จีน: มติของ WTA ควรกดดันให้เกิดการสอบสวนอย่างเป็นผลต่อความรุนแรงทางเพศ

2 ธันวาคม 2564

Amnesty International 

ภาพถ่ายจาก: © Getty Images

สืบเนื่องจากมติของสมาคมเทนนิสหญิง (WTA) ที่จะยุติการจัดการแข่งขันใด ๆ ในจีน ดอเรน เหลา นักวิจัยประเทศจีนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้ 

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลร่วมกับ WTA เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ของรัฐ หลังจากเผิงฉ่วยได้ออกมากล่าวหา และหลังมีการอภิปรายทางออนไลน์ในเรื่องนี้ รัฐบาลจีนมีสถิติการปิดปากผู้หญิงที่ออกมากล่าวหาว่าถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางเพศ 

"มติของ WTA ที่จะชะลอจัดการแข่งขันในจีน หลังไม่ได้รับคำตอบอย่างเพียงพอเกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินทาง สวัสดิภาพและความปลอดภัยของเผิงฉ่วยที่เป็นนักเทนนิส แสดงให้เห็นว่าพวกเขาดำเนินการตามความรับผิดชอบในการตรวจสอบอย่างจริงจัง การตัดสินใจเช่นนี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนจากบรรดานักเทนนิสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ควรทำให้ทางการจีนตระหนักเป็นอย่างดีว่า ความพยายามของพวกเขาในการปัดข้อกล่าวหานี้ไปอยู่ใต้พรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยปราศจากการท้าทายได้  

ประชาคมโลก ควรจะยังกระตุ้นรัฐบาลจีนให้สอบสวนตามข้อกล่าวหาทั้งปวงเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยทันทีและอย่างเป็นผล ทั้งยังควรขอให้รัฐบาลจีนประกันว่า ผู้เสียหายจะมีเวทีที่จะแสดงความเห็นของตนอย่างเสรี โดยไม่ต้องเผชิญผลลัพธ์ที่ร้ายแรงใด ๆ”  

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ซีอีโอและประธานสมาคมเทนนิสหญิงประกาศในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมถึง “การระงับโดยทันที” ของการจัดการแข่งขันใด ๆ ของ WTA ในประเทศจีน แถลงการณ์ยังระบุว่า WTA ไม่สามารถขอให้นักกีฬาของตนเข้าร่วมการแข่งขันในจีนได้ ในขณะที่เผิงฉ่วยไม่ได้รับอนุญาตให้สื่อสารได้อย่างเสรี และ “ดูเหมือนจะถูกกดดันให้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศ”  

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน เผิงฉ่วยได้โพสต์ข้อความในเว่ยปั๋วที่เป็นโซเชียลมีเดียของจีน และกล่าวหาว่ารองนายกรัฐมนตรีจาง เกาลี่ที่เกษียณไปแล้ว ได้บังคับให้เธอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ต่อมามีการลบโพสต์และข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับตัวเธอในโซเชียลมีเดียของจีนอย่างรวดเร็ว  

การสื่อสารกับโลกภายนอกของเธอหลังเหตุการณ์นั้นเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีเพียงการส่งอีเมล์ไปยังหน่วยงานด้านเทนนิส ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ CGTN และเธอระบุว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศ “ไม่เป็นความจริง” และ “ทุกอย่างปรกติดี” เธอยังปรากฏตัวในวีดิโอคอลกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)

ประเทศจีนมีประวัติของการเผยแพร่ “แถลงการณ์” ที่เกิดจากการบังคับ ในนามของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น สื่อทีวีของรัฐได้ขอให้หวังอยู่และเจียง เทียนหยง ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีน “สารภาพ” ในขณะที่พวกเขาถูกควบคุมตัว