สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 19 สิงหาคม - 25 สิงหาคม 2566

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

เมียนมา: ถึงเวลาที่บริษัทเมตา ( META) ต้องชดเชยให้กับชาวโรฮิงญา จากบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์ 

25 สิงหาคม 2566

 

บริษัทเมตา ( META) ต้อง ควรจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญาทันที จากบทบาทของเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์ที่ถูกคุกคามรังแก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว ในโอกาสครบรอบหกปีของปฏิบัติการที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา ซึ่งได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา การเผาทำลายหมู่บ้านหลายหลัง และการสังหารประชาชนหลายพันคน

อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กและการมุ่งแสวงหากำไรของบริษัทเมตา ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา และทำให้เกิดสภาพที่บีบบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์นี้ต้องหลบหนีออกไปจากเมียนมาเป็นจำนวนมาก

แพท เดอบรูน หัวหน้าแผนกความรับผิดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หกปีผ่านไป นับแต่บริษัทเมตามีส่วนสนับสนุนให้เกิดความทารุณโหดร้ายต่อประชาชนชาวโรฮิงญา แม้จะถือเป็นตัวอย่างที่สุดโต่งมากสุดของบริษัทโซเชียลมีเดีย ที่มีส่วนร่วมในวิกฤตสิทธิมนุษยชน แต่ชาวโรฮิงญายังคงรอคอยการเยียวยาจากบริษัทเมตา

 “ถึงเวลาที่บริษัทเมตาต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญา และแก้ไขแนวทางการดำเนินธุรกิจของตนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45wktSD

 

----- 

 

 

อิหร่าน: ต้องเคารพสิทธิของครอบครัวในการรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักในวาระครบรอบหนึ่งปีที่ถูกสังหารจากการชุมนุมประท้วง

21  สิงหาคม 2566

 

ครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยกองกำลังความมั่นคงของอิหร่านระหว่างการชุมนุมประท้วง “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” เมื่อปี 2565 ต้องได้รับอนุญาตให้จัดงานรำลึกในวาระครบรอบหนึ่งปีของการเสียชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อ 21 สิงหาคม 2566 ในขณะที่ทางการอิหร่านเพิ่มการคุกคามและการข่มขู่ครอบครัวของเหยื่อเพื่อบังคับให้ปิดปากเงียบและทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด

งานวิจัยฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวัน 21 สิงหาคมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยให้เห็นถึงวิธีการที่ทางการอิหร่านทำให้ครอบครัวของเหยื่อถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ กำหนดข้อจำกัดที่โหดร้ายในการชุมนุมโดยสงบในสถานที่ฝังศพ และทำลายป้ายหลุมศพของเหยื่อ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกนำตัวมารับผิดชอบในการสังหารผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายร้อยคนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยกองกำลังความมั่นคงในระหว่างการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทางการต่อการชุมนุมประท้วงของประชาชนภายหลังการเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวของมาห์ซา อามินี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565

ไดอานา เอลทาฮาวี รองผู้อำนวยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เห็นว่า ความเจ็บปวดทางจิตใจและความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่โศกเศร้าจากการปฏิบัติมิชอบของทางการถือเป็นการละเมิดข้อห้ามต่อการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

“ความโหดร้ายของทางการอิหร่านแบบไม่มีขอบเขต ด้วยการปกปิดอาชญากรรมของพวกเขา ยิ่งเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานให้กับครอบครัวของเหยื่อด้วยการห้ามไม่ให้พวกเขาเรียกร้องความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยา หรือแม้แต่การห้ามปลูกดอกไม้ไว้ที่หลุมศพของผู้เป็นที่รัก เมื่อวันครบรอบการชุมนุมประท้วงใกล้เข้ามา ครอบครัวของเหยื่อก็เกรงว่าทางการจะใช้แผนการปราบปรามเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาจัดงานรำลึก”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3P0nC6m

 

-----  

 

 

บังกลาเทศ: ผู้หญิงที่ถูกจับกุมหลังการโพสต์เฟซบุ๊กของลูกชายต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันที

