เปิดตัวคณะกรรมการชุดใหม่ประจำปี 2566 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

5 มิถุนายน 2566

Amnesty International

เปิดตัวคณะกรรมการชุดใหม่ประจำปี 2566 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ด้าน “พุทธณี” ประธานกรรมการคนใหม่ ชู “สิทธิการชุมนุมเด็ก” เป็นเรื่องใหม่ - ท้าทายสังคม ดันเดินหน้าศึกษารอบด้าน เพื่อดูแล – คุ้มครองสิทธิมนุษยชนคนทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เปิดพื้นที่ให้สมาชิกร่วมกันแสดงความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการทำงานขององค์กรในอนาคต พร้อมจัดการเลือกตั้งประธาน กรรมการ และกรรมการเยาวชนชุดใหม่ มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 100 คน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการด้านสิทธิมนุษยชนเชิงรุกให้มีทิศทางที่ดีขึ้น

 

คณะกรรมการชุดล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประกอบไปด้วย

 

 

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ

ธีรพล อันมัย กรรมการ

ภัทราภรณ์ พรมโคตร เหรัญญิก

เภตรา สว่างเวียง กรรมการ

กฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ กรรมการเยาวชน

 

 

ด้านพุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการคนใหม่เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยว่า จะเดินหน้าทำงานเชิงรุกร่วมกับสมาชิกและเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนที่มีพลังและเข้มแข็งต่อไปเพื่อสังคม และจะพัฒนาการสื่อสารด้านสิทธิมนุษยชนให้เข้าใจง่ายและเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยจะทำให้แอมเนสตี้เข้าถึงคนทุกกลุ่มในสังคมที่มีความหลากหลาย เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนที่ควรรู้และควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเนื่องในโอกาสที่แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ครบรอบ 30 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเติบโตและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อก้าวไปข้างหน้า เพราะมีทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ ที่จะทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากขึ้น เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

“แอมเนสตี้เดินทางมานานถึง 30 ปีในประเทศไทย หมายถึงการที่องค์กรสะสมประสบการณ์มากพอ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในด้านต่างๆ และเป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ ในการก้าวไปข้างหน้า พร้อมรับรู้ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพราะเรายังคงมีความมั่นใจ สุขุม วิสัยทัศน์ จากบทเรียนความเจ็บปวด ความล้มเหลว ความสำเร็จ มาถึงวันนี้คิดว่า 30 ปี เป็นเวลาเหมาะสม ที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนเต็มกำลังและเต็มรูปแบบเท่าที่เราทุกคนสามารถทำได้” พุทธณี กล่าว

 

 

ประธานกรรมการคนใหม่ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยเผยต่อว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีการทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ สมาชิก เจ้าหน้าที่และกรรมการ ทั้งหมดนี้จะต้องทำงานเป็นทีม นี่คือวิสัยทัศน์ที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดที่จะทำให้ขบวนการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยหน้าที่ของกรรมการ จะดูทิศทางและ ยุทธศาสตร์ ช่วยสนับสนุนสมาชิกให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่เหนียวแน่นมากขึ้น ภายใต้บริบทสังคมประชาธิปไตย และประเด็นเรื่อง “สิทธิการชุมนุมเด็ก” จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ไม่เหมือนกับประเด็นสิทธิอื่นๆ ที่มีการสะสมองค์ความรู้มากนานหลายปี ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายในสังคมไทยและต่างประเทศ ที่จะต้องร่วมกันศึกษาและหาแนวทางดูแลเด็กๆ ให้ได้มีสิทธิ เสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองดูแลจากครอบครัว สังคม และกฎหมาย  

“ประเด็นเรื่องเด็กสำคัญและละเอียดอ่อนมาก สหประชาชาติมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แสดงว่าเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ เพราะเด็กคือนาคตของโลก ฉะนั้นการทำความเข้าใจสิทธิของเด็ก รวมทั้งทำอย่างไรให้สังคมและครอบครัวดูแลเด็กได้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ การทำงานจากนี้ต้องสะสมประสบการณ์ ให้เกิดการมีความรู้ให้มากขึ้นว่า เราจะดูแลอย่างไร ใช้สิทธิอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย และได้รับการคุ้มครองปกป้องจากครอบครัวและสังคมเพราะเด็กคืออนาคตสังคมของเรา” ประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย