สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 16-22 กันยายน 2566

25 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

 

จีน: ต้องปล่อยตัวนักกิจกรรม #MeToo และนักกิจกรรมด้านแรงงานที่เผชิญกับการพิจารณาคดีโดย 'ไม่มีมูลความจริง'

21 กันยายน 2566

 

นักกิจกรรมชาวจีน 2 คนซึ่งมีการเริ่มพิจารณาคดีในวันศุกร์กำลังเผชิญโทษจำคุกที่ยาวนาน เพียงเพราะทางการปักกิ่งกลัวการเคลื่อนไหวอย่างสันติของพวกเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ ขณะร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคมหลายสิบกลุ่มเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา

โซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน นักกิจกรรม #MeToo และ หวัง เจี้ยนปิง นักกิจกรรมด้านแรงงานถูกกล่าวหาว่า “ยุยงให้บ่อนทำลายอำนาจรัฐ” และต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือนานกว่านั้น หากถูกพิจารณาว่าเป็น “แกนนำ” ซึ่งก่อนการพิจารณาคดีในเมืองกว่างโจวทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน องค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ 32 แห่งได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาดังกล่าว

ซาราห์ บรูคส์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายกิจการเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าโซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน และ หวัง เจี้ยนปิง คือตัวแทนของนักกิจกรรมชาวจีนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกังวลสาธารณะในประเด็นทางสังคม พวกเขาตกเป็นเป้าหมายจากการเคลื่อนไหวโดยสงบเพื่อสิทธิสตรีและสิทธิแรงงานโดยรัฐบาลที่กลัวกลุ่มผู้เห็นต่าง”

“ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลเหล่านี้มีแรงจูงใจมาจากความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของทางการจีนที่จะบดขยี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่นักกิจกรรมในจีนปฏิเสธที่จะถูกปิดปากแม้ว่าการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เรียกว่าประเด็น 'อ่อนไหว' จะมีความเสี่ยงร้ายแรงก็ตาม”

โซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน เป็นนักข่าวที่มีส่วนร่วมในแคมเปญ #MeToo หลายครั้ง ในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ หวัง เจี้ยนปิง ให้การสนับสนุนทางกฎหมายแก่ผู้พิการและคนงานที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน เขายังเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของขบวนการ #MeToo ในจีนอีกด้วย

“ขบวนการ #MeToo ทั่วโลกได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ แต่ในจีน การเคลื่อนไหว #MeToo ต้องเผชิญกับการจับกุม การดำเนินคดี และการปฏิบัติที่โหดร้าย กรณีนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสภาพอันเลวร้ายของเสรีภาพการแสดงออกในประเทศ และขัดขวางไม่ให้เกิดสิทธิสตรีอย่างสมบูรณ์”


อ่านต่อ: https://bit.ly/3t7Gc59

 

----- 

 

 

อิหร่าน: ร่างกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะคือการโจมตีสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างน่ารังเกียจ

21 กันยายน 2566


สืบเนื่องจากข่าวว่ารัฐสภาของอิหร่านผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างร้ายแรง ตลอดจนการเพิ่มโทษจำคุกและค่าปรับสำหรับการฝ่าฝืนกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและเลือกปฏิบัติของอิหร่าน ไดอานา เอลทาฮาวี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาในอิหร่าน หากได้รับอนุมัติจากสภาผู้พิทักษ์ของอิหร่าน จะยิ่งทำให้การสอดส่องและควบคุมร่างกายของผู้หญิงแย่ลงไปอีก และทำให้ฝ่ายการเมือง ความมั่นคง และฝ่ายบริหารต่างๆ ของสาธารณรัฐอิสลามต้องหมกหมุ่นกับการปฏิบัติตามกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะและการควบคุมชีวิตของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

