สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566

6 มิถุนายน 2566

Amnesty International

 
จีน : ประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดบังของการชุมนุมประท้วงในจีน
2 มิถุนายน 2566
 
4 มิถุนายน 2532 ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันที่ทางการจีนปราบปรามอย่างไร้ความปรานีต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
กองกำลังทหารจีนได้ยิงประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคนหรืออาจจะหลายพันคน ซึ่งได้ลงไปเดินบนถนนในจัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่งและบริเวณโดยรอบเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ไม่มีใครทราบจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง เนื่องจากการพูดคุยเกี่ยวกับการปราบปรามดังกล่าวถูกเซ็นเซอร์อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้
34 ปีผ่านไป สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบยังคงถูกจำกัดอย่างเข้มงวดในจีนแผ่นดินใหญ่ ทางการระบุว่าการชุมนุมประท้วงและการชุมนุมสาธารณะถือเป็น “การขัดขวางความสงบเรียบร้อย” และภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การจำกัดยิ่งเข้มงวดมากขึ้น ทำให้การแสดงออกผ่านการชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก
แต่ผู้คนที่กล้าหาญบางกลุ่มก็ยังรวมตัวกันเพื่อแสดงออกแม้จะเสี่ยงกับการถูกจับกุมก็ตาม
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/3vxhwa9s
 
-----
 
 
ประเทศไทย/ ลาว : สอบสวนการสังหารผู้ลี้ภัยชาวลาว และยุติการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
26 พฤษภาคม 2566
 
สืบเนื่องจากรายงานข่าววันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับการยิงสังหารบุญส่วน กิตติยาโน ซึ่งเป็นทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาววัย 56 ปี และผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR)
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พวกเราทั้งสิบหน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และให้มีการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพต่อครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รักของเหยื่อ
เรายังเรียกร้องทั้งรัฐบาลลาวและไทย รวมทั้งประชาคมนักการทูตในลาวและไทย และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติแก้ปัญหาการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว ซึ่งอยู่ระหว่างการขอที่ลี้ภัยในประเทศไทย
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/4juttsjz
 
-----
 
 
โลก : การเยียวยาชาวโรฮิงญาและสิทธิมนุษยชนต้องเป็นวาระการประชุมที่สำคัญที่สุดของผู้ถือหุ้นเมตา
29 พฤษภาคม 2566
 
ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเมตาในวันพุธ (31 พฤษภาคม 2566)
แพท เด บรอน หัวหน้าฝ่าย Big Tech Accountability และรองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ เทค (Amnesty Tech) กล่าวว่า
“เวลาที่เมตาจะปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนและให้การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่ชาวโรฮิงญาในเมียนมาล่วงเลยมานานแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตำหนิที่เมตายังคงปฏิเสธที่จะแก้ไขความเสียหายที่พวกเขามีส่วมร่วม แม้จะมีหลักฐานอย่างมากมายว่าบริษัทจะมีบทบาทสำคัญในเหตุการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2560”
“ชาวโรฮิงญาถูกสังหาร ทรมาน ข่มขืน และพลัดถิ่นเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์กวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ของกองกำลังความมั่นคงเมียนมา ในช่วงหลายเดือนและหลายปีที่นำไปสู่การกระทำที่โหดร้าย อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กทำให้กระแสความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญารุนแรงขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในชีวิตจริงจำนวนมาก”
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/44sxhd33
 
-----
 
สวิตเซอร์แลนด์: การแก้ไขกฎหมายข่มขืน คือ “ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับสิทธิมนุษยชน”
1 มิถุนายน 2566
 
สืบเนื่องจากการตัดสินใจเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยสภาผู้แทนราษฎรสวิตเซอร์แลนด์ที่แก้ไขกฎหมายปัจจุบันและรับรองในกฎหมายให้ 'การมีเพศสัมพันธ์ที่ขัดต่อความประสงค์ของผู้อื่น’ เป็นการข่มขืน
ไซริเอล ฮูเกอนอต์ หัวหน้าฝ่ายสิทธิสตรี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า
“การลงคะแนนเสียงในวันนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่สำหรับนักรณรงค์ที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้มีวันนี้ การแก้ไขกฎหมายที่จะมีการลงมติอย่างเป็นทางการในรัฐสภาในวันที่ 16 มิถุนายน นับเป็นการสิ้นสุดคำจำกัดความของการข่มขืนที่ล้าสมัยที่ต้องมีการใช้กำลัง การคุกคามหรือการบีบบังคับ และนับแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นเหยื่อ แต่ในปัจจุบันกฎหมายได้รับรองให้การมีเพศสัมพันธ์ทั้งหมดที่ไม่ได้รับความยินยอมเป็นการข่มขืน”
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/yekemkv4
 
-----
 
สหภาพยุโรป: การลงคะแนนเสียงของรัฐสภายุโรปสำหรับกฎหมายการกำกับดูแลกิจการฉบับใหม่ควรเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน
1 มิถุนายน 2566
 
สืบเนื่องจากการลงคะแนนเสียงในรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายควบคุมความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Due Diligence Directive
ฮันนาห์ สโตรีย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“รัฐสภายุโรปได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่ามีความตั้งใจที่จะสนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับองค์กร โดย Corporate Sustainability Due Diligence Directive เป็นกฎหมายชิ้นสำคัญที่จะช่วยประกันว่าบริษัทขนาดใหญ่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น การสนับสนุนของรัฐสภายุโรปสำหรับกฎหมายนี้ถือเป็นการพัฒนาที่น่ายินดี”
“ที่สำคัญ กฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา พยายามที่จะแก้ไขอุปสรรคบางประการที่เหยื่อต้องเผชิญเมื่อพยายามเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับอันตรายที่เกิดขึ้นจากบริษัท ยกตัวอย่างเช่น อนุญาตให้ศาลในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สั่งให้บริษัทที่ต้องสงสัยว่าก่อให้เกิดอันตรายเปิดเผยหลักฐาน โดยหากไม่มีการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้บริษัทต่างๆ รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายสิ่งแวดล้อม”
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/32t3jums
 
-----
 
เนเธอร์แลนด์: ตำรวจละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ
31 พฤษภาคม 2566
 
การสอดแนมข้อมูลอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบในเนเธอร์แลนด์กำลังบ่อนทำลายสิทธิความเป็นส่วนตัวและสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวต่อสิทธิในการชุมนุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์ กล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา
รายงาน อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ: การตรวจบัตรประจำตัวและการรวบรวมข้อมูลจากผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบในเนเธอร์แลนด์ พบว่าการกำกับดูแลและการควบคุมวิธีการสอดแนมข้อมูลของตำรวจไม่เป็นไปตามทั้งกฎหมายในประเทศและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“การที่ตำรวจมักเรียกให้ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบแสดงบัตรประจำตัว ไม่เพียงแต่จะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ยังสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวอย่างมากต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ” แด็กมาร์ เอาท์ชอรน์ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์ กล่าว
 
อ่านต่อ: https://tinyurl.com/bdf67r2w