สิทธิในที่ดินทำกินอยู่ตรงไหน? : บทเรียนจากบ่อแก้ว บางกลอย เทพา จนถึงจะนะ 

9 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International Thailand

เขียนโดย นฤมล คงบก และ ศุทธหทัย หนูหิรัญ นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ประเทศไทย

ในวันที่ 17 มกราคม 2565 บริเวณพื้นที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดวงคุยธรรมชาติสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านตัวแทนแต่ละพื้นที่ในหัวข้อ “สิทธิในที่ดินทำกินอยู่ตรงไหน?” ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในอดีตของบ่อแก้ว โดยคุณพายุ บุณโสภณ ผู้ปฏิบัติงานของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กรณีปัจจุบันของบางกลอย โดยคุณพงษ์ศักดิ์ ต้นนำเพชร ชาวบ้านบางกลอย และในอนาคตที่ต้องร่วมกันปกป้องของจะนะ โดยคุณหมิด ชายเต็ม ชาวบ้านในเครือข่ายเทใจให้เทพา และคุณมัยมูเนาะ ชัยบุตรดี ชาวบ้านอำเภอจะนะ ชวนพูดคุยโดยคุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) โดยสามารถสรุปประเด็นในแต่ลพื้นที่ได้ ดังนี้

(ป่าสงวนแห่งชาติบ่อแก้ว

         คุณพายุ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดกับพี่น้องชาวอีสานที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย จากการที่ภาครัฐได้เข้ามายึดครองที่ดินของพี่น้องในปีพ.ศ. 2516 โดยการประกาศให้พื้นที่ป่าในชุมชนบ่อแก้วกลายเป็นเขตพื้นที่ป่าสงาน ซึ่งจากเดิมเคยเป็นแหล่งทรัพยากร เป็นบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพี่น้องชาวบ่อแก้วมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นทวด แต่รัฐกลับแปรเปลี่ยนให้เป็น ‘ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม’ ต่อมาในปีพ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อขอสัมปทานป่าไม้ โดยการอ้างว่าจะเข้ามาเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ แต่ไม้ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ปลูกเป็นไม้พืชเศรษฐกิจ คือ ปลูกเพื่อตัดขายแล้วนำเงินให้กับรัฐ หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการหมู่บ้านป่าไม้ขึ้น ทำให้พี่น้องในพื้นที่จำนวนมากว่า 300 ราย โดนขับไล่ออกจากพื้นที่ บางรายต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

            “ก็คือการประกาศเขตป่าในสมัยนั้นเค้าไม่ได้ลงมาดูพื้นที่จริง ๆ หรอก ว่าพื้นที่ตรงไหนที่ชาวบ้านทำมาหากินมาอยู่ พื้นที่อยู่อาศัยทำกินของชาวบ้าน แต่เค้าอาศัยแบบกางแผนที่แล้วก็ขีดเส้นว่าจะเอาพื้นที่ทั้งหมด 4,401 ไร่ ในการที่จะประกาศเขตพื้นที่สงวน แล้วก็ให้อ.อ.ป. เอาสัมปทานไป” (พายุ บุญโสภณ-2565)

            ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชุมชนบ่อแก้วเกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของรัฐ ซึ่งนอกจากรัฐจะไม่รับผิดชอบใด ๆ แล้ว รัฐยังพยายามขับไล่พี่น้องให้ออกจากพื้นที่ทุกวิธีการ และคุณพายุได้เล่าถึงเรื่องราวความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับ“คุณวัก โยธาธรรม” ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่โดนขับไล่ออกจากพื้นที่ โดยวิธีการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้นำเอาวัตถุระเบิดมาฝังไว้ในบ้าน ทำให้คุณวักโดนฟ้องข้อหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง คุณวักต้องทำทุกทางเพื่อต่อสู้กับคดีนี้ จนกระทั่งต้องยอมขายควายที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด 9 ตัว การต่อสู้คดีของคุณวักก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลยกฟ้อง แม้การต่อสู้ของคุณวักจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่คุณวักได้สูญเสียเครื่องมือทำมาหากิน สูญเสียที่อยู่อาศัย โดยทางรัฐเองก็ไม่ได้ออกมารับผิดชอบในกรณีนี้ ทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณวักกลายเป็นข้อสงสัยว่านี่คือความไม่เป็นธรรมที่คน ๆ หนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองหรือ?

