
ปฏิบัติการด่วน: การปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัว ถูกสั่งฟ้อง และถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตน รวมทั้งการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป ทางการยังคงกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวอย่างเข้มงวด เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวโน้มในการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุในระหว่างการชุมนุม สร้างความกังวลอย่างมากต่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
คุณสามารถเขียนจดหมายเรียกร้องด้วยภาษาหรือแนวทางของคุณเองหรือใช้ตัวอย่างจดหมายดังนี้
ข้อเรียกร้องของเรา
นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนนครปฐม ดุสิต
กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย
โทรสาร 66 2 2283 4249
ทวิตเตอร์: @prayutofficial
เรียน นายกรัฐมนตรี
ข้าพเจ้าขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รัฐบาลของท่านได้ควบคุมตัว และลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยพลการ ซึ่งพวกเขาเพียงแค่ชุมนุมโดยสงบและแสดงความเห็นทางออฟไลน์และออนไลน์ ข้าพเจ้ากังวลยิ่งขึ้นกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินกว่าเหตุและโดยไม่จำเป็นเพื่อสลายการชุมนุม
ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่ทราบว่าแกนนำผู้ชุมนุม อย่าง อานนท์ นำภา จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง ทั้งยังถูกปฏิเสธไม่ให้พวกเขาใช้สิทธิในการประกันตัว หรือเพิกถอนการประกันตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 พวกเขาถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้าย และข้าพเจ้ากังวลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของพวกเขา เนื่องจากทั้งจตุภัทร์ และพริษฐ์ ได้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว ข้าพเจ้ายังกังวลกับการฟ้องคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญาเพิ่มเติมจากการชุมนุมโดยสงบเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา
รัฐบาลของท่านมุ่งเป้าไปยังบุคคลอย่างน้อย 1,161 คน รวมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 134 คน โดยการดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมโดยสงบ และการใช้สิทธิมนุษยชน ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเมื่อปีที่แล้ว หลายคนเสี่ยงที่จะได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน อาจถึงขั้นถูกจำคุกตลอดชีวิต ตำรวจได้ตอบโต้การชุมนุมโดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชน ซึ่งมักละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม พวกเขาได้ตอบโต้โดยการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม ทั้งยิงแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ทุบตีและใช้กระสุนยาง
ข้าพเจ้าเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านยุติวงจรของการปราบปราม เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และประกันว่าตำรวจจะสามารถใช้กำลังได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างเข้มงวด และในขอบเขตที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ท่าน
-
ยุติการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในขณะนี้
-
อนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขตที่อาจเป็นการจำกัดการใช้สิทธิของพวกเขาโดยพลการ
-
ให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที รอบด้าน ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อการรายงานว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการควบคุมตัวบุคคลและควบคุมการชุมนุมในทุกกรณี ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติของตำรวจที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
ขอแสดงความนับถือ,
ข้อมูลเพิ่มเติม
รัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามในการปิดปากขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปโดยมีแกนนำที่เป็นเยาวชน รวมทั้งการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 และปัจจุบันยังคงมีการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่การชุมนุมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุระหว่างควบคุมฝูงชน
ทางการได้ควบคุมตัวโดยพลการ และแจ้งข้อหาในคดีอาญาหลายประการที่ไม่เหมาะสม อันอาจนำไปสู่โทษจำคุกตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ หรือแสดงความเห็นทางออนไลน์เกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และการศึกษา ทางการยังคงควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยพลการเป็นเวลานาน มีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เกินขอบเขตและมีเนื้อหากำกวม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิในการประกันตัวและเพิกถอนการประกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ชุมนุม เร่งให้เกิดวงจรการละเมิดที่ไม่สิ้นสุดอย่างชัดเจน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตอบโต้ผู้ชุมนุมโดยใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุม
