วัฒนธรรมเชิงอำนาจ – โลกเปลี่ยนแปลง – สิทธิเด็กเปลี่ยนไป

26 มิถุนายน 2566

Amnesty International

สิทธิของหนูอยู่ไหน หรือ…อยู่ที่ใครมากำหนด ? วงเสวนาออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้เด็ก ผู้ใหญ่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับวัฒนธรรมเชิงอำนาจในระบบการศึกษา หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การเคลื่อนไหวของ ‘หยก’ เยาวชน อายุ 15 ปี ที่ออกมาเรียกร้อง ‘สิทธิเด็ก’ ช่วงฤดูกาลเปิดเทอมของเธอ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ด้วยการแต่งชุดไปรเวท ทำสีผม และปีนรั้วเข้าเรียน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 30 องค์กร จัดงานเสวนานี้ขึ้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วม และผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ไปจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ‘สิทธิเด็ก’ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทบทวนกฎระเบียบต่างๆ สู่การลดข้อพิพาทระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองในโรงเรียน ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีสิทธิ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก  

 

สิทธิเด็กคือโอกาส สิทธิเด็กไม่ใช่ปัญหา

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หรือ ‘ป้ามล’ ให้คำจำกัดความเรื่องสิทธิเด็กในวงเสวนา เธอมองว่า คนไทยอาจมีชุดประสบการณ์ความคิด 2 ขั้วที่แตกต่างกัน จากการบ่มเพาะของสังคมที่อยู่กันคนละยุคสมัย จนอาจทำให้หลายคนไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจคำว่า ‘สิทธิเด็ก’ จึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งที่เรื่องสิทธิเด็กเป็นระเบียบใหม่ของโลกที่หลายประเทศให้คุณค่าและให้ความสำคัญ ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเรื่องการเคลื่อนไหวของเด็กในโรงเรียนเพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นปัญหาระดับชาติ จนอาจมองข้ามเรื่องความคิดเห็นของเด็กอาจเป็นประตูบานใหม่ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ดีขึ้นได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต  

“สิทธิเด็กคือระเบียบใหม่ของโลก แต่สังคมไทยมองว่าเป็นปัญหา มีการเย้ยหยันกันหลายฝ่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญมาก ที่จะช่วยลดความบาดหมางระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ได้ แต่ระบบเชิงอำนาจต้องนำบทเรียนจากโรงเรียนที่ทำเรื่องสิทธิเด็กมาแล้ว เช่น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน มาสื่อสารกับสังคมในมิติต่างๆ ต่อสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ ได้เห็น และไม่หวาดกลัวกับระเบียบที่คำนึงถึงสิทธินักเรียน” 

 

ความปลอดภัย ความสุข เป็น…ความโหยหาของเด็กๆ

ป้ามล ให้ความคิดเห็นผ่านทัศนะของเธออีกว่า ในรั้วโรงเรียนเจ้าของเสียงส่วนใหญ่ควรเป็น ‘เด็ก’ การวางกฎระเบียบ หรือที่บางโรงเรียนเรียกว่า ‘ธรรมนูญนักเรียน’ จึงควรให้เด็กมีส่วนร่วมทุกครั้ง เพื่อความชอบธรรมในสังคมแห่งประชาธิปไตย เพราะการที่ผู้ใหญ่ไม่ให้เด็กแสดงความคิดเห็น ต้องยอมจำนนรับคำสั่งจากผู้ใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว อาจสร้างความกดดันให้คนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิให้มีเสียงดังขึ้นอีกครั้ง เหมือนปรากฎการณ์เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากกฎระเบียบทำให้ทุกเรื่องอยู่ตรงกลางได้ เปิดโอกาสให้เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ร่วมกันวางแผน ถกเถียง หาทางออกจนได้ข้อตกลงร่วมกัน เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาลักษณะนี้ และจะเป็นก้าวใหม่ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก ระเบียบใหม่ของโลก

“การให้เด็กมีส่วนร่วม ไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เราก็ต้องเข้าใจว่าวิถีการต่อสู้ที่ผู้ใหญ่ไม่ตอบสนอง มันก็ต้องมีการคำรามกันบ้าง อย่าเพิ่งเกลียดกัน ใครมีช่องทางไหนก็ช่วยกันทำ อยากให้มองว่า สิทธิเด็กคือโอกาส ไม่ใช่ปัญหาในยุคสมัยนี้” 