            เมื่อระยะเวลาผ่านไปจนถึงปีพ.ศ. 2545 ได้มีการเรียกรวมตัวชาวบ้านในนามเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน เพื่อออกมาต่อสู้เรียกร้องที่หน้าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยการยื่นข้อเสนอ 3 คือ หนึ่ง ขอให้ยกเลิกพื้นที่สวนป่า สอง ให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้าน และสาม ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการประกาศเป็นเขตสงวนต้องให้ชาวบ้านมีสิทธิเข้าไปจัดการป่าชุมชน หลังจากมีการชุมนุมเรียกร้องก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้ามาศึกษาปัญหาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณ๊ของสวนป่าคอนสาร แต่คณะกรรมการชุดแรกไม่ได้มีส่วนร่วมของพี่น้องชาวบ่อแก้ว จนกระทั่งปีพ.ศ. 2552 ก็ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ซึ่งในระหว่างนั้นพี่น้องชาวบ่อแก้วทำได้เพียงแค่รอมาตลอด ท้ายที่สุดพี่น้องเริ่มกลับเข้าไปในพื้นที่เดิมของตนเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า “อยู่อย่างนี้ไปไม่ได้ เราใช้สิทธิที่เรามีในที่อยู่อาศัยที่ทำกินมาก่อนเข้าไปในพื้นที่คืน ปักหลักอยู่ในพื้นที่บ่อแก้ว” แต่ผลปรากฏว่าชาวบ้านโดนคดีป่าไม้จากองค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ข้อหาบุกรุกพื้นที่ทั้งหมด 31 ราย

            ชัยชนะที่ยังไม่สิ้นสุดจากการต่อสู้อย่างยาวนานของคุณพายุ บุญโสภณ และพี่น้องชาวบ่อแก้ว ด้วยการพิสูจน์สิทธิว่าพี่น้องชาวบ่อแก้วได้อยู่มาก่อนประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวน จนล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาว่าให้ส่งมอบพื้นที่คืนชาวบ้านจำนวน 366 ไร่ แต่ได้มีการเรียกร้องไปทั้งหมด 830 ไร่ ในส่วนของการดำเนินคดีกับพี่น้องชาวบ่อแก้ว ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ แต่มีการใช้มาตรการทางนโยบายเพื่อชะลอการบังคับคดีจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แล้วเสร็จ ถึงแม้ตอนนี้จะมีพี่น้องชาวบ่อแก้วได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครบทั้งหมด คุณพายุยังกล่าวต่ออีกว่า “แต่ว่าในอนาคตเราก็ยังจะเรียกร้องให้ครบพื้นที่ทั้งหมด”

(เขตอุทยานแห่งชาติบางกลอย

            ‘พี่น้องชาวบางกลอย’ วิถีชีวิตที่ดำเนินไปพร้อมกับธรรมชาติ ณ บางกลอยใจแผ่นดิน พื้นที่ซึ่งเป็นทั้งบ้านเป็นทั้งแหล่งอาหารที่สำคัญ แต่ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปเมื่อรัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อไปนี้เป็นเสียงที่มาจากคุณพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอยที่เติบโตมากับวิถีชีวิตในการทำเกษตรแบบผสมผสาน แต่ในปีพ.ศ. 2539 ได้มีหน่วยงานรัฐเข้าไปบอกกับพี่น้องชาวบางกลอยว่าหลังจากนี้จะไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนเองได้อีกต่อไป เพราะการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นการทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรัฐพยายามเกลี้ยกล่อมให้พี่น้องชาวบางกลอยออกมาจากพื้นที่ โดยการยื่นข้อเสอนว่า “ถ้าพวกคุณลงมาจะดูแลเรื่องอาหารการกินสัก ปี แล้วก็จะจัดการเรื่องพื้นที่ทำกินให้ครัวละ ไร่ ที่ชาวบ้านตัดสินใจลงมา เพราะเค้าบอกว่าให้ลองลงมาอยู่ดูก่อนถ้าอยู่ไม่ได้ก็ให้กลับไปอยู่ที่เดิม” แต่ในความเป็นจริงที่คุณพงษ์ศักดิ์เล่าให้ฟังนั้นไม่ได้เป็นปตามข้อเสนอที่รัฐให้ไว้ พี่น้องชาวบางกลอย 57 ครัวเรือนที่ลงมาอยู่บริเวณบางกลอยล่างได้อาหารอย่างไม่ทั่วถึง พื้นที่ทำกินได้ไม่ครบ พี่น้องชาวบางกลอยจึงกลับขึ้นไปอยู่ที่บางกลอยบนบริเวณใจแผ่นดิน เพื่อหวังใช้ชีวิตดังเดิมในแบบที่เคยเป็นมา จากข้อเสนอของรัฐในตอนแรกได้แปรเปลี่ยนเป็นการคุกคามพี่น้องชาวบางกลอยเรื่อยมา ทำให้บางครั้งพี่น้องชาวบางกลอยต้องหนีเข้าป่าจากความหวาดกลัวจนกระทั่งปีพ.ศ. 2554 เริ่มมีการทำลายข้าวของ เผาบ้านเรือน และเผายุ้งข้าว ซึ่งเป็นที่เก็บอาหารของพี่น้องชาวบางกลอย

