สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 27 สิงหาคม - 2 กันยายน 2565

4 กันยายน 2565

Amnesty International

 
ประเทศไทย: การผ่านร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายถือเป็นความคืบหน้า แต่กฎหมายยังคงมีข้อบกพร่องสำคัญหลายประการ
31 สิงหาคม 2565
 
เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่ามติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ร่างพระราชบัญญัติ ฯ) ที่ล่าช้ามาเนิ่นนาน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้ หากแต่ ทั้งสององค์กรรู้สึกผิดหวังที่ยังคงมีข้อบกพร่องในบางมาตราที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ek5tlg
 
 
สาธารณรัฐประชาชนจีน : รายงานที่ล่าช้ามาของสหประชาชาติต้องกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในซินเจียง
1 กันยายน 2565
 
สืบเนื่องจากการเปิดตัวรายงานจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในเขตปกครองตนเองของซินเจียง อุยกูร์ของจีน แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า
เอกสาร 46 หน้านี้เปิดเผยขนาดและความรุนแรงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในซินเจียง ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการสรุปไว้ก่อนหน้านี้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงต่อสู้อย่างหนักเพื่อกดดันให้สหประชาชาติปิดบังรายงานนี้ไว้
 
อย่างไรก็ตามแอมเนสตี้เรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศที่เป็นอิสระในการสืบสวนอาชญากรรมเหล่านี้ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ในซินเจียง โดยรัฐบาลจีนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ รวมทั้งผ่านการระบุตัวตนและการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นที่ต้องสงสัยว่าจะต้องรับผิดชอบในที่สุด นอกจากนั้นยังมีความเห็นว่าทางการจีนจะต้องปล่อยตัวคนทั้งหมดที่ถูกคุมขังโดยพลการในค่ายหรือเรือนจำในทันที ยุติการกดขี่ข่มเหงต่อชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมส่วนใหญ่อื่นๆ ในซินเจียง
 
อ่านต่อ : https://bit.ly/3KFVdQc
 
 
สหราชอาณาจักร : Meta ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิพนักงานจากการเลิกจ้างพนักงานทำความสะอาดที่จัดการชุมนุมประท้วงที่สำนักงานในลอนดอน
1 กันยายน 2565
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหาว่า Meta ละเมิดแนวทางการจ้างงานของตัวเองและพันธสัญญาด้านสิทธิแรงงาน และเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (เดิมชื่อ Facebook) ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วน เกี่ยวกับการเลิกจ้างตัวแทนสหภาพแรงงานในปี 2564 ที่จัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในสำนักงาน การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่แอมเนสตี้เผยแพร่รายงาน 23 หน้า ชื่อ “Meta, workers’ rights matter!” โดยในกรณีที่ผู้จัดงานสหภาพแรงงาน ถูกไล่ออกหลังจากพยายามปรับปรุงสภาพการทำงานของพนักงานทำความสะอาด ซึ่งสรุปหลักฐานในคดี รวมถึงข้อกังวลและข้อเสนอแนะขององค์กร
 
การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นจากการลดจำนวนพนักงานทำความสะอาด ซึ่งส่งผลให้เกิดภาระงานที่มากเกินไปสำหรับพนักงานที่เหลืออยู่ในสำนักงานของ Meta โดยมีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมากต่อพนักงาน ในช่วงกลางปี 2564 จำนวนพนักงานทำความสะอาดที่สำนักงานของ Meta ในลอนดอนลดลงจาก 24 เป็น 20 คน ในขณะเดียวกันขนาดของพื้นที่ที่จะต้องทำความสะอาดกลับเพิ่มขึ้นจากทำ 5 ชั้นเป็น 14 ชั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า
 
อ่านต่อ : https://bit.ly/3cDGHfg
 
 
ยูเครน : การพิจารณาคดีโดยหลอกลวงต่อเชลยศึกในเมืองมาริอูโปลเป็นเรื่อง 'ผิดกฎหมายและยอมรับไม่ได้'
26 สิงหาคม 2565
 
แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การเคลื่อนไหวใดๆ ของกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเพื่อพิจารณาคดีของเชลยศึกชาวยูเครนใน "ศาลระหว่างประเทศ" ในเมืองมาริอูโปลถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการทารุณ และถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายต่อเมืองที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างกว้างขวางภายใต้การรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน
 