23  สิงหาคม 2566

 

นาเดีย ราห์มาน รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สืบเนื่องจากการจับกุมอนิชา ซิดดิกา หญิงวัย 58 ปีในบังกลาเทศ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการควบคุมตัวเนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กของลูกชายของเธอ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดีและการพิพากษาลงโทษนักการเมืองฝ่ายค้านโดยศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ (ICT)

“ทางการบังกลาเทศกำลังแสดงแนวโน้มที่น่าตกใจของการไม่ยอมรับมุมมองที่ต่อต้านทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ การจับกุมแม่โดยทันทีหลังจากลูกชายโพสต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องไร้สาระและถือเป็นจุดต่ำสุดครั้งล่าสุดในบังกลาเทศ โดยมีรายงานการควบคุมตัวนักการเมืองและนักกิจกรรมฝ่ายค้านโดยพลการในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า ได้สร้างให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวและความหวาดระแวง

“ทางการบังกลาเทศต้องปล่อยตัวอนิชา ซิดดิกาโดยทันทีหรือตั้งข้อหาเธอในความผิดที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล ทางการยังต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการเพียงเพราะพวกเขาเหล่านั้นมีความเห็นต่าง การยืนยันและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไม่ใช่อาชญากรรม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3qN4rof

 

-----  

 

ยูเครน: ศาลรัสเซียพิพากษาจำคุก 13 ปี แม็กซิม บุตเควิช นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวยูเครน 

22  สิงหาคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การพิจารณาคดีอุทธรณ์ที่ศาลมอสโกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่พิพากษายืนตามโทษจำคุก 13 ปี สำหรับแม็กซิม บุตเควิช นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวยูเครน ถือเป็นข้อผิดพลาดด้านความยุติธรรม

เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13 ปีมาจากศาลสูงสุดในเมืองลูฮันสก์ของยูเครน ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองอยู่ ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าแม็กซิมไม่สามารถกระทำได้

“ศาลในมอสโกพิพากษายืนตามคำตัดสินที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีที่หลอกลวง ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีลับต่อจำเลยที่ถูกจำกัดการติดต่อกับทนายและโลกภายนอก และเห็นได้ชัดว่า เขาถูกบังคับให้ปรักปรำตัวเองในข้อหาที่เขาไม่สามารถกระทำได้”

ก่อนเกิดสงครามในยูเครน แม็กซิม บุตเควิช ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้ได้รับการคุ้มครองในยูเครน หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ แม็กซิมได้อาสาเข้าร่วมรบให้กับกองทัพยูเครน ต่อมาหน่วยของเขาถูกจับในแนวหน้าโดยกองกำลังรัสเซีย

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3OR5cVy

 

-----

  

เลบานอน: การโจมตีบาร์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็น 'สัญญาณ' ของสถานการณ์สิทธิที่ถดถอย

24 สิงหาคม 2566

 

อายา มัจซูบ รองผู้อำนวยการ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยหลังจากการโจมตีอย่างรุนแรงโดยกลุ่ม Jnoud El-Rab ซึ่งเป็นกลุ่มคริสเตียนขวาจัดต่อบาร์ที่ต้อนรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในเบรุตเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมว่า

“การโจมตีที่บาร์ Madame Om ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในการโจมตีผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามคำพูดที่แสดงความกังวลของนักการเมืองระดับสูงและบุคคลสำคัญทางศาสนา ทางการต้องประกันว่าจะนำตัวผู้โจมตีมารับผิดชอบและแสดงให้เห็นว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการกระทำดังกล่าวในประเทศที่ให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

“รัฐธรรมนูญของเลบานอนประกันความเท่าเทียม การแสดงออกอย่างเสรี และการชุมนุมอย่างเสรีสำหรับทุกคน และจะต้องเคารพสิทธิเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ Madame Om ถือเป็นสัญญาณร้ายว่าสถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศกำลังย่ำแย่ลง

“ทางการเลบานอนจะต้องหยุดสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยทันที รัฐบาลควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับการปกป้องจากความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3sr3lit