18 พฤศจิกายน ครบรอบหนึ่งปีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ในการสลายภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น ย้อนทบทวนเกิดอะไรขึ้นบ้าง

19 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

#ราษฎรหยุดAPEC2022 นัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยกเลิกนโยบาย BCG ประยุทธ์ต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในการประชุมเอเปกเนื่องจากไม่มีความชอบธรรม และจะต้องยุบสภาอีกทั้งเปิดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มชุมนุมประกาศว่า จะเดินเท้าจากลานคนเมือง ไปศูนย์ประชุมสิริกิตวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้นำชาติต่างๆ แต่ตำรวจวางกำลังปิดกั้นถนนดินสอไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเส้นทางไปได้ มีการใช้กำลังในสองระลอก ครั้งที่หนึ่ง เวลาประมาณ 10.00 น. จากเหตุผู้ชุมนุมเปิดแนวรถกระบะที่จอดกีดขวางอยู่ และครั้งที่สอง ระหว่างที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่พักทานอาหารและนักกิจกรรมรุ่นเล็กทำกิจกรรมแสดงออกเผาพริกเผาเกลือ ครั้งนี้ตำรวจมุ่งปราบปรามแกนนำผู้ชุมนุมจับกุมเช่น บารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจนและณัฐวุฒิ อุปปะ กป.อพช. ตลอดทั้งวันจับกุมผู้ชุมนุมไป 26 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

 

ทั้งนี้การใช้กำลังในการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ต่ำกว่า 30 ราย รวมทั้ง ผู้ชุมนุม สื่อ พระ และตำรวจ

ผู้ชุมนุมหนึ่งราย คือ  พายุ บุญโสภณ  ถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณดวงตา ด้านขวา ต่อมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับมูลนิธิโอเมกา ได้ออกรายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐในการควบคุมการใช้กระสุนยางของตำรวจต่อประชาชน https://www.amnesty.or.th/latest/news/1099/

  • มีสื่อ ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 ราย
  • ช่างภาพรอยเตอร์ถูกสะเก็ดขวดแก้วจากแนวตำรวจเข้าที่ตาด้านขวา
  • ผู้สื่อข่าวThe Matter ถูกทำร้ายระหว่างการไลฟ์
  • ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกตีนิ้วแตก
  • ช่างภาพ Matter ถูกตำรวจตีที่ต้นแขนและมือ
  • ช่างภาพ Spacebar ถูกตำรวจตีเฉี่ยวแขน
  • ผู้สื่อข่าวจาก The Isaan Record ถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่

ต่อมานางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมผู้ชุมนุม  ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ  และเป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง

“ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใดๆ แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ มีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา มีสื่อมวลชนที่ถูกทุบตี ได้รับบาดเจ็บ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขากล้าที่จะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”

“ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งมีมาตรการรับมือและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง  และยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย”

“เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”  

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

ทั้งนี้เมื่อวันที่  2 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นลงความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม 'ราษฎรหยุด APEC 2022' เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุมที่ออกมาชุมนุมโดยสงบ มีการใช้กระสุนยางจนทำให้ผู้ชุมนุมสูญเสียดวงตา และกระทบเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน 

อ่านบันทึกการชุมนุมย้อนหลัง  https://www.mobdatathailand.org/case-file/1668790211858/