“ทางการอิหร่านกำลังเพิ่มการลงโทษผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่อ้างสิทธิมนุษยชนในเสรีภาพการแสดงออก ศาสนา ความเชื่อ และอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง การจู่โจมอย่างเต็มกำลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางการที่จะทำลายจิตวิญญาณแห่งการต่อต้านในหมู่ผู้ที่กล้ายืนหยัดต่อสู้กับการกดขี่ปราบปรามและความไม่เท่าเทียมกันเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมนุมประท้วง ‘สตรี ชีวิต และเสรีภาพ’

“ประเทศต่างๆ จะต้องเรียกร้องอย่างเร่งด่วนต่อทางการอิหร่านให้เพิกถอนร่างกฎหมายดังกล่าว และยกเลิกกฎหมายและระเบียบบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและเลือกปฏิบัติทั้งหมด นอกจากนั้นยังต้องดำเนินตามวิถีของกฎหมายระดับนานาชาติเพื่อนำเจ้าหน้าที่อิหร่านมารับผิดชอบในการออกคำสั่ง วางแผน และกระทำการละเมิดต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3sY8dMg

 

-----

 

 

ทวีปอเมริกา: การอพยพของชาวเวเนซุเอลาที่เพิ่มขึ้นเน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของโคลอมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และชิลีในการปฏิบัติตามพันธกรณี

21 กันยายน 2566

 

ในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เรื่อง Regularize and Protect: International obligations for the protection of Venezuelan nationals แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าโคลอมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และชิลี ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการปกป้องผู้ที่หลบหนีจากเวเนซุเอลาเพื่อปกป้อง ชีวิต บูรณภาพ และสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

อานา ปิคเก้ ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เมื่อเผชิญกับวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคนี้ โคลอมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และชิลี ไม่สามารถหรือไม่ต้องการปกป้องผู้ที่หลบหนีจากเวเนซุเอลา มาตรการและโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการเพื่อเสนอสถานะผู้อพยพปกติไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศเหล่านี้มีโอกาสและพันธกรณีในการปกป้องชาวเวเนซุเอลามากกว่า 5 ล้านคนในดินแดนของตนอย่างเร่งด่วน

“การไม่ได้รับสถานะผู้อพยพปกติเป็นเรื่องที่น่ากังวลโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่รอดชีวิตจากความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาพ ซึ่งยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ในประเทศเจ้าบ้าน ยังไม่มีการนำคำแนะนำของเราใช้เพื่อลดความเสี่ยงนี้ โดยรายงานฉบับใหม่ของเราเผยให้เห็นว่าโครงการที่มีอยู่ เช่น โครงการที่ดำเนินการในเปรูและชิลี ที่ไม่เพียงทำให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำ แต่เป็นประโยชน์ต่อสตรีชาวเวเนซุเอลาเพียงไม่กี่ครั้ง”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแจ้งเตือนประเทศต่างๆ ที่รับชาวเวเนซุเอลาว่าต้องประกันการเข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศและความคุ้มครองเสริมในรูปแบบต่างๆ อย่างเร่งด่วน มาตรการความคุ้มครองเสริมและการจัดระเบียบไม่สามารถทดแทนสถานะผู้ลี้ภัยได้ ไม่ว่าประเทศต่างๆ จะเลือกใช้โครงการคุ้มครองชั่วคราวหรือเสริมก็ตาม จะต้องประกันว่าโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเกณฑ์ความถูกต้องตามกฎหมาย การเข้าถึง และการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงหลักการไม่ส่งกลับ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าสถานการณ์วิกฤตที่ยังคงดำเนินต่อไปได้ส่งผลให้ผู้คนอีกมากกว่า 7.71 ล้านคนออกจากเวเนซุเอลาเพื่อแสวงหาความคุ้มครอง ตัวเลขนี้คิดเป็นมากกว่า 25% ของประชากรทั้งหมดของเวเนซุเอลา สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น จำนวนคนที่อยู่ในต่างประเทศแสดงการเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น 1,400,000 คนระหว่างเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2566