ในวันที่ 8 สิงหาคม ทางการได้ควบคุมตัวอานนท์ นำภา (36 ปี) ทนายความสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแกนนำคนอื่นๆ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” (23 ปี) แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” ซึ่งเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรม และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ทางการได้ควบคุมตัวนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) อย่าง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ทางการได้ดำเนินคดีกับพวกเขาจากการละเมิดข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุมเนื่องจากโรคโควิด-19 รวมทั้งข้อหาอื่น ๆ และปฏิเสธไม่ให้พวกเขามีสิทธิในการประกันตัว ต่อมายังมีการดำเนินคดีเพิ่มเติมกับอานนท์ นำภา ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ทางการยังได้เพิกถอนประกันกับพริษฐ์ และอานนท์ ซึ่งก่อนหน้าได้รับการประกันตัวออกมา โดยกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวของอานนท์ในการชุมนุม และการโพสต์ในโซเชียลมีเดียของพริษฐ์ ละเมิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวก่อนหน้านั้น ซึ่งได้กำหนดไม่ให้พวกเขาเคลื่อนไหวและสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ และห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่สร้างความไม่สงบ
ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ทางการอนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” และอีกสองคน โดยมีเงื่อนไขให้สวมกำไลอีเอ็ม อย่างไรก็ดี ทางการยังไม่ปล่อยตัวพริษฐ์ซึ่งยังคงถูกควบคุมตัวตามข้อหาทางอาญาว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นก่อนหน้านี้ ซึ่งทางการได้เพิกถอนการประกันในข้อหานั้นไปแล้ว ในวันที่ 23 กันยายน ทางการได้ควบคุมตัวภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” อีกครั้ง หลังแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และความผิดทางคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม สืบเนื่องจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันเขายังคงถูกควบคุมตัว เนื่องจากมีการปฏิเสธในการขอประกันตัว
ก่อนหน้านี้ อานนท์ จตุภัทร์ พริษฐ์ และภาณุพงศ์เคยถูกควบคุมตัวหลายครั้งตั้งแต่ปี 2563 รวมทั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 โดยมีการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของพวกเขาเป็นเวลา 113, 47, 93 และ 85 วันตามลำดับ ตามข้อหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการชุมนุมโดยสงบ และการปราศรัยหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พริษฐ์ได้อดอาหารประท้วงกรณีที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวกับเขาอย่างต่อเนื่อง
ทางการได้แจ้งข้อหาหมิ่นกษัตริย์เพิ่มเติมต่อการ์ดในที่ชุมนุม รวมทั้งปิยะรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” ในเดือนพฤษภาคม 2564 และแจ้งข้อหาต่อ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้อง และ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากการชุมนุมประท้วงด้านนอกโรงพักเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัว วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” และ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ “ขนุน” อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัวออกมาเช่นกัน
โดยส่วนใหญ่การชุมนุมที่มีเยาวชนเป็นแกนนำเป็นไปโดยสงบ มีผู้ชุมนุมเพียงส่วนน้อยที่อาจใช้ความรุนแรง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มความรุนแรงขึ้น และถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่มากขึ้นเช่นหัน ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้มาตรการควบคุมฝูงชนที่มักละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม มีการตอบโต้โดยการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ มีการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมุนม รวมทั้งการยิงแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี ทุบตีและใช้กระสุนยาง ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชน
ภาษาที่ควรใช้: อังกฤษ, ไทย หรือภาษาของท่านเอง
สามารถเขียนปฏิบัติการด่วนฉบับนี้ก่อนนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
กรุณาตรวจสอบกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ในประเทศของท่าน หากท่านส่งจดหมายหลังวันที่ที่ระบุไว้ข้างต้น
ชื่อและสรรพนามที่ควรใช้: ปนัสยา (เธอ/เธอ), จตุภัทร์ (เขา/เขา) อานนท์ (เขา/เขา), พริษฐ์ (เขา/เขา);
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูปฏิบัติการด่วนก่อนหน้านี้: https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/4159/2021/en/