            “หลังจากนั้นก็มีการต่อสู้ของบิลลี่นะครับที่พยายามสื่อสารให้กับคนภายนอกรู้ว่า พี่น้องอยู่ที่บางกลอยบนใจแผ่นดินมานาน แล้วก็มีวิถี อัตลักษณ์แบบนี้ และท้ายสุดบิลลี่ก็ถูกอุ้มหายในช่วงวันที่ 17 เมษา 2557 นะครับ” (พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร-2565)

            การอุ้มหายของบิลลี่สร้างความหวาดกลัวให้กับพี่น้องชาวบางกลอยเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้น คุณพงษ์ศักดิ์กล่าวถึงโครงการปิดทองหลังพระที่รัฐเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งมีงบประมาณค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวบางกลอยยังคงเหมือนเดิม เพราะการจัดการของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบางกลอย ทำให้ในปีพ.ศ. 2564 พี่น้องชาวบางกลอยเริ่มทนไม่ได้กับการจัดการของรัฐ พี่น้องชาวบางกลอยกว่า 36 ครัวเรือนจึงกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนบริเวณใจแผ่นดิน หลังจากนั้นจึงมีการดำเนินคดีกับพี่น้องชาวบางกลอยจำนวน 28 คน และเป็นเยาวชนอีก 2 คน ในคดีบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยาน แต่ในพื้นที่นั้นชาวบ้านได้อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานเสียอีก

            ปัจจุบันนอกจากบางกลอยจะอยู่ในพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติแล้ว ซึ่งเป็นปัญหากับพี่น้องชาวบางกลอยอยู่แล้ว ยังมีเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีก ซึ่งส่งผลให้พี่น้องชาวบางกลอยที่พึ่งพากับธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิม อาจต้องถูกควบคุมโดยมาตรการทางกฎหมายโดยไม่ได้รับคำอธิบายถึงผลดีและผลเสียของการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

(โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

         ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชายฝั่งติดทะเลในจังหวัดสงขลาอย่างอำเภอเทพา ซึ่งทะเลเป็นพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ แต่ในวันนี้ต้องกลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีเสียงเรียกร้องของพี่น้องชาวบ้านให้รัฐหยุดการกระทำ ที่จะเป็นการสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องเทพา “คุณจะทำอะไรผมไม่ว่า แต่อย่าทำให้ชาวบ้านและประชาชนเดือดร้อน” คุณหมิด ชายเต็ม หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายเทใจให้เทพาได้กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,200 เมกะวัตต์ จะเข้ามาในพื้นที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หน่วยงานรัฐได้มีการเข้ามาศึกษาเพื่อทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) แต่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์กลับไม่ได้มีส่วนร่วมของพี่น้องเทพาอย่างแท้จริง เพราะขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.1) และขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นในขั้นประเมินผลกระทบ (ค.2) พี่น้องก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมา พี่น้องเทพารับรู้แค่เพียงว่าต้องไปเอาข้าวสาร แต่พอมาในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงาน EHIA (ค.3) ได้มีการขึ้นป้ายก่อน 15 วัน ทำให้พี่น้องเทพาได้รับรู้และเริ่มมีการรวมตัวกันกว่า 70 คน ไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง แต่มีลวดหนามกั้น มีเฮลิคอปเตอร์ รถถัง มีตำรวจ ทหาร ทำให้ไม่สามารถเข้าไปได้ ทั้งที่เป็นงานสำหรับให้พี่น้องเทพาเข้าไปแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นไม่นานเริ่มมีการขุดเจาะจากชายฝั่งในช่วงเวลากลางคืน และเริ่มมีการเจาะนอกทะเล เจาะได้ 4 หลุม จากทั้งหมด 9 หลุม พอพี่น้องเทพารับรู้ก็ได้รวมตัวกันขับเรือจำนวน 100 ลำออกไปขับไล่

