนเยอะที่สุดของปี 2023 โดยกิจกรรมนี้เราได้พาผู้เรียนไปทำความรู้จักกับแนวคิดเรื่อง “อัตลักษณ์ทับซ้อน” ผ่านกิจกรรมวงล้ออภิสิทธิ์ เพื่อเรียนรู้ว่า อัตลักษณ์ และสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว ศาสนา ระดับการศึกษา สรรถภาพทางด้านร่างกาย และจิตใจ ย่อมนำไปสู่อำนาจและการยอมรับทางสังคมที่แตกต่างกัน แม้ในเชิงหลักการแล้วเราควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทั้งจากนโยบายรัฐและคนอื่นๆ ในสังคม กิจกรรมนี้ยังำชวนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ว่านอกจากเพศชายหญิงแล้ว เรายังมีกลุ่มคนที่นิยามตัวเองเป็น ทรานส์เจนเดอร์ อินเตอร์เซ็กซ์ นอนไบนารี่ และอีกมากมาย ซึ่งสังคมยังไม่ยอมรับเท่ากับเพศชายและหญิง

 

 

เมื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิ LGBTQ+ แล้ว เราก็ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ โดยแอมเนสตี้ได้เชิญชวนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมเขียนเปลี่ยนโลก หรือ Write 4 Rights ผ่านการเขียนโปสต์การ์ด เพื่อให้กำลังใจ ยีเรน กับมาเรียน่า 2 นักปกป้องสิทธิ LGBTQ+ จากประเทศปรารากวัยผู้เรียกร้องการแก้กฎหมายให้พวกเธอเปลี่ยนชื่อของตัวเองเป็นชื่อผู้หญิงได้  เพราะกฎหมายของปรารากวัยในปัจจุบันระบุว่า ชื่อของบุคคลต้องตรงตามเพศกำเนิดของตัวเองเท่านั้น ยีเรนและมาเรียน่า และหญิงข้ามเพศคนอื่นๆ ในประเทศปรารากวัย จึงไม่สามารถใช้ชื่อที่พวกเธออยากเรียกตัวเองได้ตามกฎหมาย

นอกจากประเทศปรารากวัย เรายังเชิญชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนโปสต์การ์ดให้กำลังใจ นักกิจกรรมต่อต้านสงครามที่ถูกคุมขังในประเทศรัสเซีย และครอบครัวของเหยื่อที่เสียชีวิตในบ้านของตัวเองจากการยิงแก๊สน้ำตาของตำรวจควบคุมฝูงชนฝรั่งเศสอีกด้วย

 

 

 

คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาได้

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนเล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกล ในหรือนอกสถานศึกษา แอมเนสตี้ก็พร้อมที่จะจัดกิจรรมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้กับทุกคน เพราะ “สิทธิมนุษยชนศึกษาคือรากฐานของสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน” 

หากสนใจให้ฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษาของเราไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับกลุ่ม องค์กร หรือสถาบันการศึกษาของคุณ สามารถกรอกแบบฟอร์มได้ตามลิงค์ด้านล่าง

 

 

คุณสามารถติดต่อฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา ของแอมเนสตี้ประเทศไทย ได้ที่อีเมล activism.hre@amnesty.or.th

เยี่ยมชมเว็บไซต์สิทธิมนุษยชนศึกษาของเราได้ที่:https://hre.amnesty.or.th/ 
เรียนหลักสูตรสิทธิมนุษยชนออนไลน์ฟรีได้ที่:https://academy.amnesty.org/learn