สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 9-15 กันยายน 2566

18 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

 

กัมพูชา: คณะกรรมการมรดกโลกต้องไม่เพิกเฉยต่อ ‘การบังคับขับไล่รื้อจำนวนมาก’ รอบนครวัด

10 กันยายน 2566

 

คณะกรรมการมรดกโลกจะต้องหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่น่ากังวลของการบังคับขับไล่รื้อรอบนครวัดที่เป็นแหล่งมรดกโลกในการประชุมในเดือนนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหลังจากส่งผลการวิจัยเบื้องต้นไปยังองค์การยูเนสโก ก่อนการประชุมของคณะกรรมการที่จะจัดขึ้นที่ริยาด ซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 10 – 25 กันยายน

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า คณะกรรมการมรดกโลกต้องไม่เพิกเฉยต่อการขับไล่ผู้คนรอบนครวัดของรัฐบาลกัมพูชาที่ตามรายงานมีจำนวนนับหมื่นครอบครัว ซึ่งจากผลเบื้องต้นของการวิจัยล่าสุดของเรา ถือเป็นการบังคับขับไล่ผู้คนจำนวนมากโดยอ้างการอนุรักษ์

“รัฐบาลกัมพูชาอ้างว่าเป็นการขับไล่ ‘ผู้อาศัยที่ผิดกฎหมาย’ เท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับการขับไล่ผู้ที่อยู่ใน 'หมู่บ้านดั้งเดิม' อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าใครมีสิทธิตามกฎหมายในการอยู่อาศัย หลายคนที่ถูกบังคับให้ออกไปบอกกับเราว่าครอบครัวของพวกเขาอาศัยอยู่ที่อังกอร์มาหลายชั่วอายุคนในพื้นที่ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม”

“เรายังได้บันทึกข้อมูลสภาพที่ย่ำแย่ของพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ซึ่งครอบครัวต่างๆ จะถูกย้ายมาอยู่ด้วย พื้นที่เหล่านี้ไม่มีบ้านหรือห้องน้ำ และครอบครัวที่ถูกขับไล่จะต้องสร้างบ้านของตนเอง ซึ่งขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าพื้นที่นั้นต้องมีการจัดหาน้ำดื่ม บ้าน และสุขาภิบาล ก่อนที่จะย้ายผู้คน”

ในเดือนมีนาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่ารัฐกำลังดำเนินการบังคับขับไล่ผู้คนจำนวนมากโดยทางการข่มขู่ครอบครัวต่างๆ ให้ออกจากพื้นที่อังกอร์เพื่อย้ายไปยังพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของรัฐบาล นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับผู้ที่ถูกขับไล่หรือกำลังเผชิญหน้ากับการขับไล่มากกว่า 100 คน

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/468o9ty

 

-----

 

 

อิหร่าน: หนึ่งปีหลังจากการชุมนุมประท้วง ประชาคมระหว่างประเทศต้องต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิดของการปราบปรามที่โหดร้าย

13 กันยายน 2566


ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องดำเนินตามวิถีแห่งความยุติธรรมในระดับนานาชาติเพื่อจัดการกับการลอยนวลพ้นผิดอย่างเป็นระบบของทางการอิหร่านที่รับผิดชอบในการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วงหลายร้อยคนและการทรมานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ในโอกาสที่อิหร่านจัดงานวันครบรอบหนึ่งปีของการชุมนุมประท้วง “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ”

ในปีที่ผ่านมา ทางการอิหร่านได้ก่ออาชญากรรมมากมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อขจัดอุปสรรคใดๆ ในการกุมอำนาจ ซึ่งรวมถึงการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายร้อยคน การประหารชีวิตผู้ประท้วง 7 คนโดยพลการ การจับกุมโดยพลการหลายหมื่นคน การทรมานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวมถึงการข่มขืนผู้ถูกควบคุมตัว การคุกคามครอบครัวของเหยื่อซึ่งเรียกร้องความจริงและความยุติธรรม และการตอบโต้ต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ฝ่าฝืนกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะที่เลือกปฏิบัติ

ไดอานา เอลทาฮาวี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ทางการอิหร่านใช้เวลาหนึ่งปีสร้างความโหดร้ายอย่างไม่อาจบรรยายได้ต่อผู้คนในอิหร่านเพียงเพราะการท้าทายอย่างกล้าหาญต่อการกดขี่ปราบปรามและความไม่เท่าเทียมกันเป็นเวลาหลายทศวรรษ หนึ่งปีหลังจากการเสียชีวิตของมาห์ซา/ซีนา อามีนี ในขณะที่ถูกควบคุมตัว ไม่มีการดำเนินคดีและลงโทษสำหรับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างและหลังจากการชุมนุมประท้วง ไม่มีแม้แต่การสอบสวนทางอาญากับเจ้าหน้าที่

