6 เดือนแห่งความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนรอบโลก

22 มิถุนายน 2563

Amnesty International

คงจะไม่มีใครคาดว่าจุดเริ่มต้นของปี 2020 จะนำมาซึ่งโรคระบาดอย่างโควิด 19 ในขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย และหลายชีวิตกำลังหยุดชะงักพวกเราต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไปเพื่ออนาคตที่มั่นคง ปลอดภัย และเป็นธรรม ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย นี่คือความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในปลายปี 2019 และต้นปี 2020

 

 

ธันวาคม 2019

104130822_2695689407366796_7826832656257847378_o.jpg

เด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ เมืองฟรีทาวน์ ประเทศเซียร์ราลีโอน 2016

  

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกออกกฎต่อต้านการห้ามเด็กผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าเรียนในโรงเรียนประเทศเซียร์ราลีโอน ในปี 2019 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมทำคดีต่อต้านการสั่งห้ามดังกล่าว ที่ส่งผลให้วัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์จำนวนหลายพันคนถูกไล่ออกจากโรงเรียน เมื่อเดือนธันวาคม ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลเซียร์ราลีโอนถอดถอนนโยบายโดยทันที ซึ่งนับเป็นช่วงหมุดหมายสำคัญแห่งการขจัดการเลือกปฏิบัติทางการศึกษา

  

213497_palestinian-israel-gaza-conflict.jpg

ผู้ใช้ท้องถนนชาวปาเลสไตน์ขับขี่จักรยานยนตร์ผ่านถังเชื้อเพลิงภายนอกของเครื่องบินรบอิสราเอล ที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางฉนวนกาซา เมือง Deir al-Balah เมื่อวันที่ สิงหาคม 2014

 

ในเดือนธันวาคม ฝ่ายอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ประกาศให้อาชญากรรมสงครามกระทำในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (OPT) รวมอยู่ในกระบวนการสอบสวนขั้นต้น ซึ่งเปิดให้มีช่องทางการไต่สวนคดี ภายหลังทศวรรษแห่งอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมอื่นๆ ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมในประเทศอิสราเอล และดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (OPT) แอมเนสตี้ได้สร้างผลงานมากมายในช่วงสงครามเมืองกาซาปี 2014 ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนการสืบสวนคดี เหตุการณ์วัน Black Friday และเครื่องมือการทำวิจัยในชื่อ Gaza Platform งานของเรามุ่งเน้นไปที่การกระทำละเมิดสิทธิโดยกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ และชาวอิสราเอล รวมทั้งรายงานสรุปปฏิบัติการของขบวนการณ์ฮามาส

 

 

มกราคม

ในเดือนมกราคม รัฐบาลบังกลาเทศแสดงเจตนารมณ์ในการให้โอกาสทางการศึกษาและการฝึกฝนกับเยาวชนลี้ภัยชาวโรฮิงญา นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ชาวโรฮิงญาถูกขับไล่โดยมาตรการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเมียนมา เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ผู้ร่วมรณรงค์เพื่อการศึกษาของเยาวชนชาวโรฮิงญากว่า 5 แสนคนในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศมาโดยตลอด

267500_art-camp-small.jpg

 

ซาด ฮัมมาดี (Saad Hammadi) นักรณรงค์ภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลบังกลาเทศที่สำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงการศึกษาและทำตามความฝันในอนาคต พวกเขาเสียเวลาเรียนไปแล้ว 2 ปี และไม่สามารถสูญเสียช่วงเวลานอกห้องเรียนไปได้มากกว่านี้อีก”

 

 

กุมภาพันธ์

104289828_2695689387366798_4579837106437955470_o.jpg

หลังจากที่รอคอยมานาน สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) เผยแพร่รายชื่อบริษัทมากกว่า 100 รายที่มีความเกี่ยวข้องกับถิ่นที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายของชาวอิสราเอลบริเวณชายฝั่งตะวันตกปาเลสไตน์ รายงานแจ้งชื่อธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์จำนวนหนึ่ง เช่น Airbnb Tripadvisor Expedia และ Booking.com จากรายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า ธุรกิจเหล่านี้กำลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้กลายเป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย และสนับสนุนให้เกิดการปักหลักและขยายอาณาเขตของชาวอิสราเอล

