แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ต่อนักกิจกรรมเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์

18 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : ©Getty

ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ในคดีของนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ขณะที่เขามีอายุ 16 ปี

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สายน้ำไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือลงโทษใดๆ ตั้งแต่แรก กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพไป เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปี การดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาต่อสายน้ำ เน้นย้ำให้เห็นว่าทางการไทยได้พรากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบไปจากเด็กหลายคน

“ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีต่อสายน้ำ รวมถึงเยาวชนอีกกว่าร้อยคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่นๆจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทางการต้องดำเนินการอย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่อง “ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา" (We are Reclaiming Our Future) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้บันทึกข้อมูลกรณีที่ภาครัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยของเด็กหลายคนระหว่างการชุมนุมประท้วงได้ และการจับกุมด้วยความรุนแรงและการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อบูรณภาพทางกายและใจของเด็กผู้ชุมนุมประท้วง

“เด็กและเยาวชนในประเทศไทย ยังคงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแสดงความเห็นของตน ดังในกรณีเด็ก 286 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาในช่วงที่ผ่านมานี้ รวมทั้งถูกข่มขู่และสอดแนมข้อมูลจากภาครัฐ ทั้งตำรวจยังใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินขอบเขตระหว่างการชุมนุมประท้วง

“ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประเทศไทยต้องประกันว่าเด็กสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีผ่านการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อการชุมนุม”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยได้รวมตัวกันบนถนนสีลมที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมประท้วงได้จัด “การเดินพรมแดง” โดยเป็นกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ในเชิงเสียดสีบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินพรมแดงโดยสวมเสื้อเอวลอยสีดำ

สายน้ำถูกดำเนินคดีหลายข้อหาจากกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามกฎหมายดังกล่าว บุคคลใดที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจได้รับโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี นอกจากนี้ สายน้ำยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่น รวมทั้งการละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว พระราชบัญญัติควบคุมโรค พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงอีกด้วย

วันที่ 12 กันยายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ตัดสินว่า จตุพร แซ่อึง หรือ นิว นักกิจกรรมวัย 23 ปี มีความผิดจากการเข้าร่วมการเดินแฟชั่นโชว์ครั้งเดียวกัน และถูกตัดสินให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’  หากศาลตัดสินว่าสายน้ำมีความผิด เขาจะถือเป็นบุคคลที่สองที่ถูกตัดสินลงโทษจากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ครั้งนี้

ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 11 กรกฎาคม 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่ามีเด็กอย่างน้อย 286 คน ซึ่งรวมถึงสายน้ำ ถูกดำเนินคดีอาญาจากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยมีเด็กอย่างน้อย 20 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ โดยให้ยกเลิกการดำเนินคดีตามข้อหานี้ต่อบุคคลที่ใช้สิทธิของตน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบด้วย

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: press@amnesty.org