เมียนมา: ถึงเวลาที่บริษัทเมตาต้องจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญา จากบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © Maung Sawyeddollah

บริษัทเมตา ( META) ควรจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญาทันที จากบทบาทของเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว ในโอกาสครบรอบหกปีของปฏิบัติการที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา ซึ่งได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา การเผาทำลายหมู่บ้านหลายหลัง และการสังหารประชาชนหลายพันคน

อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กและการมุ่งแสวงหากำไรของบริษัทเมตา ทำให้เกิดกระบอกเสียงที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา และทำให้เกิดสภาพที่บีบบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์นี้ต้องหลบหนีออกจากเมียนมาเป็นจำนวนมาก 

แพท เดอบรูน หัวหน้าแผนกความรับผิดรับชอบของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หกปีผ่านไป นับตั้งแต่บริษัทเมตามีส่วนสนับสนุนให้เกิดความโหดร้ายอย่างมากแกระทำต่อชาวโรฮิงญา แม้จะถือเป็นตัวอย่างที่สุดโต่งมากสุดของบริษัทโซเชียลมีเดีย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวิกฤตสิทธิมนุษยชน แต่ชาวโรฮิงญายังคงรอคอยการเยียวยาจากบริษัทเมตา

“การสอบสวนของเราชี้ชัดว่า อัลกอริทึมที่อันตรายของเฟซบุ๊ก ที่มุ่งกระตุ้นเพียงให้เกิด “เอ็นเกจเมนต์” และกำไรของบริษัทไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มีส่วนกะพือความเกลียดชัง และสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานของกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชาวโรฮิงญาในเมียนมา เพื่อเดินทางเข้าสู่บังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน"

“ถึงเวลาที่บริษัทเมตาต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญา และแก้ไขแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก” 

ในเวลาเดียวกัน 25 สิงหาคม ยังเป็นวันครบรอบก้าวย่างสำคัญ ในการตรวจสอบให้เกิดความรับผิดรับชอบของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน เมื่อเนื้อหาหลักของ กฎหมายการบริการดิจิทัล (Digital Services Act - DSA) มีผลบังคับใช้สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์หลักในสหภาพยุโรป กฎหมาย DSA เป็นกฎหมายสำคัญที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิในยุคดิจิทัล ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางนอกเหนือจากในสหภาพยุโรป 

 

คำร้องส่วนตัวต่อบริษัทเมตาและมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก 

ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสำนักข่าว Al Jazeera เผยแพร่ปากคำของหม่อง ซอเย็ด ดอเลาะห์ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกบังคับให้ต้องหลบหนีจากหมู่บ้านในเมียนมาขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น เขาต้องหลบหนีผ่านหมู่บ้านและทุ่งนาที่ถูกเผาและเต็มไปด้วยซากศพ ปัจจุบันเขาต้องดำรงชีพในค่ายผู้ลี้ภัยคอกส์บาซาร์ในบังคลาเทศ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีคนอาศัยอยู่ราวหนึ่งล้านคน 

สมัยเขายังเป็นเด็ก ก่อนจะเกิดความเกลียดชังที่เกิดจากการสนับสนุนโดยเฟซบุ๊ก เขาและเพื่อนชาวมุสลิมโรฮิงญาส่วนใหญ่ สามารถวิ่งเล่นอย่างมีความสุขกับเด็กชาวพุทธในรัฐยะไข่จากหมู่บ้านใกล้เคียงได้ แต่ทั้งหมดเปลี่ยนไปเมื่อกองทัพเข้ามาในพื้นที่ 

“ผมอยากมีโอกาสพบกับมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และทีมงานของเขา พวกเขาอาจอยากมาพักในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ซักหนึ่งหรือสองคืน” ซอเย็ด ดอเลาะห์เขียน“ผมอยากบอกพวกเขาว่า คุณไม่รู้หรือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากของเราอย่างไร? ที่ผ่านมาเราได้ร้องขอพวกคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้พยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นกับพวกเรา...แต่พวกคุณกลับเพิกเฉยข้อเรียกร้องของเรา บอกผมมา ตอนนี้พวกคุณรู้สึกเห็นใจเราบ้างไหม? หรือคุณเห็นว่ามันเป็นเรื่องของข้อมูล หรือคุณเห็นว่ามันเป็นเรื่องของเงินเท่านั้น?”

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ปีที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับบทบาทของบริษัทเมตา ในการกระทำความโหดร้ายโดยกองทัพเมียนมาต่อชาวโรฮิงญาในปี 2560 โดยเผยให้เห็นว่า การศึกษาภายในตั้งแต่ปี 2555 ชี้ว่า บริษัทเมตารู้ว่าอัลกอริทึมของตนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงในโลกที่เป็นจริง ในปี 2559 งานวิจัยของบริษัทเมตาเองยอมรับอย่างชัดเจนว่า “ระบบการเสนอแนะข้อมูลของเรายิ่งสนับสนุนปัญหา” ของความคิดสุดโต่ง 

เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 กองกำลังของเมียนมาได้ปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้าย โดยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา พวกเขาสังหารชาวโรฮิงญาหลายพันคนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเด็กเล็ก ข่มขืน และใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา ทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญาระหว่างอยู่ในการควบคุมตัว และเผาทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญาหลายร้อยแห่ง ความรุนแรงเช่นนี้ผลักดันให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน หรือกว่าครึ่งของประชากรชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤตด้งกล่าว ต้องหลบหนีไปบังคลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน 

บริษัทเมตามีส่วนสนับสนุนให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา ในบริบทของความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ปี 2560  ทางบริษัทจึงมีส่วนรับผิดชอบตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่จะต้องจัดให้มีการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพต่อชาวโรฮิงญา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อประกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก ทุกบริษัทต่างมีความรับผิดชอบต้องเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งปวง ไม่ว่าจะดำเนินงานในที่ใดของโลก และตลอดทั้งกระบวนการทำธุรกิจ นับเป็นมาตรฐานการปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับและมีความคาดหวัง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานธุรกิจและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างเช่น หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และแนวปฏิบัติสำาหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Guidelines)

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านคำบอกเล่าโดยตรงของหม่อง ซอเย็ด ดอเลาะห์ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทวิเคราะห์ของแพท เดอบรูน หัวหน้าแผนกความรับผิดรับชอบของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล