จากซีอุย ถึงมิก หลงจิ’ : โทษประหารชีวิตกับความยุติธรรมในสังคมไทย

12 ตุลาคม 2563

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ร้านหนังสือ (๒๕๒๑) จ.ภูเก็ต จัดงาน “End Crime, Not Life: ถ้าการเมืองดีโทษประหารชีวิตก็ไม่จำเป็น” ร่วมกับมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่กำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานคือสิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งโทษประหารยังเป็นการทรมานต่อร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย 

ภาพในงานมีนิทรรศการภาพถ่าย "Lives Matters" นำเสนอเรื่องราวจากแดนประหาร โดยโทชิ คาซามะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อใช้ภาพถ่ายในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเปิดให้ชมทุกวันถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00-19.00 น.

นพ.มารุต เหล็กเพชร ผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือ (๒๕๒๑) กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานทั้งยังบอกว่าร้านหนังสือ (๒๕๒๑) เป็นพื้นที่ที่ปกติมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและฉายหนังอยู่แล้ว เราคิดว่าชีวิตผู้คนเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ ในสังคม รวมถึงเรื่องความยุติธรรมและโทษประหาร จึงเกิดเป็นพื้นที่การพูดคุยและนิทรรศการนี้ขึ้น จากนั้นมีการเปิดคลิปวิดีโอ โทชิ คาซามะ ช่างภาพเจ้าของผลงาน "Lives Matters" ที่สะท้อนมุมมองของช่างภาพที่มีโอกาสได้ถ่ายรูปนักโทษเยาวชนในแดนประหาร

ต่อมาเป็นเวทีพูดคุย กระบวนการยุติธรรม-แพะ-โทษประหารชีวิต-เรา” ดำเนินรายการโดย เนาวรัตน์ เสือสอาด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

02.JPG

ฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้ทวงความเป็นธรรมให้ “ซีอุย” เล่าว่า เขาได้ยินเรื่องของซีอุยมาตั้งแต่เด็กว่าซีอุยเป็นชาวจีนอพยพและเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าเด็กและกินเครื่องใน พร้อมกับคำขู่ของพ่อแม่ว่าระวังซีอุยมากินตับ ญาติของเขาเคยพาไปดูพิพิธภัณฑ์ซีอุย เป็นร่างแห้งๆ ถูกโชว์ในตู้กระจก ต่อมาเมื่อโตขึ้นเขาพบข้อมูลอีกชุดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาเคยรู้มา คือการบอกว่าซีอุยอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิดและอาจไม่ใช่มนุษย์กินคน ซึ่งหนึ่งในคนที่บอกเรื่องนี้คือแม่ของเด็กที่ถูกฆาตกรรม

“ผมเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ผมกลับไปดูร่างซีอุยอีกครั้งและมองเขาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ผมไม่ได้มองว่าเป็นร่างของมนุษย์กินคน แต่นี่เป็นตัวอย่างของการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเขากระทำความผิดจริงหรือไม่ แต่เขาได้รับการลงโทษประหารชีวิตแล้ว การจัดแสดงร่างของเขาไม่ได้ให้อะไรแก่คนที่มาดูเลย คำพิพากษาในคดีฆาตกรรมเด็กคนสุดท้ายไม่มีส่วนไหนระบุว่าซีอุยเอาเครื่องในเด็กไปกิน เมื่อมีการนำร่างซีอุยไปศึกษามีประเด็นว่าซีอุยเป็นคนวิกลจริต หากเขาผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมเขาอาจไม่โดนลงโทษประหารชีวิตก็ได้ เพราะเขาป่วย”

นั่นเป็นเหตุที่ทำให้ฟาโรห์เริ่มเรียกร้องการคืนความยุติธรรมให้ซีอุย จนทางศิริราชยุติการจัดแสดงร่างและนำมาสู่การฌาปนกิจร่างซีอุย

