ระดับโลก: มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและพิการอีกหลายพันคนจากการใช้กระสุนยางโดยมิชอบของตำรวจ

14 มีนาคม 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย: © MARCO LONGARI/AFP via Getty Images

  • ตามข้อมูลรายงานฉบับใหม่ ตำรวจมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะใช้กระสุนยางและอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างอื่นอย่างมิชอบ ต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
  • ความแพร่หลายมากขึ้นของกระสุนยางและอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างอื่น ส่งผลให้มีการใช้กำลังมากขึ้นต่อผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้การบาดเจ็บถาวรเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานระดับโลก เป็นมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อควบคุมการค้าอุปกรณ์ควบคุมมวลชน และเพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิของการชุมนุมประท้วง

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงทั่วโลกมักนำกระสุนยางและพลาสติกมาใช้โดยมิชอบ รวมทั้งการใช้อาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างโหดร้าย และเรียกร้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งาน และให้มีสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อควบคุมการค้าที่เกี่ยวข้อง

รายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่เป็นการตีพิมพ์ร่วมระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนบกับมูลนิธิโอเมกา ที่เก็บข้อมูลจากงานวิจัยในกว่า 30 ประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยเก็บบันทึกข้อมูลจากผู้ชุมนุมประท้วงและผู้อยู่โดยรอบหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายสิบคนที่เสียชีวิตจากการใช้อาวุธเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงต่ำ อย่างไม่บันยะบันยังและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการใช้กระสุนวิถีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs)  เช่น กระสุนยาง และการยิงกระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง (rubberized buckshot) และระเบิดแก๊สน้ำตาที่เล็งและยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยตรง

แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า “เราเชื่อว่า มาตรการควบคุมระดับโลกที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อการผลิตและการค้าอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่เป็นผลในการใช้กำลัง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ มูลนิธิโอเมกา เป็นส่วนหนึ่งใน 30 องค์กรที่เรียกร้องให้มี  สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อห้ามการผลิตและการค้ากระสุนจลนศาสตร์ และอาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน และให้นำมาตรการควบคุมการค้าตามกรอบสิทธิมนุษยชนมาใช้ เพื่อควบคุมการจัดส่งอุปกรณ์การบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งกระสุนยางและพลาสติก

นายแพทย์ ไมเคิล ครอลีย์ ผู้ช่วยวิจัยที่ มูลนิธิโอเมกา เปิดเผยว่า สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานจะเป็นข้อห้ามต่อการผลิตและการค้าใดๆ ของอาวุธและอุปกรณ์เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์แบบยิงทีละนัด ที่โดยพื้นฐานมีอันตรายหรือไม่แม่นยำ กระสุนโลหะหุ้มยาง (rubber-coated metal bullets) กระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยางและเครื่องยิงแบบหลายลำกล้อง (multiple projectiles) ซึ่งทำให้เกิดการตาบอด และอาการบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิตทั่วโลก”

 

 

การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างมิชอบทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงทั่วโลก

อาวุธเหล่านี้ทำให้เกิดความพิการถาวรในหลายร้อยกรณี และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งอาการลูกตาแตก จอประสาทตาลอก การสูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง และการร้าวของกระดูกและกะโหลกศีรษะ การบาดเจ็บที่สมอง การฉีกขาดของอวัยวะภายใน และเลือดออกภายในร่างกาย ซี่โครงที่แตกและทิ่มแทงหัวใจและปอด ความเสียหายต่ออวัยวะเพศ และความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ

จากการประเมินของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของชิลี การปฏิบัติงานของตำรวจระหว่างการชุมนุมประท้วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตากว่า 440 ครั้ง ทำให้สูญเสียดวงตาหรือลูกตาแตกกว่า 30 คน มีอย่างน้อย 53 คนที่เสียชีวิตจากกระสุนที่เจ้าหน้าที่ยิงใส่ จากการศึกษางานวิจัยทางการแพทย์ในระหว่างปี 2533 ถึงเดือนมิถุนายน 2560 ทั้งยังสรุปว่า จากผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,984 คน มีผู้พิการถาวรมากถึง 300 คน โดยจำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก

นับแต่นั้นมา ความแพร่หลาย ประเภท และการใช้งานของกระสุนจลนศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มีการใช้รูปแบบทางทหารมากขึ้นเพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วง รายงานยังพบว่า แนวปฏิบัติระดับประเทศเพื่อควบคุมการใช้กระสุนจลนศาสตร์ มักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งระบุว่า การนำอาวุธเหล่านี้มาใช้จะต้องใช้งานเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น กล่าวคือเมื่อบุคคลที่รุนแรงเป็นภัยคุกคามอย่างเร่งด่วน และอาจทำอันตรายต่อบุคคลอื่น ตำรวจมักละเมิดระเบียบปฏิบัติเหล่านี้โดยไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

 

© Andrea Baldo/LightRocket via Getty Images
A rubber projectile fired by Spanish police at protesters in the streets of Barcelona on 18 October 2019.