 

Saleh Higazi รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “ประชากรทั้งหลายผู้อาศัยอยู่ในดินแดนถูกยึดครองกระทำละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เทียบเท่ากับอาชญากรรมสงคราม จากรายนามธุรกิจทำกำไรในบริบทสถานการณ์ละเมิดกฎหมาย ประชาคมระหว่างประเทศได้สื่อสารอย่างชัดเจนว่าการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะนอกจากบริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์แล้ว พวกเขายังสนุบสนุนการละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์อย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วย”

 

 

มีนาคม

ในประเทศอาร์เจนติน่า อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ (Alberto Fernandez) ประธานาธิบดีเชื้อสายอาร์เจนตินาประเดิมตำแหน่งด้วยการให้คำมั่นสัญญาผลักดันการทำแท้งให้ถูกกฎหมาย อีกทั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดการกับประเด็นดังกล่าว ตามมาด้วยการรณรงค์จากกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีทั้งหลาย รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

03aca106eaa7ebd4fd039a89a322bbf3e79ed208.jpg

 

Mariela Belski ผู้อำนวยการบริหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอาร์เจนตินากล่าวว่า “รัฐสภาต้องรับฟังคำเรียกร้องจากผู้หญิงนับหลายหมื่นคน ผู้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิควบคุมการกระทำเหนือเรือนร่างของตนเอง ถึงเวลาแล้วที่อาร์เจนตินาจะเข้าร่วมรายชื่อประเทศการทำแท้งถูกกฎหมาย และบอกลา (ADIÓS) การทำแท้งเถื่อน”

 

ประเทศสเปนแถลงร่างพระราชบัญญัติให้คำนิยามการข่มขืนว่าเป็น การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการยินยอม ซึ่งสอดรับกับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากล กฎหมายที่ผ่านการปฏิรูปนี้ ติดตามคดีของกลุ่มติดประวัติข่มขืนบางกลุ่ม ที่กฎหมายไม่สามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อได้ นั่นรวมถึงคดีของกลุ่มชื่อว่า ‘La Manada’ (ฝูงหมาป่า) ที่จุดไฟการประท้วงให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย อีกทั้งกระตุ้นคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลในการปฏิรูปกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติกล่าวถึงมาตรการป้องกัน และตอบโต้กับความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาก่อนนำร่างขึ้นสู่รัฐสภา แอมเนสตี้เรียกร้องต่อประเทศแถบยุโรปให้นิยามว่า การข่มขืนหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการยินยอม อีกทั้งสนับสนุนประเด็นดังกล่าวผ่านงานรณรงค์ Let’s Talk About Yes 

 

จากการวิเคราะห์โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นจาก 31 ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจยุโรปและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้คำนิยามการข่มขืน ว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการยินยอม นอกเหนือจากการแก้ไขข้อกฎหมายแล้ว ร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอยังครอบคลุมมาตรการป้องกันและตอบโต้ความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ ในประเทศสเปนด้วย 

233515_free-mohammad-ali-taheri.jpg

 

เช่นกันในเดือนมีนาคม มูฮัมหมัด อาลี ตาแฮรี (Mohammad Ali Taheri) ครูทางจิตวิญญาณชาวอิหร่านหวนคืนสู่ครอบครัวของเขาอีกครั้งในประเทศแคนาดา เขาถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม ปี 2011 ที่ประเทศอิหร่าน และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาก่อตั้งลัทธิทางจิตวิญญาณ Erfan-e Halgheh สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่พอใจครั้งใหญ่และการร้องเรียนจากทั่วโลกโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โทษประหารชีวิตและคำตัดสินของเขาถูกเพิกถอน โดยท้ายที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2019 และหนีออกจากประเทศในเวลาต่อมา ภายหลังเดินทางมาถึงประเทศแคนาดา เขาได้เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊คแสดงความขอบคุณสมาชิกแอมเนสตี้สำหรับการรณรงค์ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา

 