“ผมถูกตั้งคำถามว่าเป็นอะไรกับซีอุย ผมไม่ได้เป็นญาติเขา แต่คิดว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง มีอะไรการันตีได้บ้างว่าในอนาคตร่างที่อยู่ในตู้กระจกนั้นจะไม่ใช่ผมหรือเพื่อนของผม เพราะยังมีระบบนี้อยู่ การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การตีตราคนยังเกิดขึ้น เราจึงต้องทำลายกรงล้อนี้”

ฟาโรห์ มองว่า ซีอุยถูกสร้างภาพจำจากการนำเสนอของสื่อ และการเรียกคืนความยุติธรรมก็ทำได้ผ่านสื่อเช่นกัน เรื่องนี้จึงควรเป็นบทเรียนให้สังคมเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นที่เราสามารถคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ซีอุยที่ถูกตีตรามาหลายสิบปี เช่นเดียวกันที่เราควรใช้พลังนี้สนับสนุนประเด็นทางสิทธิมนุษยชนต่างๆ ให้ผู้ที่กำลังถูกละเมิดอยู่ในสังคมไทย เพื่อการันตีว่าในอนาคตคนที่ถูกละเมิดสิทธิจะไม่ใช่เรา ลูกของเรา หรือคนที่เรารัก

“ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าการทำร้ายคนในนามของความยุติธรรมหรือความดี และในรัฐที่มีปัญหาต่างๆ ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าวันหนึ่งผมเดินอยู่ในบริเวณที่มีเหตุบางอย่างแล้วต่อมารูปผมขึ้นหน้าหนึ่งว่าเป็นอาชญากร คนจะรุมด่าทั้งประเทศและต้องการให้ผมตาย เราทุกคนมีโอกาสตกเป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจำเลย โอกาสนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ตำแหน่งไหนในสังคม เช่น คดีบอส อยู่วิทยา”

ข้อบกพร่องต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการสนับสนุนการใช้โทษประหาร ฟาโรห์มองว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ แต่พอเกิดคดีต่างๆ ขึ้น ผู้คนกลับสนับสนุนให้แก้แค้นด้วยการฆ่า แม้จะมีงานวิจัยว่าการประหารชีวิตไม่มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรม แต่คนก็ยังคิดว่าการประหารเป็นการยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำไปฆ่าต่อได้

“คุณเคยถามครอบครัวเหยื่อจริงๆ ไหมว่าเขาอยากได้อะไร เพราะความยุติธรรมจริงๆ คือการนำคนกระทำผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและผ่านกระบวนการยุติธรรม เราจับจ้องแต่การนำคนไปประหาร โดยไม่ได้คิดว่าได้สร้างความเจ็บช้ำทางจิตใจให้สองครอบครัว”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียสำคัญมากพอกับการคืนความยุติธรรม ทุกวันนี้สังคมมองเฉพาะแค่การเอาคืน แต่ไม่ได้คิดว่าครอบครัวผู้สูญเสียจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร รวมถึงครอบครัวนักโทษประหารที่ต้องถูกตีตราทั้งที่ไม่ได้ร่วมกระทำผิด

สิ่งที่ฟาโรห์เน้นย้ำทิ้งท้ายก็คือ “ความเสี่ยงที่สุดของโทษประหารคือการประหารผิดคน และเราไม่อาจหยุดยั้งอาชญากรรมได้ด้วยการฆ่าคนเพิ่มอีกหนึ่งคน”

01.JPG

ด้าน จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ เล่าว่าเธอได้เข้าไปพูดคุยและช่วยเหลือคดี “มิก หลงจิ” ในนามของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลังจากที่มีการประหารชีวิตไปแล้ว จากการพูดคุยกับครอบครัวมิกและครอบครัวผู้เสียหายในคดีเดียวกันพบว่า ทั้งสองครอบครัวยังติดใจที่ในคดีมีการระบุผู้กระทำผิดสองคน แต่ปัจจุบันยังจับอีกคนหนึ่งไม่ได้ ทั้งที่มิกถูกประหารไปแล้ว จากการอ่านสำนวนคดีพบว่ามีพยานหลักฐานที่จะทำให้ติดตามบุคคลดังกล่าวได้

