จดหมายจากข้างนอก ทำให้วันในคุกมีความหมายขึ้นมา แกนนำและจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ

6 พฤษภาคม 2564

Amnesty International

"จดหมายจากทุกคนข้างนอก มันทำให้วันธรรมดาวันหนึ่งในคุก กลายเป็นวันที่แสนพิเศษขึ้นมาเลย" จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่-ดาวดิน บอกเราเช่นนั้นหลังออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ต่างกันจากที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ให้สัมภาษณ์ว่า “จดหมายคือแรงบันดาลใจให้เราได้อดทนต่อสู้กับความเลวร้ายในนั้น”

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เราคงจำกันได้ว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งกิจกรรมเชิญชวนให้ผู้คนร่วมเขียนจดหมายและข้อความเพื่อส่งไปให้คนข้างในเรือนจำ ซึ่งถูกตั้งข้อหาทางการเมืองผ่านแคมเปญ #ปล่อยเพื่อนเรา #FREERATSADON ทั้งเก้าราย ซึ่งในเวลานี้มีห้ารายแล้วที่ได้รับการประกันตัวคือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน สมยศ พฤษาเกษมสุข ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์   โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยกล่าวว่า 'จดหมาย' จากภายนอกนั้นเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาข้ามผ่านความยากลำบากในการใช้ชีวิตในเรือนจำมาแล้ว 

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรวบรวมจดหมายเพื่อส่งไปให้คนข้างในเรือนจำ เราชวนย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ฐานรากนั้นยึดโยงมาจากจดหมายเช่นกัน 

 

‘จดหมาย’ คือต้นธารสำคัญของการก่อตั้งแอมเนสตี้

ที่ผ่านมานั้น เราอาจรู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในฐานะองค์กรที่รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ และหากเราย้อนกลับไปในปี 1961 อันเป็นปีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือกำเนิด เราก็จะพบเรื่องราวของ ปีเตอร์ เบเนสัน ทนายความชาวอังกฤษซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและความเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน กล่าวกันว่าในปีนั้น เขาอ่านข่าวเจอเรื่องราวของนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองรายจากเมืองกูอิงบรา ถูกตัดสินให้จำคุกนานเจ็ดปีอันเนื่องมาจากชูแก้วฉลองเสรีภาพในบาร์ ขณะที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองของ อันโตนิโอ เดอ โอลิเวียรา ซาลาซาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นเจ้าของระบอบการปกครองแบบเผด็จการในชื่อ เอสตาโด โนโว

และเมื่อได้อ่านข่าวนี้ เบเนสันก็ตกใจและแค้นเคืองมากจนเขียนบทความส่งไปยัง เดวิด แอสเตอร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Observer ในชื่อ “นักโทษที่ถูกลืม” (The Forgotten Prisoners) โดยในบทความนั้นมีส่วนหนึ่งที่เชิญชวนให้ผู้อ่านเขียนจดหมายให้กำลังใจนักโทษคดีทางการเมืองหรือศาสนาและความเชื่อ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับท่วมท้นจากผู้อ่านที่ส่งจดหมายร่วมสนับสนุนกว่าหนึ่งพันฉบับในเดือนเดียว 

และนั่นก็ถือเป็นต้นธารของแคมเปญการเขียนจดหมายถึงนักโทษทางการเมืองอีกหลายต่อหลายครั้ง เช่นเดียวกับในประเทศไทย เราคงเห็นแล้วว่าที่ผ่านมานั้น เรามีนักโทษที่ต้องคดีทางการเมืองหลายต่อหลายสิบคน ทั้งที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วหรือยังต้องคดีอยู่ก็ตาม โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทย จากการรณรงค์ปลดปล่อย “นักโทษทางความคิด” มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว 

และนั่นก็ไม่ใช่แคมเปญ ‘การส่งจดหมายถึงนักโทษทางความคิด’ ครั้งเดียวของแอมเนสตี้ 

 

กำลังใจถึงเพื่อนในเรือนจำ ผุดแคมเปญเขียนจดหมายถึงแกนนำการประท้วง

ในระยะหลัง นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลก็มุ่งมั่นในการใช้ข้อกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในการปราบปรามผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบอย่างหนักหน่วง ภายหลังจากพบว่าการชุมนุมนั้นว่าด้วยความล้มเหลวของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การรัฐประหารและการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ในระยะเวลาเจ็ดปีให้หลังจากการยึดอำนาจโดย คสช. ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้จับกุมแกนนำหลายคน รวมทั้งไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และคนอื่นในข้อหาต่างๆ รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