ที่ประเทศเลบานอน การประชุมครั้งใหม่เปิดโอกาสให้กับการปกป้องสิทธิแรงงานผู้อพยบที่ดีขึ้น การประชุมที่ปรึกษาแห่งชาติถูกจัดขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ประเทศเลบานอน เพื่อการปฏิรูประบบ Kafala หรือระบบซึ่งผูกมัดที่อยู่อาศัยตามกฎหมายของแรงงานไว้กับสัญญานายจ้าง ที่ประชุมเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับมาตรการที่จำเป็นต่อการพัฒนาสภาพการทำงานของแรงงานผู้อพยบ โดยการเจรจาดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรณรงค์ให้ยกเลิกระบบ Kafala ในทุกประเทศ ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

ในประเทศยูกันดา ศาลยุติธรรมลบล้างกฎหมายบางส่วนที่ให้อำนาจอย่างล้นหลามกับตำรวจในการปราบปรามการชุมนุมสาธารณะ และการประท้วงของประชาชน การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวถือเป็นประกายแห่งความหวังสำหรับกลุ่มพร้อมต่อต้านกองกำลังตำรวจ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมของประเทศ

 

 

เมษายน 

250349_wangquanzhang_family.jpg

ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีน หวาง ฉวนจาง (Wang Quangzhang) กลับสู่ครอบครัวของเขาอีกครั้ง ภายหลังช่วงเวลา 4 ปีครี่งในคุก เขาถูกเพ่งเล็งจากการเปิดเผยการคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยแอมเนสตี้ได้รณรงค์ให้ปล่อยตัว นับตั้งแต่เขาถูกพิพากษาครั้งแรก

 

เกิดความคืบหน้าเล็กน้อยในประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศแผนการยกเลิกโทษประหารต่อผู้กระทำผิดทางอาญาอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยแทนที่โทษประหารด้วยบทลงโทษสูงสุด ได้แก่ การจำคุก 10 ปี อย่างไรก็ตาม เยาวชนอาจต้องโทษประหารชีวิตได้ หากถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่บ่อยครั้งถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงเรียกร้องต่อประเทศซาอุดีอาระเบียให้ยกเลิกโทษประหารในทุกกรณี

 

260909_gbu-69_b-scrap_-darusalaam_-somalia.jpg

ส่วนประกอบของกระสุนนำวิถีบริเวณจุดโจมตีทางอากาศของสหรัฐ นอกหมู่บ้าน DarusalaamภาคLower Shabelle ของประเทศโซมาเลีย กระทบชาวนา 3 ราย 12 พฤศจิกายน 2017

 

นับเป็นครั้งแรกที่กองบัญชาการทหารสหรัฐฯภาคแอฟริกา (AFRICOM) ตีพิมพ์รายงานข้อกล่าวหาประจำไตรมาส เรื่องพลเมืองเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐในประเทศโซมาเลีย และอีก 2 เหตุการณ์ที่แอมเนสตี้ตรวจสอบและรวบรวมไว้ ภายหลังการเผยแพร่รายงานดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาสหรัฐบางส่วนออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของกองกำลัง Pentagon และ AFRICOM รายงานถูกปล่อยออกมาหลังจากที่พวกเราร้องขอความโปร่งใสจากกองกำลัง AFRICOM มานานกว่า 1 ปี นอกจากนั้นรายงานล่าสุดเรื่อง สงครามลับสหรัฐในโซมาเลีย ยังช่วยกระตุ้นให้อเมริกาออกมายอมรับเป็นครั้งแรก ว่ามีพลเมืองเสียชีวิตในประเทศโซมาเลียจริง

 

Deprose Muchena ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาใต้และตะวันออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ถึงแม้จะใช้เวลานานไปหน่อย แต่ก็นับเป็นก้าวที่น่ายินดีไปสู่ความจริงและความรับผิดชอบต่อเหยื่อการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ และครอบครัวของพวกเขาในประเทศโซมาเลียและที่อื่น ๆ ช่างน่าตกใจที่กว่าสหรัฐอเมริกาจะออกมายอมรับ AFRICOM ก็ได้ทำสงครามทางอากาศแบบลับ ๆ ในโซมาเลียมามากกว่า 1 ทศวรรษแล้ว”