“จากการลงพื้นที่มีข้อสังเกตหลายเรื่อง พฤติการณ์ในการก่อเหตุคือใช้มีดฟันและแทงผู้ตายหลายสิบแผล ตำรวจสรุปสำนวนสั่งฟ้องว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ แต่แฟนผู้ตายให้การว่าเห็นคนร้ายสองคนทำร้ายผู้ตายเพื่อเอามือถือและเงิน เมื่อให้ไปแล้วก็ยังทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีด ถ้าประสงค์ทรัพย์เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็น่าจะไป แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นคือมีความโกรธแค้นบางอย่าง ซึ่งครอบครัวผู้ตายบอกว่าน่าจะเป็นเรื่องชู้สาว แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกตั้งเป็นประเด็นสืบสวนสอบสวนของตำรวจ”

จันทร์จิรา กล่าวต่อไปว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลาเลิกเรียนที่มีคนพลุกพล่าน และทางเข้าออกสวนสาธารณะที่เกิดเหตุน่าจะมีกล้องวงจรปิด แต่ไม่มีการรวบรวมหลักฐานกล้องวงจรปิดส่งไปที่ศาล ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอจะลงโทษจำเลย แต่ใช้คำบอกเล่าของประจักษ์พยานคือแฟนผู้ตายในที่เกิดเหตุและคดีนี้มีการสอบพยานปากเดียว ทั้งที่พ่อแม่ผู้ตายทราบจากคนในชุมชนว่ามีคนอื่นๆ อยู่ในเหตุการณ์ เช่น แม่ค้าขายลูกชิ้น

“ตามปกติการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ อันดับแรกคือข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยว่าวันนั้นเขาอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ ถ้ามีการตั้งประเด็นว่าเป็นปัญหาชู้สาว ต้องตรวจข้อมูลโทรศัพท์ของแฟนผู้ตายว่ามีความผิดปกติใดที่จะเชื่อมโยงไปถึงปัญหาชู้สาวหรือไม่ แต่พอตั้งประเด็นเป็นชิงทรัพย์จึงไม่มีหลักฐานดังกล่าว ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฎีกา แต่พยานหลักฐานในสำนวนคดีนอกจากคำให้การของพยานปากเดียวในที่เกิดเหตุ แทบไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่จะยืนยันความผิดของจำเลยในคดีได้”

จันทร์จิรา กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนในชั้นตำรวจมีความพยายามปฏิรูปกันมานาน กรณีที่เกิดขึ้นกับซีอุยก็เป็นตัวอย่างให้เห็นความบิดเบี้ยวของงานสอบสวน สิทธิในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายในสังคมไทยยังมีข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพได้ มีบางกรณีที่กระทรวงยุติธรรมมารื้อฟื้นคดีแล้วพบว่าผู้ที่ถูกลงโทษไม่ใช่ผู้กระทำผิด กระบวนการยุติธรรมของเรายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ประชาชนยังไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐควรเป็นผู้จัดหาให้ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดเข้าไปสู่กระบวนการนั้น และให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดถูกตัว

“จากสถิติการรื้อฟื้นคดีของกระทรวงยุติธรรม มีจำนวนมากที่ผู้กระทำความผิดมารับสารภาพเอง ทำให้เราตั้งคำถามว่าการรื้อฟื้นคดีใหม่แล้วผู้กระทำความผิดตัวจริงมารับสารภาพหรือผู้เสียหายที่เคยชี้ตัวกลับคำให้การ มันสะท้อนอะไรบ้างในกระบวนการที่ผ่านมาก่อนจะถึงคำพิพากษาศาลฎีกา การยอมรับความผิดพลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ยอมรับความผิดพลาดจะไม่นำไปสู่การแก้ไข”