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ความกังวลได้เพิ่มสูงขึ้นหลังจากมีรายงานและรูปภาพหลายอย่างที่ถูกแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย โดยมีการแสดงให้เห็นว่ามีการสร้างกรงภายในสถานเล่นดนตรีของมาริอูโปล เพื่อใช้กักขังนักโทษที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศห้ามมิให้ใช้อำนาจในการกักขังดำเนินคดีกับเชลยศึกเนื่องจากมีส่วนร่วมในการสู้รบหรือสำหรับการทำสงครามที่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นในระหว่างการสู้รบ นอกจากนั้น ภายใต้อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม เชลศึกที่ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมมีสิทธิเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในศาลที่จัดตั้งขึ้นตามปกติเท่านั้น
 
อ่านต่อ : https://bit.ly/3CGot7v
 
 
อัฟกานิสถาน : ชาวอัฟกันที่หลบหนีถูกส่งตัวกลับอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากถูกระดมยิงที่ชายแดนอิหร่าน/ตุรกี
31 สิงหาคม 2565
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า กองกำลังความมั่นคงของอิหร่านและตุรกีได้ผลักดันให้ชาวอัฟกันที่พยายามจะข้ามพรมแดนของพวกเขาเพื่อความปลอดภัยกลับคืนมาหลายครั้ง ที่รวมไปถึงการเริ่มยิงใส่ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กอย่างผิดกฎหมาย โดยในรายงานฉบับใหม่ They don’t treat us like humans แอมเนสตี้ได้บันทึกกรณีต่างๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ชายแดนอิหร่าน ซึ่งกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ยิงใส่ผู้คนโดยตรงขณะปีนข้ามกำแพงหรือคลานใต้รั้ว
 
อย่างไรก็ตามชาวอัฟกันที่สามารถผ่านเข้าประเทศอิหร่านหรือตุรกีได้ ต่างถูกคุมขังโดยพลการอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังต้องถูกทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายก่อนที่จะถูกบังคับส่งตัวกลับอย่างผิดกฎหมาย นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เยือนอัฟกานิสถานเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 และสัมภาษณ์ชาวอัฟกัน 74 คนที่ถูกส่งกลับจากอิหร่านและตุรกี โดย 48 คนในจำนวนนี้รายงานว่าถูกยิงขณะที่พวกเขาพยายามจะข้ามพรมแดน
 
อ่านต่อ : https://bit.ly/3TFKI3I
 
 
เยเมน : กบฏฮูตี ‘บีบคั้น’ ผู้หญิงด้วยการบังคับให้ต้องมีผู้ปกครองชาย
1 กันยายน 2565
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เจ้าหน้าที่โดยพฤตินัยของกบฏฮูตีจะต้องยุติข้อกำหนดของพวกเขาเกี่ยวกับมาห์ราม ที่มีการกำหนดผู้ปกครองชายขึ้นมา โดยห้ามไม่ให้ผู้หญิงเดินทางโดยไม่มีผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย หรือต้องมีหลักฐานการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรข้ามเขตการปกครองภายใต้การควบคุมของฮูตีหรือไปยังพื้นที่อื่นๆ ของเยเมน โดยมีการเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งข้อจำกัดของฮูตีที่เข้มงวดมากขึ้นนี้กีดขวางไม่ให้สตรีชาวเยเมนได้ทำงาน โดยเฉพาะสตรีที่จำเป็นต้องเดินทาง
 
ข้อจำกัดที่กำหนดโดยข้อกำหนดของมาห์รามยังนำไปใช้กับสตรีชาวเยเมนที่ทำงานด้านมนุษยธรรมที่ต้องดิ้นรนเพื่อทำงานภาคสนาม ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือแก่ชาวเยเมนที่ต้องการความช่วยเหลือ และอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทุกฝ่ายในการขัดกันด้วยอาวุธภายในเยเมน รวมทั้งกบฏฮูตี จะต้องอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเป็นกลางรวดเร็วและไม่มีข้อจำกัดกับเหล่าพลเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือ และยังต้องประกันเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งข้อจำกัดมาห์รามก็ขัดต่อพันธกรณีนี้
 
อ่านต่อ : https://bit.ly/3CMZXSh