 

ในเดือนเมษายน 2564 เลดี คาเดนา ตอร์เรส ซึ่งขณะนั้นอายุ 22 ปี กำลังเดินไปในที่ชุมนุมเพื่อต่อต้านการปฏิรูปภาษีที่กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย เป็นจังหวะที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่หน้าของเธอในระยะประชิด ทำให้เสียดวงตาไปข้างหนึ่ง 

ตอนนั้นฉันยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงได้เอาโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูปตัวเองไว้ แต่มองไม่เห็น” เธอบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

พวกเขาพยายามทำให้เรามีอาการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด เช่น การสูญเสียดวงตา เพื่อขู่ให้คนกลัว ทำให้พวกเขาไม่กล้าออกมา [และมาชุมนุมประท้วง]”

การตาบอดของเลดี คาเดนา ตอร์เรสกลายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนน่าตกใจ โดยเกิดขึ้นในพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันในประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และสหรัฐอเมริกา ระหว่างการชุมนุมประท้วงช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบัน

 

© Amnesty International
Leidy Cadena Torres lost an eye after she was hit with a rubber bullet fired by Colombian police at close range in Bogota on 28 April 2021.

 

กุสตาโว กาติกา นักศึกษาจิตวิทยาวัย 22 ปี สูญเสียการมองเห็นในตาทั้งสองข้าง เพราะถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนโลหะหุ้มด้วยยางที่ใบหน้า ระหว่างการชุมนุมประท้วงความไม่เท่าเทียมในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครต้องรับผิดจากการกระทำนี้ เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผมรู้สึกเหมือนมีน้ำไหลออกมาจากตา.....แต่ความจริงมันคือเลือด” เขาหวังว่าการบาดเจ็บของเขาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนี้กับคนอื่นอีก เขาบอกว่า “ผมยอมสละดวงตาเพื่อให้คนอื่นตื่นขึ้นมา”

 

© ZAKARIA ABDELKAFI/AFP via Getty Images
Jérôme Rodrigues, one of the leaders of the yellow vest protest movement, was permanently injured by a projectile fired by riot police in Paris on 26 January 2019.

 

ในสหรัฐอเมริกา การใช้กระสุนยางเพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เป็นสิ่งที่เกิดเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องทั่วไป ผู้ชุมนุมประท้วงคนหนึ่งถูกยิงที่ใบหน้าที่เมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ลูกตาผมแตกจากกระแทกของกระสุนยาง จมูกผมเลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิมมาที่บริเวณใต้ตาอีกข้าง คืนแรกที่นอนโรงพยาบาล พวกเขาพยายามรวบรวมชิ้นส่วนดวงตาของผมและเย็บเข้าด้วยกัน จากนั้นพวกเขาก็ขยับจมูกของผมกลับไปที่เดิมและซ่อมจมูกใหม่ พวกเขาใส่ตาเทียมให้ผมแทน ทำให้ปัจจุบันผมมองเห็นจากดวงตาข้างขวาเท่านั้น”    ในสเปน การใช้กระสุนยางจลนศาสตร์ขนาดลูกเทนนิสซึ่งอันตรายโดยตัวมันเองและมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งคนจากการถูกยิงที่ศีรษะ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 24 คน มี 11 คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตา ตามข้อมูลของกลุ่มรณรงค์ Stop Balas de Goma ที่ฝรั่งเศส จากการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย 21 คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและดวงตาจากกระสุนยาง พบอาการบาดเจ็บร้ายแรง รวมทั้งแตกเป็นชิ้น ร้าว และแตกหักของกระดูก อันเป็นผลทำให้ตาบอด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังบันทึกข้อมูลการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเล็งและยิงใส่โดยตรงต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส กาซา กินี ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก เปรู ซูดาน ตูนิเซีย และเวเนซุเอลา

ในอิรัก กองกำลังความมั่นคงจงใจยิงระเบิดแบบพิเศษที่มีน้ำหนักมากกว่าระเบิดแก๊สน้ำตาทั่วไป 10 เท่าใส่ผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยกว่า 20 คน เมื่อปี 2565 ที่ตูนิเซีย ชายอายุ 21 ปี เฮย์กัล รัชดี เสียชีวิตหลังถูกยิงด้วยกระบอกแก๊สน้ำตาที่ศีรษะเมื่อเดือนมกราคม 2564

ในโคลอมเบีย กองกำลังความมั่นคงได้ใช้ระบบยิงกระสุนวิถีโค้งแบบหลายนัน 30 ลำกล้อง ที่ชื่อว่า VENOM ที่เดิมจัดทำขึ้นสำหรับการใช้งานของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ฯ เพื่อยิงระเบิดแก๊สน้ำตาครั้งละหลายลูกใส่ผู้ชุมนุมประท้วง

 

© AHMAD GHARABLI/AFP via Getty Images
A member the Israeli security forces takes aim with a rubber-coated bullet launcher at protesting Palestinians on 18 June 2021.