สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 15 กรกฎาคม - 21 กรกฎาคม 2566

24 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ไทย: แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ต่อนักกิจกรรมเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์

18 กรกฎาคม 2566

 

ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ในคดีของนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ขณะที่เขามีอายุ 16 ปี

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สายน้ำไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือลงโทษใดๆ ตั้งแต่แรก กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพไป เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปี การดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาต่อสายน้ำ เน้นย้ำให้เห็นว่าทางการไทยได้พรากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบไปจากเด็กหลายคน

“ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีต่อสายน้ำ รวมถึงเยาวชนอีกกว่าร้อยคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่นๆจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทางการต้องดำเนินการอย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1147/

 

-----

 

 

กัมพูชา: การเลือกตั้งกำลังเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอย่างร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน

21  กรกฎาคม 2566

 

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาเลวร้ายลงอย่างมาก นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2561 มอนต์เซ แฟร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค ฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่าน ซึ่งคาดว่าจะเป็นชัยชนะของพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นพรรครัฐบาลของกัมพูชา หลังมีคำสั่งตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

“ทางการกัมพูชาใช้เวลาช่วงห้าปีที่ผ่านมา บั่นทอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการสมาคม มีการปราบปรามมากขึ้นต่อสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมในการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้เลือกพรรคที่ตนเองต้องการเลือกก็ตาม

“ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ทางการสั่งปิดหรือเพิ่มแรงกดดันต่อสำนักข่าวอิสระ มีการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้ายและคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ในการพิจารณาคดีจำนวนมาก และการจำกัดสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงแข่งขัน

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1148/

 

-----

 

 

ยูเครน: การโจมตีของรัสเซียต่อท่าเรือโอเดสซาเสี่ยงวิกฤตโลก ‘ระดับหายนะ’

20  กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการโจมตีครั้งล่าสุดของกองทัพรัสเซียต่อโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและโรงเก็บธัญพืชของโอเดสซา และต่อมามีการใช้คำขู่ที่คุกคามว่าจะโจมตีเรือเดินทะเลที่พยายามจะขนส่งธัญพืชของยูเครน

แอนนา ไรท์ นักวิจัยประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“การโจมตีของรัสเซียต่อโกดังเก็บธัญพืชในท่าเรือโอเดสซา หลังจากการถอนตัวออกจากข้อตกลงการส่งออกธัญพืชในพื้นที่ทะเลดำ (Black Sea Grain Deal) เป็นขั้นตอนที่อาจยกระดับวิกฤตโลกที่เกิดจากสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียไปสู่อีกระดับที่หายนะมากขึ้น

“เนื่องจากยูเครนเป็นคู่ค้ารายสำคัญในการจัดส่งธัญพืชทั่วโลกและยังนำเข้าธัญพืชส่วนใหญ่ไปยังแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ การขัดขวางของรัสเซียต่อการส่งออกธัญพืชของยูเครน และการทำลายอย่างโหดเหี้ยมในการโจมตีเพียงครั้งเดียวต่อธัญพืชอย่างน้อย 60,000 ตันและโครงสร้างพื้นฐานการส่งออกที่สำคัญ อาจจะนำความอดอยากมาสู่ประเทศที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งและปัญหาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอยู่แล้ว”

 

อ่านต่อ:  https://bit.ly/43CYW92

 

-----

 

โลก:  แอมเนสตี้ คว้ารางวัลอันทรงเกียรติด้านสิทธิมนุษยชนจากยูเอ็น หลังร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี

20 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการประกาศว่าประชาสังคมระดับโลกและแนวร่วมชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับรางวัลจากสหประชาชาติสาขาสิทธิมนุษยชนอันทรงเกียรติ จากความสำเร็จในการรณรงค์ให้ทุกคนสิทธิเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน โดยได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างองค์การสหประชาชาติ

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมในวงกว้างที่เกี่ยวข้องกับองค์กรภาคประชาสังคม ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม และชุมชนท้องถิ่น จากทั่วโลก เราได้ร่วมกันรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายปีเพื่อให้สิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพได้รับการยอมรับในระดับสากล”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3O1hsCp

 

----- 

 

รัสเซีย: นักกิจกรรม 20,000 คนถูกตอบโต้อย่างหนักและมีการปราบปรามกลุ่มต่อต้านสงครามในประเทศอย่างต่อเนื่อง

20 กรกฎาคม 2566

 

ทางการรัสเซียกำลังใช้กลยุทธ์ที่โหดร้ายมากขึ้นเพื่อปราบปรามนักกิจกรรมที่ต่อต้านสงครามในประเทศ ในขณะที่สงครามรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้ดำเนินผ่านไปแล้ว 500 วัน เอกสารใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดโปงกฎหมายและแนวปฏิบัติในการปราบปรามต่างๆ ที่รัสเซียใช้ในการปราบปรามขบวนการต่อต้านสงครามในประเทศ โดยมีนักกิจกรรมกว่า 20,000 คนที่ถูกตอบโต้อย่างหนัก

“การปราบปรามในรัสเซียมีเพิ่มมากขึ้น โดยยุทธวิธีที่ซับซ้อนและหลากหลายกำลังถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อปิดปากผู้ที่ต่อต้านสงคราม ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบที่ต่อต้านสงครามรุกรานยูเครนและผู้ที่แชร์ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์กองทัพรัสเซียต่างต้องเผชิญกับโทษทางอาญา โทษทางปกครอง และโทษที่รุนแรงอื่นๆ กฎหมายใหม่ที่ไร้สาระซึ่งเอาผิดผู้ที่แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีถูกนำมาใช้และมีผลในทันที”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/44Yy9VE

 

----- 

 

แอฟริกาใต้: แอมเนสตี้เข้าร่วมในคดีหมายจับปูตินในฐานะ Friend of the Court

19 กรกฎาคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอฟริกาใต้ ได้รับการยอมรับในฐานะบุคคลที่ไม่ใช่คู่ความแห่งคดีที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาล (friend of the court) ในการยื่นคำร้องเพื่อขอคำสั่งประกาศว่าหากวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเข้าร่วมการประชุม BRICS Summit ในแอฟริกาใต้ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ทางการแอฟริกาใต้มีหน้าที่ที่จะต้องจับกุมเขา

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีปูติน และมาเรีย อะเลคซายีฟนา ลโววา-เบโลว่า (Maria Alekseyevna Lvova-Belova) กรรมาธิการด้านสิทธิเด็กในสำนักงานของประธานาธิบดีรัสเซีย ในเดือนมีนาคมสำหรับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามที่เกี่ยวข้องกับการพาตัวเด็กจากยูเครนไปรัสเซียอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการโยกย้ายเด็กจากพื้นที่ยึดครองของยูเครนไปรัสเซียอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในฐานะผู้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมที่ก่อตั้ง ICC แอฟริกาใต้มีหน้าที่จะต้องจับกุมและส่งตัวประธานาธิบดีปูตินไปยังศาลหากเขาก้าวเท้าเข้ามาในประเทศ ในปี 2545 แอฟริกาใต้ได้มีการนำกฎหมาย Implementation Act มาใช้เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการตามธรรมนูญกรุงโรมในประเทศ

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3OpxHth