ความทรงจำที่หลงเหลือจากเถ้าธุลี

19 มีนาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ภาพโดย อาเมียร์ คาน

เรื่องโดย ซาอัด ฮามมาดี

แปลโดย Smiling Sun

 

เหล่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศยังคงพยายามปรับตัวกับความทรงจำเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมา อาเมียร์ คานได้เดินทางไปยังคอกส์บาซาร์เพื่อบันทึกเรื่องราวผ่านรูปภาพของชาวโรฮิงญากับสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับพวกเขาที่ต้องจากบ้านมา …

 

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อข่าวการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายพันคนแพร่สะพัดออกไป ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนได้หนีมายังค่ายลี้ภัยหลายแห่งในเมืองคอกส์บาซาร์เพื่อไม่ให้ถูกระบุตัวตนและส่งกลับ

 

ในค่ายลี้ภัยที่แน่นขนัดหลายๆแห่งในคอกส์บาซาร์ ชาวโรฮิงญามากมายยังคงติดอยู่ในความทรงจำเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมา การหนีตายอย่างทุกข์ทรมานยังคงหลอกหลอนพวกเขา

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2017 กองทัพเมียนมาปฏิบัติการณ์กวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ตอนเหนือ บ้านเรือนถูกเผา ผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืน และผู้คนนับพันถูกสังหารในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งนี้

 

การกวาดล้างนี้ทำให้ชาวโรฮิงญาทุกเพศทุกวัยกว่า 720,000 คนต้องหนีตายไปพึ่งบังกลาเทศ ผู้คนจำนวนมากหนีไปพร้อมกับสิ่งของแค่เพียงที่คว้าได้ ต้องอดยากในระหว่างที่ต้องเดินเท้าข้ามจังหวัดมองดอเพื่อจะไปยังหลายๆเขตในบังกลาเทศตอนใต้

 

เมื่อกองทัพมาถึง ทางเลือกเดียวของพวกเขาคือการเดินเท้าหนี และแม้จะมีผู้รอดชีวิตไปถึงบังกลาเทศหลายแสนคน ก็มีอีกมากมายที่จบชีวิตก่อนจะถึงปลายทาง

 

อมินา ขาตูน อายุ 40 ปี ต้องใช้ไม้ไผ่ผูกผ้าเพื่อพยุงแม่ที่ป่วยมาด้วย ทว่าแม่ของเธอเสียชีวิตกลางทาง เหลือเพียงไม้ไผ่มาให้ดูต่างหน้าเท่านั้น

 

ผู้ลี้ภัยหลายคนที่รอดชีวิตมาถึงบังกลาเทศถือสมบัติส่วนตัวอันน้อยนิดของตนเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุด เมื่อพวกเขาต้องอพยพอย่างกระทันหัน บางส่วนคว้ามาได้เพียงคัมภีร์อัลกุรอาน บ้างก็ถือเพียงบัตรประจำตัว บ้างก็ทันคว้าของสำคัญต่อการรอดชีวิตเช่นหม้อหุงต้มหรือไม้เท้าที่ช่วยให้คุณยายนาซีมา คาทูนวัย 100 ปีเดินทางมาได้

 

ในอุคียา ผู้ลี้ภัยมากมายต้องรอคอยอยู่ในป่าสองข้างทางด่วน ก่อนที่จะสามารถยัดตัวเองเข้าไปในค่ายอพยพที่แน่นเอียดอยู่แล้วได้ ผู้ลี้ภัยต่างจับจองพื้นที่ที่แสนจะเล็กและแคบเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้อยู่ในแคมป์ที่นอนกลางดินบนเนินเขาแห่งนี้

 

เต๊นท์ชั่วคราวที่ทำจากผ้าใบและไม้ไผ่ขนาด 20 ถึง 35 ตารางฟุตจะเป็นที่พักพิงของครอบครัวโรฮิงยาที่มี 10 คน แคมป์แห่งหนึ่งจะมีประชากรตั้งแต่ 60,000 ถึง 95,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งหนาแน่นยิ่งกว่าเมืองที่แออัดที่สุดในโลก ปัจจุบันแคมป์คอกส์บาซาร์ถือเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับประชากรเกือบล้านคนในพื้นที่ 6,000 เอเคอร์

 

ทางบังกลาเทศถือได้ว่าใจดีอย่างมากที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลเข้ามาในประเทศแม้จะมีปัญหาประชากรและเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญอยู่แล้ว เพราะบังกลาเทศเองก็เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและประชากรที่หนาแน่น โดยทางการถึงกับต้องถางป่าบริเวณเนินเขาคอกส์บาซาร์ถึงจะมีที่พอสำหรับผู้อพยพ

 

ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มทำการสอบสวนการขับไล่ชาวโรฮิงยาหลายแสนคนออกจากเมียนมา และมันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นานาชาติจะต้องนำตัวคนผิดที่ก่อความเสียหายต่อชาวโรฮิงยาในเมียนมามาลงโทษให้ได้

 

ในขณะเดียวกัน จนกว่าชาวโรฮิงยาจะกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เต็มใจ มีศักดิ์ศรี และอยู่ได้อย่างยั่งยืน เหล่านานาชาติจะต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงยา ในระหว่างที่ให้การสนับสนุนบังกลาเทศทั้งทางการเงินและการแก้ปัญหาในพื้นที่จริง นานาชาติก็ต้องหาหนทางการย้ายชาวโรฮิงยาสู่ประเทศที่สามเพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ในขณะที่รอคอยการตัดสินคดีความและการส่งกลับยังคงอันตรายเกินไป