 

กฎระเบียบโรงเรียน วัฒนธรรมเชิงอำนาจระหว่างเด็ก - ผู้ใหญ่ 

“เราอยู่ในประเทศที่ครูคนหนึ่งกร้อนผมเด็ก ทำเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เสียงผู้ใหญ่ออกมาแผ่วเบามาก แต่พอเด็กใส่ชุดไปรเวท ย้อมผมสี กลับทำให้เราตื่นตัว รุมกระหน่ำ รุมประณาม จึงเกิดการตั้งคำถามว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหนกันแน่” 

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น หรือ ‘หมอโอ๋’ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน พูดถึง กรณี ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายในรั้วโรงเรียนว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนมิติสังคมหลายมุมมอง โดยเฉพาะวัฒนธรรมเชิงอำนาจระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเนื้อตัวร่างกายในรั้วโรงเรียน ที่เด็กส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบตั้งแต่ต้น จนเกิดการตั้งคำถามว่า กฎระเบียบต่างๆ ละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ ทั้งการตัดผมนักเรียน บังคับใส่ชุดนักเรียน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในการศึกษายุคสมัยนี้ 

“เดี๋ยวนี้คำว่าสิทธิเสรีภาพกลายเป็นคำแสลงหูผู้ใหญ่มาก ตามจริงผู้ใหญ่ยังแยกตรงนี้ไม่ชัด เด็กตั้งคำถามว่าชุดนักเรียนมันฝึกวินัยยังไง โดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ทั้งที่การฝึกวินัยมันมีเรื่องอื่นด้วย เช่น มาเรียนตรงเวลา ส่งการบ้านตรงเวลา ทิ้งขยะลงถัง เรื่องนี้มันก็เป็นการกำกับตัวเองไม่ให้ไปละเมิดสิทธิคนอื่นเช่นกัน แต่พอไปโฟกัสเรื่องการแต่งกาย มันเลยเกิดความไม่เข้าใจ เราเอาวินัยไปควบคุมอำนาจภายนอก ไม่ได้ควบคุมจากภายใจ จึงทำให้เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงในสังคม” 

 

ชุดความคิดเดิม อาจใช้ไม่ได้กับ ‘เด็กยุคปัจจุบัน’

‘หมอโอ๋’ ให้ความเห็นในวงเสวนาเพิ่มเติมว่า สังคมยังยึดรูปแบบความดีงามเพียบแบบเดียว เช่น ใส่ชุดนักเรียนเท่ากับน่ารัก เรียบร้อย มีระเบียบ แต่สมัยนี้อาจต้องมองให้กว้างขึ้น หากต้องการให้เกิดสังคมแห่งการสร้างสรรค์จริงๆ การกำหนดให้ทุกคนคนมีอัตลักษณ์เดียวกัน อาจไม่ใช่วิธีที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สร้างสรรค์’ ขึ้นได้ เพราะปัจจุบันเด็กได้รับชุดข้อมูลที่กว้างขึ้นตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย อาจทำให้การใช้ชุดข้อมูลหรือความเชื่อเดิมแบบสมัยก่อน ที่ยึดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ใช้ไม่ได้อีกแล้วกับเด็กยุคนี้  โดยเฉพาะกฎกติกาที่อาจไม่ได้คำนึงถึงจุดสูงสุดของเด็ก เช่น ไม่มีพ่อแม่เซ็นมอบตัวเข้าเรียน ต้องหลุดจากระบบการศึกษาในรั้วโรงเรียนนั้นทันที ทั้งที่มีเด็กจำนวนมากในประเทศไทย ก็ไม่มีพ่อแม่เหมือนกัน กรณีแบบนี้ถ้ายึดกฎกติกาเดิม การอาจเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ถูกตั้งคำถามว่าทำไมต้องตัดสิทธิการศึกษา ทั้งที่โรงเรียนควรโอบอุ้มเด็กเพื่อประโยชน์สูงสุดของเขาให้มากที่สุด