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/48we7on

 

-----

 

ฝรั่งเศส: โจมตีนักข่าวเพื่อปกปิด “รูปแบบการสมรู้ร่วมคิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

20  กันยายน 2566

 

สืบเนื่องจากการควบคุมตัวอาเรียน ลาฟริลลูซ์ นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานข่าวเอกสารรั่วไหลที่กล่าวหาว่ามีการใช้หน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสเพื่อกำหนดเป้าหมายพลเรือนในอียิปต์ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่เกือบสองปีหลังจากการเปิดเผยว่าฝรั่งเศสถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อประชาชนหลายร้อยคนในอียิปต์ แต่นักข่าวผู้เปิดโปงความโหดร้ายเหล่านี้กลับตกเป็นเป้าหมาย แทนที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ

“นี่ไม่ใช่แค่การปิดปากนักข่าวรายหนึ่งและคุกคามแหล่งข่าวที่เป็นความลับ แต่การกระทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีในวงกว้างต่อนักข่าวเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ ผู้พยายามเปิดเผยการกระทำที่คลุมเครือของหน่วยข่าวกรองฝรั่งเศส

“ศพบริเวณชายแดนอียิปต์ติดกับลิเบียได้เปิดเผยเรื่องที่ปกปิดไว้ของฝรั่งเศส และชี้ไปที่รูปแบบที่น่าสยดสยองและซ่อนเร้นของการสมรู้ร่วมคิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของฝรั่งเศส ซึ่งดำเนินการโดยระบอบการปกครองที่กดขี่ทั่วภูมิภาค”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3t7r6g5

 

----- 

 

แอลจีเรีย: รัฐบาลต้องหยุดปราบปรามสิทธิและปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกควบคุมตัวทันที

20  กันยายน 2566

 

รัฐบาลแอลจีเรียจะต้องยุติการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการเคลื่อนไหวโดยสงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ในการเปิดตัวการรณรงค์ใหม่เพื่อเปิดเผยผลกระทบจากการปราบปรามของทางการต่อผู้แสดงความเห็นต่างอย่างกล้าหาญ

ขณะนี้นักกิจกรรม นักข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายสิบคนถูกจำคุก และตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลดำเนินการจับกุมมากขึ้น และตั้งข้อหาเพิ่มเติมต่อบุคคลที่เพียงแค่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โหดร้ายของแอลจีเรียอยู่ภายใต้การตรวจสอบจริงจากนานาชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ในระหว่างการเยือนประเทศอย่างต่อเนื่องของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสำหรับเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม

“ในแอลจีเรียทุกวันนี้ ไม่มีใครที่แสดงความคิดเห็นอย่างกล้าหาญและวิพากษ์วิจารณ์จะปลอดภัยจากเงื้อมมือของทางการ ใครก็ตามที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุ จะต้องเผชิญกับการคุกคาม ข่มขู่ หรือการจับกุมโดยพลการเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน” เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“การปราบปรามของรัฐบาลจะต้องยุติทันที และผู้ที่ถูกจับกุมเพียงเพราะแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยสงบ รวมถึงนักข่าวและคนทำงานด้านสื่อที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่คลุมเครือและกว้างเกินไป เช่น 'เผยแพร่ข่าวปลอม' หรือ 'กระทำความผิดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ' จะต้องได้รับการปล่อยในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”

ทางการแอลจีเรียยังต้องให้ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับผู้รายงานพิเศษในระหว่างการเยือนประเทศ เพื่อประกันว่าผู้รายงานพิเศษจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่และเป็นอิสระ และสามารถติดต่อกับใครก็ตามที่ต้องการพบได้อย่างเป็นความลับและไม่มีผู้ควบคุม ทางการยังต้องประกันด้วยว่าผู้ที่ติดต่อกับผู้รายงานพิเศษจะไม่ต้องเผชิญกับการตอบโต้

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3rvto7Z