อย่างไรก็ดี การจับกุมแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับตามองในระดับสากลด้วย ทั้งยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความโปร่งใสในการจับกุม ตลอดจนการใช้อำนาจของรัฐโดยมิชอบและบทลงโทษทางกฎหมายอันรุนแรงจากการรวมตัวกันชุมนุมตามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงชักชวนให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงเหล่าแกนนำที่ล้วนถูกกุมขังด้วยคดีทางการเมืองทั้งเก้าชีวิตเพื่อส่งกำลังใจและสนับสนุนผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

 

จดหมายจากทุกคนทำให้วันธรรมดาของเรามันมีความหมายมากขึ้น ไผ่-จตุภัทร์

และอย่างที่เกริ่นไปเมื่อข้างต้น ไผ่-จตุภัทร์ ก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับจดหมายที่กลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเขาและเพื่อนๆ ผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองด้วยกัน

"ระหว่างที่โดนคุมขังก็ได้รับจดหมายจากข้างนอก ซึ่งต้องผ่านผู้คุมก่อนแล้วค่อยมาถึงพวกเราที่อยู่ข้างใน เขาก็เอามาให้ในเวลาราชการของแต่ละวันนั่นแหละ แล้วแต่ว่าจะกี่โมง ซึ่งเราดีใจนะ" เขาเล่า น้ำเสียงรื่นเริงเช่นเคย

"จดหมายจากทุกคนทำให้วันธรรมดาของเรามันมีความหมายมากขึ้น เป็นวันที่ดีขึ้นมาเลย เพราะปกติแต่ละวันเขาจะเปิดโทรทัศน์ให้เราได้ดูไปเรื่อยๆ แต่พอมีจดหมายมามันทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจมากๆ มีเด็กๆ ที่เขียนมาหาเยอะมาก วาดรูปมาก็มี เรียกเราว่าพี่ไผ่"

ทั้งนี้ เขาเล่าว่า กว่าจะได้จดหมายนั้นล่าช้ามาก เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์หลายขั้นตอน บางฉบับถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้อ่าน "แต่กว่าจะได้จดหมายก็กินเวลานานอยู่ ผมจำได้ว่ามีจดหมายเขียนมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม มาถึงผมตอนวันที่ 2 เมษายน เวลาจดหมายมาทีหนึ่งก็มาเป็นปึกใหญ่ๆ เลย ผู้คุมเขาจะแซวว่านี่น่ะ จดหมายจากแฟนคลับมาส่งแล้ว ผมเคยได้จดหมายจากแอมเนสตี้ด้วย แต่จำได้ว่ามีฉบับนึงที่ทางผู้คุมเขาเซนเซอร์ไป บอกว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมโดยพิจารณาจากดุลพินิจของผู้คุม ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างไรนั้นผมก็ไม่เข้าใจเพราะไม่ได้อ่านอยู่ดี แต่จดหมายฉบับอื่นๆ นั้นผมได้อ่านทุกฉบับเลย พอได้มาทุกคนก็เอาเข้าไปนั่งอ่านที่เตียง แล้วก็รู้สึกมีกำลังใจ ได้มีอะไรทำ แล้วการได้จดหมายมันทำให้วันธรรมดาวันหนึ่งในสถานที่เลวร้ายแบบนั้นมันสวยงามขึ้นมากเลย เพราะว่าสภาพในเรือนจำนั้นมันไม่ควรมีใครเข้าไปอยู่ทั้งสิ้น เราควรได้ต่อสู้คดีกันข้างนอก

"เพราะว่า ผมยืนยันว่าสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานมาก มันเป็นเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และเป็นหลักการสำคัญที่จำเป็นในการเป็นมนุษย์เลย การที่พลเมืองจะแสดงออก แสดงความเห็นเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ในฐานะประชาชนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แล้วมันทำให้เห็นว่าการที่เราจะอยู่ในประเทศนี้อย่างมีศักดิ์ศรีนั้นมันยากขึ้นเรื่อยๆ"

สำหรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เขาฝากมาเพียงแค่ว่า "ลาออกเถอะ เพราะคุณมาจากเผด็จการ แถมยังจัดการปัญหาโควิด-19 ได้ไม่ดีด้วย" ท้ายประโยคนั้นเขาย้ำ ลงเสียงหนักแน่น


“จดหมายคือกำลังที่ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้ถูกทอดทิ้ง” สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ขณะที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งต้องขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 74 วัน เล่าว่าการได้จดหมายจากข้างนอกนั้นช่วยให้เขาอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นในเรือนจำได้