“เมื่อถูกกดทับมากๆ มนุษย์ก็จะแสดงออกด้วยการสู้กลับ เหมือนน้องหยกที่มีกรณีอยู่ เช่น ไม่ให้เรียนก็จะปีน แต่งชุดไปรเวทไปเรียน จะเห็นการลุกขึ้นสู้ ท้าทายอำนาจ หรือสู้โดยการดื้อเงียบ ไม่เถียง ไม่ทำ ไม่ร่วมมือ สิ่งเหล่านี้คือการสู้กับผู้มีอำนาจ หรืออีกแบบจะเจอเด็กที่ยอมๆ เป็นการผลิตเด็กที่ไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีอะไรที่ต้องโต้แย้ง เพราะคิดว่าเสียงของเราพูดไปก็เท่านั้น ไม่สำคัญอะไร ทั้งที่จริงมันสำคัญมากต่อการพัฒนาพลเมืองของชาติ หมอคิดว่าเราจะเจอปัญหาเรื่องนี้ยาวนานมากๆ นี่คือบททดสอบที่เราจะมองไปข้างหน้า” หมอโอ๋กล่าวทิ้งท้าย

 

‘ธรรมนูญนักเรียน’ ทางออกวัฒนธรรมเชิงอำนาจ สู่ ‘สิทธิเด็ก’ ในรั้วโรงเรียน

‘พิมพ์’ ตัวแทนนักเรียน ได้ออกมาส่งเสียงในวงเสวนาครั้งนี้ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียนตามหลักสิทธิเด็ก แต่สิ่งที่เด็กหลายคนต้องเผชิญ คือโรงเรียนปฏิบัติกับเสียงวิจารณ์หรือข้อเสนอแนะของเด็กแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรทำได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวมองว่าหากฎระเบียบถูกจัดทำขึ้นโดยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบ จะทำให้ระบบนิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป ช่วยลดความบาดหมางระหว่างครูนักเรียน และเด็กจะยอมทำตามข้อบังคับ

“โรงเรียนของเรามีธรรมนูญนักเรียน จะมีขั้นตอนตั้งแต่เลือกตัวแทนนักเรียนห้องละ 2 คน เป็นตัวกลางสื่อสารกับเพื่อในห้อง เพื่อไปแลกแลกเปลี่ยนระหว่างจัดทำธรรมนูญนักเรียนกับครู ผู้ปกครอง และตัวแทนนักเรียนระดับชั้นห้องอื่นๆ  ช่วงนี้ใช้เวลานานมาก เมื่อได้ร่างธรรมนูญขึ้นมา ก็ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย ทำประชามติ ถ้าคะแนนเสียงโหวตเกินกิ่งหนึ่งก็นำมาใช้ในโรงเรียน” 

นอกเหนือจากการได้ธรรมนูญที่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนร่วมกันทำขึ้นมา ‘พิมพ์’ เล่าว่า ระหว่างกระบวนการออกแบบ ทำให้เห็นมุมมองคนอื่นที่มีความคิดแตกต่างจากเรา เป็นเรื่องที่เด็กอย่างเรา และเพื่อนอีกหลายคน คาดไม่ถึงจำนวนมาก ช่วยทำให้เข้าใจความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ในฐานะตัวแทนโรงเรียน มองว่านี่เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่สร้างสังคมแห่งการมี Empathy หรือ การเข้าใจผู้อื่น ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น และพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เคารพซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สบายใจ เพราะมีส่วนร่วมออกแบบกติกาด้วยกันขึ้นมา

 

เด็กไม่เป็น Active Citizen เพราะการเรียกร้องที่ไร้เสียง

พิมพ์ แสดงความเห็นว่า เด็กนักเรียนอาจมีภาพจำเดิมๆ เพราะสิทธิหรือเสียงของเขาไม่ดังพอ นี่ถือเป็นการผลิตเด็กที่ไม่เป็น Active Citizen (คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม)เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีพลังมากพอที่จะส่งเสียงสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งที่การทำให้เด็กมีส่วนร่วม จะทำให้เขาเห็นว่าเสียงของเขาสำคัญมาก ที่ผ่านมาพบว่าการมีธรรมนูญในโรงเรียน เด็กกล้าคิด กล้าถาม กล้าแสดงออกมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เด็กเคารพกฎระเบียบ ไม่ฝ่าฝืน หรือที่ผู้ใหญ่บางคนเรียกว่าแหกกฎ เพราะเขามีความสุขจากสิ่งที่เขามีส่วนร่วม และส่วนตัวมองว่ากฎระเบียบโรงเรียนต้องเท่าทันโลก ไม่ใช้กฎล้าหลังแบบเดิมๆ ที่สร้างไว้เพื่อใช้ 30 – 40 ปี ทั้งที่โลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว 