            คุณหมิดกล่าวถึงพื้นที่ที่จะตกอยู่ในเขตของโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 3,000 ไร่ โดยประกอบไปด้วยบ้านเรือนของพี่น้องเทพากว่า 500 หลังคาเรือน มัสยิด ปอเนาะ โรงเรียน และวัด ซึ่งรัฐต้องการให้พี่น้องเทพาย้ายออกไป แต่พี่น้องไม่ยอมจึงต่อสู้กันมาตลอด จนกระทั่งปีพ.ศ. 2557 ได้มีการดำเนินคดีกับพี่น้องเทพา 17 คน อีกทั้งคุณหมิดยังโดนเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาคุกคาม พร้อมกับตั้งคำถามว่าหากไม่ให้ทำโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาแล้วจะไปทำที่ไหน? ผมบอกว่าไปทำบ้านคุณเถอะครับ เพราะที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวของพี่น้อง เค้าทำมาหากินกันอยู่นาน ถ้าคุณเอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,200 เมกะวัตต์ มาทำจากริ่มชายฝั่งออกไปนอกทะเล 3 กิโล ไกลขนาดไหนล่ะครับ แล้วชาวบ้านจะหากินอะไรต่อไป คุณหมิดโต้เถียงกับการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นความจริง จนตอนนี้ได้มีการชะลอโครงการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพา

            หนึ่งในเหตุผลหลักของการคัดต้านโรงงานไฟฟ้าถ่านหินของพี่น้องเทพา คือ ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ แหล่งรายได้หลักของพี่น้อง และการต้องร่วมกันปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติไว้เพื่อลูกหลานในอนาคต การส่งต่อความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลให้กับคนรุ่นต่อไป นั่นคือเหตุผลของการต่อสู้อย่างยาวนานของพี่น้องเทพา และคุณหมิดได้ทิ้งประโยคสุดท้ายเป็นการตั้งคำถามกับหน่วยงานภาครัฐไว้ว่า

            “เรามองแล้วหน่วยงานของรัฐเค้าร่วมกับนายทุนจะทำลายประชาชนอย่างที่สุด เพราะว่ามาจากรัฐทั้งหมด ทั้งรัฐสั่งให้หยุดไม่ว่าโรงงานอะไร แล้วเราจะขึ้นไปทำไมล่ะครับที่ทำเนียบให้โดนจับทำไมครับ” (หมิด ชายเต็ม-2565)

(โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

         ในประเด็นสุดท้ายคือกรณีของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมถึง 3 ตำบลในอำเภอจะนะ คือ นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน โดยคุณมัยมูเนาะ ชัยบุตรดี หนึ่งในนักรบผ้าถุงของพื้นที่จะนะได้กล่าวถึงเรื่องราวอากาศที่บริสุทธิ์ ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะ เมื่อรัฐจะเข้ามาทำท่าเรือน้ำลึก ทำโครงการนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่ได้รับรู้ถึงการดำเนินชีวิตของพี่น้องจะนะ ลไม่ได้มีการถามถึงความคิดเห็นของพี่น้องจะนะว่าต้องการหรือไม่ คุณมัยมูเนาะกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามคำกล่าวอ้างของรัฐ อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะ เพราะการพัฒนาสิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ การพัฒนาที่ทำให้พี่น้องเจ้าของพื้นที่มีความสุข และผลประโยชน์ที่พี่น้องจะนะจะได้รับ ไม่ใช่การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

            คุณมาสร้างอุตสาหกรรม ทะเลของเราหาย สร้างท่าเรือ ทะเลของเราหาย ปลาก็จะอยู่ไม่ได้ เรือใหญ่ๆมาโครมครามๆบ้านเรา แล้วเราจะยอมได้ยังไง วิถีของเรา เราอยู่อย่างมีความสุข ถึงเราจะไม่รวยล้นฟ้าอย่างนายทุนของเค้า แต่เราก็มีความสุขกับการที่เราได้อยู่กับทะเล เราได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ เราก็มีความสุขแล้ว” (คุณมัยมูเนาะ ชัยบุตรดี-2565)