 

263639_richard-ratcliffe_-on-hunger-strike-in-solidarity-with-nazanin-zaghari-ratcliffe_-an-imprisoned-poc-in-iran_-who-is-also-on-hunger-strike-smaller.jpg

ข้อความให้กำลังใจ Nazanin Zaghari Ratcliffe ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน ณ กรุงลอนดอน Nazanin ถูกคุมขังในประเทศอิหร่านตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2016

 

ทางการอิหร่านปล่อยตัว นักการกุศลชาวอังกฤษ Nazanin Zaghari Ratcliffe ออกจากคุกชั่วคราวเนื่องด้วยวิกฤตโควิด 19 Nazanin ถูกจับกุมที่สนามบิน Imam Khomeini กรุงเตหะราน ในดือนเมษายนปี 2016 ขณะที่เธอกำลังจะขึ้นเครื่องกลับสหราชอาณาจักรเนื่องในวันหยุดครอบครัว ภายหลัง 45 วันของการคุมขังเดี่ยวโดยปราศจากการเข้าถึงทนาย Nazaninจำต้องยอมแพ้ในคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และถูกศาลสั่งจำคุก 5 ปี ด้วยข้อหาเป็นสมาชิกกลุ่มนอกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานการกุศลของเธอ

 

เคท แอลเลน (Kate Allen) ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร กล่าวว่า

 

“ไม่ควรเกิดคำถามที่ว่า Nazanin จะถูกส่งกลับไปยังคุก Evin หรือไม่ ในเมื่อมีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในคุกอิหร่านหลายฉบับ แม้แต่นักโทษยังต้องอ้อนวอนขอของใช้พื้นฐาน เช่นสบู่ มาช่วยป้องกันโรค”

 

ในประเทศเยอรมันนีเกิดการไต่สวนคดีครั้งประวัติศาสตร์ของอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐบาลชาวซีเรีย 2 คน ที่ถูกจับด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทรมาน และข่มขืน การพิจารณาคดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง และเป็นขั้นตอนทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนหลายหมื่นคน ผู้ถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมาย ทรมาน อีกทั้งถูกสังหารในคุกและศูนย์กักกันของรัฐบาลซีเรีย

 

 

พฤษภาคม

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ศาลประเทศฝรั่งเศสปล่อยตัวชาวนาคนหนึ่งผู้ถูกฟ้องร้องในข้อหาช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในปี 2017 Cédric Herrou ถูกตัดสินความผิดข้อหาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อพยบลี้ภัย ในการการเดินทางอย่างผิดปกติ พักอาศัยและเข้าเมืองที่พรมแดนประเทศฝรั่งเศส-อิตาลี คดีของ Cédric แสดงให้เห็นว่าการกระทำเพื่อความสมัครสมานถูกกำหนดเป็นอาชญากรรมไปแล้วทั่วยุโรป ภายหลังการปล่อยตัว นักวิจัยแอมเนสตี้ Rym Khadraoui กล่าวว่า

 

“นี่ไม่ใช่เพียงชัยชนะของความยุติธรรม แต่เป็นสามัญสำนึก Cédric Herrou ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่เขาช่วยเหลือผู้คนที่ถูกรัฐยุโรปทอดทิ้งให้อยู่ในสภาพย่ำแย่เท่านั้น คำตัดสินในวันนี้มีความหมาย และสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตผู้คนนอกเหนือจากแค่ในห้องพิจารณาคดี”

 

เช่นกันในเดือนพฤษภาคม ห้องปฏิบัติการแอมเนสตี้ตรวจสอบและช่วยป้องกันการเปิดเผยข้อมูลประชาชนกว่าล้านคนในประเทศกาตาร์ แอมเนสตี้ค้นพบจุดบกพร่องร้ายแรงของแอปพลิเคชันติดตามการสื่อสาร ที่ทางการกาตาร์สั่งให้ทุกคนในประเทศดาวน์โหลด เพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อโควิด 19 ข้อบกพร่องดังกล่าวจะเปิดช่องทางให้ผู้ซุ่มโจมตีทางไซเบอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลลับส่วนบุคคลได้ ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงว่าอาจถูกปองร้าย ภายหลังการเตือนภัยจากแอมเนสตี้ เจ้าหน้าที่ชาวกาตาร์เร่งควบคุมการรั่วไหลของข้อมูลในทันที