“การที่โรงเรียนให้เด็กร่วมออกธรรมนูญ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมีพื้นที่ลองผิดลองถูก ทำให้เขาเจอความผิดพลาด กล้าใช้สิทธิใช้เสียง มันเป็น Growth Mindset หรือแนวคิดที่เชื่อว่าความสามารถของทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้เด็กกล้าแสดงออก เราเห็นว่ากฎมีทั้งข้อดีเสีย ไม่อยากให้มองข้อเสียเป็นเรื่องลบ แต่อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่ทำให้เราพัฒนาได้ แม้บางรูรั่วจะไม่สามารถอุดได้ตอนนี้ แต่ในอนาคตคิดว่าจะแก้ได้” พิมพ์กล่าว

 

เด็กทุกคนอยากมีความสุข เด็กทุกคนอยากมาโรงเรียนแล้วปลอดภัย

อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ‘ธรรมนูญนักเรียน’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมออกแบบ สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ ที่สำคัญเด็กเป็นมิตรกับครู เพราะได้ตั้งกติการ่วมกัน ที่สำคัญการให้สิทธิเด็กแสดงความเห็น ทำให้โรงเรียนเห็นปัญหาที่อาจมองข้ามไป เห็นปัญหาที่คิดไม่ถึง ทำให้หาทางออก ช่วยอุดช่องโหว่ตรงจุดเร็วขึ้น ที่สำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมทุกครั้ง โรงเรียนต้องไม่คิดว่าเป็นเพียงการออกกติกาเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง Empathy สร้างความเข้าอกเข้าใจ และต้องไม่ลืมว่ากติกาที่ตั้งร่วมกัน ก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคมด้วย

“เด็กทุกคนอยากมีความสุข เด็กทุกคนอยากมาโรงเรียนแล้วปลอดภัย อย่ามองว่าเสียงที่เด็กพูดเป็นการโต้แย้ง ท้าทาย ถ้าฟังดีๆ จะเห็นว่าเด็กต้องการขอความช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่การคลี่คลาย และหาทางออก ถ้ามองว่าเด็กๆ จะดูแลโลกเราในอนาคต การให้เขาร่วมออกแบบกติการ่วมกัน คือก้าวแรกที่เขาจะมีสิทธิมีเสียง เปลี่ยนแปลงสังคมได้”ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

 

แถลงการณ์เรียกร้องสิทธิเด็ก กรณีเยาวชนแสดงเจตนารมณ์ อารยะขัดขืน

อัรฟาน ดอเลาะ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คือหนึ่งในคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเด็ก ให้มีส่วนร่วมออกแบบระบบการศึกษามากขึ้น วงเสวนาครั้งเขาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิเด็กถึงกระทรวงศึกษาธิการ รัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม 5 ข้อ ให้ออกมาปกป้องสิทธิเด็ก และไม่ผลักเด็กหลุดจากระบบการศึกษา หรือกระทำความรุนแรงต่อกายและจิตใจของเด็ก ดังนี้

  1. สถานศึกษาต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตร ปลอดภัยต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมกับเด็กเยาวชน

  2. สถานศึกษาต้องทำประชามติกฎระเบียบต่างๆ เช่น ทรงผม เครื่องแบบ ให้ทุกภาคส่วน ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ลงประชามติแท้จริง

  3. ประธานนักเรียน ตัวแทนนักเรียน ต้องได้ร่วมประชุมกับสถานศึกษาที่มีหัวข้อเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพนักเรียน หรือกฎระเบียบศึกษาทุกครั้ง

  4. หากสถานศึกษามีประชุมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ขอให้ทำตามบันทึกข้อตกลง และทำเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้นักเรียนและทุกคนเข้าถึงได้

  5. ทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ทุก 5 ปี เพื่อความทันสมัย ไม่ล้าหลัง

นี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “สิทธิของหนูอยู่ไหน หรือ…อยู่ที่ใครมากำหนด” ที่ต้องการสะท้อนถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของเยาวชนไทยที่เรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ทบกวนกฎระเบียบในโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘สิทธิเด็ก’ และ ‘สิทธิในการศึกษา’ โดยข้อคิดเห็นต่างๆ จะถูกรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่มาจากพลังของคนที่เชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน และสิทธิเด็กต้องไม่ถูกลิดรอนในโลกยุคนี้