            สิ่งหนึ่งที่คุณมัยมูเนาะย้ำตลอดการพูดคุย คือ การบอกว่า ‘พี่น้องจะนะมีความสุขกับวิถีชีวิต’ ที่ได้ทำอาชีพต่าง ๆ ในบ้านของตัวเอง การได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน แต่หากวันหนึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่จะนะ วิถีชีวิตที่แสนมีความสุขของพี่น้องจะนะอาจจะหายไปพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ซึ่งคุณมัยมูเนาะได้เล่าถึงการออกทะเลของพี่น้องจะนะครั้งหนึ่งมีรายได้ 4,000 – 8,000 บาท โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นฤดูกลาลของกุ้งแชบ๊วย พี่น้องชาวจะนะรอคอยช่วงเวลานี้อย่างมาก เพราะนับว่าเป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุขไม่เพียงแค่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมไปถึงการได้ส่งต่อความสุขผ่านการส่งออกของทะเลจากพี่น้องจะนะไปให้อีกหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากว่าวันหนึ่งอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นรายได้ของชาวบ้าน 300 กว่าบาทต่อวัน แล้วคุณมาบอกว่า เนี่ย ยั่งยืนนะ 300 กว่าบาทเนี่ยนะยั่งยืน เสียงจากคุณมัยมูเนาะที่พยายามบอกว่าสิ่งที่รัฐจะทำให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่ได้ทำให้พี่น้องจะนะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

            คุณมัยมูเนาะได้กล่าวถึงในส่วนของการโดนคดีละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับนักรบผ้าถุงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชีวิตที่ได้ปกป้องทะเลไว้ให้กับลูกหลาน หากรัฐจะมาทำลายพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ พี่น้องจะนะจะไม่มีวันยอม ถึงแม้ว่าจะต้องโดนอีกกี่คดีคุณมัยมูเนาะก็จะขอปกป้องรักษาแผ่นดินของจะนะเอาไว้

เบื้องหลัง’ ของการพัฒนาต้องแลกมาซึ่ง ‘เบื้องหน้า’ ที่ต้องต่อสู้

            เมื่อรัฐบาลได้ออกกฎหมายพื้นที่ให้เป็นเจ้าของโดยรัฐ แต่รัฐไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการที่จะมีที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ทำกิน เพราะฉะนั้นบางกฎหมายที่เขียนไว้ทำให้บางคนที่เกิดมาก็ผิดกฎหมายในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่ในรัฐธรรมนูญได้มีการเขียนรับรองการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ว่า ‘ประชาชนมีสิทธิที่จะร่วมกับรัฐในการจัดการได้ และประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น เข้าถึงข้อมูล และเข้าร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากร’ แต่ในทางกลับกันรัฐได้วางแผนโครงการต่าง ๆ โดยไม่ได้สนใจว่าในพื้นที่บริเวณนั้นเป็นบ้านเรือนของชาวบ้าน เป็นสถานที่ทำมาหากินของชาวบ้าน หรือมีศาสนสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวบ้านอยู่ แต่หากรัฐต้องการพื้นที่ตรงนั้นไม่ว่าสิ่งใด ๆ ก็ต้องออกไป ซึ่งผลกระทบที่ตามมากับชาวบ้านหลังจากนั้นรัฐก็ไม่ได้เข้ามาเยียวยาหรือมีมาตรการช่วยเหลือชาวบ้าน

            ส่วนสำคัญคือนโยบายรัฐ หรือว่าในการดำเนินนโยบายของรัฐที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่ถามคนในพื้นที่ส่วนสำคัญมาก ๆ ที่พูดหลายพื้นที่คือว่าเมื่อรัฐอ้างการพัฒนาแต่การพัฒนานั้นตอบโจทย์ใคร ใครได้ประโยชน์และใครได้กำไร ได้เม็ดเงินจากตรงนั้น แต่คนที่อยู่ตรงนี้การที่รัฐเข้าไปกลายเป็นผู้สูญเสียผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งหนึ่งที่สำคัญเรารู้สึกว่าการพัฒนาเนี่ยคือการที่คนในพื้นที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเดิม” (คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย-2565)