“วันครบรอบการชุมนุมประท้วง ‘สตรี ชีวิต และเสรีภาพ’ เป็นเครื่องเตือนใจประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงความจำเป็นในการเริ่มการสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรงของทางการอิหร่านภายใต้เขตอำนาจศาลสากล แถลงการณ์ของรัฐบาลเรียกร้องให้ทางการอิหร่านยุติการใช้อาวุธปืนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายกับผู้ชุมนุมประท้วง หยุดทรมานผู้ถูกควบคุมตัว และปล่อยทุกคนที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การดำเนินการเหล่านี้จะแสดงให้เหยื่อเห็นว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยวในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Lmo39Z

 

-----

 

 

อียิปต์: ต้องปล่อยตัวผู้เห็นต่างคนสำคัญที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีสำหรับการแสดงออกทางออนไลน์ในทันที

5 กันยายน 2566

 

ก่อนการพิพากษาที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 16 กันยายน สำหรับฮิชาม คาสเซม นักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญและผู้จัดพิมพ์หนังสือที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ

ฟิลิป ลูเธอร์ ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยและนโยบายประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า การฟ้องร้องฮิชาม คาสเซม จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์เป็นสัญญาณว่าการรณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งของทางการอียิปต์เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยสงบและลงโทษผู้เห็นต่าง ซึ่งรวมถึงการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและกฎหมายที่รุนแรงเกินเหตุอื่นๆ ยังคงเกิดขึ้นต่อไปอย่างเต็มกำลัง

“การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นสิทธิมนุษยชน ฮิชาม คาสเซม จะต้องได้รับการปล่อยตัวในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอื่นๆ ของเขา

“แม้ว่าจะมีผู้เห็นต่างจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังที่ยาวนานและไม่ยุติธรรมเมื่อเร็วๆ นี้ แต่โลกจะต้องไม่ถูกหลอก รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าตกใจของอียิปต์เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนท่ามกลางการควบคุมตัวโดยพลการและการดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีมูลความจริงที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

“ทางการอียิปต์ต้องหยุดวงจรที่ไม่สิ้นสุดของการจับกุมและการดำเนินคดีที่มุ่งเป้าไปที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และหยุดใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างโดยด่วน รัฐทั่วโลกต้องเรียกร้องความยุติธรรมและเสรีภาพสำหรับผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็น”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3PFzeNj

 

-----

 

โลก: การชุมนุมประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

14  กันยายน 2566

 

ผู้คนหลายล้านคนในการชุมนุมประท้วงและกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นทั่วโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสะท้อนมุมมองของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่านี่คือสิ่งสำคัญในการพยายามป้องกันไม่ให้หายนะด้านสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และยุติการพัฒนาทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ๆ โดยทันที นอกจากนี้ยังสนับสนุนสิทธิของประชาชนในการแสดงออกอย่างเสรีและการรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future movement) ที่จัดและนำโดยเยาวชนจะเป็นแนวหน้าอีกครั้งในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ยุติธรรม คนรุ่นนี้เผชิญกับหายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย โดยมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน แต่ในปัจจุบันผู้นำในตำแหน่งที่มีอำนาจจำนวนมากกลับลงมือทำน้อยเกินไปในการที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัตินี้ และแม้กระทั่งไม่ทำตามสัญญาที่มีอยู่

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ดำเนินการทันทีเพื่อปกป้องสิทธิในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของทุกคนด้วยการสิ้นสุดยุคของการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และยุติความยากจนทางพลังงาน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3PEnT0e

 

-----

 

เม็กซิโก: นักปกป้องสิทธิในที่ดิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อมถูกเอาผิดทางอาญาจากการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วง

13  กันยายน 2566

 

การใช้กฎหมายอาญาอย่างไม่เหมาะสมเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเพื่อปกป้องที่ดิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อมในเม็กซิโก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ในการเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ Mexico: Land and Freedom? Criminalizing defenders of land, territory and environment ได้บันทึกข้อมูลการใช้ระบบยุติธรรมอย่างไม่เหมาะสมเพื่อขัดขวาง ลงโทษ และป้องกันไม่ให้นักปกป้องสิทธิชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิของตน

“การใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ชุมนุมประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นในการลดแรงจูงใจและทำลายการสนับสนุนสำหรับสิทธิในที่ดิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องน่าตกใจที่เห็นว่าเม็กซิโกจัดอยู่ในประเทศที่มีจำนวนการฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่แทนที่รัฐจะจัดการและป้องกันความรุนแรงนี้ กลับยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ อีกด้วย เช่น การตีตรา การคุกคาม การโจมตี การทำร้าย การบังคับให้พลัดถิ่น และการหายสาบสูญ” เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

สิทธิในการชุมนุมประท้วงเป็นวิธีการพื้นฐานที่นักปกป้องสิทธิในที่ดิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อมใช้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลไกด้านสถาบันอื่นๆ ล้มเหลวหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ หน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้ดำเนินคดีอาญากับพวกเขา โดยไม่สนใจหลักความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และได้สัดส่วน พวกเขาล้มเหลวในการพิจารณาบริบทของการชุมนุม สาเหตุที่แท้จริง และสิทธิของประชาชนในการปกป้องที่ดิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อม

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3RpGDSu