ถึงแม้ทางการกาตาร์จะตอบรับและพยายามแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว แอมเนสตี้ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก แอปพลิเคชันของกาตาร์และอีกหลายประเทศยังคงมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากขาดมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

  

kirin_myanmar_beer_cc.jpg

 

บริษัทเบียร์ญี่ปุ่น Kirin ประกาศตัวเป็นอิสระต่อธุรกิจกองทัพประเทศเมียนมา MEHL ยืนยันไม่มีผลประโยชน์ต่อกัน ภายหลังถูกแอมเนสตี้กระตุ้นการสอบสวนอย่างหนัก ว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนบริษัทเครื่องดื่มเมียนมาให้บริจาคเงินแก่กองทัพพม่า แอมเนสตี้พบว่าบริษัทเครื่องดื่มข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง Kirin จ่ายเงินให้กองทัพพม่าและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญาในช่วงปลายปี 2017 

นอกเหนือจากบริษัท Kirin แล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2020 แอมเนสตี้ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเครื่องดื่มอื่น ๆ และธุรกิจกองทัพพม่า MEHL พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าจากการร่วมลงทุนทางธุรกิจกับ MEHL บริษัทเครื่องดื่มเหล่านั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากระบวนการใด ๆ ก็ตามทางธุรกิจของพวกเขา จะไม่ถูกแทรกแซงโดยกิจการกองทัพเมียนมา 

บริษัท Kirin แถลงการณ์แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างจริงจัง และพร้อมจัดการกับปัญหาเมื่อจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรับรองมาตรฐานสูงสุดของกิจการธุรกิจในภูมิภาค

 

ในประเทศบาห์เรน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน Nabeel Rajab ถูกปล่อยตัวด้วยคำพิพากษาไม่ควบคุมตัวในประเทศ

Mohamed Al Jishi ทนายของเขากล่าวว่าศาลพิจารณาอนุมัติบทลงโทษทางเลือกแทนโทษจำคุก เขาสามารถทำงานรับใช้สังคมโดยปราศจากการคุมขังภายในระยะเวลา 3 ปีที่เหลือของอายุความ 

ในขณะที่ข้อกำหนดบทลงโทษยังไม่ชัดเจน ตามกฎหมายมาตรา 18 ปี 2017 ศาลสามารถสั่งบทลงโทษอื่น ๆ ได้เช่น คำสั่งกักบริเวณอยู่ในบ้าน คำสั่งกันตัวออกจากสังคม และคำสั่งควบคุมตัว 

Lynn Maalouf ผู้อำนวยการงานวิจัยภูมิภาคตะวันออกกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า 

“นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ Nabeel Rajab ได้หวนคืนสู่ครอบครัวในท้ายที่สุด ครอบครัวของเขากล้าหาญต่อสู้และรณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งจนกระทั่งมีวันนี้”

 “และในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนี้เอง เราไม่สามารถละเลยความจริงที่ว่า Nabeel Rajabถูกแยกออกจากครอบครัวของเขาอย่างไม่ยุติธรรมเป็นเวลาเกือบ 4 ปี หรือแม้แต่หลงลืมนักต่อสู้ด้วยสันติวิธีอีกหลายรายที่ยังคงติดอยู่ในคุกบาห์เรน”

“การปล่อยตัว Nabeel ต้องตามมาด้วยการยกเลิกคำตัดสินและบทลงโทษ หรือการเพิกถอนข้อหาใด ๆ ก็ตามที่เขาถูกกล่าวหาจากการเแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และรณรงค์เพื่อยุติความไม่เป็นธรรม” 

“เจ้าหน้าที่ควรยกเลิกบทลงโทษทั้งหมด แทนการใช้มาตรการไม่ควบคุมตัว รวมทั้งประกันสิทธิของ Nabeel ที่จะได้รับการเยียวยาจากการถูกกระทำละเมิดในตลอดหลายปีที่ผ่านมา”