จันทร์จิรา มองว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือ กฎหมาย หรือระเบียบเพียงพอที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหาอยู่ที่ทางปฏิบัติ ข้อเสนอหนึ่งที่น่าจะพอเห็นความหวังคือการให้อัยการมาร่วมสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้สององค์กรคานอำนาจกัน โดยอัยการจะต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนตามหลักปฏิบัติ จะยกระดับความโปร่งใสขึ้น แต่ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันได้ เครื่องมือเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีประโยชน์เลย

ขณะที่คนในสังคมยังมองว่าการมีโทษประหารจะทำให้คนไม่กล้าก่ออาชญากรรม แต่จันทร์จิราชี้ให้เห็นว่ายังมีกรณีแบบสมคิด พุ่มพวง ที่ก่อเหตุจนต้องโทษประหารชีวิตแต่กลับถูกปล่อยตัวออกมาแล้วก่ออาชญากรรมซ้ำ สิ่งที่น่าตั้งคำถามในเรื่องนี้คือประสิทธิภาพของเรือนจำที่ควรจะทำให้ทุกคนปลอดภัยจากอาชญากร

“ยังมีหลายคดีที่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลยกฟ้องว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่หลังจากนั้นก็ถือว่าคดีจบไม่มีการตามหาคนกระทำผิดตัวจริง กรณีเช่นนี้ครอบครัวเหยื่อจะทำอย่างไร หรือมีหลายกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ในภายหลังมีผู้กระทำผิดตัวจริงมารับสารภาพ คำถามคือหลังจากนั้นมีการลงโทษทางวินัยกับตำรวจที่ทำคดีนี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ไปก่ออาชญากรรมในนามของกระบวนการยุติธรรม”

จันทร์จิรา มองว่าอีกสิ่งที่สำคัญซึ่งยังขาดหายไปในกระบวนการคือรัฐต้องเข้ามาเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจและสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเหยื่ออาชญากรรม ที่ผ่านมามีเงินจากกองทุนยุติธรรมซึ่งไม่เพียงพอ เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่ออาจเป็นคนที่มีอนาคตไกลที่จะกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว รัฐจึงต้องเข้ามาเยียวยา นอกจากนี้คือการเยียวยาความสูญเสียทางจิตใจของครอบครัวเหยื่อ เป็นเรื่องเชิงจิตวิทยาให้จิตใจครอบครัวผู้สูญเสียได้คลี่คลายความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียคนที่รัก

03.JPG

ด้าน เนาวรัตน์ เสือสอาด ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ย้ำว่าการคัดค้านโทษประหารของแอมเนสตี้ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนข้อหรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนในรูปแบบและวิธีการการลงโทษผู้กระทำความผิด และไม่ได้เพิกเฉยต่อความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ในโลกก็คงเป็นพวกที่ยอมให้อาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการทักท้วง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหุตผล

“ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจหลักของการทำงานของเรา ดังนั้นเราจึงไม่มีวันดูแคลนความทุกข์ทรมานของครอบครัวผู้เสียหายหรืออยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างแน่นอน และมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล เพราะยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น”

ทั้งยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แอมเนสตี้ทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับสากลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 โดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องสันติภาพ ประชาธิปไตย หลักแห่งกฎหมาย ซึ่งพัฒนามาเป็นกฎหมายสากลที่ได้รับการยอมกันในประชาคมโลก แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตจำนวน 55 ฐานความผิด รวมทั้งความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่ก็มีความผิดหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในกฎหมายระหว่างประเทศของการเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด”

เนาวรัตน์มองว่า ทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เห็นได้จากเมื่อ 43 ปีที่แล้ว มีเพียง 16ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต จนถึงทุกวันนี้มี 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกเห็นว่าโทษประหารไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขอาชญากรรมแต่อยางใด