"ผมดีใจมากที่ได้รับจดหมาย เพราะจดหมายจากข้างนอกนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถอดทนกับความเลวร้ายทั้งมวล ไม่ว่าจะแรงกดดันเรื่องข้อจำกัดด้านอิสรภาพในคุก และความโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากมันไม่มีข่าวสารใดๆ ข้างในนั้นเขาไม่เปิดข่าวให้ เราก็เลยไม่รู้เรื่องราวจากภายนอกเลย มันจึงเป็นความรู้สึกที่อ้างว้าง ดังนั้น จดหมายนับเป็นกำลังใจให้เราพอจะทราบว่า เราไม่ถูกทอดทิ้ง เรายังมีคนร่วมสนับสนุน เป็นเพื่อน เป็นมิตรในการต่อสู้ร่วมกันกับเรา" เขาเล่า

"เนื้อหาส่วนใหญ่ก็แสดงความสนับสนุน เป็นกำลังใจและชื่นชมการต่อสู้ ทั้งนี้ ผมเข้าใจว่าจดหมายที่เราได้รับนั้นอาจไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจมีบางฉบับที่โดนเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ จนมีข้อความขาดหายไปหรือมาไม่ถึงมือ"

โดยสมยศยืนยันว่า รัฐจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ยังถูกจำคุกอยู่ออกมาอย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจากไม่ได้เป็นคดีที่ละเมิดใคร ทั้งผู้คนเหล่านั้นยังออกมาชุมนุมโดยสงบและใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย

"หนึ่ง กลุ่มที่ต้องติดคุกในครั้งนี้ เขาเป็นกลุ่มคนที่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เขาต้องการต่อสู้ให้ได้มาเพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพ ซึ่งเป็นรากฐานที่จะพัฒนาประชาธิปไตยได้โดยตรง และที่เห็นนั้นก็เป็นความตื่นตัวของผู้คนที่มีส่วนร่วมทางการเมือง นี่จึงเป็นการสูญเสียอิสรภาพเพราะใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย เราจึงไม่ควรปล่อยให้ทุกคนที่ต่อสู้ต้องสูญเสียอิสรภาพหรือโดนดำเนินคดี การที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนั้นได้ทำลายสิทธิเสรีภาพของพวกเขา จากการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือการชุมนุมโดยสงบ สิ่งจำเป็นที่สุดคือรัฐจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน โดยการปล่อยตัวผู้ต้องหาออกมาบนพื้นฐานคิดที่ว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ 

"สอง คดีเช่นนี้ไม่ใช่คดีทั่วไปในลักษณะละเมิดผู้อื่น หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม เช่น ไม่ใช่การปล้นทรัพย์ ฆ่าแกงหรือทำร้ายแรงกายผู้อื่น แต่เป็นคดีอันเนื่องมาจากประชาชนใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและชุมนุม เขาไม่ได้เป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดหรือฆ่าคน แต่เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิที่พึงมี และเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎร มันจึงไม่ควรเป็นคดีแต่แรก แต่เมื่อเป็นแล้วก็ต้องให้สิทธิพวกเขาในการต่อสู้คดี"

"คุกนั้นเป็นที่กุมขังผู้กระทำผิด แต่พวกเขายังไม่ผิดจะไปกุมขังเขาได้อย่างไร พวกเขาเป็นราษฎรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีจึงออกมาแสดงความเห็นต่อบ้านเมืองเท่านั้น" สมยศปิดท้าย

ทั้งนี้ เวลานี้ยังมีผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองที่รอการประกันตัวอีกห้าชีวิต โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้อดอาหารเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้โอกาสพวกเขาได้ประกันตัวแบบเดียวกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาอีกด้านของกระบวนการยุติธรรมไทย

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย การดำเนินคดีจำนวนมากและการไม่ให้ประกันตัว สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรม กลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะออกมาแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมต่อประเด็นทางสังคมโดยชอบธรรม

นอกจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังเชิญชวนผู้สนับสนุนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกร่วมส่งจดหมายและข้อเรียกร้องถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อให้พวกเขามีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพียงเพราะการชุมนุมเเละการเเสดงออกทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่าน" ปิยนุชกล่าว 

แม้ขณะมีห้าคนที่ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ ทางแอมเนสตี้ยังคงรวบรวมและส่งจดหมายเหล่านี้ไปถึงเพื่อนเราทุกคนในเรือนจำ ส่วนคนที่ได้ประกันตัวออกมาแล้วจะรวบรวมจดหมายแล้วส่งไปให้ที่บ้านพัก 

ร่วมส่งกำลังใจให้เพื่อนเราที่อยู่ในเรือนจำได้ที่นี่ https://bit.ly/2PxWtN6